"...เมื่อเปรียบเทียบกับผลงานก่อสร้างที่ผู้ชนะการเสนอราคานำมายื่นประกอบการเสนอราคา พบว่าแม้จะเป็นผลงานก่อสร้างที่มีวงเงินไม่น้อยกว่า 300.00 ล้านบาท ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เป็นเนื้องานตกแต่งภายในและครุภัณฑ์จัดซื้อเพียง 56.50 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นงานก่อสร้างอาคารตั้งแต่การวางฐานรากและงานผังบริเวณอีกประมาณ 320.20 ล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาถึงเทคนิคในการก่อสร้างและงานโครงสร้างหลักของงานจ้างตกแต่งภายใน พร้อมงานระบบประกอบอาคารที่ทำการดังกล่าวจะเห็นได้ว่างานก่อสร้างอาคารกับงานตกแต่งภายในใช้เทคนิคก่อสร้างที่แตกต่างกัน จึงอาจไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการกำหนดให้ผู้เสนอราคายื่นเสนอผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคา และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ..."
.................................
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบโครงการประกวดราคาจ้างตกแต่งภายใน พร้อมงานระบบประกอบอาคารที่ทำการหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงินงบประมาณ 876.28 ล้านบาท โดยเป็นการตรวจสอบในลักษณะป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดความเสียหายต่อทางราชการได้
คือ คำแถลงของ นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สตง. ที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นทางการไปเมื่อเร็วๆ นี้
นายประจักษ์ ระบุว่า จากการตรวจสอบโครงการดังกล่าว มีข้อตรวจพบที่สำคัญคือ กรณีหนังสือรับรองผลงานก่อสร้างของผู้ชนะการเสนอราคา สัญญาจ้างตกแต่งภายในพร้อมงานระบบประกอบอาคารของโครงการดังกล่าว มีเนื้องานหลักเป็นงานตกแต่งภายในพร้อมระบบปรับอากาศ ระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบโสตทัศนูปกรณ์ และงานจัดซื้อครุภัณฑ์พร้อมติดตั้ง รวมทั้งงานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบประกอบอาคาร
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลงานก่อสร้างที่ผู้ชนะการเสนอราคานำมายื่นประกอบการเสนอราคา พบว่าแม้จะเป็นผลงานก่อสร้างที่มีวงเงินไม่น้อยกว่า 300.00 ล้านบาท ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เป็นเนื้องานตกแต่งภายในและครุภัณฑ์จัดซื้อเพียง 56.50 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นงานก่อสร้างอาคารตั้งแต่การวางฐานรากและงานผังบริเวณอีกประมาณ 320.20 ล้านบาท
ซึ่งหากพิจารณาถึงเทคนิคในการก่อสร้างและงานโครงสร้างหลักของงานจ้างตกแต่งภายใน พร้อมงานระบบประกอบอาคารที่ทำการดังกล่าวจะเห็นได้ว่างานก่อสร้างอาคารกับงานตกแต่งภายในใช้เทคนิคก่อสร้างที่แตกต่างกัน
จึงอาจไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการกำหนดให้ผู้เสนอราคายื่นเสนอผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคา และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
ผู้ว่าฯ สตง. ระบุด้วยว่า ทั้งนี้การกำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคาในเรื่องผลงานก่อสร้าง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ผู้รับจ้างที่มีประสบการณ์ของงานก่อสร้างในประเภทเดียวกัน โดย “ผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกัน” หมายความว่า งานก่อสร้างที่ใช้เทคนิคในการก่อสร้างต้องเหมือนกัน โครงสร้างหลักเป็นประเภทเดียวกัน และมีลักษณะการใช้งานเป็นประเภทเดียวกับงานที่ประกวดราคาจ้าง เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ
สตง. จึงมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการหารือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐว่า กรณีหนังสือรับรองผลงานก่อสร้างดังกล่าวเป็นผลงานประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคาหรือไม่
ส่วนกรณีงานครุภัณฑ์จัดซื้อหรือสั่งซื้อ ซึ่งคิดเป็นเงิน 401.52 ล้านบาท หรือคิดเป็นเนื้องานเกือบร้อยละ 50 ของราคากลางทั้งโครงการจำนวน 825.24 ล้านบาท
แต่ในเอกสารประกวดราคาไม่ได้กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นแคตตาล็อคและหรือแบบรูปรายการคุณลักษณะเฉพาะของอุปกรณ์ที่กำหนดในเอกสารรายการประกอบแบบในขณะเข้าเสนอราคา ทั้งที่งานครุภัณฑ์จัดซื้อคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาจำเป็นต้องตรวจสอบคุณสมบัติของครุภัณฑ์ที่ผู้เสนอราคายื่นว่าเป็นไปตามคุณลักษณะเฉพาะของสินค้าตามที่ TOR กำหนดหรือไม่
ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่จะเข้ามาเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้รับจ้างจะเสนอครุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของทางราชการ
สตง. จึงมีข้อเสนอแนะให้กรณีการประกวดราคางานจ้างก่อสร้างที่มีเนื้องานครุภัณฑ์เป็นส่วนประกอบ หน่วยงานที่รับผิดชอบควรกำหนดให้ผู้รับจ้างยื่นแคตตาล็อคของครุภัณฑ์ตามที่กำหนดในเอกสารรายการประกอบแบบแนบมาพร้อมกับการเสนอราคาทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ไว้ในเอกสารประกวดราคาในโอกาสต่อไป
นอกจากนี้ สตง. ยังตรวจพบกรณีผู้รับจ้างได้ดำเนินการจัดหาและขออนุมัติใช้ครุภัณฑ์จอภาพแสดงผลแบบ LED ที่เป็นคนละยี่ห้อกับที่ยื่นเสนอราคา ซึ่งใบเสนอราคาและเอกสารการเสนอราคาที่ผู้รับจ้างใช้ประกอบการยื่นเสนอราคา ย่อมเป็นข้อเสนอที่คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ต้องนำมาใช้ประกอบการจัดทำรายงานผลการพิจารณา
ดังนั้น สตง. จึงมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขสัญญาภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพื่อให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างก่อสร้างและผู้ควบคุมงานได้ดำเนินการตรวจรับงานหรือควบคุมงานตามอำนาจหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบรูปรายการและข้อกำหนดในสัญญาที่ได้มีการแก้ไขต่อไป
อย่างไรก็ดี สตง. ไม่ได้เปิดเผยรายชื่อหน่วยงานที่ถูกตรวจสอบโครงการฯ นี้ เอาไว้เป็นทางการ ทำให้ยากต่อการขยายผลการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม
แต่ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลพบแล้วว่า โครงการประกวดราคาจ้างตกแต่งภายใน พร้อมงานระบบประกอบอาคารที่ทำการหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงินงบประมาณ 876.28 ล้านบาท ที่ถูก สตง. ตรวจสอบดังกล่าว
เป็นงานว่าจ้างของ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่ลงนามในสัญญาเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2562 สิ้นสุดสัญญา เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2564 วงเงินตามสัญญาจ้างอยู่ที่ 626,000,000 บาท
โครงการฯ นี้ ตั้งงบประมาณไว้ที่ 876,280,700 บาท กำหนดราคากลาง 825,240,000 บาท ตรงกับข้อมูลแถลงข่าวของ สตง. ทุกประการ
ส่วนรายละเอียดว่า เอกชนรายใดเป็นผู้ได้รับงาน ขั้นตอนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นอย่างไร
สำนักข่าวอิศรา จะติดตามนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/