"...ผมไม่ได้เป็นกรรมการตรวจรับงาน เขาให้ไปเป็นกรรมการเปิดซอง และผมไม่ได้แต่งตั้งตัวผมเองด้วย ผมถูกเขาแต่งตั้งมาในช่วงที่ยังไม่ได้เป็นอธิการบดี ผมก็ต้องทำตามหน้าที่ แต่ผมจะขอชี้แจงเรื่องนี้ให้ชัดเจนในเอกสาร และเราก็คงชี้แจงไปทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน..."
........................
ประเด็นตรวจสอบข้อร้องเรียนการบริหารของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) กรณีการเอื้อประโยชน์จัดจ้างงานตรวจวิเคราะห์โรคทางห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยา โดยวิธีพิเศษ ของภาควิชาพยาธิวิทยา ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วงเงิน 5,000,000 บาท ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2557 -30 ก.ย.2558 ซึ่งถูกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้าทำการตรวจสอบ และพบว่ามีมูลความผิด พร้อมส่งเรื่องให้ สภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วนั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลเชิงลึกมาเสนอไปแล้วว่า
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ชุมช่วย ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ และประธานกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยา เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทโปรเฟสชั่นแนล ลาโบราทอรี่ แมเนจเม้นท์ คอร์ป จำกัด คู่สัญญางานงานโครงการนี้ โดยถือหุ้นในลำดับที่ 21 จำนวน 5,000 หุ้น เลขที่หุ้น 1593501-1598500 ระบุอาชีพค้าขาย ถือหุ้นในบริษัท มาตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.2547 ก่อนที่จะถอนชื่อออกจากการเป็นผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2559 (ถือตั้งแต่ช่วงก่อนได้รับงาน จนถึงสิ้นสุดสัญญาจ้างงาน)
2. แพทย์หญิงเอื้อมพร ศรีสนธิ์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการตรวจการจ้างโดยวิธีพิเศษ ขณะดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชาพยาธิวิทยา ปรากฎชื่อถือหุ้นอยู่ในบริษัท โปรเฟสชั่นแนล ลาโบราทอรี่ฯ จำนวน 1,594 หุ้น เลขที่หุ้น 1598501-1599500 ถือหุ้นตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2547, 1999692-2000000 ถือหุ้นตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2554 และ 1189354 - 1189638 ถือหุ้นตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2554
โดยในช่วงวันที่ 23 มี.ค.2559 ที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ถอดชื่อจากการเป็นผู้ถือหุ้นไป แพทย์หญิงเอื้อมพร ศรีสนธิ์ ก็ยังคงถือหุ้นอยู่ แต่ปัจจุบัน ณ วันที่ 19 มิ.ย.2563 ไม่ปรากฎชื่อราย แพทย์หญิงเอื้อมพร ถือหุ้นอยู่ในบริษัท โปรเฟสชั่นแนล ลาโบราทอรี่ฯ อีกแล้ว
3. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณี สรุปผลว่า ตามหลักธรรมภิบาล ผู้ถือหุ้นหรือผู้ได้รับประโยชน์จากผู้ประกอบการไม่ควรเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดคุณลักษณะและจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะเป็นบริษัทเดียวที่ได้รับการว่าจ้าง และกรณีดังกล่าวยังเชื่อได้ว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ชุมช่วย ทราบอยู่แล้วว่า ตนเองเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัทโปรเฟสชั่นแนล ลาโบราทอรี่ฯ แต่ยังรับเป็นประธานคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ จึงทำให้เชื่อว่าอาจจะมีการเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัทโปรเฟสชั่นแนล ลาโบราทอรี่ฯ
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2561 รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ออกคำสั่งแต่งตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ชุมช่วย ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.2561 ถึงวันที่ 31 มี.ค.2565 ตามคำสั่งมหาวิทยาศรีนครินทรวิโรฒ ที่ 2669/2561 ลงวันที่ 30 มี.ค.2561
4. ในการพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ต่อกรณี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา และแพทย์หญิงเอื้อมพร ว่า เมื่อไม่มีข้อกำหนดห้ามข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พนักงานมหาวิทยาลัย เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ผู้เข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ และยังไม่มีมูลรับฟังได้ว่ากระทำการอันเข้าข่ายอันเป็นการกระทำผิดวินัย และในการร้องเรียนนี้ ผู้ร้องเรียนมิได้เปิดเผยชื่อ จึงไม่อาจเรียกมาให้ถ้อยคำหรือแสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการตรวจการจ้างหรือกรรมการจัดจ้างจะมีการทุจริตหรือเรียกหาผลประโยชน์หรือกระทำการโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่บริษัท โปรเฟสชั่นแนลฯ ผู้เข้าทำการเสนอราคากับรัฐ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและได้พิจารณายุติเรื่องแล้ว
5. ขณะที่ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีความเห็นแย้งว่า ทั้งกรณีผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา และ แพทย์หญิงเอื้อมพร มีลักษณะเป็นการกระทำอันฝ่าฝืนมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ส่งผลให้การพิจารณาทางปกครองกรณีการจัดจ้างโครงการดังกล่าวไม่เป็นกลาง และอาจส่งผลมิให้เกิดการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ขณะที่ในส่วนของ แพทย์หญิงนันทนา ยังเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 37, 39, 40 แล 42 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 อันเป็นความผิดทางวินัย และอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 10 ,11 และมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ด้วย
พร้อมแจ้งให้ สภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ทั้งในส่วนของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา และ แพทย์หญิงเอื้อมพร ศรีสนธิ์ รวมถึง รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล ด้วย ตลอดจนชะลอและทบทวนการนำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง อธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในรายของรองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล จนกว่าผลการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงจะได้ข้อสรุปอันเป็นที่ยุติด้วย
(อ่านประกอบ : ปธ.จัดจ้างโผล่ชื่อถือหุ้นบ.คู่สัญญา! เปิดผลสอบลับ มศว.เอื้อปย.จ้างตรวจวิเคราะห์โรค 5 ล., ปธ.จัดจ้างเคยถือหุ้นจริง! พิสูจน์สำเนาบัญชีผู้ถือหุ้น บ.คู่สัญญาตรวจวิเคราะห์โรค มศว. ,คนที่ 2! ปธ.ตรวจงานจ้างวิเคราะห์โรค มศว. ถือหุ้น บ.คู่สัญญาด้วย-ผู้ตรวจการฯ แจ้งสอบแล้ว)
ล่าสุุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรณีการเอื้อประโยชน์จัดจ้างงานตรวจวิเคราะห์โรคทางห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยา โดยวิธีพิเศษ ของภาควิชาพยาธิวิทยา ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดังกล่าว ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมอีก 2 ประเด็น คือ 1. รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดียังปรากฎเป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง และยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเปิดซองของคณะกรรมการจัดซื้อฯ ด้วย 2. หนึ่งในคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ยื่นเรื่องให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เข้ามาสอบสวนเรื่องนี้แล้ว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2563 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นทางการ
รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล ให้สัมภาษณ์ชี้แจงสำนักข่าวอิศราว่า ณ เวลานี้ การชี้แจงประเด็นดังกล่าวด้วยปากเปล่านั้น อาจจะทำให้รายละเอียดข้อมูลบางอย่างตกหล่นได้ จึงจะมีการทำหนังสือชี้แจงไปยังสำนักข่าวอิศราเป็นทางการอีกครั้ง
รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล ยังยืนยันด้วยว่า " ณ เวลานี้ได้เป็นอธิการบดีเต็มตัวแล้วหลังจากที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ มาแล้ว และขอชี้แจงต่อไปด้วยว่าปัญหาดังกล่าวนั้นมันมีที่ไปที่มาจากบุคคลหนึ่ง ที่แข่งแพ้แล้วไม่ได้เป็นอธิการบดี"
"คนอื่นไม่มีใครโดนเลย เขาก็มากุเรื่อง มาร้องคนนั้นคนนี้สารพัด ถ้าหากดูคำชี้แจงผม ที่จะส่งมาให้ ก็จะเห็นรายละเอียดว่าอะไรเป็นอะไร" รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุลระบุ
เมื่อถามว่า ในการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสำนักข่าวอิศรา จะส่งรายละเอียดเกี่ยวกับคณะกรรมการตรวจรับงานมาด้วยหรือไม่ รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล ตอบว่า "คงส่งมาในเอกสารคำชี้แจงด้วยเช่นกัน"
เมื่อถามต่อว่า รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล เข้าไปเป็นคณะกรรมการตรวจรับงานด้วยหรือไม่ รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล ตอบว่า "ผมไม่ได้เป็นกรรมการตรวจรับงาน เขาให้ไปเป็นกรรมการเปิดซอง และผมไม่ได้แต่งตั้งตัวผมเองด้วย ผมถูกเขาแต่งตั้งมาในช่วงที่ยังไม่ได้เป็นอธิการบดี ผมก็ต้องทำตามหน้าที่ แต่ผมจะขอชี้แจงเรื่องนี้ให้ชัดเจนในเอกสาร และเราก็คงชี้แจงไปทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน"
อ่านเรื่องในหมวดเดียวกัน :
@ เอื้อปย.จ้างตรวจวิเคราะห์โรค
คนที่ 2! ปธ.ตรวจงานจ้างวิเคราะห์โรค มศว. ถือหุ้น บ.คู่สัญญาด้วย-ผู้ตรวจการฯ แจ้งสอบแล้ว
ปธ.จัดจ้างโผล่ชื่อถือหุ้นบ.คู่สัญญา! เปิดผลสอบลับ มศว.เอื้อปย.จ้างตรวจวิเคราะห์โรค 5 ล.
ปธ.จัดจ้างเคยถือหุ้นจริง! พิสูจน์สำเนาบัญชีผู้ถือหุ้น บ.คู่สัญญาตรวจวิเคราะห์โรค มศว.
ให้ชะลอเสนอชื่อโปรดเกล้าฯอธิการจริง! ผู้ตรวจการฯ ส่ง ป.ป.ช.สอบปมเอื้อจ้างตรวจโรค มศว.แล้ว
@ เรียกเงินฝากเด็กนร.
เรียกหัวละ 6 แสน! ผู้ตรวจการแผ่นดิน สั่งสภา มศว.สอบอ้างชื่อนายพล ยัด นร.เข้าสาธิตปทุมวัน
เข้ารายงานตัวหลังโอนเงิน1วัน! ล้วงผลสอบอ้างชื่อ นายพล ยัดนร.เข้าสาธิตปทุมวันหัวละ 6 แสน
บัญชีธนาคารโมฆะแล้ว! แกะรอย นายพล 'ช.'? เรียกเงินยัดนร.เข้าสาธิตปทุมวัน หัวละ 6 แสน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage