"...มติของ คณะกรรรมการ ค.ป.ท. ครั้งนี้ กำลังจะสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับการเสนอเรื่องขอยกเว้นการคัดเลือกโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมของหน่วยราชการไทยทั้งระบบ เพราะต่อไปถ้าการทำสัญญากับหน่วยงานรัฐแห่งใดก็แล้วแต่ เอกชนหยิบยกข้ออ้างเรื่องการเปิดเผยความลับต่อบุคคลที่ 3 ขึ้นมาใช้ทั้งหมด คณะกรรมการ ค.ป.ท. ก็คงต้องยินยอมทำตามทั้งหมด เพราะสร้างมาตรฐาน ในการอนุมัติยกเว้นให้กับกองทัพไปแล้วจะเลือกปฏิบัติยกเว้นให้เฉพาะกองทัพ เท่านั้นได้หรือ?..."
ยังคงเป็นประเด็นที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ให้ความสำคัญติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง
สำหรับกรณีที่ประชุมคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานโดยตำแหน่ง มีมติเห็นชอบให้โครงการจัดหายุทโธปกรณ์ ของ กองทัพอากาศ และกองทัพบก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 4 โครงการใหญ่ มูลค่าหลายพันล้านบาท ประกอบไปด้วย 1. โครงการพัฒนาขีดความสามารถการส่งกำลังบำรุงเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์เครื่องบินขับไล่แบบที่ 20/ก (เครื่องบิน Gripen 39 C/D) ระยะที่ 1 (ช่วง 2) ของ กองทัพอากาศ 2. โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น (ระยะที่ 4) ของ กองทัพอากาศ 3. โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกทดแทนเครื่องบินแบบที่ 19 ของ กองทัพอากาศ 4. โครงการจัดหาเครื่องบินใช้งานทั่วไป ได้รับพิจารณายกเว้นหรือผ่อนผันไม่ต้องเข้าร่วมจัดทำโครงการข้อตกลงคุณธรรมนั้น
อ่านประกอบ :
จัดซื้ออาวุธ ทบ. -ทอ. เลี่ยงข้อตกลงคุณธรรม! ค.ป.ท. ช่วยยกเว้น ไม่ต้องมีผู้สังเกตการณ์
เปิดข้อมูล 4 โครงการ จัดซื้ออาวุธ 'ทบ.-ทอ.' เลี่ยงข้อตกลงคุณธรรรม-ไม่ต้องมีผู้สังเกตการณ์
‘ค.ป.ท-กองทัพ’ ฉีกข้อตกลงคุณธรรม เปิดช่องทุจริต-มีอำนาจหรือไม่?
คนขายมีแต่ความลับยอมได้หรือ! เลขาฯ ACT ชี้ข้อตกลงคุณธรรมไม่เป็นอุปสรรคจัดซื้อจัดจ้าง
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลใน เว็บไซต์กรมบัญชีกลาง https://www.cgd.go.th เพื่อตรวจสอบรายชื่อโครงการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม
พบว่า นับตั้งแต่ปี 2558 - 2563 มีรายชื่อโครงการของกองทัพรวมอยู่ด้วยหลายโครงการ ดังนี้
ช่วงปี 2558
- โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลทหารอากาศฯ ของ กองทัพอากาศ วงเงิน 950 ล้านบาท
- โครงการบริหารจัดการไม้มีค่าในส่วนงาน ก่อสร้าง อาคารหอประชุม ทบ.ฯ ของ กองทัพบก วงเงิน 2,425 ล้านบาท
ช่วงปี 2559
- โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ของ กองทัพเรือ วงเงิน 705 ล้านบาท
ช่วงปี 2560
-ไม่มี-
ช่วงปี 2561
- โครงการจัดหาอาวุธประจำกายสนับสนุน การปฏิบัติภารกิจสำคัญของกองทัพบก ของ กองทัพบก วงเงิน 1,644.991 ล้านบาท
- โครงการจัดหารถถังทดแทน (M41) (ระยะที่ 2 ห้วงที่ 3) ของ กองทัพบก วงเงิน 1,947.45 ล้านบาท
- โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ของ กองทัพเรือ วงเงิน 200,000 ล้านบาท
ช่วงปี 2562
-ไม่มี-
ช่วงปี 2563
- โครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 จ้างปรับพื้นที่ สำหรับก่อสร้างทางขับระยะที่ 1 และลานจอดของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ของ กองทัพเรือ วงเงิน 1,184 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ตรวจสอบพบจะเห็นว่า ในช่วงปี 2561 มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธของ กองทัพบก ที่เข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม ไปแล้ว จำนวน 2 โครงการ คือ
1. โครงการจัดหาอาวุธประจำกายสนับสนุน การปฏิบัติภารกิจสำคัญของกองทัพบก ของ กองทัพบก วงเงิน 1,644.991 ล้านบาท
2. โครงการจัดหารถถังทดแทน (M41) (ระยะที่ 2 ห้วงที่ 3) ของ กองทัพบก วงเงิน 1,947.45 ล้านบาท
ข้อมูลส่วนนี้ จึงเกิดคำถามเพิ่มเติมใน 2 ประเด็น คือ
1. เมื่อโครงการจัดซื้อจัดหาอาวุธ ของกองทัพ ทั้ง 2 โครงการนี้ เคยสามารถเข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมได้ โครงการการจัดซื้ออาวุธส่วนอื่นก็ควรต้องเข้าร่วมได้ ภายใต้มาตรฐานกฎหมายระเบียบเดียวกัน
2. เป็นคำถามเดิมที่เคยตั้งไว้ คือ มติของ คณะกรรรมการ ค.ป.ท. ครั้งนี้ กำลังจะสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับการเสนอเรื่องขอยกเว้นการคัดเลือกโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมของหน่วยราชการไทยทั้งระบบ เพราะต่อไปถ้าการทำสัญญากับหน่วยงานรัฐแห่งใดก็แล้วแต่ เอกชนหยิบยกข้ออ้างเรื่องการเปิดเผยความลับต่อบุคคลที่ 3 ขึ้นมาใช้ทั้งหมด
คณะกรรมการ ค.ป.ท. ก็คงต้องยินยอมทำตามทั้งหมด เพราะสร้างมาตรฐาน ในการอนุมัติยกเว้นให้กับกองทัพไปแล้ว
จะเลือกปฏิบัติยกเว้นให้เฉพาะกองทัพ เท่านั้นได้หรือ?
เรื่องนี้จึงนับเป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยงานผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ต้องออกมาชี้แจงสร้างความกระจ่างให้คนในสังคมไทยรับทราบโดยเร็วที่สุด (ขอย้ำอีกครั้ง)
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage