"...มติของ คณะกรรรมการ ค.ป.ท. ครั้งนี้ กำลังจะสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับการเสนอเรื่องขอยกเว้นการคัดเลือกโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมของหน่วยราชการไทยทั้งระบบ เพราะต่อไปถ้าการทำสัญญากับหน่วยงานรัฐแห่งใดก็แล้วแต่ เอกชนหยิบยกข้ออ้างเรื่องการเปิดเผยความลับต่อบุคคลที่ 3 ขึ้นมาใช้ทั้งหมด คณะกรรมการ ค.ป.ท. ก็คงต้องยินยอมทำตามทั้งหมด เพราะสร้างมาตรฐาน ในการอนุมัติยกเว้นให้กับกองทัพไปแล้ว จะเลือกปฏิบัติยกเว้นให้เฉพาะกองทัพ เท่านั้นได้หรือ?..."
ประเด็นตรวจสอบ กรณีที่ประชุมคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานโดยตำแหน่ง มีมติเห็นชอบให้โครงการจัดหายุทโธปกรณ์ ของ กองทัพอากาศ และกองทัพบก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 4 โครงการใหญ่ มูลค่าหลายพันล้านบาท ประกอบไปด้วย 1. โครงการพัฒนาขีดความสามารถการส่งกำลังบำรุงเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์เครื่องบินขับไล่แบบที่ 20/ก (เครื่องบิน Gripen 39 C/D) ระยะที่ 1 (ช่วง 2) ของ กองทัพอากาศ 2. โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น (ระยะที่ 4) ของ กองทัพอากาศ 3. โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกทดแทนเครื่องบินแบบที่ 19 ของ กองทัพอากาศ 4. โครงการจัดหาเครื่องบินใช้งานทั่วไป ได้รับพิจารณายกเว้นหรือผ่อนผันไม่ต้องเข้าร่วมจัดทำโครงการข้อตกลงคุณธรรมนั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข้อเท็จจริงไปแล้วว่า ในช่วงเดือน เม.ย.2563 ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมบัญชีกลาง เพื่อขอหารือการใช้อำนาจในการยกเว้นผ่อนผันของคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) ภายหลังได้รับหนังสือแจ้งจาก กองทัพ ที่ให้เหตุผลความจำเป็นว่า ไม่สามารถดำเนินการจัดให้มีการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดซื้อจัดจ้างได้ เนื่องจากมีกฎหมายหรือสัญญากับเอกชน กำหนดไว้ว่า ไม่ให้เปิดเผยข้อมูลความลับแก่บุคคลที่ 3
เบื้องต้น คณะกรรมการวิฉิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ มีมติว่า คณะกรรมการ ค.ป.ท. ไม่สามารถอนุมัติยกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ได้ แต่สามารถพิจารณายกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามแนวทางและวิธีการตามประกาศคณะกรรมการ ค.ป.ท. ที่ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 19 ซึ่งหมายถึงการไม่เลือกโครงการใดโครงการหนึ่งเข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมได้
ซึ่งต่อมา คณะกรรมการ ค.ป.ท. ได้มีการนำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมเพื่อพิจารณา โดยฝ่ายเลขนุการ มีความเห็นว่า สืบเนื่องจากเรื่องนี้ กองทัพ มีความจำเป็นและมีเหตุไม่สามารถดำเนินการจัดให้มีการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างได้ เนื่องจากมีกฎหมายหรือสัญญากับเอกชน ซึ่งกำหนดไว้ว่าไม่ให้เปิดเผยข้อมูลความลับแก่บุคคลที่ 3พร้อมเสนอเรื่องไม่คัดเลือกโครงการจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์ ทั้ง 4 โครงการ ของกองทัพอากาศและกองทัพบก เข้าร่วมการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม
ก่อนที่ที่ประชุมคณะกรรมการ ค.ป.ท. จะมีมติเห็นชอบ ตามที่เสนอ และให้ฝ่ายเลขานุการ จัดทำหนังสือถึงกองทัพ เพื่อให้กำหนดรายละเอียดโครงการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ สำหรับการข้อยกเว้นการปฏิบัติตามมาตรา 7(2) แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ เพิ่มเติม เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐต่อไป
(อ่านประกอบ : เปิดข้อมูล 4 โครงการ จัดซื้ออาวุธ 'ทบ.-ทอ.' เลี่ยงข้อตกลงคุณธรรรม-ไม่ต้องมีผู้สังเกตการณ์, จัดซื้ออาวุธ ทบ. -ทอ. เลี่ยงข้อตกลงคุณธรรม! ค.ป.ท. ช่วยยกเว้น ไม่ต้องมีผู้สังเกตการณ์)
กรณีนี้ มีประเด็นที่จะต้องตรวจสอบเพิ่มเติม คือ คณะกรรมการ ค.ป.ท. มีอำนาจตามระเบียบกฎหมาย ในการไม่คัดเลือกโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ ทั้ง 4 โครงการ ของ กองทัพอากาศ และกองทัพบก เข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมได้หรือไม่?
@ ประการแรก
จากการตรวจสอบประกาศคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต เรื่อง แนวทางและวิธีการในการดำเนินงานโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แบบของข้อตกลงคุณธรรม การคัดเลือกผู้สังเกตการณ์ และการจัดทำรายงานตามมาตรา 17 และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
มีการระบุความหมายคำว่า "โครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม” ไว้ว่า โครงการจัดซื้อจัดจ้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่คณะกรรมการ ค.ป.ท. มีมติเห็นชอบ ให้จัดทำข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) โครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป
(2) โครงการจัดซื้อจัดจ้างที่สาธารณชนสนใจ เช่น โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
(3) โครงการจัดซื้อจัดจ้างลักษณะอื่นที่คณะกรรมการ ค.ป.ท. เห็นสมควรให้จัดทำข้อตกลง คุณธรรม
ในข้อ 5 กำหนดให้คณะกรรมการ ค.ป.ท. พิจารณาคัดเลือกโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
(1) โครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป
(2) โครงการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือเป็นที่สนใจของประชาชน
(3) โครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีลักษณะเป็นโครงการที่ซับซ้อน
(4) โครงการที่มีความเสี่ยงในการทุจริต
(5) โครงการที่คาดว่าจะมีการดำเนินการแน่นอน
(6) โครงการที่หน่วยงานภาครัฐเจ้าของโครงการพิจารณาเสนอโครงการให้จัดทำข้อตกลง คุณธรรม
หากพิจารณาลักษณะโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ ทั้ง 4 โครงการ ของ กองทัพอากาศ และกองทัพบก จะพบว่า มีคุณลักษณะที่น่าจะเข้าข่ายโครงการที่คณะกรรมการ ค.ป.ท. จะต้องพิจารณาคัดเลือกโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมไว้หลายข้อ
ที่สำคัญในประกาศคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต เรื่อง แนวทางและวิธีการในการดำเนินงานโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐฯ มิได้กำหนดให้อำนาจ คณะกรรมการ ค.ป.ท. ยกเว้น ไม่คัดเลือกโครงการในลักษณะที่มีข้อผูกมัดจากเอกชน ห้ามไม่ให้เปิดเผยความลับแก่บุคคลที่ 3 ตามที่กองทัพ ร้องขอมาแต่อย่างใด
คำถาม คือ มติของ คณะกรรมการ ค.ป.ท.นอกจากการกระทำที่ฝ่าฝืนแนวทางและวิธีการในการดำเนินงานโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐฯแล้ว
ยังเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?
@ ประการสอง
ในประเด็นเรื่องการรักษาความลับนั้น ในประกาศคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต เรื่อง แนวทางและวิธีการในการดำเนินงานโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐฯ ระบุไว้ชัดเจนในข้อ 13 เรื่องการรักษาข้อมูลเป็นความลับและไม่มีส่วนได้เสีย ไว้ดังนี้
(1) ผู้สังเกตการณ์และสมาชิกในครอบครัวโดยตรง ไม่มีส่วนได้เสียหรือมีความสัมพันธ์กับ หน่วยงานเจ้าของโครงการ บุคคลหรือนิติบุคคล บริษัทและกรรมการบริษัทที่เข้าร่วมเสนอราคา
(2) ผู้สังเกตการณ์จะรักษาข้อมูลความลับทางการค้า ดังนี้
(2.1) ไม่นำเอกสารและข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับจากการเป็นผู้สังเกตการณ์ของโครงการ ไปเปิดเผย เว้นแต่ที่เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติที่กล่าวไว้ในข้อตกลงคุณธรรม และการเปิดเผยตามขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้างที่กฎหมายกำหนด
(2.2) ไม่นำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการไปใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว หรือนำไปใช้ในทางที่มิชอบ หรือให้เป็นประโยชน์แก่บุคคล
(2.3) หากเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้าโดยมิได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จากคณะกรรมการ ค.ป.ท. จะต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการเปิดเผยข้อมูล หรือการใช้ข้อมูลความลับนั้น ผู้สังเกตการณ์ต้องลงนามในหนังสือการรักษาข้อมูลเป็นความลับและไม่มีส่วนได้เสีย ตามฟอร์มที่กำหนดแนบท้ายประกาศนี้ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการเก็บไว้เป็นเอกสาร ประกอบการลงนามข้อตกลงคุณธรรม
(ดูระเบียบฉบับเต็มที่นี่ http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER2/DRAWER043/GENERAL/DATA0001/00001770.PDF)
จากข้อบังคับดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงแนวทางปฏิบัติในการรักษาความลับของ ผู้สังเกตการณ์ ไว้อย่างรัดกุมแน่นหนาอยู่แล้ว ซึ่งกองทัพ สามารถนำรายละเอียดแนวทางตามข้อกฎหมายนี้ไปใช้ประกอบในการเจรจากับเอกชนคู่สัญญาได้
กรณีถ้าเอกชน ไม่ยอมดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎหมายไทย กองทัพ ก็น่าจะมีวิธีเจรจาต่อรอง อย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้การซื้อขายต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายของประเทศมากที่สุด ทำไมถึงต้องยอมทำตามข้อเสนอเอกชนทั้งหมดแบบนี้?
ที่น่าสนใจ คือ โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกทดแทนเครื่องบินแบบที่ 19 จัดซื้อโดยวิธีคัดเลือก ของกองทัพอากาศ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 โครงการ ที่ได้รับการยกเว้นไม่คัดเลือกเข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมครั้งนี้ด้วย กองทัพอากาศ ให้เหตุผลว่า คาดว่าเมื่อบริษัทยื่นข้อเสนอ บริษัทจะแจ้งให้กองทัพอากาศทราบว่าจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลความลับและต้องลงนามยืนยันการไม่เปิดเผยข้อมูลต่อบุคคลที่สามทราบ
คำถามคือ กองทัพอากาศ รู้ตัวบริษัทเอกชนที่จะได้รับงานล่วงหน้าแล้วหรือ?
@ ประการสาม
มติของ คณะกรรรมการ ค.ป.ท. ครั้งนี้ กำลังจะสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับการเสนอเรื่องขอยกเว้นการคัดเลือกโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมของหน่วยราชการไทยทั้งระบบ เพราะต่อไปถ้าการทำสัญญากับหน่วยงานรัฐแห่งใดก็แล้วแต่ เอกชนหยิบยกข้ออ้างเรื่องการเปิดเผยความลับต่อบุคคลที่ 3 ขึ้นมาใช้ทั้งหมด
คณะกรรมการ ค.ป.ท. ก็คงต้องยินยอมทำตามทั้งหมด เพราะสร้างมาตรฐาน ในการอนุมัติยกเว้นให้กับกองทัพไปแล้ว
จะเลือกปฏิบัติยกเว้นให้เฉพาะกองทัพ เท่านั้นได้หรือ?
@ ประการสุดท้าย
ข้อตกลงคุณธรรม มีหลักการและเหตุผลมาจากการที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างยั่งยืนและรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐที่สร้างความไม่เป็นธรรมและเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้ง ไม่จูงใจให้นักลงทุนเข้ามาประกอบการในประเทศ ประกอบกับองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ได้จัดทำดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index: CPI) เพื่อจัดอันดับภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศต่างๆ โดยสำรวจจากระดับความรู้สึกหรือการรับรู้ของกลุ่มตัวอย่างต่อปัญหาคอร์รัปชันในประเทศนั้นๆ ซึ่งในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 76 จาก 168 ประเทศทั่วโลก
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบให้นำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้เพื่อให้เกิดความ โปร่งใสในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ
ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เป็นข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษร กำหนดให้มีการลงนามร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่าง
หน่วยงานภาครัฐเจ้าของโครงการจัดซื้อจัดจ้าง
ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมการเสนอราคา
ผู้สังเกตการณ์ (Observer)
โดยผู้สังเกตการณ์คัดเลือกมาจากสมาคมวิชาชีพ เช่น สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ และมีความรู้ความสามารถในโครงการจัดซื้อจัดจ้างนั้นๆ เพื่อเข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ปัจจุบัน คณะกรรมการ ค.ป.ท. ก็มีตัวแทนจากองค์กรภาคประชาชน เข้าไปร่วมนั่งเป็นคณะกรรมการอยู่ด้วย
คำถาม คือ ในการลงมติของคณะกรรมการ ค.ป.ท. เพื่อพิจารณายกเว้นไม่คัดเลือก 4 โครงการจัดหายุทโธปกรณ์ ของ กองทัพอากาศ และกองทัพบก เข้าพิจารณาดังกล่าว
บทบาทท่าทีของตัวแทนจากองค์กรภาคประชาชนในที่ประชุมเป็นอย่างไร คัดค้าน ยอมรับ และนั่งนิ่งทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่ได้ยินดียินร้ายกับเรื่องใหญ่ที่จะมีผลกระทบต่อระบบการคัดเลือกโครงการข้อตกลงคุณธรรมทั้งระบบเลยหรือ?
ทั้งหมดนี่ เป็นประเด็นข้อสังเกตสำคัญต่อเรื่องนี้ ที่สำนักข่าวอิศรา เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ที่หน่วยงานผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ต้องออกมาชี้แจงสร้างความกระจ่างให้คนในสังคมไทยรับทราบโดยเร็วที่สุด
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage