"..กรณีการทดสอบนำไนโตรเจนผงซึ่งเป็นสารประกอบระเบิด TNT เข้ามาในรัฐสภา ตามที่ปรากฎเป็นข่าวนั้น เท่าที่ทราบวัตถุสารระเบิดถูกใส่มาในซอง จะปรากฏเป็นสี แต่เครื่องนั้นจะยังไม่ฉลาดพอที่จะรู้ว่าสารนั้นคือวัตถุระเบิด เพราะเครื่องนั้นไม่ใช่เครื่องตรวจร่องรอยสารวัตถุระเบิด แต่ทำหน้าที่เป็นแค่เครื่องตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยเท่านั้น..."
"เครื่องตรวจวัตถุในสภาไม่สามารถตรวจพบได้ แสดงว่ารัฐสภาแห่งนี้ไม่ได้มีความปลอดภัย"
คือ คำยืนยันของ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ ทหารสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน หลังนำคณะเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด หรือ EOD อ้างว่านำ 'ไนโตรเจนผง' ซึ่งเป็นสารประกอบระเบิด TNT เข้ามาในรัฐสภา เพื่อทดสอบให้เห็นว่าเครื่องตรวจวัตถุในสภาไม่สามารถตรวจพบได้ ช่วงบ่ายวันที่ 30 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา
พร้อมเปิดตัวเครื่องตรวจวัตถุระเบิดรุ่นใหม่จากบริษัทแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เพื่อมอบให้รัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) รวม 2 เครื่อง โดยกล่าวอ้างว่า ประเทศไทยไม่เคยมีเครื่องตรวจวัตถุระเบิด มีแต่จีที 200 ที่ใช้การไม่ได้ โดย 2 เครื่องที่จะส่งมอบนี้ เคยทดสอบที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว มีรัศมีตรวจระเบิดทีเอ็นทีครึ่งปอนด์ในระยะ 8 เมตร หากปริมาณ 1 กรัม ใช้เวลาตรวจจับประมาณ 30 วินาทีด้วย (อ่านประกอบ : เปิดตัว บ.BSX ผู้ผลิตเครื่องตรวจระเบิด 'มงคลกิตติ์' นำพาเข้าสภา-เพิ่งตั้งปี 60)
หลังการแถลงข่าวจบลง นายมงคลกิตติ์ ถูกสั่งตั้งกรรมการสอบจาก นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากการนำวัตถุระเบิดเข้ามาในสถานที่ราชการถือเป็นความผิดร้ายแรง พร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดังตามมาถึงเป้าประสงค์ที่แท้จริง ของ นายมงคลกิตติ์ ในการนำนายหน้าจากบริษัท BSX ของอเมริกา มาโชว์ประสิทธิภาพเครื่องตรวจละอองสารตั้งต้นวัตถุระเบิด รุ่น PED 2000 ที่ออกมาใหม่ดังกล่าว ว่ามีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่
@ ภาพประกอบจาก https://m.mgronline.com/politics/detail/9620000104437
ไม่ว่าเป้าประสงค์เบื้องหลังของ นายมงคลกิตติ์ ต่อการกระทำครั้งนี้ คือ อะไร
แต่ข้อมูลสำคัญประการหนึ่ง ที่ยังไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นทางการ คือ เครื่องตรวจวัตถุระเบิดที่ใช้อยู่ในรัฐสภาปัจจุบัน ที่ถูก นายมงคลกิตติ์ พาคณะเข้ามา 'ลองของ' พิสูจน์ประสิทธิภาพการใช้งานครั้งนี้ มีที่มาจากไหน มาตรฐานการรักษาความปลอดภัยเป็นอย่างไร?
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ พบว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2562 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ประกาศผลการจัดหาอะไหล่เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดและเครื่อง X-Ray สัมภาระรุ่น HS6040I ยี่ห้อ Smiths Detection ด้วยวิธีการเฉพาะเจาะจง ปรากฎชื่อ บริษัท นีโอคลาสสิค (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ชนะ ด้วยวงเงิน 378,380 บาท (ดูเอกสารประกอบ)
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท นีโอคลาสสิค (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 27 ตุลาคม 2538 ทุน 6,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 22 ซอยเฉลิมพระเกียรติ ถนนอุดมสุข แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจ จำหน่ายส่ง-ปลีก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ ปรากฎชื่อ นาย สุรพันธ์ เดชณรงค์วุฒิ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และผู้ถือหุ้นใหญ่สุด
ส่วนบริษัท สมิทส์ ดีเทคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของเครื่องฯ จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2549 ทุน 36,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 99/3 หมู่ที่ 5 ถนนกิ่งแก้ว ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ แจ้งประกอบธุรกิจจำหน่ายเครื่องตรวจจับสิ่งผิดปกติ/อันตราย เครื่องเอ็กซเรย์ตลอดจนบริการที่เกี่ยวข้อง ปรากฎชื่อ นาย นุโรจน์ พานิช นาย จอห์น แทน ลิป แอนด์ และ นาย แซนดีฟ บาเทีย เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท จอห์น เครน (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด
เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2562 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้ติดต่อไปยัง บริษัท สมิทส์ ดีเทคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ประสิทธิภาพ มาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดและเครื่อง X-Ray สัมภาระรุ่น HS6040I ยี่ห้อ Smiths Detection ดังกล่าว
เจ้าหน้าที่บริษัท สมิทส์ ดีเทคชั่นฯ รายหนึ่ง ยืนยันว่า เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดและเครื่องเอ็กซเรย์ ที่ติดตั้งที่รัฐสภานั้นเป็นเครื่องของทางบริษัทสมิทส์ฯจริง โดยกลไกการทำงานของเครื่องจะทำหน้าที่คล้ายการเอ็กซเรย์บุคคล ตามหลักการที่จะมีการแยกสีและหมายเลขของประเภทวัตถุที่ตรวจจับออกมาชัดเจน อาทิ ถ้าเป็นเหล็กที่มีรูปร่างเป็นปืน จะปรากฏออกมาเป็นรูปร่างปืนเลย เป็นมีดก็จะเห็นเป็นรูปมีด
"ส่วนกรณีการทดสอบนำไนโตรเจนผงซึ่งเป็นสารประกอบระเบิด TNT เข้ามาในรัฐสภา ตามที่ปรากฎเป็นข่าวนั้น เท่าที่ทราบวัตถุสารระเบิดถูกใส่มาในซอง จะปรากฏเป็นสี แต่เครื่องนั้นจะยังไม่ฉลาดพอที่จะรู้ว่าสารนั้นคือวัตถุระเบิด เพราะเครื่องนั้นไม่ใช่เครื่องตรวจร่องรอยสารวัตถุระเบิด แต่ทำหน้าที่เป็นแค่เครื่องตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยเท่านั้น"
เจ้าหน้าที่บริษัทฯ กล่าวต่อว่า “ที่นี้พอสงสัยแล้ว คนที่ดูภาพต้องมีความชำนาญ ถ้าหากเป็นมีด เป็นปืน เป็นสนับมือ ตรงนี้เจ้าหน้าที่ก็เห็นชัดเจนอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นกรณีที่เป็นห่อซองตามข่าว ซึ่งมีผงอะไรก็ไม่รู้อยู่ มันก็จะปรากฏภาพเป็นแค่ผงอะไรสักอย่างเท่านั้น ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ที่ดูเครื่องเอ็กซเรย์แล้วมีความสงสัยในวัตถุดังกล่าว ตรงนี้จะต้องใช้เครื่องตรวจร่องรอยสารวัตถุระเบิดเพื่อตรวจสอบสารนั้นว่าจะเป็นระเบิดหรือไม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกระบวนการตรงนี้ไม่เกี่ยวกับเครื่องเอ็กซเรย์แต่อย่างใด การใช้เครื่องเอ็กซเรย์นั้นจะมีประโยชน์ในกรณีที่จะลดขั้นตอนในการตรวจกระเป๋าด้วยการเปิดกระเป๋าดูเท่านั้นเอง”
"ยกตัวอย่างที่สนามบินสุวรรณภูมิ หลังเครื่องเอ็กซเรย์ จะมีเครื่องมืออีกประเภทตั้งอยู่หลังเครื่องเอ็กซเรย์ ซึ่งเราเรียกเครื่องนั้นว่าเครื่องไอออนสแกน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทสมิทส์ฯ อีกเช่นกัน โดยหลักการการตรวจนั้นก็จะมีการป้ายที่วัตถุต้องสงสัย ก่อนที่จะเอาวัตถุต้องสงสัยนั้นมาตรวจที่เครื่องไอออนสแกนที่ว่ามานี้ เพื่อจะบอกได้ว่าวัตถุนั้นเป็นสารอะไร มีส่วนประกอบเป็นอย่างไรบ้าง เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัตถุระเบิดหรือไม่ ซึ่งเครื่องนี้จะละเอียดมาก"
เจ้าหน้าที่บริษัทฯ ยังชี้แจงด้วยว่า การใช้เครื่องตรวจร่องรอยสารวัตถุระเบิดเพื่อตรวจสอบทุกคนที่เข้าออกนั้นจะเป็นการใช้เวลาเยอะมากตามข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยีในปัจจุบัน
“สมมติ ผมเป็นรัฐมนตรี ผมเดินเข้ามากับผู้ติดตามอีก 7-8 คน เจ้าหน้าที่ที่นั่งอยู่ตรงนั้นเขาก็ต้องใช้เวลามาก ถ้าจะเรียกขอตรวจกันทุกๆท่าน แล้วถ้าหากเขามีงานประชุมสำคัญด้วยแล้ว ก็จะทำให้มีปัญหาตามมาอีก”
"ปัจจุบันนั้นการตรวจหาสารต้องสงสัย รวมไปถึงวัตถุระเบิด การใช้สุนัขเป็นสิ่งที่ทำให้ตรวจสอบหาสารต้องสงสัยเหล่านั้นได้เร็วที่สุด แต่อย่างไรก็ตามสุนัขก็จะมีข้อจำกัดในเรื่องความเหนื่อยล้าของสัตว์และข้อจำกัดว่ามันไม่สามารถจำแนกว่าสิ่งที่ดมนั้นจะเป็นสารอะไร ดังนั้น การใช้เครื่องตรวจร่องรอยสารวัตถุระเบิดจะเป็นสิ่งที่ละเอียดที่สุด แต่ต้องใช้เวลามาก"เจ้าหน้าที่บริษัทฯ ระบุ
ทั้งหมดนี่ เป็นรายละเอียดคำอธิบายเบื้องต้นเกี่ยวกับ ประสิทธิภาพและมาตรฐานการทำงานของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดและเครื่อง X-Ray สัมภาระรุ่น HS6040I ยี่ห้อ Smiths Detection ของรัฐสภา ที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันล่าสุดในขณะนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
หมายเหตุ : ภาพประกอบเรื่องจาก https://th.pattayatoday.ne