“...หน่วยงานผมนั้นมีรถอยู่เกือบ 600 คัน แล้วที่ตั้งนั้นก็ไม่ได้อยู่ที่ ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) ถนนรามอินทรา แต่มีที่ตั้งอยู่ทั่วทั้งประเทศ ทั้งเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ปัตตานี สงขลา ดังนั้นเวลาที่เราจะเรียกเขามาเปลี่ยนยางมาก็ต้องทยอยกันมาเดือนละคัน สาเหตุที่มีการจ่ายยางช้านั้นเป็นเพราะว่ามีการแจ้งมาจากกองบัญชาการแล้วว่าจะมีการมาตรวจยาง ซึ่งผมเคยมีประสบการณ์แล้วว่าในตอนปี 2558 เขาเรียกมาตรวจยาง ผมก็ต้องเรียกรถที่จ่ายยางแล้วจำนวนเกือบ 600 คันจากต่างจังหวัดเข้ามาหมดเลย ซึ่งตรงนี้เสียทั้งเวลาและเสียค่าน้ำมันมาก ผมก็เลยยังไม่จ่ายยาง รอให้ทางกองบัญชาการตรวจยางให้เสร็จกันก่อน ซึ่งเขาตรวจยางกันละเอียดมาก โดยตรวจกันทุกเส้นไม่ใช่แค่สุ่มตรวจ...”
“ในกรณีดังกล่าวนั้น เขา (สตง.) ได้มีมติให้คณะกรรมการกำหนดราคากลางชดใช้ คณะกรรมการกำหนดราคากลางมี 3 คน เป็นลูกน้องผม หาร 3 รวม ส่งเข้ากระทรวงการคลังมีใบเสร็จเรียบร้อย ซึ่งตรงนี้เป็นเงินส่วนตัว ผมก็รายงานเรื่องนี้ไปให้เจ้านาย แล้วก็ส่งใบเสร็จไปให้ สตง. แต่ทาง สตง.เขาก็ไม่พอใจ เขาบอกว่าต้องเอาเจ้าหน้าที่ที่ผ่านหนังสือ และต้องมีการลดบำเหน็จด้วย ซึ่งคนผ่านหนังสือก็คือผม สรุปก็คือเรื่องนี้ผมกับลูกน้อง 5 คนโดนลดบำเหน็จไป รวมต้องมีการชดใช้เงินกันเกือบล้านสอง”
คือ คำชี้แจง พ.อ.ภักดี แสงประเสริฐ ผู้อำนวยการกอง 11 ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ที่ให้กับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ต่อกรณี สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาการทำสัญญาซื้อวัสดุยานพาหนะและขนส่ง (ยางรถยนต์) 26 รายการ ของ ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ในหลายประเด็น ที่ส่อให้เห็นพิรุธฝ่าฝืนการดำเนินงานตามระเบียบหลายประการ อาทิ การประกาศราคากลางงานจัดซื้อวัสดุยานพาหนะและขนส่ง (ยางรถยนต์) ในระบบฐานข้อมูล อิเล็กทรอนิกส์ของกรมบัญชีกลาง (ระบบ e-GP) ไม่ระบุราคาต่อหน่วยของยางรถยนต์แต่ละรายการที่จัดซื้อ การกําหนดราคากลางยางรถยนต์สูงกว่าความเป็นจริงทําให้ทางราชการได้รับความเสียหาย มีการขายเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ในราคาชุดละ 1,000 บาท ส่งผลให้ มีผู้สนใจมาซื้อเอกสารน้อยรายกว่าที่ควร และไม่เป็นการเพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน ยางรถยนต์ที่จัดซื้อมีราคาสูงกว่าท้องตลาดมากเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหายเป็นเงิน 1.18 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพบยางรถยนต์จํานวน 390 เส้น จากทั้งหมด 512 เส้น ยังไม่ได้นําไปเปลี่ยนใส่รถยนต์ แต่นําไปเก็บไว้ในคลังเก็บพัสดุ ทั้งที่ได้ตรวจรับยางรถยนต์มาแล้วกว่า 3 เดือน ตรวจสอบสถานประกอบการของห้างหุ้นส่วนจํากัดแห่งหนึ่งที่เข้าร่วมการเสนอราคางาน พบว่า บ้านเลขที่ดังกล่าวมีป้ายหน้าร้าน ระบุชื่อเป็นสถานประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ รับออกแบบป้ายโฆษณา พิมพ์ป้ายอิงค์เจ็ท โดยไม่พบว่าได้เปิด เป็นร้านจําหน่ายยางรถยนต์หรือสิ่งอื่นใดที่เกี่ยวกับรถยนต์แต่อย่างใด
เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับคำชี้แจง ของ พ.อ.ภักดี แสงประเสริฐ ผู้อำนวยการกอง 11 ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย มาขึ้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำรายละเอียดทั้งหมด แบบคำต่อคำ ประเด็นต่อประเด็น มานำเสนอ ณ ที่นี้อีกครั้ง
@ กรณีการไม่ระบุราคากลางต่อหน่วยของยางรถยนต์
พ.อ.ภักดี กล่าวชี้แจงว่า "ต้องขอเรียนว่าในปีที่มีการจัดหายางรถยนต์นั้น พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างปี 2560 เพิ่งจะมีผลบังคับใช้ ทางด้านของศูนย์รักษาความปลอดภัยฯ ก็เลยมีการจัดซื้อจัดจ้างแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) แต่อย่างไรก็ตาม การสืบราคากลางเรื่องยางรถยนต์นั้น เนื่องจากไม่มีข้อมูลของราคากลางยางรถยนต์ปรากฎในฐานข้อมูลของกรมบัญชีกลางในช่วงปีที่มีการจัดหายางรถยนต์มาก่อน ดังนั้น วิธีสืบราคากลางก็จะต้องมีการนำข้อมูลการจัดซื้อยางรถยนต์ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาเทียบแทน"
“เวลาราชการไปสืบนั้นเราต้องมีหนังสือไปถึงร้านค้าต่างๆ ที่มีอาชีพในการค้าขายยางรถยนต์ ผมสมมติ เราไปสืบราคาจากบริษัท A B C อันไหนที่มีราคาต่ำสุด เช่น ขอบ 14 ขอบ 15 เราก็เอาตัวนี้เป็นเกณฑ์ราคากลาง แต่เวลา สตง.เข้าตรวจผมเป็นช่วงหลังจากจ่ายเงินกันไปหมดแล้ว เขาก็ถามว่าทำไมไม่เอาราคายางของ บี-ควิกมา ทำไมไม่เอาราคายางทางอินเตอร์เน็ตมา แต่ความจริงผมก็เข้าไปหาทางบี-ควิก ลองไปถามทางบี-ควิกได้เลย หรือร้านค้าที่มีลักษณะแบบนี้ เขาไม่ค้าขายกับทางราชการ เวลาเราไปให้เขาทำใบเสนอราคายางที่เราจะซื้อเพื่อจะเอามากำหนดราคากลาง เขาไม่ทำ เขาไม่ค้าขายกับทางราชการ”
"อีกประเด็นก็คือราคายาง บี-ควิก ที่ขายในอินเตอร์เน็ตนั้นเป็นราคายางเก่าค้างเป็นปีแล้ว ที่ระบุกันว่าซื้อยาง 3 เส้น แถม 1 เส้น แต่เขาจะมีแค่ประมาณ 4 เส้นหรือ 8 เส้น แต่ถ้าจะเอามากกว่านั้น เอาไปใส่รถของกองทัพซึ่งมีเป็นสิบๆคัน เขาไม่มีขายให้ อีกทั้งในเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างหรือทีโออาร์นั้นระบุชัดเจนว่า ณ วันส่งสินค้ายางที่ทางกองทัพจะจัดซื้อนั้นจะต้องเป็นยางที่มีอายุไม่เกิน 180 วันหรือ 6 เดือน แต่ปรากฎว่ายางของทางบีควิกนั้นเป็นยางที่มีอายุเก่ากว่านั้นมาก ซึ่งประเด็นเหล่านี้นั้นผมได้เคยเรียนให้ สตง.ทราบไปแล้ว"
พ.อ.ภักดีกล่าวยังถึงประเด็นเรื่องของประเด็นที่ทาง สตง.ชี้ข้อปัญหาเรื่องการไม่มีการกำหนดราคากลางต่อหน่วยว่า "ประเด็นนี้ต้องขอเรียนว่าการซื้อยางนั้นไม่ใช่คุรุภัณฑ์ (สินทรัพย์ที่ส่วนงานมีไว้เพื่อใช้ในการดำเนินงานมีลักษณะคงทนและมีอายุการใช้งานเกินกว่า 1 ปี) แต่เป็นวัสดุ (สินทรัพย์ที่ส่วนงานมีไว้เพื่อใช้ในการดำเนินงานตามปกติโดยทั่วไปมีมูลค่าไม่สูงและไม่มีลักษณะคงทนถาวร โดยสภาพเมื่อใช้แล้วย่อมสิ้นเปลืองหมดไป) ดังนั้นเราไปแยกรายละเอียดเป็นต่อหน่วยไม่ได้"
“ถ้าผมทำตามเขา เวลาผมซื้อวัสดุของสำนักงาน ยกตัวอย่างว่าอย่างดินสอ ปากกา ยางลบ ลิควิด เรามาแยกสัญญาหนึ่งว่าคนเสนอขายปากกาถูกกว่า คนเสนอขายยางลบถูกกว่าก็เป็นอีกสัญญาหนึ่ง แบบนี้ผมไม่ตายหรอครับ ผมก็ตอบเขาไปแบบนี้” พ.อ.ภักดีระบุ
@ กรณีไม่มีการระบุในประกาศถึงรายละเอียดของยางรถยนต์ที่ต้องการจัดซื้อว่ามีจํานวนกี่รายการ และแต่ละรายการต้องการยางรถยนต์แบบใด จํานวนเท่าใด
พ.อ.ภักดี กล่าวชี้แจงว่า "เรื่องนี้เคยใส่ข้อมูลรายละเอียดในหน้าเว็บไซต์ลงไปแล้ว โดยคนที่จะเข้ามาร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างนั้น เขาก็รู้ว่าจะต้องไปกดรายละเอียดในหน้าเว็บไซต์อีกหน้าหนึ่งเพื่อที่จะให้ปรากฎข้อมูลการจัดซื้อออกมาทั้งหมดรวมถึงทีโออาร์ แต่ตรงนี้ สตง.ก็ทักท้วงมาว่ามันจะยุ่งยากสำหรับคนที่จะมาร่วมการจัดซื้อจัดจ้าง ตรงนี้เราก็ยอมรับว่ามันเป็นการบิดดิ้งส์ครั้งแรกของหน่วย ดังนั้นก็เลยมีการปรับปรุงระบบในการจัดซื้อจัดจ้างว่าจะต้องแสดงรายละเอียดทั้งหมดออกมาให้เห็นในหน้าเว็บแรกเลย"
@ การขายเอกสารการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ชุดละ 1,000 บาท
พ.อ.ภักดี กล่าวชี้แจงว่า " ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างนั้นไม่ได้ระบุว่าจะต้องขายหรือว่าไม่ขาย ให้เป็นดุลยพินิจของหน่วยงาน ซึ่งผมเอาประโยชน์ของราชการเป็นหลัก ในงานก่อสร้างก็มีการขายเอกสารประกวดราคาขั้นต่ำกัน 1,000 บาท อยู่แล้ว โดยเงินที่ขายตรงนี้ก็เข้าแผ่นดิน มีใบเสร็จสามารถตรวจสอบได้"
"ส่วนสาเหตุว่าทำไมต้องขายนั้นก็เพราะว่าเนื่องจากมันเป็นอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ก็ต้องมีกระบวนการป้องกันว่ากรณีที่มีคนที่ไม่ได้มีจุดประสงค์จะเข้าร่วมกระบวนการประกวดราคาเข้ามากดดูเล่นอยู่บ่อยครั้ง แต่การจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนี้นั้นถือเป็นครั้งแรกใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างในปี 2560 ซึ่งในปีต่อๆมาก็ไม่ได้มีการขายเอกสารประกวดราคาอะไรกันแล้ว"
@ การตรวจพบยางรถยนต์จํานวน 390 เส้น จากทั้งหมด 512 เส้น ยังไม่ได้นําไปเปลี่ยนใส่รถยนต์ แต่นําไปเก็บไว้ในคลังเก็บพัสดุ ทั้งที่ได้ตรวจรับยางรถยนต์มาแล้วกว่า 3 เดือน
พ.อ.ภักดี ชี้แจงว่า “หน่วยงานผมนั้นมีรถอยู่เกือบ 600 คัน แล้วที่ตั้งนั้นก็ไม่ได้อยู่ที่ ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) ถนนรามอินทรา แต่มีที่ตั้งอยู่ทั่วทั้งประเทศ ทั้งเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ปัตตานี สงขลา ดังนั้นเวลาที่เราจะเรียกเขามาเปลี่ยนยางมาก็ต้องทยอยกันมาเดือนละคัน สาเหตุที่มีการจ่ายยางช้านั้นเป็นเพราะว่ามีการแจ้งมาจากกองบัญชาการแล้วว่าจะมีการมาตรวจยาง ซึ่งผมเคยมีประสบการณ์แล้วว่าในตอนปี 2558 เขาเรียกมาตรวจยาง ผมก็ต้องเรียกรถที่จ่ายยางแล้วจำนวนเกือบ 600 คันจากต่างจังหวัดเข้ามาหมดเลย ซึ่งตรงนี้เสียทั้งเวลาและเสียค่าน้ำมันมาก ผมก็เลยยังไม่จ่ายยาง รอให้ทางกองบัญชาการตรวจยางให้เสร็จกันก่อน ซึ่งเขาตรวจยางกันละเอียดมาก โดยตรวจกันทุกเส้นไม่ใช่แค่สุ่มตรวจ”
@ ตรวจสอบสถานประกอบการของห้างหุ้นส่วนจํากัดแห่งหนึ่งที่เข้าร่วมการเสนอราคางาน พบว่า บ้านเลขที่ดังกล่าวมีป้ายหน้าร้าน ระบุชื่อเป็นสถานประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ รับออกแบบป้ายโฆษณา พิมพ์ป้ายอิงค์เจ็ท โดยไม่พบว่าได้เปิด เป็นร้านจําหน่ายยางรถยนต์หรือสิ่งอื่นใดที่เกี่ยวกับรถยนต์แต่อย่างใด
พ.อ.ภักดีกล่าวชี้แจงว่า "การจดทะเบียนกับกรมพัฒนากรมธุรกิจการค้านั้น มีลักษณะจดทะเบียนกันแบบครอบคลุม แต่เขาก็มีการประกอบอาชีพขายยางรถยนต์แล้วก็มีการจดทะเบียนครอบคลุมในเรื่องธุรกิจการขายยางรถยนต์อยู่ด้วย ดังนั้น เราจะไม่ให้เขาเข้ามาร่วมกระบวนการประกวดราคาก็คงจะไม่ได้ และก็มีอีกกรณีหนึ่งซึ่งแม้ว่าหน้าร้านเขาจะไม่ได้ประกอบธุรกิจในด้านการขายยางรถยนต์ แต่ปรากฏว่าเขาได้จดทะเบียนว่าขายยางรถยนต์ และเขามีเส้นสายสามารถไปต่อรองกับทางโรงงานผลิตยางรถยนต์เพื่อจะเอามาขายในราคาถูกให้กับทางเราได้ ตรงนี้เราก็ต้องให้เขาได้มีโอกาสเข้ามาร่วมในกระบวนการประกวดราคาเช่นกัน เพราะถ้าหากไม่ให้เขาผ่านคุณสมบัติเข้ามาร่วมในกระบวนการประกวดราคาอีก เขาก็มาฟ้องเราได้เหมือนกัน"
@ สตง. ระบุว่า ยางรถยนต์ที่จัดซื้อมีราคาสูงกว่าท้องตลาดมากเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหายเป็นเงิน 1.18 ล้านบาท
พ.อ.ภักดี กล่าวชี้แจงว่า "เรื่องนี้ในช่วงปี 2561 ตอนช่วงไปอบรม ตนมีโอกาสไปเจอกับนักวิชาการที่เขามีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับปี 2560 นี้ด้วย นักวิชาการท่านนั้นก็บอกว่าเรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องที่มีความผิดอะไร มุมมองเรื่องนี้จากทางด้านคนร่าง พ.ร.บ.กับทางด้านของ สตง. เขาก็มองตรงนี้มันไม่เหมือนกัน
“แต่เรื่องการจัดซื้อยางรถยนต์ ปีต่อมาเราก็ทำตามเขาทั้งหมด ในการเทียบราคา ราคาจากบี-ควิกอะไร ตอนปีหลังๆผมก็เอามาเทียบกันหมด รวมไปถึงในเรื่องของการประกาศราคาด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีก” พ.อ.ภักดีระบุ
ทั้งหมดนี่ คือ รายละเอียดคำชี้แจงของพ.อ.ภักดี แบบคำต่อคำ ประเด็นต่อประเด็น ต่อกรณีปัญหาการทำสัญญาซื้อวัสดุยานพาหนะและขนส่ง (ยางรถยนต์) 26 รายการ ที่สำนักข่าวอิศรา ไปก่อนหน้านี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/