“...ในช่วงปี 2559 สตง. ตรวจสอบงานจัดซื้อรถตักหน้าขุดหลังและรถเทรลเลอร์ จำนวน 58 คัน ของสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. โดยกรุงเทพมหานครตราข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2555 ของกองจัดการขยะของเสียอันตรายและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม ค่าครุภัณฑ์ จำนวนเงิน 290 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อรถตักหน้าขุดหลังและรถเทรลเลอร์ รวมกันเป็นชุด จำนวน 58 คัน พบข้อบกพร่องในการดำเนินงาน ทั้งการไม่ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการกำหนดประเภทรายรับ-รายจ่าย และการกำหนดราคาจัดซื้อสูงกว่ามาตรฐานครุภัณฑ์ ทำให้รัฐเสียหายเป็นจำนวนเงิน 35.67 ล้านบาท...”
การจัดซื้อรถตักหน้าขุดหลังและรถเทรลเลอร์ จำนวน 58 คัน วงเงิน 287 ล้านบาท ในช่วงปี 2556 ของ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ถูก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบข้อบกพร่องในการดำเนินงาน ทั้งการไม่ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการกำหนดประเภทรายรับ-รายจ่าย และการกำหนดราคาจัดซื้อสูงกว่ามาตรฐานครุภัณฑ์ ทำให้รัฐเสียหายเป็นจำนวนเงิน 35.67 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ในช่วงปี 2559 สตง.ตรวจสอบงานจัดซื้อรถตักหน้าขุดหลังและรถเทรลเลอร์ จำนวน 58 คัน ของสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. โดยกรุงเทพมหานครตราข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2555 ของกองจัดการขยะของเสียอันตรายและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม ค่าครุภัณฑ์ จำนวนเงิน 290 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อรถตักหน้าขุดหลังและรถเทรลเลอร์ รวมกันเป็นชุด จำนวน 58 คัน แต่เมื่อทำสัญญาได้แยกรายการจัดซื้อ ดังนี้
(1) รถตักหน้าขุดหลังชนิดขับเคลื่อน 4 ล้อ จำนวน 29 คัน คันละ 4.23 ล้านบาท เป็นเงิน 122.67 ล้านบาท และ (2) รถเทรลเลอร์แบบท้ายลาดพร้อม HYDRAULIC WINCH และ CANE จำนวน 29 คัน คันละ 5.70 ล้านบาท เป็นเงิน 165.30 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 287.97 ล้านบาท พบข้อบกพร่องดังนี้
1. ระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการกำหนดประเภทรายรับ-รายจ่าย และการปฏิบัติเกี่ยวกับงบประมาณ พ.ศ. 2533 ข้อ 10 วรรคท้าย กำหนดว่า “การจำแนกประเภทรายจ่ายตามหมวดรายจ่ายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามรายละเอียดที่ปลัดกรุงเทพมหานครกำหนด” และระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการกำหนดประเภทรายรับ-รายจ่าย และการปฏิบัติเกี่ยวกับงบประมาณ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2536 ข้อ 20 (2) 2.1 ค่าครุภัณฑ์ กำหนดว่า “ให้แสดงรายละเอียดครุภัณฑ์แต่ละรายการ จำนวนราคาต่อหน่วยประเภทและหรือชนิดของครุภัณฑ์” ประกอบกับการจำแนกประเภทรายจ่ายตามหมวดรายจ่ายกำหนดให้รถตักหน้าขุดหลังอยู่ในประเภท “ครุภัณฑ์ก่อสร้าง” และรถเทรลเลอร์อยู่ในประเภท “ครุภัณฑ์ยานพาหนะและขนส่ง” จึงเป็นหน้าที่ของกรุงเทพมหานครที่จะต้องตราข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายตามโครงการจัดหารถตักหน้าขุดหลังและรถเทรลเลอร์ โดยแสดงรายละเอียด รายการ จำนวนราคาต่อหน่วย ตามประเภทหรือชนิดของครุภัณฑ์ แยกออกจากกันให้ชัดเจน
การที่กรุงเทพมหานครตราข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายสิ่งแวดล้อมตามโครงการจัดหารถตักหน้าขุดหลังและรถเทรลเลอร์ รวมกันเป็นชุด จำนวน 58 คัน วงเงินงบประมาณ 290 ล้านบาท ทั้งที่ ครุภัณฑ์ทั้งสองประเภทโดยสภาพถือเป็นประเภทครุภัณฑ์ ที่สามารถแยกจากกันและมิใช่สิ่งของที่ต้องประกอบกันเป็นชุดหรือหน่วยที่ถ้าขาดส่วนประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งไปแล้วจะไม่สามารถใช้การได้โดยสมบูรณ์ แต่กรุงเทพมหานครกลับมิได้แสดงรายละเอียด รายการ จำนวนราคาต่อหน่วย ตามประเภทหรือชนิดของครุภัณฑ์แยกออกจากกัน อันเป็นการปฏิบัติไม่ชอบด้วยระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการกำหนดประเภทรายรับ-รายจ่ายและการปฏิบัติเกี่ยวกับงบประมาณ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2536
2. ราคามาตรฐานครุภัณฑ์ (ตามหนังสือสำนักงบประมาณที่ นร 0719/ว48 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2554 และหนังสือสำนักการคลังที่ กท 1307/2473 ลงวันที่ 19 เมษายน 2554 ) ครุภัณฑ์ก่อสร้างประเภทรถตักหน้าขุดหลังชนิดขับเคลื่อน 4 ล้อ ราคา 3 ล้านบาทต่อคัน การที่กรุงเทพมหานครจัดซื้อรถตักหน้าขุดหลังคันละ 4.23 ล้านบาท จึงมีราคาสูงกว่าราคามาตรฐานครุภัณฑ์เป็นเงิน 1.23 ล้านบาทต่อคัน จำนวน 29 คัน เป็นเงินทั้งสิ้น 35.67 ล้านบาท ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 35.67 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐพบว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2556 สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในสัญญาเลขที่ สสล.151/2556 ซื้อรถตักหน้าขุดหลังชนิดขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบล้อเท่ากัน จำนวน 29 คัน และซื้อรถเทรลเลอร์แบบท้ายลาดพร้อม HYDRAULIC WINCH และ CANE จำนวน 29 คัน จาก บริษัท วีก้า เซอร์วิส จำกัด รวมวงเงิน 287,970,000 บาท สิ้นสุดสัญญา เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2556
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจค้า ระบุว่า บริษัท วีก้า เซอร์วิส จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 18 พฤศจิกายน 2552 ทุนปัจจุบัน 150 ล้าน แจ้งประกอบธุรกิจการให้เช่าสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวแทนจัดหาและจำหน่ายสินค้า ปัจจุบันยังประกอบธุรกิจอยู่
และนอกจากเป็นคู่สัญญาขายรถตักหน้าขุดหลังและซื้อรถเทรลเลอร์ จำนวน 58 คัน วงเงิน 287.97 ล้านบาทดังกล่าวแล้ว บริษัท วีก้า เซอร์วิส จำกัด ยังปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญา ขายรถชนิดต่าง ๆ ให้กับ สำนักสิ่งแวดล้อม อีก 3 สัญญา รวมวงเงิน 719,585,000 บาท คือ
1. สัญญาเลขที่ สสล.95/2556 ซื้อรถกระเช้าตัดแต่งกิ่งไม้ จำนวน 44 คัน วงเงิน 196,460,000 บาท ลงนามสัญญา 28 ก.พ. 56 สิ้นสุดสัญญา 25 ธ.ค. 56
2. สัญญาเลขที่ สสล.101/2556 ซื้อรถสุขาเคลื่อนที่สำเร็จรูปจำนวน 54 คัน วงเงิน 349,380,000 บาท ลงนามสัญญา 7 มี.ค. 56 สิ้นสุดสัญญา 2 มี.ค. 57
3. สัญญาเลขที่ สสล.102/2556 ซื้อรถย่อยกิ่งไม้ จำนวน 27 คัน วงเงิน173,745,000 บาท ลงนามสัญญา 8 มี.ค. 56 สิ้นสุดสัญญา 2 ม.ค. 57
นับรวมวงเงินทั้งสิ้น 4 สัญญา อยู่ที่ตัวเลข 1,007,555,000 บาท
แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่า การจัดซื้อรถทั้ง 3 สัญญา ถูกตรวจสอบพบปัญหาขั้นตอนการจัดชื้อเช่นเดียวกับสัญญาขายรถตักหน้าขุดหลังและซื้อรถเทรลเลอร์ จำนวน 58 คัน วงเงิน 287.97 ล้านบาท แต่อย่างใด
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2562 ได้พยายามติดต่อ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และบริษัท วีก้า เซอร์วิส จำกัด ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงแต่ยังไม่สามารถติดต่อได้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/