"...ในช่วงเดือน ก.ค. 2561 สำนักข่าวนิวซีแลนด์ แฮรัลด์ ของนิวซีแลนด์ เคยรายงานข่าวกรณีปัญหากำไล EM ว่า มีผู้ถูกคุมประพฤติรายหนึ่งได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย (Social Media) ว่า ตัวเขานั้นสามารถจะหลบเลี่ยงการเปิดเผยตำแหน่งของตัวเองต่อเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ได้ โดยใช้แค่แผ่นฟอยล์ (Foil) ห่อไปที่ตัวกำไล ก็สามารถป้องกันการส่งข้อมูลการแจ้งตำแหน่งของตัวกำไลได้แล้ว..."
ยังคงเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน!
สำหรับประสิทธิภาพการใช้งานกำไลคุมประพฤติ หรือ EM (Electronic Monitoring) ของกรมคุมประพฤติ ที่เช่าจาก บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด มูลค่า 74,470,000 บาท มาใช้งาน ภายหลังจากการจัดทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน ที่มี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมเป็นสักขีพยาน ในช่วงสายวันที่ 9 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา และพบว่าสามารถที่จะถอดออกจากข้อมือได้ เพียงแค่ใช้น้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจานถูเข้าไปในบริเวณที่สวมใส่ตรงข้อมือเท่านั้น
ทั้งที่ ในประกาศร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference : TOR) ระบุชัดเจนว่า ไม่สามารถถอดออกได้
ขณะที่ นายสมศักดิ์ แถลงภายหลังว่า ผลการทดสอบที่ออกมา ชี้ให้เห็นว่า ถ้าหากเป็นกำไล EM ที่สวมใส่ที่ข้อมือนั้นสามารถถอดออกได้ แต่ถ้าเป็นกำไลที่ใส่ข้อเท้าจะไม่สามารถถอดออกได้ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันความสับสน และต้องการให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น หลังจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงทำความชัดเจนในเรื่องให้เกิดขึ้น โดยใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ (อ่านประกอบ : 'สมศักดิ์' ตั้งกก.สอบกำไลEM ถอดออกได้ แจงยังไม่ผิดTOR เหตุมีให้เลือกว่าใส่ข้อมือหรือเท้า, พบแล้ว บ.ผลิตกำไล EM เช่า 74 ล.ตัวจริง-ก่อน 'สมศักดิ์' จัดพิสูจน์เห็นเต็มตาถอดออกได้)
น่าสนใจว่า ในต่างประเทศ กำไล EM เคยมีปัญหาเรื่องการใช้งานเกิดขึ้นบ้างหรือไม่?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อมูลพบว่า ในช่วงเดือน ก.ค. 2561 สำนักข่าวนิวซีแลนด์ แฮรัลด์ ของนิวซีแลนด์ เคยรายงานข่าวกรณีปัญหากำไล EM ว่า มีผู้ถูกคุมประพฤติรายหนึ่งได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย (Social Media) ว่า ตัวเขานั้นสามารถจะหลบเลี่ยงการเปิดเผยตำแหน่งของตัวเองต่อเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ได้
โดยใช้แค่แผ่นฟอยล์ (Foil) ห่อไปที่ตัวกำไล ก็สามารถป้องกันการส่งข้อมูลการแจ้งตำแหน่งของตัวกำไลได้แล้ว
" แผ่นฟอยล์ที่สามารถหาได้ตามถุงห่อไก่ของทางซุปเปอร์มาร์เก็ต ก็สามารถจะนำมาใช้เพื่อปกปิดตำแหน่งของกำไล EM ได้เช่นกัน การบล็อกสัญญาณบอกตำแหน่ง (จีพีเอส) สามารถกระทำได้หากใช้แผ่นฟอยล์ตะกั่วห่อในจำนวนที่เหมาะสม ซึ่งผมได้เคยทดลองกรณีนี้กับการปล่อยสัญญาณจีพีเอสของโทรศัพท์ของผม ซึ่งก็ได้ผล” ผู้เปิดเผยข้อมูลระบุ
อย่างไรก็ตาม นายแอนดรูว์ มิลน์ (Andrew Milne) รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นิวซีแลนด์ ได้ออกมาตอบโต้ว่า “ระบบของเรานั้นสามารถตรวจจับได้ ถ้าหากมีบุคคลที่พยายามไปยุ่งกับตัวบอกตำแหน่ง ซึ่งถ้าหากมีกรณีนี้เกิดขึ้นจริง ทางเราก็จะทราบและดำเนินการทันที”
"เมื่อใดก็ตามที่กำไล EM ที่ติดกับตัวบุคคลนั้นไม่ทำงานอย่างที่ควรจะเป็น เจ้าหน้าที่ทางกรมราชทัณฑ์ที่ตรวจสอบข้อมูลอยู่แล้ว ก็จะแจ้งให้กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ทราบโดยทันที ซึ่งตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้มีการจับกุมตัวผู้ต้องหาไปแล้ว 18 ราย ในข้อหาที่พวกเขาได้ไปยุ่งกับระบบบอกตำแหน่งของกำไล EM" นายแอนดรูว์ระบุ
ทั้งนี้ นอกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2561 แล้ว ในช่วงปี 2557 มีแฮกเกอร์ (hacker) รายหนึ่งได้สาธิตถึงวิธีการหลอกกำไล EM จนทำให้อาชญากรที่ถูกควบคุมตัวสามารถออกมาใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ
โดยนายวิลเลียม เทอร์เนอร์ แฮกเกอร์คนดังกล่าว ได้ออกมาระบุว่า ตัวเขานั้นสามารถหลอกกำไล EM ที่ต้องอาศัยระบบสัญญาณเครือข่ายเน็ตเวิร์ก (network) ของโทรศัพท์มือถือได้ โดยใช้กระบวนการปลอมแปลงข้อมูลการระบุตำแหน่งกำไลของบุคคลนั้นๆ
"ในงานสัมมนากิวีคอน ที่จัดขึ้นที่เมืองเวลลิงตัว นายวิลเลียมซึ่งมีอีกชื่อในวงการว่า อัมมอน รา ได้สาธิตให้เห็นถึงวิธีการปลอมแปลงข้อมูลที่อยู่ว่าถ้าหากใช้กระดาษฟอยล์ห่อบนกำไลเพื่อไม่ให้ส่งสัญญาณออกมา จากนั้นจึงใช้คอมพิวเตอร์ควบคู่ไปกับประมาณ 50 นิวซีแลนด์ดอลลาร์ (9,946 บาท) และโปรแกรมซอฟแวร์ประเภทหนึ่ง ก็จะสามารถปลอมแปลงสัญญาณที่อยู่ของกำไลได้ ซึ่งหมายความว่าในช่วงเวลาที่ตัวกำไลไม่สามารถส่งสัญญาณออกมาเพราะถูกฟอยล์ห่ออยู่นั้นได้นั้น การปลอมแปลงสัญญาณว่าเป็นสัญญาณของกำไลสามารถทำได้โดยใช้เครื่องส่งสัญญาณ แล็ปทอป และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แล้วจากนั้นทางด้านของผู้ใช้กำไลสามารถตัดอุปกรณ์ออกได้โดยจะไม่มีการส่งสัญญาณเตือนมาแต่อย่างใด"
สำหรับผลิตภัณฑ์กำไล EM ที่นายวิลเลียมได้นำมาใช้นั้นเป็นกำไล EM ที่ผลิตโดยบริษัท GWG International ซึ่งเป็นบริษัทของไต้หวัน
ส่วนกำไล EM ที่ทางกรมราชทัณฑ์ของนิวซีแลนด์ได้ใช้อยู่ ณ เวลาดังกล่าวคือกำไลจากบริษัทอังกฤษที่ชื่อว่า Buddi
แต่ต่อมาในปี 2558 ทางกรมราชทัณฑ์นิวซีแลนด์ ได้เปลี่ยนกำไล EM เป็นของบริษัทสหรัฐอเมริกาที่ชื่อว่า 3M
(เรียบเรียงจาก: https://www.nzherald.co.nz/nz/news/article.cfm?c_id=1&objectid=12083008)
สำหรับข้อมูลกำไล EM ในประเทศไทยนั้น สำนักข่าวอิศรา นำข้อมูลมาเสนอไปแล้วว่าทางกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ได้ทำสัญญาเช่ากำไล EM ยี่ห้อ Xentrack กับ บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด มูลค่า 74,470,000 บาท จำนวน 4,000 เครื่อง ระยะเวลาเช่า 21 เดือน นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2562 ถึงเดือน ก.ย. 2563 มี ยี่ห้อ Xentrack โดย บริษัท นิปปอน ไซซิทส์ จำกัด เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการผลิต ส่วนบริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่าย (อ่านประกอบ : พบแล้ว บ.ผลิตกำไล EM เช่า 74 ล.ตัวจริง-ก่อน 'สมศักดิ์' จัดพิสูจน์เห็นเต็มตาถอดออกได้)
ขณะที่ นายธรรมนูญ เวชวิทยาขลัง ผู้บริหารบริษัทนิปปอนฯ ได้ยืนยันกับทางสำนักข่าวอิศราว่า กำไล EM ยี่ห้อ Xentrack นั้นเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทย โดยมีการสั่งชิ้นส่วนมาจากโรงงานภายในประเทศจีนและมาประกอบในประเทศไทย
ส่วนการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานนั้น นายธรรมนูญ ยืนยันว่า ทางบริษัทนิปปอนฯ ทราบข่าวผลการทดสอบแล้ว และได้มีการหารือกับทางกรมคุมประพฤติไปเบื้องต้นแล้ว และคงจะต้องหารือกับทางบริษัทสุพรีมฯ อีกครั้ง
อย่างไรก็ตามขอเรียนว่า ในช่วงที่มีการดึงกำไล EM ออก ระหว่างการทดสอบที่ปรากฎเป็นข่าว ระบบมีการแจ้งเตือนไปยังศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ของกรมคุมประพฤติทันที
เมื่อถามต่อว่า กรณีดังกล่าวอาจจะมีความผิดพลาดหรือไม่ เพราะกำไลอาจถูกออกแบบให้ใส่ไว้กับเท้า แต่ปรากฏว่าทางกรมคุมประพฤติกลับนำไปใส่ที่ข้อมือแทน
นายธรรมนูญกล่าวว่า "จริงๆแล้วอุปกรณ์ที่ทางบริษัทได้ส่งมอบให้กับทางกรมคุมประพฤตินั้นสามารถใส่ได้ทั้งข้อมือและข้อเท้า ซึ่งจากการทดสอบก็เห็นแล้วว่าการดึงออกจากข้อเท้าเป็นเรื่องที่ยากมาก พอดึงเสร็จก็ขาดเลย ซึ่งเท่าที่ได้ยินมาตอนที่หารือกับกรมคุมประพฤติ ในเบื้องต้นกรมคุมประพฤติจะเปลี่ยนวิธีการใส่กำไล EM ก่อน โดยจะให้ไปใส่ที่ข้อเท้าทั้งหมดแทน แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องรอข้อสรุปที่เป็นทางการของทางคณะกรรมการตรวจสอบที่ทางกระทรวงยุติธรรมแต่งตั้งขึ้นอีกครั้งก่อนจะว่าทำกันอย่างไรต่อไป"
(อ่านประกอบ : EXCLUSIVE: เปิดคำชี้แจง บ.ผลิตกำไล EM เช่า74 ล. ไฉนถอดออกได้-ของจีนใช่หรือไม่?)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดคำชี้แจง บ.ผลิตกำไล EM เช่า74 ล. ไฉนถอดออกได้-ของจีนใช่หรือไม่?
'สมศักดิ์' ตั้งกก.สอบกำไลEM ถอดออกได้ แจงยังไม่ผิดTOR เหตุมีให้เลือกว่าใส่ข้อมือหรือเท้า
พบแล้ว บ.ผลิตกำไล EM เช่า 74 ล.ตัวจริง-ก่อน 'สมศักดิ์' จัดพิสูจน์เห็นเต็มตาถอดออกได้
เสนอต่ำกว่าราคากลาง41ล.! เจาะลึกสัญญากรมคุมประพฤติ เช่ากำไล EM บ.สุพรีมฯ 74.4 ล.
แกะเส้นทางเช่า 'กำไลEM' 74 ล. ก่อน 'สมศักดิ์' สั่งสอบสเปค-เพจดังแฉถอดออกเองได้?
เจาะทีโออาร์เช่ากำไล EM กรมคุมประพฤติ 74 ล. สเปคระบุชัดใส่ข้อมือ/เท้า ถอดออกไม่ได้