หลังยกเลิกลอต 16 ลำ 25.8 ล.! ขส.ทบ.อนุมัติให้ ‘แลกเปลี่ยน’ เรือบรรทุกยนต์ 20 ลำ ผู้ประกอบการรายใหม่ อ้างแจ้ง ผบ.ทบ.รับทราบแล้ว เหตุเอกชนไม่ปฏิบัติตามสัญญาสั่งเรียกค่าปรับ ค่าเสียหาย ด้านคนใน สงสัย อำนาจใคร ต้องรายงาน ครม.หรือไม่ จี้ยึดหลักประกัน-ขึ้นบัญชีดำ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2568 ที่ผ่านมา กองทัพบกโดยเจ้ากรม กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) ได้อนุมัติให้จำหน่ายและตัดยอดออกจากบัญชีคุม เรือบรรทุกยนต์ จำนวน 20 ลำ โดยการแลกเปลี่ยนกับผู้ประกอบการรายใหม่ ได้แก่ เรือบรรทุกยนต์ ขนาด 90 ฟุต จำนวน 16 ลำ , เรือบรรทุกยนต์ ขนาด 48 ฟุต จำนวน 1 ลำ และ เรือบรรทุกยนต์ ขนาด 75 ฟุต จำนวน 3 ลำ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนข้อมูลเอกสารหลักฐานเรือบรรทุกยนต์ และอำนวยความสะดวกกรณีมีผู้ประกอบการขอเข้าสำรวจเรือตามความเหมาะสม
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า การอนุมัติให้แลกเปลี่ยนเรือบรรทุกยนต์จำนวน 20 ลำดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังจากกองทัพบกโดย ขส.ทบ. ทำสัญญาแลกเปลี่ยนเรือบรรทุกยนต์ ขนาด 90 ฟุต จำนวน 16 ลำ กับเรือใหม่ จำนวน 2 รายการ รวม 4 ลำ เป็นเงินทั้งสิ้น 25,870,000 บาท กับบริษัท กริน อินเตอร์เนชั่นแนล คอมเมิร์ช จำกัด “ผู้รับแลกเปลี่ยน” มีกำหนดส่งมอบภายในวันที่ 1 ก.พ.2566
ต่อมา เจ้ากรม ขส.ทบ.ได้อนุมัติบอกเลิกสัญญาแลกเปลี่ยนเลขที่ 3/2565 ลงวันที่ 6 มิ.ย.2565 เนื่องจาก“ผู้รับแลกเปลี่ยน”ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ทาง ขส.ทบ.รายงานให้ ผบ.ทบ. ทราบ และ ผบ.ทบ. โดย ผช.ผบ.ทบ. 2 รับทราบรายงานการบอกเลิกสัญญาแลกเปลี่ยนฯ รวมทั้งให้ ขส.ทบ.ดำเนินการเรียกค่าปรับและค่าเสียหายตามสัญญารวมทั้งพิจารณาเป็นผู้ทิ้งงานกับเอกชนรายดังกล่าว
แหล่งข่าวจาก ทบ.เปิดเผยตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนดำเนินการแลกเปลี่ยนครั้งใหม่ ต้องย้อนกลับไปพิจารณาว่าการดำเนินการแลกเปลี่ยนครั้งก่อนดำเนินการตามขั้นตอนถูกต้องตามระเบียบของทางราชการหรือไม่ , การยกเลิกสัญญาเป็นอำนาจของใคร หน่วยงาน ขส.ทบ.หรือ ผบ.ทบ. , ต้องรายงานกระทรวงกลาโหมรวมทั้ง คณะรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ เพื่อยึดหลักประกันสัญญาพร้อมขึ้นบัญชีดำ ,การยึดหลักประกันสัญญาและหรือการขึ้นบัญชีดำเอกชนมีการดำเนินการแล้วหรือยัง
“เรื่องนี้น่าจะเป็นอำนาจของ ผบ.ทบ. และต้องรายการ ครม. ไม่ใช่หน่วยงานทำกันเอง เมื่อดำเนินการครั้งแรกไม่เป็นผล ต้องหยุดแล้วทำให้ถูกต้องตามระเบียบราชการก่อน”แหล่งข่าวก่อน