กรมท่าอากาศยาน ประกาศผลจัดซื้อติดตั้งเครื่องตรวจอาวุธ-วัตถุระเบิดแบบ LEDS ขนาดช่องอุโมงค์ 60 x 40 cm ประจำท่าอากาศยานสกลนคร 1 เครื่อง งบ 30 ล้าน ยื่นซอง 4 ราย ผ่านคุณสมบัติ 2 เจ้า ก่อน บ.จี.จี. เอ็นจิเนียริ่งฯ ชนะ เสนอ 29,780,000 บาท ต่ำกว่าราคากลาง 216,915 บาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมท่าอากาศยาน ได้เผยแพร่ผลประกวดราคาจัดซื้อและติดตั้งเครื่องตรวจอาวุธและวัตถุระเบิดแบบ LEDS ขนาดช่องอุโมงค์ 60 x 40 cm พร้อมระบบตรวจสอบต่อเนื่อง (Inline) และอุปกรณ์ประกอบ ท่าอากาศยานสกลนคร ตำบลธาตุนาเวง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร 1 เครื่อง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
ปรากฏชื่อ บริษัท จี.จี. เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ชนะ เสนอราคาจำนวนเงิน 29,780,000 บาท (ดูเอกสารประกอบ)
สำหรับข้อมูลการเสนอราคางานโครงการฯ นี้ กำหนดวงเงินงบประมาณ 30,000,000 บาท ตั้งราคากลาง 29,996,915 บาท
มีเอกชนยื่นซองเสนอราคาแข่งขันงาน 4 ราย คือ บริษัท จี.จี. เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด , บริษัท ชีต้าร์ เอ็นยิเนียริ่ง ซิสเต็มส์ จำกัด, บริษัท ศิริบูรพา ไอที แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และ กิจการร่วมค้า VGBES
บริษัท จี.จี. เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เสนอราคา 29,803,780 บาท บริษัท ชีต้าร์ เอ็นยิเนียริ่ง ซิสเต็มส์ จำกัด เสนอราคา 16,531,746.10 บาท บริษัท ศิริบูรพา ไอที แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เสนอราคา 29,826,250.00 บาท กิจการร่วมค้า VGBES เสนอราคา 22,197,800.00 บาท
แต่ผ่านคุณสมบัติ 2 ราย คือ บริษัท จี.จี. เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด , บริษัท ศิริบูรพา ไอที แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด
ก่อนที่ บริษัท จี.จี. เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จะได้รับการคัดเลือก วงเงินตามสัญญาจ้างอยู่ที่ 29,780,000.00 บาท ต่ำกว่าราคากลาง 216,915 บาท ระบุเหตุผล เป็นผู้มีคุณสมบัติและข้อเสนอทางเทคนิค ถูกต้องครบถ้วนและเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด
สถานะสัญญาปัจจุบัน ส่งงานครบถ้วน (ดูข้อมูลประกอบท้ายข่าว)
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาโครงการฯ นี้ ยังไม่เคยถูกร้องเรียนว่ามีปัญหาความไม่โปร่งใสในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ เคยปรากฏเป็นข่าวว่าในปีงบประมาณ 2565 กรมท่าอากาศยาน มีแผนที่จะเปิดประมูลจัดซื้อจัดจ้างติดตั้ง เครื่องตรวจอาวุธและวัตถุระเบิดแบบ LEDS ขนาดช่องอุโมงค์ 60 x 40 เซนติเมตร พร้อมระบบตรวจสอบต่อเนื่อง (Inline) และอุปกรณ์ประกอบ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ในสนามบินจำนวน 4 แห่ง รวมวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 120 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น ท่าอากาศยานสกลนคร 30 ล้านบาท ท่าอากาศยานนครพนม 30 ล้านบาท ท่าอากาศยานน่านนคร 30 ล้านบาท และท่าอากาศยานพิษณุโลก 30 ล้านบาท
ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายการยกระดับมาตรฐานสนามบินในภูมิภาค เพื่อเพิ่มมาตรการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการสนามบิน ตามแผนอำนวยความสะดวกในการบินพลเรือนแห่งชาติ National Civil Aviation Facilitation Programme:NCAFP และยกระดับความปลอดภัยของท่าอากาศยานในสังกัดทั่วประเทศ ให้เป็นไปตามมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization :ICAO)