ผบ.ทร.ย้ำยังต้องหาเรือดำน้ำจีนให้ได้ 3 ลำตามยุทธศาสตร์ ชี้ยอมรับเครื่องยนต์จีนได้ หากมีประสิทธิภาพ ส่วนข้อเสนอเอาเครื่องยนต์เยอรมนีมาใส่เอง ตอนนี้ยังไม่มีคำตอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่กองบัญชาการกองทัพเรือ(บก.ทร.) พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าโครงการเรือดำน้ำจีน ว่า ทร.ยังยืนยันตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือและการพัฒนาขีดความสามารถว่ากองทัพเรือจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ 3 ลำตามยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนากองทัพเรือให้เทียบเท่าหรือสามารถดำรงการป้องปรามได้ รวมถึงจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค คือ กรมอู่ทหารเรือในการพิจารณาข้อมูลทางเทคนิคของเครื่องขับเคลื่อนกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งเป็นปัญหาในปัจจุบัน โดยเราจะใช้กองเรือดำน้ำ ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องเดียวกับเรือดำน้ำมาเตรียมกำลังพลและการจัดการในภาพรวม และใช้สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ในเรื่องการบริหารสัญญาและกำหนดแนวทาง
“ปัจจุบันโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำมีความล่าช้า และมีการเจรจากันมาตั้งแต่เดือนเม.ย.2565 ฉะนั้นก็ต้องมาดูทุกหนทางเลือกที่มีประโยชน์กับกองทัพเรือต่อประเทศชาติและประชาชน ซึ่งคณะกรรมการบริหารโครงการเรือดำน้ำมีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาข้อมูลต่างๆที่มีการส่งต่อกันมาจากปีงบประมาณ 2565 และมารวบรวมแนวทางปฏิบัติโครงการล่าช้าไปถึงปีไหนแล้วหากจะมีการดำเนินต่อเนื่องหรือหากจะมีการยกเลิกสัญญา ซึ่งแต่ละแนวทางจะต้องมีคณะกรรมการด้านใดบ้าง เช่น ด้านกฎหมาย ด้านขั้นตอน และด้านความพร้อม โดยมีเสนาธิการทหารเรือเป็นประธานจะมีการแนวทางพิจารณาและนำเสนอไปยังผู้มีอำนาจ”
พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าวต่อว่า ส่วนกรอบระยะเวลาต้องดูว่าเรือดำน้ำในปัจจุบันหากจะดำเนินการต่อจะต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ และมีผลกระทบด้านใดบ้าง อาจต้องมีการเจรจารอบใหม่กับทางการจีน เพื่อขอตรวจสอบข้อมูลที่ทางการจีนเสนอมา หากกองทัพเรือยังมีข้อสงสัยอยู่ ทั้งนี้เพื่อนำมาประมวลผล และหาทางเลือกว่าจะยกเลิกสัญญาหรือเดินหน้าต่อ ในการพิจารณาโครงการเรือดำน้ำ
เมื่อถามถึง เครื่องยนต์จีนไม่เคยถูกใช้งานมาก่อน ทร.ไทยจะเป็นหนูทดลอง และมีโอกาสที่จะยกเลิกสัญญาหรือไม่ พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าวว่า หากยังมีข้อสงสัยก็ต้องมีการขอข้อมูลเพิ่มเติม หรือส่งเจ้าหน้าที่ไปดูเครื่องยนต์เรือดำน้ำตามที่จีนเสนอ ว่าจะสามารถนำมาใช้ในเรือดำน้ำของกองทัพเรือได้หรือไม่ ซึ่งต้องเจรจากับจีนอีกรอบ เพื่อกำหนดแนวทางร่วมกัน ทั้งนี้ เท่าที่ทราบเบื้องต้นข้อมูลจากกรมอู่ทหารเรือยังไม่เพียงพอ ทางการจีนต้องแสดงข้อมูลและเหตุผลว่าของที่เสนอมาเป็นของที่มีคุณภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าโดยยึดถือเรื่องของความพร้อมด้านขีดความสามารถด้านยุทธการเป็นสำคัญและความปลอดภัยของกำลังพลที่ใช้เรือดำน้ำที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาเรื่องนี้
ถามว่า ถ้ายกเลิกสัญญาจะเรียกเงินที่จ่ายไปแล้วและค่าชดเชยที่มีความบกพร้อมหรือไม่ พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าวว่า เป็นรายละเอียดที่จะต้องให้คณะกรรมการบริหารโครงการไปดูรายละเอียดก่อน เพราะโครงการมีการขยายสัญญาออกไปจากสัญญาเดิมไว้ในปี 2567 ปัจจุบันล่าช้ามาและมีการตรวจสอบเรื่องงบประมาณ หากโครงการยืดระยะเวลาออกไปกินเวลานาน อาจต้องพิจารณาเรื่องของการเสริมสร้างกองทัพ ในช่วงที่ยังไม่สามารถจัดหาเรือดำน้ำเข้ามาในกองทัพได้ฉะนั้นเรื่องนี้จะเป็นการทบทวนยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ เพื่อจะให้เรามีความพร้อมตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ
เมื่อถามย้ำว่า หากเรือดำน้ำลำแรกยังไม่สามารถส่งมอบได้ โอกาสในการซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 จะเป็นอย่างไร พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าวว่า ก็ต้องดูว่าเราสามารถพิสูจน์ได้หรือไม่ว่า ถ้าลำแรกดำเนินการต่อจะตอบสนองภารกิจกองทัพเรือได้หรือไม่ ทั้งนี้ตนไม่หนักใจ เพราะยึดหลักว่าเข้ามาทำงาน หากมีปัญหาต้องแก้ปัญหา เพราะทำงานเป็นขั้นตอน ตรวจสอบได้ มีความโปร่งใส และให้เกิดความคุ้มค่าของเงินภาษีประชาชนที่ต้องนำไปใช้ในโครงการตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ
เมื่อถามอีกว่า ไทยเป็นประเทศเล็กกว่าจีนมีผลต่อการเจรจาต่อรอง รวมถึงเรื่องความเกรงใจกับจีน และนโยบายรัฐบาล มีการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีแล้วหรือไม่ พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าวว่า ตั้งแต่เข้าหน้าที่ไม่ได้มีการประสานงานมาขอย้ำว่าทุกขั้นตอนทำตามหน้าที่ทำตามสัญญาและทำตามความต้องการของกองทัพเรือ รายละเอียดการเจรจาจะต้องรอขั้นตอนต่อไป แต่ทุกขั้นตอนจะมีการทำรายละเอียดและเมื่อถึงการเจรจาครั้งสุดท้ายก็จะต้องมีการดำเนินการตามกฏหมายทุกประการ ทั้งนี้หากเรามีการยกเลิกสัญญาแต่ยังต้องการเรือดำน้ำอยู่ก็ต้องไปพิจารณาว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถพูดได้ว่าจะยกเลิกสัญญาหรือเดินหน้าต่อ
ส่วนที่มีการเสนอว่าให้นำเครื่องยนต์ของเยอรมันมาใส่ในเรือดำน้ำของไทยได้หรือไม่ พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าวว่า ยังไม่มีคำตอบจากประเทศที่สาม ที่จะซื้อเครื่องมาแล้วมาติดตั้งเอง การต่อเรือดำน้ำจะต้องเป็นแพ็คเกจต้องทำที่ประเทศที่ต่อเรือดำน้ำเท่านั้น และส่งมอบมาให้ไทย แต่ขณะนี้ยังไม่มีแนวทางที่จะนำเครื่องมาติดตั้งที่ไทย
เมื่อถามว่า ในระหว่างที่รอความชัดเจนเรื่องเรือดำน้ำ จะต้องเสริมสร้างผิวน้ำ เช่นเรือฟริเกตหรือไม่ พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าวว่า ถ้าโครงการเรือดำน้ำอาจจะขยายเวลาออกไปเพราะมีปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ อาจต้องพิจารณาทางเลือกเพื่อเสริมสร้างกำลังกองทัพให้เทียบเท่าหรือป้องปรามประเทศรอบบ้านได้ อาจจะเป็นเรือฟริเกตหรือเครื่องบิน หรือเฮลิคอปเตอร์มาทดแทนในช่วงที่ยังจัดหาเรือดำน้ำไม่ได้ เพราะฉะนั้นในปีหน้าจะมีนโยบายการศึกษาการจัดสร้างเรือฟริเกตในประเทศ ซึ่งโครงการจัดหาเรือฟริเกตมีการอนุมัติไว้แล้ว แต่รัฐบาลอยากให้มีการดำเนินการในประเทศ เพราะฉะนั้นในปี 2566 จะมีแนวทางในการศึกษาแนวทางจัดหาและดูความเป็นไปได้ ซึ่งหากจะต่อเรือในประเทศจะต้องมีบริษัทต่อเรือจากต่างประเทศเข้ามาร่วมกลับบริษัทในประเทศ และเสนอแนวทางให้กองทัพเรือพิจารณาว่ามีแนวทางอย่างไรและหนทางเลือกไหนดีที่สุด เพราะหากการจัดซื้อเรือดำน้ำต้องขยายเวลาออกไป หรือยังมีความไม่แน่นอนอาจจะต้องมีการเสริมสร้างเรือรบขนาดใหญ่เติมเข้ามาในกองทัพ โดยจะต้องเป็นเรือที่มีขีดความสามารถในการปราบเรือดำน้ำ และมีขีดอำนาจรบเทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน
ส่วนเรือยกพลขึ้นบก LPD หรือเรือหลวงช้าง ที่เดิมจะใช้เป็นเรือพี่เลี้ยงของเรือดำน้ำนั้น พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าวว่า เป็นโครงการเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกสามารถสนับสนุนการช่วยเหลือเรือดำน้ำได้ด้วย ซึ่งภารกิจหลักของเรือช้างจะใช้ปฎิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก ลาดตระเวนตรวจการและช่วยเหลือประชาชน ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และช่วยประชาชนในช่วงที่เกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ ซึ่งเรือขนาดเล็กไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ โดยเรือสามารถบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ได้ 3 ลำ ทั้งนี้ การสนับสนุนเรือดำน้ำเป็นแค่ภารกิจส่วนหนึ่งวางไว้ให้ที่วางไว้ให้สนับสนุนกำลังพลเรือดำน้ำส่งกำลังบำรุงให้เรือดำน้ำได้ โดยขณะที่ยังไม่มีเรือดำน้ำก็จะสามารถนำไปใช้ในภารกิจอื่นที่กองทัพเรือมอบหมายได้ ดังนั้นเรือช้างไม่ได้สนับสนุนเรือดำน้ำเท่านั้น.