"...ในช่วงปี 2559 - 2565 บริษัท ซีเอชซี นาฟเทค (ประเทศไทย) จำกัด ปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญาหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมที่ดิน กรมชลประทาน กรมทางหลวง หลายสิบสัญญา มูลค่างานนับพันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงานเกี่ยวกับการวางระบบโครงข่ายสถานีดาวเทียม..."
"โครงการฯ นี้ ทุกอย่างนั้นดำเนินการตามกฎระเบียบหมด ไม่ได้มีประเด็นอะไร ทุกอย่างผ่านที่ประชุมคณะกรรมการหมดทุกขั้นตอน ...ทางเราไม่ได้ไปลงทุนอะไร แต่เป็นคนเชิญเขามาลงทุน มาเช่าที่ ที่เราคิดว่าน่าจะเหมาะสมกับเรา ซึ่งก็คือการทำศูนย์จำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำ"
คือ คำชี้แจงของ นายปรีดา ยังสุขสถาพร ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา (อสป.) ที่ให้กับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) หลังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ กรณี อสป. ประกาศผู้ได้รับสิทธิการใช้ประโยชน์โครงการสร้างศูนย์จำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำและเกษตรในพื้นที่บางส่วนของสะพานปลาสมุทรสาคร คือ บริษัท ซีเอชซี นาฟเทค (ประเทศไทย) จำกัด เสนอราคาค่าธรรมเนียมแรกเข้าเป็นเงินทั้งสิ้น 7 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าเช่ารายปี เป็นเงินทั้งสิ้น 168,000 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสนออัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนค่าเช่าทุก 3 ปี ในอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ซึ่งได้รวมภาษีอื่น ค่าขนส่ง ค่าจดทะเบียน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งปวง
ขณะที่ แหล่งข่าวจากองค์การสะพานปลา ให้ข้อสังเกตกับสำนักข่าวอิศราว่า การเปิดให้ผู้ได้รับสิทธิการใช้ประโยชน์โครงการสร้างศูนย์จำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำและเกษตรในพื้นที่บางส่วนของสะพานปลาสมุทรสาครดังกล่าว ถูกตั้งข้อสังเกตใน 2 ประเด็น คือ 1. ระยะเวลาในการดำเนินการเร่งรีบเกินไปหรือไม่ เพราะมีการออกประกาศเชิญชวน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ก่อนที่จะมีการประกาศผลวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 2. ค่าตอบแทนที่องค์การสะพานปลาได้รับ คือ ค่าธรรมเนียมแรกเข้าเป็นเงินทั้งสิ้น 7 ล้านบาท ค่าเช่ารายปี เป็นเงินทั้งสิ้น 168,000 บาท น้อยเกินไปหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาในการให้สิทธิที่ยาวนานหลายสิบปี
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูล บริษัท ซีเอชซี นาฟเทค (ประเทศไทย) จำกัด ที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัทฯ จดทะเบียนจัดตั้ง 9 กันยายน 2558 ทุนปัจจุบัน 50,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 349 อาคารเอสเจ อินฟินิท วัน บิสซิเนส คอมเพล็กซ์ ชั้น 16 ห้อง ที่ 6 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร จังหวัดกรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจการขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์งานวิศวกรรมโยธางานเหมืองแร่และงานก่อสร้าง
ปรากฏชื่อ นาย สุรวีร์ ลีฬหรัตนรักษ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ณ 30 เมษายน 2564 นาย สุรวีร์ ลีฬหรัตนรักษ์ ถือหุ้นใหญ่สุด 89% มูลค่า 44,500,000 บาท หุ้นที่เหลืออยู่ในชื่อ นาย สัญญา ลีฬหรัตนรักษ์ 6% มูลค่า 3,000,000 บาท นาย ธีรวัฒน์ ลีฬหรัตนรักษ์ 5% มูลค่า 2,500,000 บาท
บริษัทฯ นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 พฤษภาคม 2564 แจ้งว่า มีรายได้รวม 46,344,883.33 บาท รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 14,460,747.38 บาท กำไร สุทธิ 1,852,443.67 บาท
ในฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ เว็บไซต์ภาษีไปไหน ระบุว่า ในช่วงปี 2559 - 2565 บริษัท ซีเอชซี นาฟเทค (ประเทศไทย) จำกัด ปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญาหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมที่ดิน กรมชลประทาน กรมทางหลวง หลายสิบสัญญา มูลค่างานนับพันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงานเกี่ยวกับการวางระบบโครงข่ายสถานีดาวเทียม (ดูข้อมูลประกอบ)
ปี 2559 จำนวน 1 โครงการ รวมวงเงิน 314.00 ล้านบาท
ปี 2560 จำนวน 5 โครงการ รวมวงเงิน 152.29 ล้านบาท
ปี 2561 จำนวน 7 โครงการ รวมวงเงิน 331.74 ล้านบาท
ปี 2562 จำนวน 8 โครงการ รวมวงเงิน 10.08 ล้านบาท
ปี 2563 จำนวน 10 โครงการ รวมวงเงิน 4.57 ล้านบาท
ปี 2564 จำนวน 19 โครงการ รวมวงเงิน 449.73 ล้านบาท
ปี 2565 จำนวน 14 โครงการ รวมวงเงิน 7.43 ล้านบาท
โดยในช่วงปี 2559 หลังจัดตั้งเพียงปีเดียว บริษัทฯ คว้าประกวดราคาซื้อระบบโครงสร้างพื้นฐานงานสำรวจรังวัดด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียม จำนวน 1 ระบบ โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงิน 314 ล้านบาท
ขณะที่ตัวแทนบริษัทฯ เคยชี้แจงสำนักข่าวอิศราถึงประเด็นนี้ ว่า ในทีโออาร์ของกรมที่ดินไม่ได้มีการกำหนดเรื่องนี้เอาไว้ ขณะที่ผู้ผลิตสินค้าของบริษัท ที่นำเข้ามาจำหน่ายในไทย ก็เป็นบริษัทจากจีนมีความเชียวชาญในเรื่องการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานงานสำรวจรังวัดที่ได้รับการยอมรับ
- ทีโออาร์ไม่ได้ห้าม! บ.ตั้งปีเศษ ยันคุณสมบัติครบคว้างานจัดซื้อระบบรังวัดกรมที่ดินร้อยล.
- ตั้งบ.ปีเศษ คว้างานร้อยล.!สตง.สั่งทบทวนจัดซื้อระบบโครงสร้างพื้นฐานรังวัดกรมที่ดิน
ทั้งหมดนี่ เป็นโพรไฟล์ธุกิจ บริษัท ซีเอชซี นาฟเทคฯ ผู้ได้รับสิทธิการใช้ประโยชน์โครงการสร้างศูนย์จำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำและเกษตรในพื้นที่บางส่วนของสะพานปลาสมุทรสาคร โดยเสนอราคาค่าธรรมเนียมแรกเข้าเป็นเงินทั้งสิ้น 7 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าเช่ารายปี เป็นเงินทั้งสิ้น 168,000 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสนออัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนค่าเช่าทุก 3 ปี ในอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ซึ่งได้รวมภาษีอื่น ค่าขนส่ง ค่าจดทะเบียน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งปวง ที่สำนักข่าวอิศรา รวบรวมมาได้ในขณะนี้