"....นายแพทย์ชูศักดิ์ : สิ่งที่ผมเห็นความผิดปกติก็คือในกระบวนการคัดเลือกผู้ออกแบบ ซึ่งมีการลดคุณสมบัติของผู้ที่จะประกวดแบบได้หลายขั้นตอนเป็นกระบวนการ... ฝ่ายกฎหมายของคณะกรรมการมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย : ทำไม นพ.ชูศักดิ์ถึงออกมาโวยวายว่าการก่อสร้างนั้นไม่ถูกต้อง ทั้ง ๆ ที่เพิ่งเห็นแค่แบบร่างต้นที่เป็นการเสนอมาจากทางบริษัทในขั้นตอนประกวดราคาเท่านั้นเอง..."
ประเด็นตรวจสอบกรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวในโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียนว่า เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย มีคำสั่งให้ นายแพทย์ชูศักดิ์ วงศ์สุรีย์ ออกจากการตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ โดยไม่มีการสืบสวนสอบสวนหรือแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด โดยสาเหตุการถูกปลดของ นายแพทย์ชูศักดิ์ วงศ์สุรีย์ น่าจะมาจากการไปร่วมกับคณะแพทย์และเจ้าหน้าที่กว่า 79 ราย คัดค้านการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน มูลค่า 3,500 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าขั้นตอนการว่าจ้างเอกชนเข้ามารับงานอาจจะมีการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม นั้น
(อ่านประกอบ : ยื่นฟ้องศาลแรงงาน! ผอ.รพ. กรุงเทพคริสเตียนถูกสั่งปลด หลังค้านสร้างตึก 3,500 ล.,ชนวนปลดฟ้าผ่า ผอ.รพ. กรุงเทพคริสเตียน! ศาลฯ สั่งคุ้มครองชั่วคราวสร้างตึก 3.5 พันล.)
มีความคืบหน้าเพิ่มเติม เมื่อสำนักข่าวอิศรา ได้รับการชี้แจงข้อเท็จจริงจากฝ่ายนายแพทย์ชูศักดิ์ วงศ์สุรีย์ และตัวแทนฝ่ายกฎหมายของฝ่ายกฎหมายของคณะกรรมการมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ถึงสาเหตุการถูกปลดของ นายแพทย์ชูศักดิ์ และการคัดค้านการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน มูลค่า 3,500 ล้านบาท
โดยมีรายละเอียดสำคัญของแต่ละฝ่ายดังต่อไปนี้
@ นายแพทย์ชูศักดิ์ วงศ์สุรีย์
@ นพ.ชูศักดิ์ วงศ์สุรีย์ :
นพ.ชูศักดิ์ วงศ์สุรีย์ เริ่มต้นเปิดประเด็นว่า "ในประเด็นเรื่องที่ปรากฏเป็นข่าวเรื่องการคัดค้านการสร้างอาคารนั้น ต้องขอชี้แจงว่าผมเป็นผู้อำนวยการ เห็นว่าควรจะสร้างตึกใหม่ เนื่องจากว่าหลายๆอย่างที่เราขาดอยู่ เราจึงได้มีการสำรวจความเป็นไปได้ ซึ่งเราทำเรื่องนี้ไปตั้งแต่ก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19"
นพ.ชูศักดิ์ วงศ์สุรีย์ กล่าวย้ำว่า "แต่สิ่งที่ผมเห็นความผิดปกติก็คือในกระบวนการคัดเลือกผู้ออกแบบ ซึ่งมีการลดคุณสมบัติของผู้ที่จะประกวดแบบได้หลายขั้นตอนเป็นกระบวนการ โดยที่มีบันทึกรายงานการประชุมว่าครั้งนี้ขอให้ลดอย่างนี้ คุณสมบัติงานจากพันล้าน เหลือ 700 ล้าน จาก 2 โครงการ เหลือ 1 โครงการ เหตุผลตอนแรกก็คือเพื่อให้มีคนเข้าประมูลได้จำนวนมาก ๆ จะได้ราคาถูก ทีนี้ตอนที่มีการประกวดแบบ ก็พบว่ามีบริษัทหนึ่งที่ฝีมือหรือความเข้าใจของสถาปนิกนั้นไม่มีความเข้าใจหรือมีประสบการณ์ในการออกแบบโรงพยาบาลเลย อาทิ แผนกผู้ป่วยหลังคลอด กับแผนกผู้ป่วยเด็กอ่อนมันต้องอยู่ติดกันเพื่อที่จะให้รับส่งนมได้ เขาก็ยังไม่รู้เลย เขาเอาไปไว้ห่างกันสิบกว่าชั้น แผนกเอ็กซเรย์นั้นมีห้องอัลตร้าซาวน์ห้องเดียว ทั้ง ๆ ที่มันต้องมีห้องประมาณ 7-8 ห้องแบบนี้"
"คือ เขาออกแบบแล้วมีความผิดพลาดมาก"
"ผมก็เลยมีไอเดียว่าบริษัทนี้ไม่เหมาะสม แล้วบริษัทที่ไม่เหมาะสมที่ว่ามีประสบการณ์น้อยๆนั้น เขาก็มีประสบการณ์การออกแบบแค่โรงพยาบาลแห่งเดียวเท่านั้น มาตรฐานเราก็คือ 700 เขาก็ได้คะแนนเกินมาตรฐานไปแค่ 700 กว่า ๆ เท่านั้นเอง"
"แต่ปรากฏว่ามีอีก 2 บริษัทที่มีผลงานเป็นสิบแห่ง เคยออกแบบโรงพยาบาลพญาไทย โรงพยาบาลสมิติเวช มาหลายครั้ง ทีนี้กระบวนการประกวดแบบมันก็ดำเนินไปจนถึงขั้นตอนเสนอที่สภาคริสตจักร ปรากฏว่าเขาก็คัดเลือกเข้าไป 7 บริษัทที่เข้าประกวดแบบ ให้ไปที่สภาจนเหลือ 5 บริษัท พอถึงสภาเขาก็ให้แต่ละบริษัทยื่นราคาใหม่ แล้วก็คัดเลือกว่าใครเสนอราคาต่ำสุด เอาบริษัทนั้น โดยที่ไม่ได้ดูผลงาน ประสบการณ์อะไรเลย ดูแค่ว่าใครเสนอราคาต่ำก็เอาบริษัทนั้นอย่างเดียว ซึ่งก็ไปตรงกับบริษัทที่ไม่มีประสบการณ์และก็ผ่านเกณฑ์แบบฉิวเฉียด เป็นบริษัทนั้นได้"
"ความผิดปกติอีกประการก็คือทุกบริษัทก็มีความสับสนและก็งงว่าทำไมต้องยื่นราคาใหม่ เพราะการประกวดแบบเขาจะไม่ต่อราคา เขาจะเจรจากับคนที่ชนะคะแนนแบบดีที่สุด แล้วก็มาต่อราคาว่าลดหน่อยได้ไหม แต่ตรงนี้เข้าไปแล้วยื่นซองราคาเหมือนกับประกวดราคาใหม่ ทำให้ทุกบริษัทงง ก็เลยออกไปประชุมแล้วก็ไปเขียนราคาใหม่ด้วยปากกากลับมาว่าลดราคาได้เหลือเท่าไร"
"แต่ว่าบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุดนั้นเตรียมจดหมายพิมพ์มาเรียบร้อยแล้ว เหมือนกับมีคนส่งซิกว่าให้มีการยื่นซองราคาใหม่ ให้เตรียมราคาที่ต่ำสุดเอาไว้ จะเลือกอันนี้ แต่บริษัทอื่นๆไม่รู้ เข้าใจว่าเขาจะเลือกคนที่มีคะแนนการออกแบบสูงสุดเข้าไป แล้วจะมีการเจรจาเรื่องราคากันใหม่ เขาก็เลยยังทิ้งสเตปเรื่องของการเตรียมราคาเอาไว้"
"พอก่อนหน้านั้นมันมีเรื่องของการดูคุณภาพกันมาแล้ว เราก็ให้เวลาเขาไปทั้งสิ้น 45 วันเพื่อไปคิดแบบแล้วนำมาแสดง ซึ่งบริษัทที่เสนอต่ำสุดไม่ได้เป็นผู้ชนะ ทีนี้พอผมเห็นว่ามีการนำเอาบริษัทที่มีความผิดพลาดเยอะ ค่าออกแบบต่ำกว่าไม่กี่ล้านบาท ความเสียหายมันจะเกิดขึ้นกับโรงพยาบาล ผมก็เลยเอาทุกแบบของบริษัทที่ได้มีการนำเสนอไปให้กับคณะบุคลากรคณะแพทย์ของโรงพยาบาลดู"
นพ.ชูศักดิ์ วงศ์สุรีย์ กล่าวอีกว่า "ทุกคนเมื่อได้เห็นแบบ เห็นวิธีการออกแบบของเขาก็เห็นด้วย หมอ 79 คนในโรงพยาบาลก็เลยยื่นเรื่องขอให้สภาทบทวนใหม่ แต่สภาคริสตจักรก็ไม่เรียกมาคุย ไม่อะไรเลย เขายืนยันว่าในเมื่อทุกคนผ่านผลงานเกณฑ์ขั้นต่ำแล้วก็ถือว่าทุกคนเก่งเท่ากัน ทุกคนก็ต้องมีการแก้แบบอีก เพราะฉะนั้นที่ผมบอกว่าแบบอันนี้มันผิดอย่างไร ก็ไม่เป็นไร พอจ้างเขามา หมอก็บอกเขาไป เขาก็จะทำตามหมอ แต่มันไม่ใช่ไง คือเรารู้พื้นๆแล้ว เราก็ต้องการจ้างคนที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญจริงๆมาช่วยเรา ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปบอกเขาหมดทุกอย่างว่าจะต้องทำอย่างไร อันนี้ก็คือพื้นฐานที่ผมคัดค้านผู้ออกแบบรายนี้"
"อีกทั้งบริษัทผู้ที่ได้คะแนนออกแบบที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง พอเขารู้ว่าบริษัทที่ชนะนี้เสนอราคาต่ำสุดเขาก็ยินดีที่จะลดราคา พร้อมที่จะทำในราคาที่เท่ากัน ก็คือเหมือนกับแก้ทีหลังประมาณนั้น แต่ว่าสภาคริสตจักรก็ไม่ได้พิจารณาในเรื่องนี้"
"ผมเน้นย้ำเสนอว่าการประกวดแบบนั้นควรจะดูที่คุณภาพด้วย แต่เขาดูแค่ราคาอย่างเดียว ผมก็มองแล้วว่าถ้าหากมันเป็นแบบนี้ต่อไปมันจะมีความเสียหายกับการออกแบบในระยะยาว ผมก็เลยค้านในเรื่องนี้" นพ.ชูศักดิ์ วงศ์สุรีย์ ระบุ
@ฝ่ายกฎหมายของคณะกรรมการมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย :
"ผมต้องชี้แจงกันก่อนว่ากระบวนการคัดเลือกบริษัทผู้ออกแบบบริษัทที่ผ่านมานั้น มีกรณีการคัดเลือกบริษัทกันหลายครั้งมาก ประมาณ 24 ครั้งด้วยกัน อีกทั้งตัวของ นพ.ชูศักดิ์ เองก็อยู่ในที่ประชุมการคัดเลือกด้วยเช่นกัน"
"ซึ่งในกระบวนการคัดเลือกบริษัทตอนแรกนั้นมีการคัดเลือกบริษัทจากที่เข้ามาทั้งสิ้น 18 บริษัท ให้เหลือประมาณ 10 บริษัท ต่อมาก็ลดลงมาเหลือ 8 บริษัท คัดออกมาเหลือ 5 บริษัท โดยในกระบวนการคัดเลือกนั้นเราได้มีการให้ศูนย์วิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นได้มีการจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดจ้างผู้ทำการศึกษา Requirement, Master Plan และ Feasibility ของโครงการก่อสร้างอาคารใหม่ของโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียนด้วยเช่นกัน ซึ่งเราก็ได้นำเอารายงานฉบับดังกล่าวมาเป็นโจทย์ที่จะคัดเลือกบริษัทที่จะทำการออกแบบดังกล่าวจนทำให้เหลือ 5 บริษัทที่ว่ามานั้น" (ดูภาพประกอบ)
"ที่ผ่านมามีหลายบริษัทที่เขาทำไม่ได้ตามโจทย์ที่เราบอกเอาไว้ เขาก็ลาออกไป ดังนั้นทุก 5 บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกมา เราก็ถือว่าทุกบริษัททำได้เก่งเท่ากันหมด ไม่มีใครเก่งเกินใคร แล้วเราก็คัดเหลือ 5 บริษัทโดยเลือกเอาคนที่สามารถเสนอราคาได้ต่ำที่สุด ไม่ได้เสนอว่าจะให้เอาบริษัทที่ได้ออกแบบได้อันดับหนึ่งมาเป็นบริษัทที่จะชนะการประกวดราคา ถ้าหากเราทำเช่นนั้น เราก็จะถูกกล่าวหาได้อีกเช่นกันว่ามีการล็อกสเปกหรือไม่"
"อีกทั้งในที่ประชุมก็มีคณะกรรมการพิจารณากันหลายคน ซึ่งทุกคนก็มีความเห็นด้วยเหมือนกันหมด เราก็ต้องยึดตามมติเสียงส่วนมาก ไม่ใช่แค่ นพ.ชูศักดิ์แค่เสียงเดียว อีกทั้งที่เราเลือกบริษัทที่ราคาต่ำสุดนั้น เราก็ต้องมีการรักษาผลประโยชน์ของทางสภาคริสตจักรเอาไว้ด้วย"
"ที่ผ่านมาที่บอกว่า นพ.ชูศักดิ์ไม่เห็นด้วย เขาก็ไม่เห็นด้วยหลังจากมีกระบวนการลงคะแนนของมติคณะกรรมการเท่านั้น แต่เขาไม่เคยพูดว่าไม่เห็นด้วยเพราะว่าอะไรเลย ในกระบวนการประชุมคัดเลือกแบบหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา แค่ติ๊กว่าไม่เห็นด้วยเท่านั้น ซึ่งช่วงที่เปิดให้มีการอภิปรายเขาก็ไม่เคยออกมาพูดเลยว่าไม่เห็นด้วยเพราะว่าอะไร"
ฝ่ายกฎหมายของคณะกรรมการมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ยืนยันว่า "ในกระบวนการประมูลนั้น ทางประธานผู้บริหารมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ได้บอกว่าในครั้งแรกที่จะมีการเปิดประมูล เขาได้เห็นราคาเบื้องต้นแล้วของทั้ง 5 บริษัท เขามีความตั้งใจที่จะขอลดราคาอยู่แล้ว ขอให้มีการไปเขียนราคามาใหม่ ทั้ง 5 บริษัท แล้วเดี๋ยวจะมาเปิดซองพร้อมกัน"
"ซึ่งการเปิดราคามาใหม่นั้นก็เป็นการเปิดราคากันในห้องลับ ก็เป็นไปตามที่กฎหมายได้ระบุอยู่แล้ว ซึ่งทางบริษัทที่ชนะการประกวดราคานั้นตอนแรกเขาเสนอราคามา 72 ล้านบาท แต่ลดลงมาเหลือ 65 ล้านบาท สำหรับค่าออกแบบ ส่วนบริษัท ที่ นพ.ชูศักดิ์ได้ยืนยันมานั้นเขาเสนอราคาตอนแรกอยู่ที่ 79 ล้านบาท ก็ลดราคาลงมาเหลืออยู่ที่ 72 ล้านบาท"
"ผมขอเน้นย้ำอีกรอบว่าในกระบวนการคัดเลือกบริษัทให้เหลือ 5 บริษัทนั้นต้องทำตามเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างหรือว่าทีโออาร์ที่มีมาที่ไปจากงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัทที่เหลือ 5 บริษัทนั้นสามารถทำได้ตามทีโออาร์เหมือนกันหมด และเราก็ยังมีกระบวนการขอให้บริษัทเหล่านี้ลดราคามาอีก จนเหลือ 65 ล้านบาท จากบริษัทที่ชนะการประกวดราคาดังกล่าว และที่ผมต้องออกมาชี้แจง ก็เพราะว่าเจตนาของเรานั้นอยากที่จะได้ของดีและมีราคาเป็นธรรมที่สุด ทุกบริษัทที่เข้ามามันก็เป็นไปตามขั้นตอนอยู่แล้ว"
ส่วนนประเด็นที่บอกว่าตัวเลขก่อสร้างอาคารอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาทนั้น ฝ่ายกฎหมายของคณะกรรมการมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ระบุว่า ต้องขอชี้แจงว่าเป็นตัวเลขประมาณการ แต่ตัวเลขในทางปฏิบัตินั้นไม่น่าจะเกิน 3,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ โดยทางมูลนิธิเป็นผู้กำหนดไว้แล้ว ด้วยการคำนึงถึงประโยชน์ของมูลนิธิให้มากที่สุด อีกทั้งในกระบวนการก่อสร้างที่เกิดขึ้นมาหลังจากนี้จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่าการแก้แบบเกิดขึ้นกันอีก หลังจากที่เราได้เห็นภาพกราฟฟิกกันแล้ว ทางคณะกรรมการก็จะมาพูดต่อได้ว่าต้องการให้เปลี่ยนตรงนั้นตรงนี้อย่างไรบ้าง และจะต้องมีการประชุมกับสถาปนิกกันอีกหลายขั้นตอนด้วยกัน
"ดังนั้นคำถามของผมที่จะต้องถามไปยัง นพ.ชูศักดิ์ก็คือว่า ทำไม นพ.ชูศักดิ์ถึงออกมาโวยวายว่าการก่อสร้างนั้นไม่ถูกต้อง ทั้ง ๆ ที่เพิ่งเห็นแค่แบบร่างต้นที่เป็นการเสนอมาจากทางบริษัทในขั้นตอนประกวดราคาเท่านั้นเอง ซึ่งทุกบริษัทนั้นก็สามารถชนะในโจทย์ของทีโออาร์เหมือน ๆ กันหมด ทำไม นพ.ชูศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ถูกจ้างมาจากทางมูลนิธิฯถึงไม่คิดจะรักษาผลประโยชน์ของทางมูลนิธิที่ต้องการจะเลือกของที่ดีและราคาที่เหมาะสมที่สุด"
ฝ่ายกฎหมายของคณะกรรมการมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย กล่าวย้ำว่า "ถ้าหาก นพ.ชูศักดิ์มีความไม่พอใจ ต้องการที่จะคัดค้านว่าการก่อสร้างนั้นไม่เหมาะสมจริง เขาก็สามารถที่จะทักท้วงในกระบวนการแก้แบบให้เป็นภาพกราฟฟิกตามที่ผมได้พูดแล้ว และถ้าหากคณะกรรมการฯ ยังดึงดันที่จะทำตามขั้นตอนแบบโดยไม่สนใจคำทักท้วงของ นพ.ชูศักดิ์เอง ตัวของ นพ.ชูศักดิ์เองก็สามารถที่จะนำเอาร่างแบบที่เป็นปัญหาที่ว่ามานั้นไปร้องเรียนต่อ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขได้อีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน
"ดังนั้นก็คงต้องถาม นพ.ชูศักดิ์ว่าทำไมถึงไม่ยอมทำตามขั้นตอนที่ว่ามานี้ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันยังสามารถแก้ไขแบบกราฟฟิกได้"
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้สอบถามฝ่ายกฎหมายของสภาคริสตจักรเพิ่มเติมถึงกรณีที่ปรากฎเป็นข่าวว่าคณะกรรมการมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย มีคำสั่งให้ นายแพทย์ชูศักดิ์ วงศ์สุรีย์ ออกจากการตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ ทางฝ่ายกฎหมายฯ ชี้แจงว่า ประเด็นที่มีการไล่ออกนั้นไม่ได้เกี่ยวกับกรณีที่ นพ.ชูศักดิ์นั้นไปคัดค้านการสร้างตึกตามที่ปรากฎเป็นข่าวก่อนหน้านี้ แต่เป็นประเด็นเรื่องการไปเบิกความเท็จเบิกความต่อศาลแพ่งในการไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอคุ้มคุ้มครองประโยชน์เกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน
"ซึ่งจากกรณีนี้นั้นทางมูลนิธิฯ มองว่านี่เป็นการกระทำที่ถือว่าเป็นปฏิปักษ์จึงได้มีคำสั่งให้ออกจากตำแหน่งดังกล่าว"
............................................
ทั้งหมดนี่ เป็นข้อเท็จจริงจากฝ่าย นพ.ชูศักดิ์ วงศ์สุรีย์ และฝ่ายกฎหมายของคณะกรรมการมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย เกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน มูลค่า 3,500 ล้านบาท ที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนในขณะนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/