"...จากการตรวจสอบและการแปลเอกสารแสดงให้เห็นชัดเจนว่า บริษัทโตโยต้านั้นมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งถึงการจ่ายเงินอันทุจริตที่มีเส้นทางการเงินไปสู่ทั้งอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน และนอกจากนี้ยังพบว่ามีการจ่ายเงินให้กับบุคลากรชั้นนำในวงการการเงินและในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยอีกจำนวนหลายรายด้วยเช่นกัน..."
.......................
ปรากฎเป็นข่าวต่อสาธารณชนเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า บริษัท โตโยตา คอร์ป ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ได้รายงานต่อ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา (DOJ) เมื่อเดือน เม.ย.ปี 2563 ว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทลูกแห่งหนึ่งของโตโยต้าในประเทศไทย อาจกระทำการละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบน หรือ anti-bribery laws ของสหรัฐฯ แต่ไม่ปรากฎรายละเอียดอะไรมากนัก
หลังจากนั้นเรื่องนี้ก็เงียบหายไป
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลพบว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ Law360 ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข่าวและวิเคราะห์ในด้านกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยข้อมูลผลการสอบสวนข้อครหาการทุจริตกรณีนี้ โดยมีข้อมูลส่วนหนึ่งระบุเส้นทางการเงินสินบนที่จ่ายให้กับผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งอดีตและปัจจุบันรวมถึงบุคคลชั้นนำในวงการการเงินและในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยอีกหลายรายด้วย
สำนักข่าวอิศรา แปลเรียบเรียงข้อมูลมานำเสนอ ณ ที่นี้
เป็นระยะเวลากว่า 6 เดือน ก่อนที่บริษัทโตโยต้าจะเปิดเผยข้อมูลให้เจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกาว่าอาจมีการให้สินบนในประเทศไทยเกิดขึ้น ภายหลังจากที่ก่อนหน้านั้นบริษัทฯ ได้มีการสอบสวนภายในว่า ที่ปรึกษาของบริษัทได้มีส่วนในการจ่ายสินบนให้กับผู้พิพากษาและรัฐบาลไทยเพื่อแลกกับการไม่ต้องจ่ายภาษีนำเข้ารถยนต์พรีอุสคิดเป็นมูลค่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (10,958,500,000 บาท)หรือไม่ (อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจากเอกสารของบริษัท)
ที่ทำการบริษัทวิลเมอร์เฮล (อ้างอิงรูปภาพจาก https://www.leaders-in-law.com/expansion/wilmerhale-eyes-europe-expansion-following-freshfields/)
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา บริษัทโตโยต้าฯ ได้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะว่าบริษัทฯ ได้การแจ้งข้อมูลต่อสํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาในเดือน เม.ย. 2563 ถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการละเมิดต่อการกระทำความผิดด้านการติดสินบนอันเกี่ยวข้องกับบริษัทย่อยที่มีสาขาอยู่ในประเทศไทย ดังนั้น ทางบริษัทฯ จึงได้มีการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายของสหรัฐอเมริกา แต่ก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดอะไรมากนัก
อย่างไรก็ตาม ในข้อมูลเอกสารที่เว็บไซต์ Law360 ได้รวบรวมมา ควบคู่ไปกับเอกสารการยื่นฟ้องศาลในคดีที่เกี่ยวข้องนั้น แสดงให้เห็นว่าบริษัทฯ ได้มีการดำเนินการสืบสวนภายในของตัวเอง ซึ่งมีผู้ดำเนินการสอบสวน คือ บริษัทที่ปรึกษาที่ชื่อว่าวิลเมอร์เฮล (WilmerHale) โดยมีรหัสการทำงาน คือ โปรเจกแจ็ค (Project Jack) จุดมุ่งหมายเพื่อพยายามตรวจสอบว่าบริษัทฯ ได้ละเมิดกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของสหรัฐฯ หรือกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการให้สินบนของประเทศอังกฤษหรือไม่
จากการสอบสวนภายในดังกล่าว ระบุพฤติกรรมการทุจริตว่าอาจมีความเป็นไปได้ของการจ่ายเงินไปยังบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย หรือบริษัทที่ปรึกษาต่างๆ และเงินดังกล่าวก็ถูกส่งต่อไปยังผู้พิพากษาไทย,ที่ปรึกษาศาลหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกกับความมั่นใจว่าจะได้ผลประโยชน์ในรูปคดีอันเกี่ยวข้องกับคดีสินบนรถยนตร์พรีอุส
โดยกระบวนการเกี่ยวกับการสอบสวนภายในนั้น ถูกระบุเอาไว้ในเอกสารจำนวน 22 แผ่น และมีการระบุวันที่ 30 ก.ย. 2562 ซึ่งในข้อมูลสำเนาเอกสาร ที่ทางเว็บไซต์ Law360 ได้รับมาจากแหล่งข้อมูลไม่ระบุนาม แต่น่าเชื่อถือได้รายหนึ่ง ได้ระบุถึงรายละเอียดแนวทางและเอกสารประเภทหนึ่งที่มักถูกจัดทำขึ้นเมื่อมีการสอบสวนภายในองค์กรเกิดขึ้น
ในสำเนาเอกสารที่มีการระบุหัวข้อชื่อว่า "TMC Thailand Inquiry: Background & Protocol for Document Review" หรือแปลเป็นไทยว่าการสอบสวนภายในบริษัท TMC Thailand:ข้อมูลพื้นภูมิต่างๆและกระบวนการการทบทวนเอกสาร โดยในหัวข้อดังกล่าวมีการระบุถึงการส่งแนวทางการตรวจสอบข้อมูลไปให้กับทีมงานหลายทีมของบริษัทเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารนับล้านฉบับของบริษัทที่ย้อนกลับไปได้ถึงการดำเนินกิจการของบริษัทในช่วงปี 2555
ซึ่งจากการตรวจสอบและการแปลเอกสารแสดงให้เห็นชัดเจนว่า บริษัทโตโยต้านั้นมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งถึงการจ่ายเงินอันทุจริตที่มีเส้นทางการเงินไปสู่ทั้งอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน และนอกจากนี้ยังพบว่ามีการจ่ายเงินให้กับบุคลากรชั้นนำในวงการการเงินและในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยอีกจำนวนหลายรายด้วยเช่นกัน
“เอกสารเหล่านี้ระบุถึงการตั้งข้อสังเกตสำหรับการตรวจสอบและความเป็นไปได้ที่ผู้ซึ่งดำเนินการในนามบริษัทโตโยต้าได้พยายามที่จะจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลคนใดก็ตาม ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม เพื่อที่จะทำให้มีอิทธิพลต่อผลลัพธ์ของคดีรถพรีอุส” แนวทางการในเอกสารระบุ
ทั้งนี้ ในคดีรถพรีอุสดังกล่าว เจ้าหน้าที่ศุลกากรประเทศไทยได้มีการกล่าวหาว่าบริษัทโตโยต้าไม่ได้จ่ายเงินภาษีนำเข้าคิดเป็นจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นเงินจำนวน 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน โดยเป็นการค้างภาษีเป็นระยะเวลาถึง 2 ปีด้วยกัน เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ว่ามานั้นบริษัทไม่ได้มีการขายรถพรีอุสที่เกิดจากสายการผลิตในประเทศไทย แต่กลับเป็นการนำเข้ารถพรีอุสที่ถูกประกอบสำเร็จมาแล้วมาขายแทน ซึ่งจากการสรุปของวิลเมอร์เฮลระบุว่าการสูญเสียสำหรับโตโยต้านั้นจะทำให้ภาระภาษีนำเข้าพุ่งสูงขึ้นจาก 10 เปอร์เซ็นต์ไปเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่ารถยนตร์
ขณะที่ในการสอบสวนภายในของบริษัทโตโยต้าได้มุ่งเน้นไปว่ามีพนักงานคนใดของบริษัทโตโยต้าได้มีการจ่ายเงินไปสู่บริษัทกฎหมายไทยจำนวน 8 แห่ง หรือจ่ายเงินให้กับบุคคลจำนวน 12 คน ที่อาจมีบทบาทเกี่ยวข้องกับคดีภาษีรถพรีอุส ในช่วงเวลาที่บริษัทต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลไทยหรือไม่
อีกประเด็นการตรวจสอบก็คือว่า ผู้ที่ได้รับเงินดังกล่าวนั้นมีอิทธิพลเชื่อมโยงกับกลุ่มบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาหรืออดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาที่จะส่งผลต่อรูปคดีของบริษัทพรีอุสหรือไม่ โดยทางวิลเมอร์เฮลยังได้ขอให้ทีมสอบสวนของบริษัทได้มีการพุ่งเป้าไปที่หลักฐานว่าบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป รวมไปถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องในระดับโลกนั้นรับรู้ถึงการจ่ายเงินอันไม่ถูกต้องแก่บริษัทที่ปรึกษาด้วยหรือไม่
ในเอกสารได้ระบุต่อไปด้วยว่าการสอบสวนนั้นยังอยู่ในขั้นตอนเบื้องต้นและผลการสอบสวนมีการเปลี่ยนแปลงได้เสนอถ้าหากมีการเปิดเผยข้อมูลใหม่ๆออกมา
อนึ่งเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา บริษัทโตโยต้าเองได้มีการออกแถลงการณ์ความร่วมมือกับการสอบสวนของทางการสหรัฐฯเช่นกัน
โดยนายอีริค บูธ โฆษกบริษัทโตโยต้า ระบุว่า “บริษัทโตโยต้าจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อรักษามาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมสูงสุดในแต่ละประเทศที่เราดำเนินงาน เราดำเนินการจัดการกับข้อกล่าวหาการกระทำผิดใดๆอย่างจริงจังและมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจว่าการดำเนินการธุรกิจของเราเป็นไปตามกฎระเบียบของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด”
ขณะที่บริษัทวิลเมอร์เฮล รวมไปถึงโฆษกกระทรวงยุติธรรมและโฆษกสํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์ฯ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใดๆ เพิ่มเติมในขณะนี้
เรียบเรียงจาก:https://www.law360.com/internationaltrade/articles/1369325
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/