“....ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทราบดีว่าเครื่อง Alpha 6 ไม่มีวงจรไฟฟ้าหรืออิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ และลำพังแต่เพียงกล่องพลาสติกเปล่า ๆ และการ์ดที่อ้างว่ามีคุณสมบัติตรวจหายาเสพติดนั้น ไม่อาจตรวจได้ และหากผู้เสียหายทราบข้อเท็จจริงเรื่องนี้จะไม่ซื้อเครื่อง Alpha 6 จากจำเลย…”
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วว่า บริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (ปัจจุบันชื่อบริษัท กัญจน์ณพัฒน์ จำกัด) อดีตคู่สัญญาขายเครื่องอัลฟ่า 6 (Alpha 6) ให้กรมการปกครอง 63 ชุด รวมวงเงิน 33,540,000 บาท ถูกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา ทำหนังสือแจ้งพาณิชย์จังหวัดสงขลา ให้ตรวจสอบสถานะบริษัท ยูจีซีฯ
เนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลแขวงดอนเมือง มีคำพิพากษาให้บริษัท ยูจีซีฯ คืนเงินจำนวน 4,995,000 บาท แก่ อบจ.สงขลา ตามคำพิพากษาคดีฉ้อโกง การขายเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ยี่ห้อ Alpha รุ่น SE จำนวน 5 เครื่อง เบื้องต้นศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการอายัดทรัพย์สินของบริษัท ยูจีซีฯ ตามคำพิพากษาแล้ว ขณะเดียวกัน อบจ.สงขลา ขอความอนุเคราะห์ให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ดำเนินการสืบหาทรัพย์สินของบริษัท ยูจีซีฯ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับคดีด้วย (อ่านประกอบ : อบจ.สงขลา ตามไล่บี้ บ.ยูจีซีฯ คืนเงินเครื่องอัลฟ่าฯ 4.9 ล. หลังชนะคดี 'ฉ้อโกง')
นอกจาก อบจ.สงขลาแล้ว หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า บริษัท ยูจีซีฯ ได้ขายเครื่อง Alpha 6 ให้แก่จังหวัดเพชรบุรีอีกด้วย อย่างน้อย 1 เครื่อง วงเงิน 8.5 แสนบาท โดยท้ายที่สุดเครื่องนี้ไม่สามารถใช้งานได้จริง และจังหวัดเพชรบุรี ส่งคำร้องให้อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นฟ้องบริษัท ยูจีซีฯ คดีฉ้อโกง
คำพิพากษาเป็นอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา เรียบเรียงให้ทราบ ดังนี้
คดีนี้มีพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด จ.เพชรบุรี เป็นโจทก์ ยื่นต่อศาลแขวงดอนเมือง ฟ้องบริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด หรือบริษัท กัญจน์ณพัฒน์ จำกัด เป็นจำเลย คดีฉ้อโกง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2552 ต่อเนื่องกันตลอดมา จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงขายเครื่องตรวจจับวัตถุต้องสงสัย (Apha 6) ให้แก่ผู้เสียหาย (จังหวัดเพชรบุรี) โดยกล่าวอ้างอวดคุณภาพเครื่องดังกล่าวว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากอังกฤษ ได้รับการพัฒนาขึ้นจากการสนับสนุนของสถาบันกฎหมายสากล สถาบันป้องกันยาเสพติด และวัตถุระเบิดของทหารและตำรวจ โดยสถาบันทั่วโลกเริ่มใช้เครื่องตรวจนี้แล้ว และเครื่อง Alpha 6 เป็นเครื่องที่ทันสมัยที่สุดในตลาดขณะนี้ สามารถตรวจสสารตามที่โปรแกรมตั้งไว้ได้รวดเร็วง่ายดาย ตรวจยาดเสพติด อาวุธ วัตถุระเบิดได้หลายชนิด โดยข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จหรือปกปิดข้อความจริงเกี่ยวกับคุณภาพของเครื่อง Alpha 6 ที่จำเลยกับพวกควรบอกผู้เสียหาย
การหลอกลวงดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเครื่อง Alpha 6 มีคุณสมบัติตามที่จำเลยกับพวกกล่าวอ้างไว้ แต่ความจริงเครื่องดังกล่าวที่จำเลยกับพวกเสนอขายให้ผู้เสียหาย ไม่มีการแผ่สนามไฟฟ้า ไม่พบประจุไฟฟ้าสถิตสะสมบนพื้นผิว ไม่พบว่ามีการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ไม่พบการเคลื่อนที่ของเข็มชี้ทิศทางของตัวเครื่อง โดยสภาพของเครื่อง Alpha 6 เป็นเครื่องว่างเปล่า ไม่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือวงจรอิเล็กทรอนิกส์แต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าไม่มีความสามารถที่จะตรวจหาสารเสพติด อาวุธ หรือวัตถุระเบิดได้
โดยการหลอกลวงในการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงของจำเลยกับพวก ทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหายที่หลงเชื่อ จึงซื้อเครื่อง Alpha 6 ดังกล่าว 1 เครื่องจากจำเลยเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2552 และจ่ายเงิน 8.5 แสนบาทให้แก่จำเลย ต่อมาเจ้าพนักงานยึดเครื่อง Alpha 6 ดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 341 ริบของกลาง และให้จำเลยคืนเงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 8.5 แสนบาท
เบื้องต้นจำเลยให้การปฏิเสธ และจำเลยไม่ยื่นคำให้การในคดีส่วนแพ่ง
คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีพยานเบิกความว่า ปี 2552 รัฐบาลมีโครงการป้องกันปัญหายาเสพติด ผู้เสียหายจึงจัดตั้งโครงการจัดหาเครื่องตรวจจับวัตถุต้องสงสัย (Alpha 6) 1 เครื่อง เพื่อใช้ประจำศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด
ผู้เสียหายจึงประกาศสอบราคาเพื่อหาเครื่องมือดังกล่าว มีผู้ยื่นเสนอราคา 2 รายคือบริษัทจำเลย และบริษัท แจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด แต่จำเลยเสนอราคาต่ำกว่าจึงได้รับการคัดเลือก ต่อมาผู้เสียหายทำสัญญาซื้อเครื่อง Alpha 6 ดังกล่าวจากจำเลย ตามสัญญาซื้อขาย และตั้งคณะกรรมการตรวจรับ หลังจากตรวจเครื่อง Apha 6 แล้ว ผู้เสียหายชำระเงิน 8.5 แสนบาท ให้จำเลยตามสัญญา
ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีหนังสือแจ้งว่า เครื่อง Alpha 6 ไม่มีคุณสมบัติตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย
หลังจากนั้นพยานที่เป็นกรรมการตรวจรับเครื่อง Alpha 6 ของผู้เสียหาย เบิกความลับแก่ศาลว่า พยานทั้ง 2 ไม่ได้ตรวจดูภายในเครื่อง พยานรับเครื่องดังกล่าวเนื่องจากมีลักษณะภายนอกตรงตามสัญญา ขณะที่พยานที่เป็นพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเพชรบุรี เบิกความว่า หลังจาก ดีเอสไอรับเรื่องดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ พยานจึงรับเครื่อง Alpha 6 ของผู้เสียหาย ยึดไว้เป็นของกลาง และส่งไปทดสอบที่ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ศทอ.) ผลตรวจสอบปรากฏว่า เครื่อง Alpha 6 ดังกล่าว ไม่พบว่ามีการแผ่สนามแม่เหล็ก ไม่พบประจุไฟฟ้าสถิตย์สะสม ไม่พบมีการแผ่คลื่นแม่เหล็กจากตัวเครื่อง ไม่พบการเคลื่อนที่ของเข็มชี้ทิศทาง และไม่พบการเคลื่อนที่บอกทิศทางของเครื่อง
ศาลเห็นว่า พยานโจทก์เบิกความต่อเนื่องให้รายละเอียดเป็นขั้นตอน สมเหตุสมผล ไม่พบพิรุธ ไม่ปรากฎว่าพยานโจทก์มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุระแวงว่าจะเบิกความเพื่อปรักปรำจำเลยให้รับโทษ เชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความตามที่ตนเองรู้เห็นและปฏิบัติกันมาจริง
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อผู้เสียหายซื้อเครื่อง Alpha 6 จากจำเลยในราคา 8.5 แสนบาท ถือได้ว่าเป็นราคาสูง เครื่องดังกล่าวจึงต้องมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากพอในการใช้งาน แต่เมื่อตรวจอุปกรณ์ภายในเครื่อง กลับไม่ปรากฎว่ามีวงจรไฟฟ้าหรืออิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพในการตรวจหายาเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด
แม้จำเลยมีกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ยูจีซีฯ เบิกความว่า จำเลยเสนอขายเครื่อง Alpha 6 โดยปฏิบัติตามระเบียบราชการ และซื้อเครื่องดังกล่าวจากบริษัท เอ เอส เอ็ม เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายและนำเข้าเครื่องดังกล่าวมาจำหน่ายในไทยก็ตาม แต่ตามปกติทั่วไปในทางการค้า สินค้าที่มีราคาสูงเช่นนี้ เลยและบริษัท เอ เอส เอ็มฯ ย่อมต้องตรวจสอบคุณสมบัติและคุณภาพของเครื่องก่อนมีการนำไปจำหน่ายอีกทอดหนึ่ง
ศาลเชื่อว่า จำเลยทราบดีว่าภายในเครื่อง Alpha 6 ที่นำมาขายแก่ผู้เสียหาย ไม่มีวงจรไฟฟ้าหรืออิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ ยิ่งไปกว่านั้นไม่ปรากฎจากการนำสืบของจำเลยว่า เคยถอดเครื่อง Alpha 6 ดังกล่าวให้ผู้เสียหายได้ตรวจสอบ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทราบดีว่าเครื่อง Alpha 6 ไม่มีวงจรไฟฟ้าหรืออิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ และลำพังแต่เพียงกล่องพลาสติกเปล่า ๆ และการ์ดที่อ้างว่ามีคุณสมบัติตรวจหายาเสพติดนั้น ไม่อาจตรวจได้ และหากผู้เสียหายทราบข้อเท็จจริงเรื่องนี้จะไม่ซื้อเครื่อง Alpha 6 จากจำเลย การที่จำเลยปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ผู้เสียหาย และการปกปิดหลอกลวงดังกล่าว ทำให้จำเลยได้รับเงินจากผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง ต้องคืนเงินค่าเครื่อง Alpha 6 จำนวน 1 เครื่อง เป็นเงิน 8.5 แสนบาท แก่ผู้เสียหาย ของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำผิดจึงให้ริบเสีย
ส่วนกรณีจำเลยต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นดอกเบี้ยจากค่าความเสียหายหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยฉ้อโกงผู้เสียหาย จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ให้แก่ผู้ร้อง
พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 ปรับ 6,000 บาท และให้จำเลยคืนเงินที่ยังไม่ได้คืน เป็นเงิน 8.5 แสนบาทแก่ผู้เสียหาย กับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ปี ของต้นเงิน 8.5 แสนบาท นับจากวันผิดนัด (วันที่ 29 ก.ย. 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
นับเป็นคดีที่ 2 ของบริษัท ยูจีซีฯ หรือชื่อใหม่ว่าบริษัท กัญจน์ณพัฒน์ จำกัด ถูกฟ้องคดีฉ้อโกง และต้องคืนเงินแก่ผู้เสียหาย
มีรายงานข่าว แจ้งว่า ปัจจุบันยังมีหน่วยงานอีกหลายแห่งกำลังดำเนินการติดตามเงินคืนจากบริษัท ยูจีซีฯ ด้วยเช่นกัน
สำนักข่าวอิศราจะนำมาเสนอในคราวถัดไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบเครื่อง Alpha 6 จาก https://mpics.mgronline.com/
อ่านประกอบ :
อบจ.สงขลา ตามไล่บี้ บ.ยูจีซีฯ คืนเงินเครื่องอัลฟ่าฯ 4.9 ล. หลังชนะคดี 'ฉ้อโกง'
ข้อมูลลับ ปค.จัดซื้อ ‘ALPHA 6’ 328 ล.- ผู้ชนะซื้อของคู่เทียบ–ต้นทุน 1 พัน ขายต่อ 5 แสน
ขู่ใช้อำนาจกม.ลงโทษอธิบดีปค.! สตง.จี้รายงานผลสอบวินัย 4ขรก.- จัดซื้อเครื่อง ALPHA 6
บ.ขายอัลฟ่า349 ล.เลิกกิจการแล้ว!แกะรอยเอกชนพันคดีจีที200 ในบัญชีสอบป.ป.ช.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage