“...ถ้าเป็นคดีสำคัญหรือคดีใหญ่พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนจะต้องคอยติดตามคดี และรู้ว่ามีระยะเวลาในการดำเนินการเท่าไหร่โดยเฉพาะเรื่องอำนาจการฝากขัง ผู้ต้องหาซึ่งพนักงานอัยการรู้อยู่แล้วว่าฝากขังได้ไม่เกิน 7 ครั้งหรือ 84 วัน ก็ต้องปล่อยตัวผู้ต้องหา แต่ยังใช้วิธีการคืนสำนวนทำให้เกิดข้อสงสัยเป็นอย่างมาก...”
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)รายงานความคืบหน้าประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก กรณี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงาน "ที่สุดแห่งปี : ผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ประจำปี 2564" เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2564 เกี่ยวกับปัญหาการส่งฟ้องคดียาเสพติดในพื้นที่จังหวัดน่าน ที่มีการขยายผลจับกุมตัวการใหญ่ และผู้เกี่ยวข้องจำนวน 7 ราย ยึดทรัพย์ได้เงินกว่า 2,175 ล้านบาท แต่ส่งฟ้องคดีไม่ทัน
ซึ่งต่อมามีการตรวจสอบพบว่า จุดที่เป็นปัญหาสำคัญในการที่ไม่สามารถสั่งฟ้องคดีนี้ได้ทัน คือ หลังจากกุมตัวผู้ต้องหารายที่ 4 คือ นางสาวเขมิกา ใจปินตา หรือ เจ้เหมย มีการขยายผลการสอบสวนจนพบว่า การค้ายาเสพติดคดีนี้มีชาวต่างชาติเป็นนายทุน ถือเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ตำรวจไม่มีอำนาจสอบสวน ตามป.วิ.อ. มาตรา 20 ที่จะต้องขออนุญาต ต่อ อัยการสูงสุด ก่อน
เบื้องต้น อัยการจังหวัดน่านได้มีการคืนสำนวนการสอบสวนคดีนี้ให้พนักงานสอบสวนโดยด่วนที่สุด เพื่อดำเนินการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 20 และรายงานอัยการสูงสุด ตามระเบียบปฏิบัติแล้ว
- จับเฮโรอีน 100 แท่ง! เปิดข้อมูลคดียาเสพติด 'สมศักดิ์' แฉส่งฟ้องยึดทรัพย์ 2.1พันล.ไม่ได้ (1)
- อสส.สั่งสอบ! 'สมศักดิ์' แฉคดียาเสพติดน่าน ส่งฟ้องยึดทรัพย์ 2.1พันล.ไม่ได้- มีรับสินบน (2)
- ไม่มีสินบน! เปิดข้อมูล อัยการ แจงปัญหาฟ้องคดีจับเฮโรอิน 100แท่ง บกพร่องชั้น พนง.สอบสวน (3)
- ข้อสังเกต คดีจับเฮโรอิน100 แท่ง ทำไม 'เจ้เหมย' ผู้ต้องหารายสำคัญได้ประกันตัว? (4)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางคดีนี้ ในส่วนการฟ้องร้องดำเนินคดีของฝ่ายอัยการ พบว่ามีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้
วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 พนักงานสอบสวนส่งสำนวนมายัง สำนักงานอัยการจังหวัดน่าน (สอจ.น่าน) เป็น ส.1 เลขรับที่ 536/2564 หลังจับกุมผู้ต้องหา 3 ราย คือ นายธีนพันธ์ คำผาบูรณปัญญา นายสุรเดช กันธะโย และนายกมล คำพิมาร
ส่วน นางสาวเขมิกา ใจปินตา หรือ เจ้เหมย ผู้ต้องหารายที่ 4 หลบหนี ถูกออกหมายจับ
วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 สอจ.น่านยื่นฟ้อง ผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย นายธีนพันธ์ คำผาบูรณปัญญา นายสุรเดช กันธะโย และนายกมล คำพิมาร เป็นคดีหมายเลขดำที่ ย 428/2564
วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 สอจ.น่าน รายงานคดีสำคัญมายังสำนักงานอัยการภาค 5
วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 มีการจับตัวนางสาวเขมิกา ใจปินตา หรือ เจ้เหมย ผู้ต้องหารายที่ 4 ได้ ซึ่งมีการสอบปากคำในฐานะผู้ต้องหาคดีจับยาเสพติดร่วมกับนายธีนพันธ์ คำผาบูรณปัญญา นายสุรเดช กันธะโย และนายกมล คำพิมาร ที่จับกุมตัวได้ในครั้งแรก
แต่ไม่มีการสอบปากคำเป็นพยานในคดีนอกราชอาณาจักร ทั้งที่ ควรจะสอบเพราะให้การซัดทอดถึงตัวผู้บงการใหญ่ในต่างประเทศ
วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 มีการจับกุมผู้ต้องหาร่วมขบวนการที่มีการซัดทอดได้เพิ่มอีก 7 ราย
วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ยื่นฟ้องนางสาวเขมิกา ใจปินตา หรือ เจ้เหมย เป็นคดีหมายเลขดำที่ ย.670/2564
นางสาวเขมิกา ใจปินตา หรือ เจ้เหมย หลบหนี หลังศาลฯให้ประกันตัว ศาลจำหน่ายคดีออกชั่วคราว
วันที่ 6 กันยายน 2564 พนักงานสอบสวนส่งสำนวนมายัง สอจ.น่าน รับไว้เป็นสำนวน ส.1 เลขรับที่ 1030/2564
วันที่ 14 กันยายน 2564 สอจ.น่าน รายงานคดีสำคัญมายังสำนักงานอัยการภาค 5
วันที่ 22 กันยายน 2564 อัยการจังหวัดน่าน มีความเห็นและคำสั่งทางคดี
วันที่ 23 กันยายน 2564 สอจ.น่านส่งสำนวนมายังสำนักงานอัยการภาค 5 ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ อส 0058(นน)/3894 ลงวันที่ 23 กันยายน 64 (ผู้ต้องหา 7 รายใหม่ มีการร้องขอความเป็นธรรม)
วันที่ 27 กันยายน 2564 สำนักงานอัยการภาค 5 รับสำนวนเพื่อตรวจสอบ
วันที่ 28 กันยายน 2564 สอภ.5 มีหนังสือด่วนที่สุด ให้พนักงานอัยการจังหวัดน่านมาพบเพื่อร่วมสรุปข้อเท็จจริง
วันที่ 29 กันยายน 2564 ที่คณะทำงานมีความเห็นและคำสั่ง เห็นควรส่งสำนวนคืนอัยการจังหวัดน่านเพื่อดำเนินการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 20 และเป็นผลทำให้ คดีที่ 3 ในส่วนของผู้ต้องหาอีก 7 ราย ไม่อาจฟ้องได้ทัน เนื่องจากครบกำหนดผัดห้องฝากขังครั้งที่ 7 ศาลจึงสั่งปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 7 รายไป
จากข้อมูลเส้นทางการฟ้องร้องคดีนี้ที่สรุปไว้ หากนับช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2564 ที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนมายัง สอจ.น่าน รับไว้เป็นสำนวน ส.1 เลขรับที่ 1030/2564 จนถึงวันที่ 29 กันยายน 2564 ที่คณะทำงานมีความเห็นและคำสั่ง เห็นควรส่งสำนวนคืนอัยการจังหวัดน่านเพื่อดำเนินการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 20 จะใช้เวลากว่า 23 วัน
ขณะที่ อัยการระดับสูงรายหนึ่งซึ่งเชี่ยวชาญในการทำคดียาเสพติดให้ความเห็นสำนักข่าวอิศรา ต่อกรณีนี้ว่า ในการทำคดียาเสพติดรายใหญ่ อัยการเจ้าของสำนวนในสำนักงานคดียาเสพติด สำนักงานอัยการสูงสุด มักประสานงานเป็นการภายในกับพนักงานสอบสวนตลอดเวลาหากเห็นว่า ในสำนวนนั้นมีปัญหาทั้งในข้อเท็จจริงหรือในข้อกฎหมาย
เช่น กรณีที่มีการกระทำความผิดเกี่ยวพันกับนอกราชอาณาจักร ซึ่งอำนาจการสอบสวนเป็นของอัยการสูงสุด ก็จะประสานให้พนักงานสอบสวนมาแก้ไขสำนวนและดำเนินการ ประสานงานกับอัยการสูงสุดให้มอบหมายให้พนักงานสอบสวนดำเนินการหรือมอบอำนาจให้พนักงานอัยการร่วมสอบสวนซึ่งสามารถดำเนินการให้เสร็จได้ภายในวันเดียวได้
ไม่จำเป็นต้องคืนสำนวนให้กับพนักงานสอบสวนไปดำเนินการใหม่เช่นกรณีที่เกิดขึ้น
“ถ้าเป็นคดีสำคัญหรือคดีใหญ่พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนจะต้องคอยติดตามคดี และรู้ว่ามีระยะเวลาในการดำเนินการเท่าไหร่โดยเฉพาะเรื่องอำนาจการฝากขัง ผู้ต้องหาซึ่งพนักงานอัยการรู้อยู่แล้วว่าฝากขังได้ไม่เกิน 7 ครั้งหรือ 84 วัน ก็ต้องปล่อยตัวผู้ต้องหา แต่ยังใช้วิธีการคืนสำนวนทำให้เกิดข้อสงสัยเป็นอย่างมาก” อัยการที่เชี่ยวชาญการทำคดียาเสพติดรายนี้กล่าว
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ในช่วงเดือนกันยายน 2559 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้แจ้งเวียนแนวทางการปฏิบัติงานของพนักงานอัยการในการสอบสวนคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย ตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา 20 เพื่อให้พนักงานอัยการทุกสำนักงานทราบและถือปฏิบัติโดยทั่วกัน ดังนี้
1. กรณีที่อัยการสูงสุด มอบหมายให้พนักงานอัยการทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนนั้น แบ่งช่วงการสอบสวนเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 การสอบสวนก่อนพนักงานสอบสวนขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20
คือ นับตั้งแต่ผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนจนถึงวันที่พนักงานสอบสวนมีหนังสือขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20
ในช่วงเวลานี้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีได้เองโดยไม่ต้องมีพนักงานอัยการร่วมสอบสวน เป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 หรือมาตรา 19
ระยะที่ 2 การสอบสวนระหว่างรอคำสั่งจากอัยการสูงสุด คือ นับตั้งแต่วันที่พนักงานสอบสวนมีหนังสือขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 จนถึงวันที่พนักงานสอบสวนได้รับหนังสือมอบหมายจากอัยการสูงสุด
ในช่วงเวลานี้พนักงานสอบสวนสอบสวนคดีได้ เมื่อมีกรณีจำเป็นและสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่กฎหมายกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา
ความอาญา มาตรา 20 วรรคห้า
กรณีจำเป็น เช่น พยานจะเดินทางไปต่างประเทศ หรือจะถึงแก่ความตาย
ระยะที่ 3 การสอบสวนภายหลังจากอัยการสูงสุดมีคำสั่งมอบหมายให้พนักงานอัยการเข้าร่วมสอบสวน คือ นับตั้งแต่พนักงานสอบสวนได้รับหนังสือมอบหมายหน้าที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบจากอัยการสูงสุดโดยมอบหมายพนักงานอัยการทำการสอบสวนร่วมจนถึงวันสอบสวนเสร็จสิ้น
การสอบสวนในช่วงเวลานี้จะต้องมีพนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายเข้าร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนเสมอ
2. กรณีจำเป็นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 วรรคห้า ที่ให้พนักงานสอบสวนตามมาตรา 20 วรรคห้า (1) พนักงานสอบสวนซึ่งผู้ต้องหาถูกจับในเขตอำนาจหรือมาตรา 20 วรรคห้า (2) พนักงานสอบสวนซึ่งรัฐบาลประเทศอื่นหรือบุคคลที่ได้รับความเสียหายได้ร้องฟ้องให้ทำโทษผู้ต้องหา มีอำนาจสอบสวนคดีไนระหว่างรอคำสั่งจากอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนนั้น
กรณีที่ถือได้ว่าเป็นกรณีจำเป็นอันเป็นข้อยกเว้นให้พนักงานนสอบสวนดังกล่าวมีอำนาจสอบสวนในระหว่างรอคำสั่งจากอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนมีดังนี้
2.1 กรณีพนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์จากผู้เสียหายให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดถือเป็นกรณีจำเป็นที่พนักงานสอบสวนต้องสอบปากคำผู้เสียหายเพื่อเริ่มคดี
2.2 กรณีผู้ต้องหาถูกจับและส่งตัวมายังพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจะต้องทำการสอบปากคำผู้ต้องหาและพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวหรือฝากขังผู้ต้องหา
2.3 กรณีพยานหลักฐานจะสูญหายหรือเสียหาย หากปล่อยให้เนิ่นช้า
2.4 กรณีผู้เสียหาย พยาน จะเดินทางไปต่างประเทศ หรือใกล้ถึงแก่ความตาย
2.5 กรณีอื่น ๆ ที่เป็นกรณีจำเป็นซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป
3. การสอบสวนพยานของพนักงานสอบสวนที่ดำเนินการในช่วงเวลาก่อนพนักงานสอบสวนขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 ไม่ถือว่าเป็นการสอบสวนในระหว่างรอคำสั่งจากอัยการสูงสุดที่ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนได้เฉพาะกรณีจำเป็นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 วรรคห้า การสอบสวนดังกล่าวชอบด้วยประมวลกฎหมาย
วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 หรือมาตรา 19 ตั้งแต่แรกที่ทำการสอบสวน
แม้ภายหลังอัยการสูงสุดมอบหมายพนักงานอัยการคนใดทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวน ก็ไม่ต้องทำการสอบสวนพยานดังกล่าวใหม่อีก นอกจากเป็นการสอบสวนเพิ่มเติมภายหลังจากที่พนักงานสอบสวนได้รับหนังสือที่อัยการสูงสุดมอบหมายหน้าที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแล้ว พนักงานอัยการจะต้องเข้าร่วมทำการสอบสวนด้วย
หรือหากการสอบสวนจะต้องขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาไปยังต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พนักงานสอบสวนก็จะต้องส่งเรื่องมาให้อัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินการขอความร่วมมือทางอาญาอีกส่วนหนึ่งตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
คำถามที่น่าสนใจ คือ ในการสอบสวนคดีนี้ พนักงานอัยการ ได้ดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติการสอบสวนคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย ตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา 20 รวมไปถึงการสอบสวนคดียาเสพติดรายใหญ่ ที่มีการปฏิบัติกันมาไว้ครบถ้วน
หรือแตกต่างออกไปอย่างไร? สาเหตุเป็นเพราะอะไร?
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage