"...ทำไม นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ถึงได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว เพราะแม้จะมีสิทธิได้รับการประกันตัวในชั้นฝากขัง แต่เนื่องจากมีสถานะเป็นผู้ต้องหารายสำคัญในคดีนี้ และก่อนหน้านี้ก็มีพฤติการณ์หลบหนีมาแล้วด้วย .. คดีนี้ มีปริมาณยาเสพติดจำนวนมาก อยู่ในเกณฑ์ได้ประกันตัวหรือไม่? หลักทรัพย์ประกันตัวเท่าไร? นำมาจากที่ไหน?..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก กรณี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงาน "ที่สุดแห่งปี : ผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ประจำปี 2564" เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2564 เกี่ยวกับปัญหาการส่งฟ้องคดียาเสพติดในพื้นที่จังหวัดน่าน ที่มีการขยายผลจับกุมตัวการใหญ่ และผู้เกี่ยวข้องจำนวน 7 ราย ยึดทรัพย์ได้เงินกว่า 2,175 ล้านบาท แต่ส่งฟ้องคดีไม่ทัน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์กระแสข่าวว่า มีการเรียกสินบนจ่ายเงินใต้โต๊ะจำนวนมาก
อันนำมาซึ่งคำสั่งของอัยการสูงสุด (อสส.) ที่ให้อธิบดีอัยการภาค 5 ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ว่าปัญหาเกิดขึ้นจากกระบวนการทำงานพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวน
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลในส่วนคำชี้แจงฝ่ายอัยการมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้วว่า ในข้อเท็จจริงคดีนี้ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน
คดีส่วนแรก มีการจับกุมผู้ต้องหาได้ 3 ราย เมื่อ 7 พ.ค.64 ยื่นฟ้องไปเมื่อ 14 พ.ค.64 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลจังหวัดน่าน
คดีส่วนที่สอง เป็นจับกุม นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ผู้ต้องหาที่ 4 ในระหว่างการสอบสวนมีการขยายผลเกี่ยวกับยาเสพติดได้ความว่า มีนายทุนอยู่ประเทศพม่า และฟ้องไปเมื่อ 27 ก.ค.64 อย่างไรก็ดี ผู้ต้องหารายนี้ ได้รับการประกันตัว ก่อนที่จะหลบหนีไป
คดีส่วนที่สาม เมื่อวันที่ 3, 5 ก.ค.64 ขยายผลจับผู้ต้องหาได้เพิ่มอีก 7 ราย
จุดที่เป็นปัญหาสำคัญในการที่ไม่สามารถสั่งฟ้องคดีนี้ได้ทัน คือ หลังจากกุมตัวผู้ต้องหารายที่ 4 คือ นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย มีการขยายผลการสอบสวนจนพบว่า การค้ายาเสพติดคดีนี้มีชาวต่างชาติเป็นนายทุน ถือเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ตำรวจไม่มีอำนาจสอบสวนต้องขออนุญาต ต่อ อัยการสูงสุด ก่อน
ขณะที่ในการสอบสวน นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ก็ดำเนินการในฐานะผู้ต้องหา แต่ไม่ได้สอบไว้ในฐานะพยาน เรื่องการค้ายาเสพติดนี้มีชาวต่างชาติเป็นนายทุนด้วย
เมื่อพนักงานสอบสวนคดีนี้ไม่ได้รับมอบหมายจาก อสส. หรือผู้รักษาการแทนเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนคดีนี้แทน จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบตามกฎหมายแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 20 พนักงานอัยการจังหวัดน่านไม่มีอำนาจฟ้องผู้ต้องหาคดีนี้ หรือพิจารณารับสำนวนคดีนี้ไว้ และเป็นผลทำให้ คดีที่ 3 ไม่อาจฟ้องผู้ต้องหาอีก 7 ราย เนื่องจากครบกำหนดผัดห้องฝากขังครั้งที่ 7 ศาลจึงสั่งปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 7 รายไป
คำถามสำคัญที่สำนักข่าวอิศราตั้งไว้จากข้อมูลส่วนนี้ คือ พนักงานสอบสวน ไม่ทราบข้อกฎหมายเรื่องคดีนอกราชอาณาจักร ที่ตำรวจไม่มีอำนาจสอบสวนต้องขออนุญาตต่อ อสส.ก่อน จนทำให้คดีใหญ่ซึ่งน่าจะนับเป็นผลงานชิ้นโบแดงของตำรวจไทย ต้องมีปัญหา "ตกม้าตาย" แบบนี้เลยหรือ?
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ย้อนกลับไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดีนี้เพิ่มเติม พบข้อสังเกตเกี่ยวกับการได้รับการประกันตัว ของ นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีนี้ ที่นำไปสู่คำถามสำคัญเพิ่มเติมบางประการ
กล่าวคือ ในช่วงแรกของการจับกุมตัวผู้ต้องหาในคดี จำนวน 3 ราย คือ นาย ธ. นายส. และนาย ก. ที่ด่านตรวจโควิด ต.ป่าคาหลวง อ.บ้านหลวง จ.น่าน ซึ่งเดินทางมาด้วยรถกระบะยี่ห้อฟอร์ด สีขาว จากการตรวจค้นเจ้าหน้าที่พบยาเสพติดเฮโรอิน จำนวน 100 แห่ง น้ำหนักแท่งละ 350 กรัม รวมน้ำหนักทั้งสิ้น 35 กิโลกรัม ซุกซ่อนอยู่ภายในบริเวณท้ายกระบะที่มีการดัดแปลงเป็นช่องลับ เบื้องต้นได้มีการควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย พร้อมของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
ส่วน นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ผู้ต้องหารายที่ 4 ในฐานะผู้ว่าจ้าง นาย ธ. นาย ส. และนาย ก. ให้ลำเลียงขนเฮโรอินครั้งนี้ ซึ่งปรากฎหลักฐานเป็นหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อสลิปการโอนเงิน เชื่อมโยงไปถึงพ่อเลี้ยงแสงนวล นายทุน/เจ้าของยาเสพติดฝั่งประเทศเมียนมา ไม่ได้ถูกจับกุมตัวด้วย และมีการหลบหนีการจับกุมตัว ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ขอศาลออกหมายจับในเวลาต่อมา
คดีในส่วนนี้มีพยานหลักฐานรับฟังได้ว่า ผู้ต้องหาทั้ง 3 ได้รับว่าได้รับจ้างจาก นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ผู้ต้องหารายที่ 4 มาขนเฮโรอีนของกลาง จากพ่อเลี้ยงแสงนวล ซึ่งอาศัยในพื้นที่ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนม่า ลำเลียงยาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่พื้นที่ประเทศไทยทางภาคเหนือ ด้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไปส่งให้กับลูกค้าทางภาคใต้ จ.นราธิวาส
โดยผู้ต้องหาทั้งสามราย จะทำหน้าที่ลำเลียงยาเสพติดและคอยดำเนินการเกี่ยวกับการรับมอบและขนส่งยาเสพติด อันเป็นการสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และคดีนี้พนักงานสอบสวนได้รับการอนุมัติจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ให้แจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ว่าสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดคดีนี้
พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนและองค์คณะ มีความเห็นควรสั่งฟ้อง นาย ธ. นายส. นาย ก. และ นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และได้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เฮโรอีน) คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไปไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผิดกฏหมาย พร้อมสั่งริบของกลางเฮโรอีน โทรศัพท์ รถกระบะ
แต่ในขณะนั้น นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ยังคงหลบหนีไม่ได้ตัวมาฟ้อง จึงมีการส่งหมายจับพร้อมตำหนิรูปพรรณ และมีหนังสือแจ้งว่าผู้ว่าราชการจังหวัดน่านจัดการให้ได้ตัวผู้ต้องหา มาฟ้องคดีต่อศาลภายในอายุความ 30 ปี
ต่อมาวันที่ 13 พ.ค.2564 เจ้าพนักงานจับกุมตัว นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ได้ พร้อมกับโทรศัพท์มือถือของกลางจำนวน 2 เครื่อง นำส่งพนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา
เบื้องต้น ในชั้นสอบสวน นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ให้การปฏิเสธ (การสอบสวนครั้งนี้ มีการระบุว่าดำเนินการในฐานะผู้ต้องหาคดีที่ 2 แต่ไม่ได้สอบไว้ในฐานะพยาน เรื่องการค้ายาเสพติดนี้ ที่มี นายหลง หรือ อาหง ชาวจีน ซึ่งอยู่ที่เมืองปางซาง รัฐฉาน (ชายแดนเมียนมา-จีน) หุ้นส่วนเจ้าของโรงงานผลิตเฮโรอีน เป็นผู้สั่งการระดับสูงสุดในการสั่งการนำเฮโรอีนออกจากแหล่งผลิตในเมียนมา และมอบให้กับลูกค้าสั่งซื้อ ซึ่งในข่ายงานของเจ้เหมย นั้น ลูกค้า คือ นายบัง ชาวมาเลเซีย โดย เจ้เหมย ทำหน้าที่ในการจัดหาผู้ลำเลียงและควบคุมการลำเสียงเฮโรอีนไปส่งให้นายบัง)
พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบ้านหลวง ได้ส่งสำนวนคดีอาญามายังสำนักงานอัยการจังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ซึ่งสำนักงานอัยการจังหวัดน่านรับไว้เป็นสำนวนคดีอาญา ส.1 เลขรับที่ 736/2564 สำนวนคดีนี้เกี่ยวพันกับสำนวน ส.1 เลขรับที่ 536/2564
โดยในสำนวนดังกล่าวพนักงานอัยการจังหวัดน่าน ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องนางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ในข้อหาสมคบกันโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และได้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้สมคบ ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 มีปริมาณคำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์เกินกว่ายี่สิบกรัมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตไว้แล้วในสำนวนการสอบสวนดังกล่าว
พนักงานอัยการผู้ตรวจสำนวนพิจารณาแล้ว ไม่มีข้อเท็จจริงใด ในสำนวนการสอบสวนจะเปลี่ยนแปลงไป เห็นควรสั่งฟ้องนางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ตามความเห็นเดิมที่มีคำสั่งไว้ ต่อศาลจังหวัดน่าน ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เป็นคดีหมายเลขดำ ที่ ย 670/2564
อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวชั้นฝากขัง และหลบหนีไปก่อนยื่นฟ้อง ศาลจังหวัดน่านจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว
จากข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบสอบพบล่าสุด ทำให้มีข้อสังเกตใหม่ เพิ่มขึ้นมาอีก 2 ประการ คือ
1. ทำไม นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ถึงได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว เพราะแม้จะมีสิทธิได้รับการประกันตัวในชั้นฝากขัง แต่เนื่องจากมีสถานะเป็นผู้ต้องหารายสำคัญในคดีนี้ และก่อนหน้านี้ก็มีพฤติการณ์หลบหนีมาแล้วด้วย
2. คดีนี้ มีปริมาณยาเสพติดจำนวนมาก อยู่ในเกณฑ์ได้ประกันตัวหรือไม่? หลักทรัพย์ประกันตัวเท่าไร? นำมาจากที่ไหน?
ข้อสังเกตส่วนนี้นับว่ามีความสำคัญต่อคดีนี้เป็นอย่างมาก เพราะในทางปฏิบัติ แม้ว่ากระบวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนจะต้องกลับไปเริ่มใหม่ ตามป.วิ.อ. มาตรา 20 เนื่องจากในกรณีที่เป็นคดีนอกราชเอาณาจักร ที่ตำรวจไม่มีอำนาจสอบสวนต้องขออนุญาต ต่อ อัยการสูงสุด ก่อน
แต่ถ้าวันนี้ นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ยังถูกควบคุมตัวอยู่ จะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการสอบสวนคดีที่เป็นปัญหาอยู่อย่างมาก
การได้รับการประกันตัวในช่วงฝากขัง ของ นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ก่อนที่จะหลบหนีไป จึงอาจนับเป็นจุดสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของคดีนี้
ที่ไม่ควรถูกมองข้ามโดยเด็ดขาด
อ่านประกอบ :
- อสส.สั่งสอบ! 'สมศักดิ์' แฉคดียาเสพติดน่าน ส่งฟ้องยึดทรัพย์ 2.1พันล.ไม่ได้- มีรับสินบน
- จับเฮโรอีน 100 แท่ง! เปิดข้อมูลคดียาเสพติด 'สมศักดิ์' แฉส่งฟ้องยึดทรัพย์ 2.1พันล.ไม่ได้
- ไม่มีสินบน! เปิดข้อมูล อัยการ แจงปัญหาฟ้องคดีจับเฮโรอิน 100แท่ง บกพร่องชั้น พนง.สอบสวน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage