"....ข้อสงสัยเกี่ยวกับเส้นทางการเงินขาเข้าของ กลุ่มนักธุรกิจชาวจีน นั้น เริ่มต้นมาจากการที่ผู้ตรวจสอบบัญชีในบริษัทของกลุ่มนักธุรกิจชาวไทย ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเส้นทางเงินจำนวนเกือบหนึ่งพันล้านบาท ที่โอนเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อซื้อหุ้นธุรกิจโรงแรมว่า เป็นแหล่งเงินจากไหนกันแน่ และเกี่ยวกับเรื่องที่ผิดกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากเงินที่ถูกโอนเข้ามา ถูกระบุว่ามาจากเอกชน 3 ราย คือ บริษัท K. (ตัวย่อ) บริษัท T. (ตัวย่อ) และบริษัท O. (ตัวย่อ) แต่จากหลักฐานพบว่า มีการโอนเข้ามาจำนวนเกือบ300 ครั้ง จากหลายร้อยบัญชี และเป็นการโอนด้วยเงินสดไม่เกินสองล้านบาท ซึ่งกรณีนี้อาจเข้าข้อสันนิษฐานได้ว่า เป็นการกระทำการเพื่อหลบเลี่ยงการแจ้งต่อทางราชการตามกฎหมายฟอกเงินหรือไม่..."
........................................
ประเด็นตรวจสอบกรณีการรวมลงทุนธุรกิจเข้าซื้อกิจการโรงแรมชื่อดังแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ มูลค่านับพันล้านบาท ระหว่างกลุ่มนักธุรกิจชาวไทย และกลุ่มนักธุรกิจชาวจีน ในช่วงปี 2558 ที่เคยเกิดข้อพิพากษาฟ้องร้องเป็นคดีความกัน ซึ่งปรากฎข้อมูลล่าสุดว่า กลุ่มนักธุรกิจชาวไทย ได้ไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อกรมสรรพากร เพื่อขอให้เข้ามาตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางการเงินของกลุ่มนักธุรกิจชาวจีนที่นำมาใช้ในการลงทุน ว่า มีลักษณะเข้าข่ายการหลบเลี่ยงภาษี รวมไปถึงการฟอกเงินหรือไม่ เนื่องจากเส้นทางเงินของกลุ่มนักธุรกิจชาวจีนที่นำมาใช้ในการลงทุนเข้าซื้อกิจกรรมโรงแรมดังกล่าว ทั้งในส่วนของช่วงขาเข้าที่นำเงินเข้ามาลงทุน และช่วงคืนเงินขาออก ส่อว่าจะมีความผิดปกติเกิดขึ้น นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เส้นทางการเงินในช่วงนำเงินเข้ามาลงทุนของกลุ่มนักธุรกิจจีน ถูกระบุว่า เงินจำนวนหลายร้อยล้านบาท มีการโอนมาจากบัญชีของชาวจีนจากประเทศลาว และจากบุคคลต่างๆ ในประเทศ ไม่ได้ถูกโอนมาจากบัญชีของบริษัทในประเทศจีน ที่ปรากฎชื่อเป็นผู้ร่วมลงทุนธุรกิจนี้โดยตรง
ส่วนเงินขาออกเพื่อคืนให้แก่กลุ่มนักธุรกิจชาวจีน หลังเกิดปัญหาข้อพิพากษาฟ้องร้องเป็นคดีความ และกลุ่มนักธุรกิจชาวไทย ยินยอมคืนเงินจำนวนกว่า 1,350 ล้านบาท ให้กลุ่มนักธุรกิจชาวจีน แต่มีการระบุให้จ่ายเงินผ่านบริษัทตัวแทนในประเทศไทย ซึ่งมีทุนจดทะเบียนแค่ 1 ล้านบาท และเมื่อมีการโอนเงินเข้าไปให้ เงินก็ถูกกระจายผ่านไปเข้าบัญชีของบุคคลกลุ่มต่างๆ ทั่วประเทศ ในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน
ขณะที่สถานะทางธุรกิจของบริษัทตัวแทนในประเทศไทย แห่งนี้ นับตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งไม่ได้นำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าติดต่อกัน 5 ปี และได้ถูกขีดชื่อเป็นบริษัทร้างไปแล้ว
(อ่านประกอบ : ร้องสอบภาษี! บ.ตัวแทนทุนจีนปริศนา รับเงิน 1.3 พันล. ไม่ส่งงบ 5 ปี - ถูกขีดชื่อ 'ร้าง')
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวในหน่วยงานตรวจสอบแห่งหนึ่ง ว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ กลุ่มนักธุรกิจชาวไทย เคยมีการนำเรื่องเข้าไปร้องเรียนกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มาแล้ว
โดยข้อสงสัยเกี่ยวกับเส้นทางการเงินขาเข้าของ กลุ่มนักธุรกิจชาวจีน นั้น เริ่มต้นมาจากการที่ผู้ตรวจสอบบัญชีในบริษัทของกลุ่มนักธุรกิจชาวไทย ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเส้นทางเงินจำนวนเกือบหนึ่งพันล้านบาท ที่โอนเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อซื้อหุ้นธุรกิจโรงแรมว่า เป็นแหล่งเงินจากไหนกันแน่ และเกี่ยวกับเรื่องที่ผิดกฎหมายหรือไม่
เนื่องจากเงินที่ถูกโอนเข้ามา ถูกระบุว่ามาจากเอกชน 3 ราย คือ บริษัท K. (ตัวย่อ) บริษัท T. (ตัวย่อ) และบริษัท O. (ตัวย่อ)
แต่จากหลักฐานพบว่า มีการโอนเข้ามาจำนวนเกือบ300 ครั้ง จากหลายร้อยบัญชี และเป็นการโอนด้วยเงินสดไม่เกินสองล้านบาท
ซึ่งกรณีนี้อาจเข้าข้อสันนิษฐานได้ว่า เป็นการกระทำการเพื่อหลบเลี่ยงการแจ้งต่อทางราชการตามกฎหมายฟอกเงินหรือไม่
ทางกลุ่มนักธุรกิจชาวไทย จึงมีความกังวลต่อแหล่งเงินดังกล่าว พร้อมทำหนังสือแจ้งถึงกลุ่มนักธุรกิจชาวจีน ให้ช่วยยืนยันข้อมูลแหล่งที่มาของเงินและบัญชีโอนเงินดังกล่าว ว่าเป็นเงินของบริษัทแม่ในประเทศจีนที่โอนเข้ามาลงทุนซื้อโรงแรมหรือไม่ แต่ก็ไม่รับคำชี้แจงแต่อย่างไร
จนกระทั่งในเวลาต่อมา ทางกลุ่มนักธุรกิจชาวจีน ได้มอบหมายให้ตัวแทนในไทยยื่นเรื่องฟ้องร้อง ขอให้กลุ่มนักธุรกิจชาวไทยคืนเงินให้
ซึ่งต่อมากลุ่มนักธุรกิจชาวไทย ก็ได้ยอมคืนเงินจำนวนกว่า 1,350 ล้านบาท ให้กับกลุ่มนักธุรกิจชาวจีน ผ่านบริษัทตัวแทนในประเทศไทย โดยสั่งจ่ายเป็นเช็คจำนวน 2 ฉบับ ฉบับแรกวงเงิน 1,110 ล้านบาท และฉบับที่สอง วงเงิน 240 ล้านบาท ในช่วงปี 2558 (ดูเช็คบางฉบับประกอบ)
อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา กลุ่มนักธุรกิจชาวไทย ได้ติดตามตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าบริษัทตัวแทนในประเทศไทยของกลุ่มนักธุรกิจชาวจีน ถูกขีดชื่อเป็นบริษัทร้าง หลังขาดนำส่งงบการเงินเป็นระยะเวลาหลายปีติดต่อกัน
และเมื่อกลุ่มนักธุรกิจชาวไทย ได้ยื่นเรื่องให้ดีเอสไอ เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งจากการติดตามเส้นทางการเงินพบว่า หลังจากที่มีการจ่ายเงินจำนวน 1,350 ล้านบาท ผ่านบริษัทตัวแทนในประเทศไทย เงินก็ถูกกระจายผ่านไปเข้าบัญชีของบุคคลกลุ่มต่างๆ ทั่วประเทศ ในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน ด้วย
ที่สำคัญบุคคลที่ได้รับเงินไปบางส่วน ก็มีชื่อคล้ายกับบุคคล ที่มีการโอนเงินเข้ามาให้ในช่วงการลงทุนครั้งแรกด้วย บางรายได้รับเงินไปหลายร้อยล้านบาท ซึ่งไม่ทราบว่ามีการเสียภาษีด้วยหรือไม่
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้โทรศัพท์ติดต่อไปขอสัมภาษณ์ผู้บริหารดีเอสไอรายหนึ่ง เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้รับการยืนยันว่า เรื่องนี้เคยมีการร้องเรียนเข้ามาจริง แต่นานแล้ว จำรายละเอียดไม่ได้ ว่าเรื่องไปอยู่ขั้นตอนไหน หรือส่งต่อไปให้หน่วยงานใด ขอเวลาตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมก่อน
ส่วนความคืบหน้าการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อกรมสรรพากรให้เข้ามาตรวจสอบภาษีนั้น สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันจากผู้บริหารระดับสูงของกรมสรรพากร ว่า สรรพากรรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นทางการแล้ว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage