"...ขณะนี้ยังไม่ถือว่าข้าราชการระดับสูง และเจ้าหน้าที่อีกเป็นจำนวน 100 คนเป็นผู้กระทำความผิด และคณะกรรมการจะเข้าไปดูข้อเท็จจริงหรือเจตนาในการดำเนินการเป็นอย่างไร โดยคาดว่าอีก 1-2 เดือนน่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้..."
.............................
"การตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง เป็นผลสืบเนื่องมาจากก่อนหน้านี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการละเมิดทางแพ่ง และผลสอบระบุว่า การจัดหากล้าไม้มีราคาแพงกว่าราคากลาง โดยมีส่วนต่างอยู่ที่ 30-40 ล้านบาท ทำให้ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงเพื่อสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อไป"
"อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่ถือว่าข้าราชการระดับสูง และเจ้าหน้าที่อีกเป็นจำนวน 100 คนเป็นผู้กระทำความผิด และคณะกรรมการจะเข้าไปดูข้อเท็จจริงหรือเจตนาในการดำเนินการเป็นอย่างไร โดยคาดว่าอีก 1-2 เดือนน่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้"
คือ คำยืนยันของ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เกี่ยวกับการลงนามในคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เลขที่ 379/2563 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง กับเจ้าหน้าที่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องในโครงการเพาะชำกล้าไม้บรรเทาวิกฤตโลกร้อน ปี 2553 ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณกว่า 109 ล้านบาท ที่ถูกสอบสวนพบว่าการดำเนินงานโครงการมีปัญหาทำให้ราชการได้รับความเสียหาย ในการทำกิจกรรม 2 ส่วน คือ บำรุงรักษากล้าไม้ทั่วไป จำนวน 54,120,000 กล้า ค่าบำรุงรักษา 0.40 บาท ต่อกล้า รวมเป็นเงิน 23,648,000 บาท และกิจกรรมบำรุงรักษากล้าไม้ขนาด จำนวน 972,300 กล้า ค่าบำรุงรักษา 1.723 บาท ต่อกล้า รวมเป็นเงิน 1,675,272.90 บาท รวมวงเงิน 2 กิจกรรม 23,323,272.90 บาท
เนื่องจากการเพาะชำกล้าไม้ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่น้อยกว่า 6 เดือน จะได้กล้าที่มีคุณภาพเพื่อแจกจ่ายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ แต่ปรากฎว่าตามแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินประจำปี พ.ศ.2553 ของหน่วยปฏิบัติงานโครงการฯ ดำเนินการในเดือนส.ค.2553 - ก.ย.2553 มีระยะเวลาดำเนินการไม่ถึง 2 เดือน ไม่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติงานปกติสำหรับดำเนินการเพาะชำกล้าไม้ตามที่กำหนดไว้
(อ่านประกอบ: มีส่วนต่าง 40 ล.! เปิดปมสอบวินัยร้ายแรง บิ๊กขรก.-จนท.นับร้อย กรณีเพาะชำกล้าไม้ปี 53)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลตัวเลข ข้าราชการระดับสูง และเจ้าหน้าที่ที่ถูกสอบสวนวินัยร้ายแรง ในคดีนี้เป็นทางการ ว่ามีจำนวน 183 ราย
หนึ่งในนั้น ปรากฎชื่อ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เมื่อครั้งปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการปลูกป่า ในฐานะผู้บังคับบัญชาเกี่ยวข้องในการเห็นชอบและนำเสนอโครงการต่อธิบดีกรมป่าไม้ในขณะนั้นร่วมอยู่ด้วย
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2563 ได้ติดต่อไปยังกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อติดต่อขอสัมภาษณ์ นายธัญญา ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่แจ้งว่า ให้สำนักข่าวอิศรา ทำหนังสือติดต่อขอสัมภาษณ์เข้ามาเป็นทางการก่อน
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า กรณีนี้ เคยปรากฎข่าวในช่วงเดือน ส.ค.2563 ว่า ทส. ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงมาตั้งแต่ปี 2561 กรณีนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โอนเปลี่ยน แปลงงบประมาณบุคลากรกว่า 108 ล้านบาท ไปเพาะชำ 55 ล้านกล้าไม้ เมื่อครั้งนายธัญญาดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ หลังจากการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของ ทส.พบว่า มีมูลตามที่ถูกกล่าวหา โดยจากการสอบสวนข้อเท็จจริงพบว่า การจัดทำโครงการดังกล่าวได้ประมาณการเพาะชำกล้าไม้ตามอัตราราคางานต่อหน่วยตามแผนงานปกติ โดยรวมค่าบำรุงรักษากล้าไม้ดังกล่าวไว้ด้วย แต่การดำเนินการเพาะชำกล้าไม้ตามโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน ไม่ควรผนวกค่าบำรุงรักษากล้าไม้ทั่วไปในราคา 0.40 บาท ต่อกล้าและค่าบำรุงรักษากล้าไม้ขนาดใหญ่ ราคา 1.723 บาทต่อกล้า ไว้ในโครงการดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับกิจกรรมบำรุงรักษากล้าไม้ที่ดำเนินการตามปกติซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือน ที่กำหนดไว้ตามเอกสารการจัดการเพาะชำกล้าไม้คุณภาพ ต่อมาได้มีการเบิกจ่ายงบประมาณเสร็จสิ้นตามแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินประจำปีงบ ประมาณ พ.ศ.2553 (เพิ่มเติม) ครบถ้วน เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหายรวมเป็นเงินจำนวน 23,323,272.90 บาท จึงแจ้งผลการสืบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเฉพาะในประเด็นความเสียหายแก่ราชการมาเพื่อให้กรมป่าไม้ในฐานะเจ้าของ งบประมาณพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ขณะที่ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ได้รับเรื่องนี้และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบฐานละเมิดเพื่อเรียกค่าเสียหายคืนให้กับราชการ โดยมีนายจเรศักดิ์ นันตะวงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรฯ เป็นประธาน และมีข้าราชการกรมป่าไม้เป็นกรรมการ เบื้องต้น พบว่ามีข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต กรณีโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณบุคลากรกว่า 109 ล้านบาท ไปเพาะชำ 55 ล้านกล้าไม้ กว่า 200 คน เพราะมีการเบิกจ่ายงบประมาณโดยมิชอบต้องคืนเงิน เฉลี่ยแล้วตกคนละประมาณ 1 แสนบาท มากน้อยตามการเบิกจ่าย โดยให้เร่งดำเนินการสบสวนโดยเร็วที่สุด (อ้างอิงข่าวส่วนนี้จากไทยรัฐ https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1911591)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage