"...ผู้ประมูลไม่ได้ก่อสร้างอาคารเอง แต่ได้นำไปจ้างผู้รับเหมารายอื่น และระหว่างก่อสร้างได้ติดป้ายประกาศขายสิทธิการเช่า (ขายอาคารพาณิชย์) ซึ่งมีผู้มาจองวางเงินมัดจำและทำสัญญาจะซื้อจะขายสิทธิการเช่าแล้วจำนวน 10 คูหา รวมค่าขายสิทธิการเช่าจำนวน 38.65 ล้านบาท..."
การประมูลหาผู้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลังบนที่ดินราชพัสดุของ เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา กำลังถูกจับตามอง เมื่อถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาขั้นตอนการดำเนินงานที่ส่อว่าจะเป็นการกระทำโดยมิชอบตามระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายประการ ทำให้รัฐเสียหายเป็นจำนวนเงินกว่า 49.39 ล้านบาท
จุดเริ่มต้นกรณีนี้ เริ่มขึ้นเมื่อเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาได้แจ้งความประสงค์ต่อสำนักงานธนารักษ์พื้นที่พระนครศรีอยุธยาขอพัฒนาที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียน ที่ อย.84 โฉนดที่ดินเลขที่ 9572 ตำบลหอรัตนไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อปลูกสร้างอาคารพาณิชย์-พักอาศัย จำนวน 24 คูหายกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลัง และได้รับสิทธิการเช่าที่ดินและอาคารเมื่อก่อสร้างเสร็จ เป็นเวลา 15 ปีโดยได้จัดทำบันทึกคำยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขการก่อสร้างอาคารยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลังในที่ดินราชพัสดุ (จป.9/54) ลงวันที่ 23 มกราคม 2556
โดยเทศบาลรับทราบและยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดซึ่งเจตนาที่ได้แสดงต่อสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ คือ ยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขจะเป็นผู้ก่อสร้าง อาคารพาณิชย์ฯ ยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลังโดยใช้ทุนทรัพย์ของตนเองแต่ฝ่ายเดียวไม่ประสงค์จะหาผู้ก่อสร้างแทน เมื่อก่อสร้างเสร็จให้กรรมสิทธิ์อาคาร และสิ่งปลูกสร้างตกเป็นของกระทรวงการคลังทันที และเทศบาลได้รับสิทธิการเช่าที่ดินและอาคารเป็นเวลา 15 ปี และ บันทึกคำยินยอมเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากำหนดเวลาแล้วเสร็จภายใน 2 ปี
แต่ปรากฏว่าหลังจากลงนามในบันทึกคำยินยอมประมาณ 1 เดือนเศษ เทศบาลได้นำสิทธิการก่อสร้างอาคารยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลังที่ได้รับไปประมูลหาผู้ก่อสร้างอาคารในที่ดินราชพัสดุโดยวิธีคัดเลือกผู้ให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ทางราชการสูงสุดและได้ส่งประกาศเพื่อประชาสัมพันธ์ไปยังหน่วยงานต่างๆ แต่ไม่ได้ส่งประกาศให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยทราบ
รวมทั้งไม่ได้ปิดประกาศบริเวณที่ราชพัสดุจะเปิดประมูล ซึ่งมีผู้มาซื้อเอกสารประมูล จำนวน 3 ราย และเมื่อถึงวันยื่นประมูลมีผู้มายื่นประมูลเพียงรายเดียว โดยได้เสนอให้เงินค่าธรรมเนียมการจัดหาประโยชน์จำนวน 8 ล้านบาท
คณะกรรมการพิจารณาผลการประมูลเห็นว่าแม้มีผู้เสนอถูกต้องตามเงื่อนไขเพียงรายเดียวถ้าทางราชการเห็นสมควรจะไม่ยกเลิกการประมูลก็ได้จึงคัดเลือกให้เป็นผู้ประมูลได้และประกาศให้เป็นผู้ชนะการประมูล
ปรากฏว่า ผู้ประมูลไม่ได้ก่อสร้างอาคารเอง แต่ได้นำไปจ้างผู้รับเหมารายอื่น และระหว่างก่อสร้างได้ติดป้ายประกาศขายสิทธิการเช่า (ขายอาคารพาณิชย์) ซึ่งมีผู้มาจองวางเงินมัดจำและทำสัญญาจะซื้อจะขายสิทธิการเช่าแล้วจำนวน 10 คูหา รวมค่าขายสิทธิการเช่าจำนวน 38.65 ล้านบาท
สำหรับอาคารพาณิชย์ที่เหลือ 14 คูหา ได้ประกาศขายคูหาละ 3.70 ถึง 3.90 ล้านบาท เฉลี่ยคูหาละประมาณ 3.80 ล้านบาท ซึ่งหากขายหมดจะได้รับเงินประมาณ 53.20 ล้านบาท รวมที่ขายสิทธิการเช่าไปแล้วจะได้รับเงินทั้งสิ้นประมาณ 91.85 ล้านบาท และเมื่อหักค่าก่อสร้าง เงินผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายให้เทศบาลค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ดินระหว่างก่อสร้างและค่าตอบแทนการเช่าอาคารจำนวน 52.58 ล้านบาท ผู้ประมูลได้จะได้รับผลประโยชน์ประมาณ 39.27 ล้านบาท (91.85–52.58 ล้านบาท) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเงินค่าธรรมเนียมการจัดหาประโยชน์และค่าตอบแทนการเช่าอาคารที่เทศบาลได้รับ จำนวน 12.50 ล้านบาท หักค่าใช้จ่ายที่เทศบาล ชำระให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่จำนวน 2.12 ล้านบาท เทศบาลฯได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเพียง 10.68 ล้านบาท ซึ่งแตกต่างกับผลประโยชน์ของผู้ประมูลได้อย่างมีนัยสำคัญ
แต่หากเทศบาลฯ ปฏิบัติตามบันทึกคำยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขการก่อสร้างอาคารยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลังในที่ดินราชพัสดุ (จป.9/54) ลงวันที่ 23 มกราคม 2556 และสัญญาก่อสร้างอาคารยกกรรมสิทธิ์ ให้กระทรวงการคลัง (แบบ ส.4/54) สัญญาที่ 1/2556 ลงวันที่ 23 มกราคม 2556 อย่างเคร่งครัด ครบถ้วนถูกต้องตรงตามเจตนาที่ได้แจ้งและแสดงต่อสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ก่อสร้างอาคารโดยใช้ทุนทรัพย์ของตนเอง ไม่นำสิทธิไปประมูลหาผู้ลงทุนก่อสร้างแทน และเมื่อก่อสร้างเสร็จส่งมอบให้กับกระทรวงการคลังแล้วก็นำสิทธิการเช่า อันเป็นทรัพย์สินที่ได้รับไปจัดหาประโยชน์
เทศบาลฯ จะมีรายได้หรือผลประโยชน์ที่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเป็นเงินประมาณ 49.39 ล้านบาท
ดังนั้น การกระทำดังกล่าวทำให้เทศบาลฯ ได้รับความเสียหายโดยสูญเสียรายได้หรือประโยชน์ที่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายประมาณ 49.39 ล้านบาท
จากพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเทศบาลฯ มีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริงไม่แจ้งให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและธนารักษ์พื้นที่พระนครศรีอยุธยาหรือกรมธนารักษ์ทราบ หรือล่วงรู้ถึงการที่เทศบาลฯ ได้นำสิทธิการก่อสร้างอาคารยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลังไปประมูลหาผู้ลงทุนในการก่อสร้างแทน เนื่องจากขัดกับเจตนาที่ได้แสดงในบันทึกคำยินยอมฯ เป็นการจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุพ.ศ. 2552 ข้อ 12 วรรคสาม ประกอบบันทึกคำยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขการก่อสร้างอาคารยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลังในที่ดินราชพัสดุ (จป.9/54) ลงวันที่ 23 มกราคม 2556 และสัญญาก่อสร้างอาคารยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลัง (แบบ ส.4/54)สัญญาที่ 1/2556 ลงวันที่ 23 มกราคม 2556 แจ้งตามบันทึกข้อความกรมธนารักษ์ที่กค 0304/ว 52 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2554 เรื่อง แบบสัญญาและแบบกำหนดเงื่อนไขในการจัดหาประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุตามระเบียบกระทรวงการคลัง และการกระทำดังกล่าวเป็นการให้บุคคลใดใช้ประโยชน์หรือได้รับสิทธิใดๆ อันเกี่ยวกับพัสดุประเภทที่ดิน หรือสิ่งก่อสร้างที่เป็นของเทศบาลฯ หรืออยู่ในความครอบครองของเทศบาลฯ แต่เทศบาลฯ ไม่ได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภาเทศบาลเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการประมูลหรือก่อนจัดทำสัญญาจึงเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 155 เป็นการกระทำโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นำเอาสิทธิการก่อสร้างอาคารยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลังที่เทศบาลได้รับไปประมูลหาผู้ลงทุนก่อสร้างอาคารแทน โดยปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายเป็นเหตุให้เทศบาลฯ ได้รับความเสียหายสูญเสียรายได้หรือผลประโยชน์ที่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายประมาณ 49.39 ล้านบาท
เบื้องต้น สตง. ได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการทางแพ่งและทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องและดำเนินการตามควรแก่กรณีกับนายกเทศมนตรีนครพระนครศรีอยุธยาและแจ้งเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้ว
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า ผลการดำเนินการทางแพ่ง และทางวินัย ผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ มีข้อสรุปเป็นอย่างไรบ้าง?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/