องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่รับฟ้องคู่ความคดี‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ถูกกล่าวหาผิดต่อหน้าที่ราชการ ม.157 ชี้ไม่ผ่านไต่สวนชี้มูล อสส./ ป.ป.ช. โจทก์ทั้งสี่เป็นราษฎรไม่ใช่ผู้มีอำนาจ ตาม กม.
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 องค์คณะวินิจฉัยอุทธณรณ์ในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในคดี นางสาวฟ้า เมืองไทย ที่ 1 นายเทวา เจริญศิริ ที่ 2 นางสาวปานชีวา เมืองไทย ที่ 3 นายจรูญ วรรณกสิณานนท์ ที่ 4 โจทก์ ยื่นฟ้อง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นจำเลย กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม 2568 องค์คณะวินิจฉัยอุทธณรณ์ฯเห็นว่า ผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ได้แก่ อัยการสูงสุด (อสส.) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เท่านั้น ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ไว้พิจารณานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
รายละเอียดคำพิพากษามีดังนี้
@เปิดรายละเอียดคำพิพากษา
คำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อม.อธ.8/2566 คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ.1/2568
ศาลฎีกา วันที่ 27 เดือน มกราคม พุทธศักราช 2568
ระหว่าง นางสาวฟ้า เมืองไทย ที่ 1 โจทก์นายเทวา เจริญศิริ ที่ 2 นางสาวปานชีวา เมืองไทย ที่ 3 นายจรูญ วรรณกสิณานนท์ ที่ 4 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน จําเลย เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม (ชั้นไม่รับคำคู่ความ)
โจทก์ทั้งสี่ อุทธรณ์คัดค้าน คำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ลงวันที่ 13เดือน กันยายน พุทธศักราช 2566 องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ รับอุทธรณ์วันที่ 24 เดือน กันยายน พุทธศักราช 2567
@โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งไม่ประทับฟ้องของศาลฎีกาฯได้
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 กับขอให้เพิกถอนคำพิพากษาและกระบวนพิจารณาในคดีหมายเลขแดงที่ อ.2215/2556 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.1311/2565 ของศาลแขวงขอนแก่น คดีหมายเลขแดงที่ อ.1503/2556 ของศาลจังหวัดสุรินทร์ คดีหมายเลขแดงที่ อ.93/2554 ของศาลเยาวชนและ ครอบครัวจังหวัดมหาสารคาม กับเพิกถอนคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ อ.539/2565 ของศาลแขวง สุรินทร์ และคดีอื่นที่เกี่ยวข้อง
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจากโจทก์ทั้งสี่เป็นราษฎรจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิเคราะห์อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ และคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยแล้ว เห็นควรวินิจฉัย ปัญหาข้อกฎหมายเสียก่อนว่า โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งไม่ประทับฟ้องของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือไม่
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์โดยมติที่ประชุมใหญ่ ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า คำสั่งไม่ประทับฟ้องของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสี่เป็นราษฎรจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเป็นคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีโดยทำเป็นคำพิพากษาในรูปแบบของคำสั่ง จึงมีผลเช่นเดียวกับคำพิพากษา ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 195 วรรคสี่ และพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 60 บัญญัติให้คู่ความมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ โจทก์ทั้งสี่จึงมีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้ง คำสั่งไม่ประทับฟ้องของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าวได้
@ ไม่ใช่ อัยการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลฎีกาฯ
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ว่า โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นราษฎรมีอำนาจ ฟ้องจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือไม่
ในปัญหานี้โจทก์ทั้งสี่ อุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นผู้เสียหายโดยตรง เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามมิให้ผู้เสียหายฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็น คดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมากพิจารณาแล้ว เห็นว่า แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาจัดตั้งขึ้น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 195 วรรคหนึ่ง โดยในวรรคสองของมาตราดังกล่าว บัญญัติให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และในวรรคสามบัญญัติว่าวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณา คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 โดยในมาตรา 10 ได้บัญญัติถึงประเภทคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้ กล่าวโดยเฉพาะในมาตรา 10 (1) คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ในการนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 215 และ 232 ยังได้จัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขึ้น โดยในมาตรา 234 (1) บัญญัติให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจไต่สวน และมีความเห็นกรณีที่มีการ กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองมีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจ ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย เพื่อดำเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญหรือตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จึงเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นผู้ไต่สวนมูลแห่งคดีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 10 (1) ข้างต้น
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (2) ได้บัญญัติถึงกระบวนการไต่สวนคดีของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตลอดจนวิธีการและขั้นตอนการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ไต่สวนข้อเท็จจริงและมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีพฤติการณ์หรือกระทำความผิดตามมาตรา 234 (1) ให้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำเนินการอื่นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 โดยในมาตรา 76 ได้บัญญัติสอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวว่า ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติส่งสำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐานและความเห็นให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติอาจฟ้องคดีได้เองภายใต้ เงื่อนไขของมาตรา 77
ทั้งนี้ หลักการเรื่องอำนาจฟ้องของอัยการสูงสุดและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดังกล่าวยังมีบัญญัติไว้ชัดแจ้งในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 23 ว่า ผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ได้แก่ (1) อัยการสูงสุด และ (2) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เท่านั้น จึงเห็นได้ว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีภายใต้เงื่อนไขและวิธีการดำเนินคดีตามที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างไปจากการดำเนินคดีอาญาทั่วไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
การที่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นราษฎรฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขอให้ลงโทษจำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 จึงเป็นการฟ้องคดีโดยไม่ผ่านกระบวนการไต่สวนและพิจารณาลงมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ อีกทั้งโจทก์ทั้งสี่ไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจฟ้องคดีตามเงื่อนไขและวิธีการดำเนินคดีตามที่รัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว และเป็นกรณีที่ไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ซึ่งใช้บังคับแก่คดีอาญาทั่วไปมาอนุโลมใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ดังที่โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ ไว้พิจารณานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.