"...คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากภายหลังอ่านคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3 แล้ว โจทก์ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ถึงวันที่ 24 มี.ค. 2568 กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์จะพิจารณายื่นอุทธรณ์หรือไม่ ต่อไป..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก!
กรณี นายกิตติทัศน์ วิศาลนพศักดิ์ หรือ นายวัทธิกร หรือมังกร ใสงาม อดีตพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี และพวก ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดคดีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ 2554-2557 และเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับจ้างจำนวน 26 โครงการ ขณะที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกร้อยกว่าปี รับสารภาพได้ลดโทษ รวมลงโทษจำคุก 50 ปี แต่ได้รอลงอาญา พร้อมพวกอีกหลายราย ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ติดตามมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องในขณะนี้
ข้อสงสัยสำคัญที่ว่า ทำไมนายกิตติทัศน์ วิศาลนพศักดิ์ หรือ นายวัทธิกร หรือมังกร ใสงาม อดีตพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี และพวก จำเลยคดีนี้ ถูกพิพากษาลงโทษจำคุกนานหลายสิบปี ถึงได้รอการลงโทษจากศาลฯ
โดย นายกิตติทัศน์ วิศาลนพศักดิ์ หรือ นายวัทธิกร หรือมังกร ใสงาม จำเลยที่ 1 โดนตัดสินลงโทษจำคุก 65 ปี 39 เดือน และปรับ 1,326,000 บาท รวมลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 50 ปี และปรับ 1,326,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 91 (3)
นางวรรณกร หรือสุภาเพ็ญ วรรณแก้ว จำเลยที่ 2 (ภรรยาคนที่ 1) โดนตัดสินลงโทษจำคุก 24 ปี 48 เดือน และปรับ 544,000 บาท
นางนัยนา ประดับธนกิจ จำเลยที่ 3 (ภรรยาคนที่ 2) โดนตัดสินลงโทษจำคุก 34 ปี 75 เดือน และปรับ 782,000 บาท
ห้างหุ้นส่วนจำกัด เกรท อีเว้นท์ จำเลยที่ 4 โดนตัดสินลงโทษ ปรับ 646,000 บาท
นางแดนนภา พลเสน จำเลยที่ 5 โดนตัดสินลงโทษ จำคุก 22 ปี 53 เดือน และปรับ 510,000 บาท
ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.แพลนเนอร์ ดีเวลล็อปเม้น จำเลยที่ 6 โดนตัดสินลงโทษ ปรับ 578,000 บาท
นายวรวุฒิ เอื้อสอนสะอาด จำเลยที่ 7 โดนตัดสินลงโทษจำคุก 25 ปี 57 เดือน และปรับ 578,000 บาท
ห้างหุ้นส่วนจำกัด พัฒนกรวรรณ จำเลยที่ 8 โดนตัดสินลงโทษ ปรับ 34,000 บาท
นางประไพพรรณ ไชยศรีษะ จำเลยที่ 9 โดนตัดสินลงโทษ จำคุก 1 ปี 9 เดือน และปรับ 34,000 บาท
นางสาวศุภลักษณ์ ปัจฉิม จำเลยที่ 10 โดนตัดสินลงโทษ จำคุก 1 ปี 9 เดือน และปรับ 34,000 บาท
อย่างไรก็ดี โทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 5 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยดังกล่าว ไว้มีกำหนดคนละ 3 ปี โดยให้จำเลยดังกล่าว ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ตลอดระยะเวลาที่คุมความประพฤติ ให้จำเลยดังกล่าว ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ เป็นเวลาคนละ 72 ชั่วโมงและให้จำเลยดังกล่าวละเว้นการประพฤติใด อันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก
หากจำเลยดังกล่าวผิดเงื่อนไขให้พนักงานคุมประพฤติรายงานศาลเพื่อเปลี่ยนโทษจำคุกที่รอไว้เป็นโทษจำคุกทันทีตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 56,57 หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 29 และม. 30 หากจำเลยที่ 4 ที่ 6 และที่ 8 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 29
ก่อนหน้านี้ มีคำชี้แจงจากศาลยุติธรรม เกี่ยวกับคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 ที่ตัดสินคดีอดีตพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานีกับพวกฮั้วประมูลโครงการภาครัฐ 26 สัญญา เป็นทางการไปแล้วว่า เหตุผลเป็นเพราะจำเลยให้การสารภาพ พิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนคดี และคำนึงถึงหลายปัจจัย ได้แก่ การรู้สำนึกในการกระทำความผิดของจำเลยซึ่งคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ความถูกต้องครบถ้วนในการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลย ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ราชการภายหลังการเข้าทำสัญญาของจำเลย การได้รับประโยชน์จากการกระทำความผิด ความพยายามบรรเทาผลร้ายโดยวางเงินชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี พฤติการณ์ความร้ายแรงแห่งคดี ประวัติของจำเลย และโอกาสในการแก้ไขปรับปรุงตนเองให้เป็นพลเมืองดี ในอนาคต โดยเมื่อพิจารณาปัจจัยทั้งหมดนี้แล้ว จึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษจำเลยไว้คนละ 5 ปี
อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากภายหลังอ่านคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3 แล้ว โจทก์ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ถึงวันที่ 24 มี.ค. 2568 กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์จะพิจารณายื่นอุทธรณ์หรือไม่ ต่อไป
ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดคำพิพากษาฉบับเต็ม ในส่วนการวินิจฉัยตัดสินให้รอลงโทษ นายกิตติทัศน์ วิศาลนพศักดิ์ หรือ นายวัทธิกร หรือมังกร ใสงาม อดีตพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี และพวก ในคดีนี้ ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
คำพิพากษาศาลฯ ระบุว่า คดีนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า มีเหตุรอการละโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 หรือไม่
พิเคราะห์ข้อเท็จจริงในสำนวนการไต่สวนของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. แต่งตั้งรายงานการสืบเสาะและพินิจของจำเลยดังกล่าว ประกอบคำแถลงการณ์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยดังกล่าว
แล้วได้ความว่า คณะกรรมการตรวจรับงานจ้างตามฟ้องข้อ (2.1) ถึง (2.26) ได้ตรวจรับงานจ้างว่างานจ้างเสร็จเรียบร้อยและถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาจ้าง เห็นควรเบิกจ่ายค่าจ้างแก่ผู้รับจ้างได้ และผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นผู้อนุมัติให้เบิกจ่ายค่าจ้างแก่ผู้รับจ้าง งานจ้างดังกล่าวจึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 รู้สำนึกในการกระทำความผิดของตน
จำเลยที่ 5 ที่ 9 และที่ 10 ต่างเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ทำงานเป็นพนักงานบัญชี ที่สำนักงานซอฟแวร์การบัญชี จังหวัดศรีสะเกษ
กระทำความผิดเพราะทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้าง
ส่วนจำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นพี่เขยของจำเลยที่ 3 เป็นเพียงตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 3 โดยผู้มีอำนาจบริหารจัดการห้างทั้งสี่ มีห้างจำเลยที่ 4 ห้างจำเลยที่ 6 ห้างจำเลยที่ 8 และห้างหุ้นส่วนจำกัด โมเติร์น ครีเอเตอร์ คือจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และไม่ปรากฎข้อเท็จจริงใดว่าจำเลยที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 ได้รับผลประโยชน์จากการจัดงานจ้างตามฟ้อง
เพราะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้บริหารจัดการงานจ้างตามฟ้องข้อ (2.1) ถึงข้อ (2.26) เอง และเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ทั้งหมด
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้สำนึกผิดได้วางเงินชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี จำเลยที่ 1 วางเงิน 3,448,250 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 วางเงินคนละ 1,725,000 บาท รวมเป็นเงิน6,898,250 บาท เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งการกระทำของตนแล้ว อันเป็นการพยายามบรรเทาผลร้ายอันเกิดจากการกระทำของตนแล้ว
พฤติการณ์แห่งคดีนี้จึงไม่ร้ายแรงนัก และเหตุคดีนี้เกิดขึ้นมานาน 10 ปีแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 ได้กระทำความผิดใดอีก
เมื่อพิจารณาประวัติของ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 แล้วไม่มีข้อเสียหายร้ายแรงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 ยังอยู่ในวิสัยแก้ไขปรับปรุงตนเองให้เป็นพลเมืองดีได้
จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 ได้กลับตนเป็นพลเมืองดีสักครั้ง
ประกอบกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 42/2567 ของศาลนี้ศาลรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 9 และที่ 10
ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 7 คดีอยู่ระหว่างพิจารณา ยังไม่มีคำพิพากษา คดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 270/2566 ของศาลนี้ศาลรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 5
ถือว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน
โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 5 ปี และเพื่อให้หลาบจำเห็นควรวางโทษปรับอีกสถานหนึ่ง และกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติอย่างเคร่งครัด
อนึ่ง ภายหลังกระทำความผิดได้มีพระราชบัญญัติแก่ไขเพิ่มเพิ่มประมประมาลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26 ) พ.ศ.2560 มาตรา 4, 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 151, 152, 157, 264 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้ใช้อัตราโทษที่บัญญัติไว้ใหม่แทน ซึ่งตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษสูงกว่าโทษตามกฎหมายเดิม จึงถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดและกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ประกอบกับพระราชบัญญัติประกรบรัฐรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและประปรามปรามทุจริต พ.ศ.2561 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 โดยยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดอยู่และมีระวางโทษเท่าเดิม จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยคดีนี้
**********
จากข้อมูลคำพิพากษาข้างต้น สามารถสรุปชัด ๆ เหตุผลที่ศาลให้รอลงอาญา คือ
1. การว่างานจ้างเสร็จเรียบร้อยและถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาจ้าง ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
2. จำเลยรู้สำนึกในการกระทำความผิดของตน
3. จำเลยบางส่วน เป็นเพียงตัวแทนเชิด ไม่ได้รับผลประโยชน์จากการจัดงานจ้าง
4. จำเลยตัวการ ได้วางเงินชดใช้ค่าเสียหาย เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งการกระทำ เป็นการพยายามบรรเทาผลร้ายอันเกิดจากการกระทำของตนแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีนี้จึงไม่ร้ายแรงนัก
5. เหตุคดีนี้เกิดขึ้นมานาน 10 ปีแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำความผิดใดอีก
6. ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ศาลฯ จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตนเป็นพลเมืองดีสักครั้ง แต่เพื่อให้หลาบจำเห็นควรวางโทษปรับอีกสถานหนึ่ง และกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติอย่างเคร่งครัด
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลคำพิพากษาคดีนี้ พบว่า ในการพิจารณาคดีของศาล จำเลยทั้งสิบราย ให้การรับสารภาพต่อความผิด ศาลจึงพิพากษาตามฐานความผิด โดยไม่ต้องรับฟังพยานหลักฐานของโจกท์ด้วย
**********
ทั้งหมดนี้ เป็นรายละเอียดคำพิพากษาในส่วนการวินิจฉัยตัดสิน ให้รอลงโทษ นายกิตติทัศน์ วิศาลนพศักดิ์ หรือ นายวัทธิกร หรือมังกร ใสงาม อดีตพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี และพวก ในคดีนี้ ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
ส่วนผลคำวินิจฉัยที่ออกมาจะถูกจำเลยคดีทุจริตอื่นๆ นำไปใช้เป็นประโยชน์เป็นแนวทางต่อสู้คดีในอนาคตได้หรือไม่ ต้องคอยจับตาดูกันต่อไป
ขณะที่ความคืบหน้าการยื่นอุทธรณ์คดีนั้น ก่อนหน้านี้ มีข้อมูลยืนยันว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเห็นชอบไปแล้วว่าให้มีการอุทธรณ์คดีนี้ ในประเด็นเรื่องการรอลงโทษจำคุกจำเลย และให้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้อัยการสูงสุด (อสส.) และอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 3 พิจารณา ตามที่เสนอไป โดยในช่วงเดือนก.พ.2568 ที่ผ่านมา สำนักงานประจำศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 ได้ทำหนังสือแจ้งตอบกลับมายัง ป.ป.ช. แล้วว่า คดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด ฝ่ายโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ครั้งที่ 5 ศาลมีคำสั่งอนุญาต ถึงวันที่ 24 มี.ค.2568 นี้
หากมีข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม สำนักข่าวอิศรา จะรีบนำมาเสนอต่อไป
อ่านประกอบ :
- ป.ป.ช.ชี้มูลอดีตพณ.อุบลฯ-สุรินทร์ คดีร่ำรวยผิดปกติ 81 ล.-โดนไล่ออกราชการแล้ว
- เปิดหมด! ทรัพย์สิน 81 ล. อดีตพณ.อุบลฯ โดนชี้มูลคดีร่ำรวยผิดปกติ ขอศาลยึดเป็นของแผ่นดิน
- จากอุบลฯ ถึงสุรินทร์! เปิดพฤติการณ์ทุจริต 'อดีตพณ.จว.' ก่อนโดนชี้มูลคดีร่ำรวย 81 ล.
- เบื้องหลัง 'อิศรา' เจาะข่าว คดีทุจริต 'อดีตพณ.อุบล' เอื้อปย.เครือข่ายเอกชนจัดอีเวนต์ร้อยล.
- เปิดชัดๆ ข้อมูลรอลงอาญาคุกร้อยปี สารภาพเหลือ 50 คดีทุจริตพาณิชย์อุบลฯ-เมีย 2 คน รอดด้วย
- คดีที่ 2! ทุจริต 7 โครงการสุรินทร์ เมียพณ.อุบลฯ โดนคุกสิบกว่าปี ได้รอลงอาญาอีกแล้ว
- ข้อมูลลึก! คดีทุจริต 7 โครงการสุรินทร์ เมียคนที่ 2 พณ.อุบลฯโดนคุกสิบกว่าปีก็ได้รอลงอาญา