ป.ป.ช.ตามรวบตัว 'สุธี เชื่อมไธสง' จำเลยที่ 16 คดีทุจริตระบายข้าว จีทูจี ได้แล้ว หลังหลบหนีนาน 10 ปี ซุกตัวขอนแก่น บ้านภรรยานอกสมรส ส่งตัวรับโทษจำคุก 32 ปี ร่วมชดใช้เงิน 16,912,128,273.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยแล้ว ปัจจุบันเหลือ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร ลูกสาวนายอภิชาติ ยังตามจับตัวไม่ได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2568 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ข่าวจับกุมตัว นายสุธี เชื่อมไธสง ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ 20/2562 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 32 ปี ในคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในยุครัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังสืบสวนติดตามตัวนายสุธี เชื่อมไธสง มาตั้งแต่ปี 2558 รวมระยะเวลา 10 ปี จนกระทั่งสืบสวนได้ว่านายสุธี หลบหนีมาอยู่กับภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ในพื้นที่หมู่ที่ 7 บ้านหนองกรุงศรี ตำบลหนองไผ่ล้อม อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุว่า ภายใต้การอำนวยการของนายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช., นางสาวชฎารัตน์ อนรรฆอร รองเลขาธิการฯ ภาค 1, นายประทีป จูฑะศร รองเลขาธิการฯ ภาค 4, นายสุขสันต์ ประสาระเอ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ นำโดยนายธนิต สุวรรณากาศ นักสืบสวนคดีทุจริตชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มสืบสวนและปฏิบัติการข่าว 1 นายฉัตรชัย ดวงสุวรรณ หัวหน้างานสืบสวนคดีทุจริตภาค 4 และนายธีรเดช พวงเงิน หัวหน้างานสืบสวนคดีทุจริตภาค 1 พร้อมด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่กลุ่มสืบสวนและปฏิบัติการข่าว 1 พนักงานเจ้าหน้าที่งานสืบสวนคดีทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 และภาค 4 ประสานเจ้าพนักงานตำรวจ กองกำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 4 จับกุมนายสุธี เชื่อมไธสง ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ 20/2562 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 32 ปี ในคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในยุครัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลได้พิพากษาว่า นายสุธี เชื่อมไธสง จำเลยที่ 16 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 10, 12 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 จำคุกกระทงละ 8 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 32 ปี และร่วมชดใช้เงินรวม 16,912,128,273.66 บาท พร้อมดอกเบี้ย อีกทั้งนายสุธี เชื่อมไธสง ยังเป็นผู้ถูกกล่าวหาตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ที่ 20/2565 ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2565 ในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 มาตรา 10 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2563 มาตรา 192 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86
พนักงานเจ้าหน้าที่ ได้สืบสวนติดตามตัวนายสุธี เชื่อมไธสง มาตั้งแต่ปี 2558 รวมระยะเวลา 10 ปี จนกระทั่งสืบสวนได้ว่านายสุธี หลบหนีมาอยู่กับภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ในพื้นที่หมู่ที่ 7 บ้านหนองกรุงศรี ตำบลหนองไผ่ล้อม อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจขอหมายค้นต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 เพื่อค้นบ้านภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของนายสุธี ภายในหมู่ที่ 7 บ้านหนองกรุงศรี ตำบลหนองไผ่ล้อม อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น ในการปฏิบัติการค้น พบตัวนายสุธี เชื่อมไธสง หลบซ่อนตัวอยู่ที่บริเวณดงกล้วยหลังบ้านตามหมายค้น จึงได้เข้าจับและควบคุมตัวไว้ พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวนายสุธี เชื่อมไธสง จัดทำบันทึกจับกุม และดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง และส่งตัวให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อจำคุกผู้ต้องหาตามคำพิพากษาต่อไป
สำนักงาน ป.ป.ช. ขอแจ้งให้ทราบว่า หากท่านพบเห็นการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ สามารถแจ้งเบาะแสมายังสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ทางโทรศัพท์หมายเลข 1205 เว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. www.nacc.go.th หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดทั่วประเทศ
สำหรับข้อมูลนายสุธี เชื่อมไธสง ถูกระบุว่าเป็นคนสนิทของนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ ‘เสี่ยเปี๋ยง’ ผู้ก่อตั้งบริษัทสยามอินดิก้า หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาในคดีระบายข้าวจีทูจี ส่วนความเกี่ยวข้องของนายสุธี กับคดีระบายข้าวจีทูจี นั้น เป็นเพราะมีการตรวจสอบพบว่า แหล่งเงินที่นำมาใช้ในการซื้อข้าวแบบจีทูจี ไม่ได้มาจากบริษัทจีนที่เป็นผู้ซื้อข้าวตามสัญญา แต่เป็นเงินซึ่งมีที่มาจากบุคคลอื่นภายในประเทศ โดยมีแคชเชียร์เช็คจำนวน 40 ฉบับ จำนวนเงินประมาณ 1,868,029,241 บาท ถูกตรวจสอบพบว่า มาจากเงินในบัญชีของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด บริษัท สิราลัย จำกัด และนายสุธี เชื่อมไธสง
นอกจากนี้ นายสุธี เชื่อมไธสง ยังปรากฎชื่อเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาของ ป.ป.ช. ในคดีระบายมันเส้น แบบจีทูจี ด้วย
ส่วนข้อมูลผู้ต้องหาคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) นั้น สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ปัจจุบันผู้ต้องขังคดีจำนำข้าว จำนวนกว่า 15 ราย แบ่งเป็นกลุ่มนักการเมือง ข้าราชการ และเอกชน ได้รับการปล่อยตัวออกไปเกือบหมดแล้ว เหลือ 3 ราย ที่ถูกออกหมายจับ คือ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ , นายสุธี เชื่อมไธสง และ น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร ลูกสาวนายอภิชาติ
กล่าวสำหรับคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยทุจริต เกิดขึ้นในรัฐบาล สมัยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เสียหายกว่า 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกศาลฯ พิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี คดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ปัจจุบันอยู่ระหว่างหลบหนีคดีในต่างประเทศ หลังถูกออกหมายจับ