"...ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกฟ้องมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เห็นเป็นการจำเป็นให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปตามลำดับชั้นศาล..."
เป็นอีกหนึ่งคดีที่ต้องจับตามอง!
สำหรับคดีกล่าวหา นายสุพจน์ วรรณก้อน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลแม่ปูคา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ กับพวก ดำเนินโครงการปรับปรุงถนนลูกรังพร้อมบดอัดไม่เป็นไปตามแบบและสัญญาจ้าง ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 , 162 (1) ,(4) และ พ.ร.ป. ป.ป.ช.พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ.2561 มาตรา 192 ประกอบมาตรา 86 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2564 ที่ผ่านมา
หลังปรากฏข่าว เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2567 ศาลอุทธรณ์ พิพากษายกคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 พร้อมให้ไต่สวนและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
น่าสนใจว่า ทำไม ศาลอุทธรณ์ ถึงยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น พร้อมให้ไต่สวนและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรา ย้อนกลับไปตรวจสอบคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 ที่พิพากษาตัดสินยกฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2565 พบว่ามีประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่การวินิจฉัยว่าการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคําวินิจฉัยว่าการกระทําของจําเลยทั้งสามมีมูลความผิด เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2564 เป็นการไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยพ้นกําหนดเวลาสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ใช้บังคับอันเป็นวันที่ให้นับระยะเวลาเริ่มต้นดําเนินการไต่สวนใหม่ตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 192 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
การไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอํานาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
คดีนี้ อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ฟ้องแทน ป.ป.ช.
จำเลยมี 3 ราย คือ นายสุพจน์ วรรณก้อน จำเลยที่ 1 นายวงศ์กรฉัตร ทวีสินบุณยธร หรือ นายนพรัตน์ อันทะนัย จำเลยที่ 2 และนายอุทัย กันยาสุข จำเลยที่ 3
คำพิพากษาระบุว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 พิเคราะห์คําฟ้องประกอบสํานวน การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว
คดีมีประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามคําร้องของจําเลยทั้งสามว่า โจทก์มีอํานาจฟ้องหรือไม่
เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า เหตุคดีนี้เกิดระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน 2556 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ขณะเกิดเหตุ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ใช้บังคับอยู่ในขณะที่กล่าวอ้างว่าจําเลยทั้งสามกระทําความผิด แต่ระหว่างไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ใช้บังคับ
โดยมาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะมีการกล่าวหาหรือไม่ว่ามีการกระทําความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจโดยพลัน โดยในกรณีที่จําเป็นต้องมีการไต่สวน ต้องไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลาที่คณะกรรมการป.ป.ช. กําหนด ซึ่งต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันเริ่มดําเนินการไต่สวน”
วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณี ที่มีเหตุจําเป็นอันไม่อาจดําเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง...คณะกรรมการป.ป.ช. อาจขยายระยะเวลาออกไปตามที่จําเป็นได้แต่รวมแล้วต้องไม่เกินสามปี เว้นแต่เป็นเรื่องที่จําเป็นต้องเดินทางไปไต่สวนในต่างประเทศหรือขอให้หน่วยงานของต่างประเทศดําเนินการไต่สวนให้ หรือขอรับเอกสารหลักฐานจากต่างประเทศ จะขยายระยะเวลาออกเท่าที่จําเป็นก็ได้”
มาตรา 50 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการไต่สวน คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจมอบหมายเลขาธิการ หัวหน้าพนักงานไต่สวน หรือพนักงานไต่สวน เป็นผู้ไต่สวนเบื้องต้นได้”
วรรคสาม บัญญัติว่า“การไต่สวนเบื้องต้นตามวรรคหนึ่งต้องดําเนินการให้เสร็จและจัดทํารายงานการไต่สวนเบื้องต้นเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับมอบหมาย"
วรรคสี่บัญญัติว่า “ภายใต้ระยะเวลาตามมาตรา 48 ในกรณีที่ไม่อาจดําเนินการไต่สวนเบื้องต้นตามระยะเวลาที่กําหนดในวรรคสาม ให้เลขาธิการ หัวหน้าพนักงานไต่สวน หรือพนักงานไต่สวน แจ้งอุปสรรคและปัญหาในการดําเนินการ พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและระยะเวลาดําเนินการเพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสั่งขยายระยะเวลา โดยให้ขยายระยะเวลาได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินหกสิบวัน...”
มาตรา 192 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการดําเนินการตรวจรับคํากล่าวหาแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน ไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัย...บรรดาที่ดําเนินการไปโดยชอบอยู่แล้วตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2552...ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับให้เป็นอันใช้ได้ และให้ดําเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542...โดยถือว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542...หรือมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่เกี่ยวข้องที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ยังมีผลใช้บังคับอยู่ต่อไป...”
วรรคสอง บัญญัติว่า “การดําเนินการตาม วรรคหนึ่งต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จตามมาตรา 48 เว้นแต่ระยะเวลาดังกล่าวได้ล่วงพ้นไปแล้วหรือเหลือน้อยกว่าที่กําหนดไว้ ให้นับระยะเวลาเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ”
บทบัญญัติมาตรา 48 วรรคหนึ่ง วรรคสาม มาตรา 50 วรรคสาม วรรคสี่ มาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสอง ดังกล่าวเป็นการกําหนดให้การไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีกรอบระยะเวลาดําเนินการให้แล้วเสร็จ ซึ่งเป็นบทบัญญัติ ที่แตกต่างไม่มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
กรณีจึงเป็นเรื่องที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทําความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทําความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บัญญัติว่า “ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทําความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทําความผิดให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทําความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว...."
เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 48 และมาตรา 50 บัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นใหม่เพื่อให้มีมาตรการหรือแนวทางที่จะทําให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถดําเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลเกิดความรวดเร็ว สุจริตและเที่ยงธรรมอันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
ทั้งนี้ หากการไต่สวนได้ดําเนินการไปตามขั้นตอนและกําหนดเวลาตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง หรือวรรคสาม หรือมาตรา 50 วรรคสาม หรือวรรคสี่ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังคงมีหน้าที่และอํานาจที่จะดําเนินการไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยหรือดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไปได้ภายใต้กําหนดอายุความดังที่มาตรา 48 วรรคห้าบัญญัติไว้ บทบัญญัติในมาตรา 48 วรรคหนึ่ง วรรคสาม และมาตรา 50 วรรคสาม วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
จึงเป็นคุณแก่ผู้กระทําความผิดกว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกัน
กรณีจึงต้องใช้บทบัญญัติมาตรา 48 ประกอบมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 บังคับแก่คดีนี้ แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้การตรวจรับคํากล่าวหา แสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน ไต่สวนและมีความเห็น หรือวินิจฉัยบรรดาที่ดําเนินการไปโดยชอบอยู่แล้วตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันใช้ได้ และให้ดําเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2542 ก็ตาม
แต่วรรคสองของมาตราดังกล่าวก็บัญญัติให้การดําเนินการตามวรรคหนึ่งต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จตามมาตรา 48 เว้นแต่ระยะเวลาได้ล่วงพ้นไปแล้วหรือเหลือน้อยกว่าที่กําหนดไว้ ให้นับระยะเวลาเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับ
ปรากฏตามสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2557 เจ้าพนักงาน ป.ป.ช. แสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานคดีนี้โดยสอบปากคํานายอุทัย ดวงมา ผู้กล่าวหา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 บัญญัติว่า “การไต่สวน หมายความว่า การแสวงหา รวบรวม และการดําเนินการอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่ง ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน”
การที่เจ้าพนักงาน ป.ป.ช. สอบปากคํานายอุทัยจึงเป็นการ แสวงหา รวบรวม และการดําเนินการอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน กรณีจึงเป็นการไต่สวนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 อันเป็นการดําเนินการไปโดยชอบแล้วตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2561 ใช้บังคับ
การเริ่มดําเนินการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 จึงเป็นอันใช้ได้ตามมาตรา 192 วรรคหนึ่ง แต่ระยะเวลาดําเนินการให้แล้วเสร็จตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง ได้ล่วงพ้นไปแล้ว จึงต้องนับระยะเวลาดําเนินการไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยให้แล้วเสร็จเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่วันที่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ใช้บังคับตามมาตรา 192 วรรคสอง
เมื่อมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 บัญญัติให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2561 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 จึงใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป ดังนี้ดําเนินการไต่สวนและมีความเห็น หรือวินิจฉัยคดีนี้จะต้องให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 22 กรกฎาคม 2563
หากมีเหตุจําเป็นอันไม่อาจดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง พนักงานไต่สวนผู้รับผิดชอบจะต้องขอขยายระยะเวลาดําเนินการต่อคณะกรรมการป.ป.ช. ตามมาตรา 48 วรรคสาม
การไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีผลต่อการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล คําสั่งขยายระยะเวลาดังกล่าวจึงถือเป็นข้อเท็จจริงที่สําคัญในการไต่สวนซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. หัวหน้าพนักงานไต่สวน หรือพนักงานไต่สวนมีหน้าที่จะต้องรวบรวมไว้ในรายงานและสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ว่าข้อเท็จจริงนั้นจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่จําเลย เพื่อจําเลยสามารถตรวจสอบว่าการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ดําเนินการไปตามขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ โดยไม่เป็นภาระแก่จําเลยเกินสมควร แก่เหตุ แม้คดีได้ความว่าภายหลังเจ้าพนักงาน ป.ป.ช. สอบปากคํานายอุทัยแล้ว เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นให้ดําเนินการไต่สวนคดีนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง
แต่คณะผู้ไต่สวน เบื้องต้นก็ต้องไต่สวนเบื้องต้นให้เสร็จและจัดทํารายงานการไต่สวนเบื้องต้นเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับมอบหมายตามมาตรา 50 วรรคสาม
เมื่อทางไต่สวนไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นได้ทํารายงานการไต่สวนเบื้องต้นเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับมอบหมาย หรือเป็นกรณีที่ไม่อาจดําเนินการไต่สวนเบื้องต้นให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กําหนดในมาตรา 50 วรรคสาม และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขยายระยะเวลาการดําเนินการออกไปตามที่จําเป็นตามมาตรา 50 วรรคสี่ อีกทั้งไม่ปรากฎพยานหลักฐานว่าการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเหตุจําเป็นอันไม่อาจ ดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในกําหนดระยะเวลาตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง และคณะกรรมการป.ป.ช. ขยายระยะเวลาการดําเนินการออกไปตามที่จําเป็นตามมาตรา 48 วรรคสาม แล้วแต่กรณีการไต่สวนและมีความเห็น หรือวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
คดีนี้จึงมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอน ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวซึ่งเป็นเหตุผลและความจําเป็นในการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
การที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคําวินิจฉัยว่าการกระทําของจําเลยทั้งสามมีมูลความผิดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ถือว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยพ้นกําหนดเวลาสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2561 ใช้บังคับ อันเป็นวันที่ให้นับระยะเวลาเริ่มต้นดําเนินการไต่สวนใหม่ตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 192 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
การไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์จึงไม่มีอํานาจฟ้อง
พิพากษายกฟ้อง /
@ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ขณะที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่พิพากษายกคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 พร้อมให้ไต่สวนและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ระบุว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ให้ส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลที่มีเขตอำนาจ เห็นได้ว่า หากถือว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช เริ่มดำเนินการได่ส่วนเมื่อมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน คือ วันที่ 24 กรกภาคม 2560 คณะกรรมการ ป.ช. ไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยแล้วเสร็จในวันที่มีมติว่าจำเลยทั้งสองกระทำการอันมีมูลความผิดทางอาญาให้ส่งเรื่องและคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย คือ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 แม้เป็นเวลาเกินสามปีนั้นแต่เริ่มดำเป็บการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบธรรมนูญว่าด้วยการบ้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 48 วรรคสาม
แต่ตามมาตราดังกล่าวในวรรคห้ายังบัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังคงมีหน้าที่และอำนาจที่จะดำเนินการไต่สวน และมีความเห็น หรือวินิจฉัย หรือดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป แต่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสอบสวนและดำเนินการลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องตามควรแก่กรณีโดยเร็ว มิได้บัญญัติให้ถือว่าคณะกรรมการป.ป.ช. ไม่มีอำนาจไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยอีกต่อไป
จึงไม่ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกฟ้องมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เห็นเป็นการจำเป็นให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปตามลำดับชั้นศาล
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้น พิจารณาในปัญหาที่ว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ แล้วมีคำพิพากษาใหม่
ตามรูปคดี.
ทั้งหมดนี้ เป็นรายละเอียดคำพิพากษาศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ในคดีนี้ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด และช่วยไขความกระจ่างได้ชัดเจนว่า ทำไม ศาลอุทธรณ์ ถึงยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น พร้อมให้ไต่สวนและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ดังกล่าว
บทสรุปสุดท้าย ผลการต่อสู้คดีนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไป
อย่างไรก็ดี คดีนี้เนื่องจากศาลชั้นต้น ยังไม่ได้มีคำพิพากษาตัดสินว่า นายสุพจน์ วรรณก้อน นายกเทศมนตรีตำบลแม่ปูคา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ กับพวก มีความผิดตามคำฟ้องแต่อย่างใด
นายสุพจน์ กับพวก จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่