"...เป็นข้อความที่สื่อสารในลักษณะของการแจ้งเตือนภัยบุคคล เกี่ยวกับการกระทำความผิด ที่ให้สาธารณชนรับรู้และระมัดระวังภัยจากข้อมูลดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ามีเจตนาอื่นใดในทางทุจริต หรือเจตนาก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคลใด และการกระทำดังกล่าว มิได้เป็นการปฏิบัติการในตำแหน่งหน้าที่ หรือในฐานะเป็นเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่แต่เป็นการกระทำต่อส่วนตัว ที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดต่อส่วนตัวไปตามแต่กรณี..."
นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ!
กรณี พันตำรวจเอก วิรดล ทับทิมดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลบวรมงคล กองบังคับการตำรวจนครบาล 7 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ถูกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับเรื่องไต่สวนคดีใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเข้าดูข้อมูลทะเบียนราษฎรของผู้กล่าวหาและนำข้อมูลทะเบียนราษฎรของผู้กล่าวหาอันปรากฏข้อมูลภาพใบหน้า ชื่อ - สกุล เลขประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ ชื่อบิดา มารดา เลขประจำตัวประชาชนของบิดา - มารดา แล้วนำไปเผยแพร่ทางเครือข่ายสังคมออนไลน์
ก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีการพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้น และมีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 5 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่าจากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า พันตำรวจเอก วิรดล ทับทิมดี ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
เนื่องจากต้องการสื่อสารในลักษณะการแจ้งเตือนภัยบุคคล เกี่ยวกับการกระทำความผิด ที่ให้สาธารณชนรับรู้และระมัดระวังภัยจากข้อมูลดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ามีเจตนาอื่นใดในทางทุจริต หรือเจตนาก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคลใด และการกระทำดังกล่าว มิได้เป็นการปฏิบัติการในตำแหน่งหน้าที่ หรือในฐานะเป็นเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่แต่เป็นการกระทำต่อส่วนตัวแต่อย่างใด
ข้อเท็จจริงคดีนี้ ถูกเปิดเผยขึ้น เมื่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบฐานข้อมูลคดีทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. พบว่า มีการเผยแพร่ข้อมูลมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตีตกคดีกล่าวหา พันตำรวจเอก วิรดล ทับทิมดี ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเข้าดูข้อมูลทะเบียนราษฎรของผู้กล่าวหาและนำข้อมูลทะเบียนราษฎรของผู้กล่าวหาอันปรากฏข้อมูลภาพใบหน้า ชื่อ - สกุล เลขประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ ชื่อบิดา มารดา เลขประจำตัวประชาชนของบิดา - มารดา แล้วนำไปเผยแพร่ทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ดังกล่าวไว้
@ ที่มาคดี
คดีนี้สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุป ว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 มีผู้นำข้อมูลทะเบียนราษฎรของผู้กล่าวหาอันปรากฏข้อมูลภาพใบหน้า ชื่อ - สกุล เลขประจำตัวประจำตัวประชาชน วันเดือนปี ที่อยู่ ชื่อบิดา - มารดา เลขประจำตัวประชาชนของบิดา - มารดา ของผู้กล่าวหา ไปเผยแพร่ทางเครือข่ายทางสังคมออนไลน์
ผู้กล่าวหาได้ทำการตรวจสอบข้อมูลจึงทราบว่า ข้อมูลที่ได้รับมาจากฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งผู้เข้าดูมีเจตนาอำพรางในส่วนของเอกสารที่แสดงชื่อผู้เข้าระบบออกไป ผู้กล่าวหาจึงได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจภูธรดอกคำใต้จังหวัดพระเยา ไว้เป็นหลักฐาน แล้วตรวจสอบข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งสำนักทะเบียนกลาง แจ้งว่าได้ส่งหนังสือไปให้ผู้เข้าดูข้อมูลชี้แจงวัตถุประสงค์ในการเข้าดูข้อมูลทะเบียนราษฎรภายใน 15 วัน ตามระเบียนแล้วแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มิได้ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ที่เข้าดูข้อมูลภายในเวลาที่กำหนด และจากผลการตรวจสอบข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย ตามหนังสือสำนักทะเบียนกลางพบว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ตรวจและเปิดข้อมูลจำนวน 5 ครั้ง ในวันที่ 4 มีนาคม 2559 ตั้งแต่เวลา 13.14 น. ถึงเวลา 13.25 น. และเป็นผู้เข้าค้นข้อมูลรายแรกโดยมีการค้นข้อมูลทั้งจากชื่อ - นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน และเมื่อตรวจสอบข้อมูลจากระบบคอมพิวเตอร์พบว่าผู้ถูกกล่าวหาใช้บัญชีเฟชบุ๊กชื่อ XXXX ที่อยู่อินเตอร์เน็ต และผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้นำข้อมูลทะเบียนราษฎรของผู้กล่าวหาไปเผยแพร่ในบัญชีเฟชบุ๊กของผู้ถูกกล่าวหา
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ผู้กล่าวหาได้เข้าดูบัญชีเฟชบุ๊กของผู้ถูกกล่าวหาพบว่าได้ทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลบางส่วนรวมทั้งลบข้อมูลการเผยแพร่ข้อมูลทะเบียนราษฎรของผู้กล่าวหา
จากนั้น ผู้กล่าวหาได้รับหนังสือจากสถานีตำรวจนครบาลบวรมงคล ที่ ตช 0015 (บก.น.7) 13/4597 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2559 เชิญพบเพื่อให้ข้อเท็จจริงในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 เวลา 10.00 น. ณ สถานีตำรวจนครบาลบวรมงคล ทำให้ทราบว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลบวรมงคล ผู้กล่าวหาจึงได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนกลางและทนายความได้สรุปว่า ควรให้ผู้ถูกถูกกล่าวหาชี้แจงวัตถุประสงค์ ที่เข้าดูข้อมูลทะเบียนราษฎรมา แทนการเรียกให้ไปให้ข้อเท็จจริง
ผู้กล่าวหาจึงได้ทำหนังสือไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้แจ้งผลการดำเนินการภายใน 60 วัน และต่อมาได้มีหนังสือจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 7 ที่ ตช 0015.(บก.น.7)18/8419 แจ้งให้ผู้กล่าวหาทราบว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย แล้วมีคำสั่งยุติเรื่อง
@ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2559 เวลาประมาณ 13.00 นาฬิกา ผู้ถูกกล่าวหาขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้างานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ มีหน้าที่รับผิดชอบการสั่งการ ควบคุม กำกับดูแล ตรวจสอบ ติดตามและประเมินผล ที่เกี่ยวข้องกับงานสอบสวน การวางแผนสอบสวน การร่วมสอบสวนคดีอุกฉกรรจ์ หรือคดีสำคัญพิจารณามอบหมายคดีให้พนักงานสอบสวน ได้เข้าตรวจสอบข้อมูลทะเบียนราษฎรของผู้กล่าวหาแล้วมอบให้รองผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เนื่องจากรองผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ดังกล่าวมีหน้าที่สืบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี หรือความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้รับการปรึกษาให้ทำการสืบสวนคดีความผิดซึ่งเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กรณีมีการนําภาพถ่ายของผู้เสียหาย ขณะรับพระราชทานสิ่งของจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปตัดต่อภาพ โดยนําภาพใบหน้าของบุคคลอื่นมาใส่ไว้แทนและมีการนําภาพดังกล่าวไปแอบอ้างว่าเป็นแพทย์ แล้วปรากฏจากการสืบสวนทราบว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้กล่าวหา เพื่อให้สืบสวนให้ทราบข้อเท็จจริงที่ชัดเจนขึ้น และพิสูจน์ให้ได้ว่าผู้กล่าวหามีตัวตนอยู่จริง จึงได้ตรวจสอบข้อมูลทะเบียนราษฎรของผู้กล่าวหาว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ มีบุคคลชื่อนี้อยู่ในประเทศไทยกี่คน มีที่อยู่ที่ใด รองผู้กำกับฯ จึงได้โทรศัพท์ไปหาผู้ถูกกล่าวหา
ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้างานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ โดยรองผู้กำกับฯ ได้แจ้งว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ที่กองกำกับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ไม่สามารถใช้งานระบบ POLIS ได้ จึงได้ขอให้ผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนนายร้อยตํารวจรุ่นเดียวกัน ให้ช่วยตรวจสอบทะเบียนราษฎรของผู้กล่าวหาให้ โดยขณะนั้นผู้ถูกกล่าวหาอยู่ในห้องที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถตรวจสอบทะเบียนราษฎรได้พอดี รองผู้กำกับฯ จึงขอให้ช่วยตรวจสอบข้อมูลทะเบียนราษฎรของผู้กล่าวหา หลังจากตรวจสอบข้อมูลทะเบียนราษฎรของผู้กล่าวหาเสร็จแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาจึงได้แจ้งให้รองผู้กำกับฯ ทราบซึ่งข้อมูลที่ได้รับเพื่อนําไปใช้ประกอบการสืบสวนคดี โดยตามหลักเกณฑ์ผู้ใช้สิทธิการเข้าใช้งานระบบในโครงการ POLIS ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามบันทึกข้อความ สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 0033.43/1079 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2553 ที่กำหนดว่าระบบสอบถามทะเบียนราษฎร์ ผู้มีสิทธิเข้าใช้ระบบ ได้แก่ พนักงานสอบสวนทุกนาย เจ้าหน้าที่ตํารวจฝ่ายป้องกันปราบปราม ฝ่ายสืบสวน และเจ้าหน้าที่กําลังพล ที่มีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลข้าราชการตํารวจในฐานข้อมูลลังพลให้ข้อมูลถูกต้องตรงกับข้อมูลของทะเบียนราษฎร์ เพื่อสนับสนุนภารกิจหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้านการสืบสวนสอบสวน และการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และใช้ในการวางแผนป้องกันอาชญากรรม
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 ผู้เสียหายพบว่าผู้ถูกกล่าวหาได้นําข้อมูลทะเบียนราษฎรของผู้กล่าวหาอันปรากฏข้อมูลภาพใบหน้า ชื่อ - สกุล เลขประจำตัวประจำตัวประชาชน วันเดือนปี ที่อยู่ ชื่อบิดา - มารดา เลขประจำตัวประชาชนของบิดา - มารดา ของผู้กล่าวหา ไปเผยแพร่ในเครือข่ายทางสังคมออนไลน์เฟชบุ๊กชื่อ XXX โดยระบุข้อความว่า "เพื่อนผมบอกมาบุคคลนี้ต้องสงสัยกระทำความผิด ใครมีข้อมูลคนคนนี้ ช่วยแจ้งด้วย ครับ"
ผู้กล่าวหาจึงได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจภูธรดอกคำใต้จังหวัดพะเยา ไว้เป็นหลักฐาน เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 และเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2559 ผู้เสียหาย ได้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีกับผู้กล่าวหา ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และวันที่ 4 สิงหาคม 2559 ผู้เสียหายได้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีกับผู้กล่าวหา ในความผิดฐาน นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตาม ป.จ.ว. ข้อ 7 เวลา 16.00 น. ของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นคดีอาญาที่ 48/2559 แล้วผู้กล่าวหาจึงได้ตรวจสอบข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งสำนักทะเบียนกลาง แจ้งว่าได้ส่งหนังสือไปให้ผู้เข้าดูข้อมูลชี้แจงวัตถุประสงค์ในการเข้าดูข้อมูลทะเบียนราษฎรภายใน 15 วัน ตามระเบียบแล้วแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มิได้ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ที่เข้าดูข้อมูลภายในเวลาที่กำหนด และจากผลการตรวจสอบข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย ตามหนังสือสำนักทะเบียนกลางเลขที่ มท 0309/0874 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2559 พบว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ตรวจและเปิดข้อมูลจำนวน 5 ครั้ง ในวันที่ 4 มีนาคม 2559 ตั้งแต่เวลา 13.14 น. ถึงเวลา 13.25 น. และเป็นผู้เข้าค้นข้อมูลรายแรกโดยมีการค้นข้อมูลทั้งจากชื่อ - นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน
ผู้กล่าวหาจึงได้มีหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ให้ทำการตรวจสอบในกรณีดังกล่าว และกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีหนังสือ บช.น. ที่ 0015.184/494 ลงวันที่ 7 กันยายน 2559 ให้กองบังคับการตำรวจนครบาล 7 ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่ผู้กล่าวหาร้องเรียน และหนังสือ บช.น. ที่ 0015.184/213 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณี ที่ผู้กล่าวหาร้องเรียนร้องเรียนการเข้าใช้ข้อมูลส่วนบุคคล แล้วกองบังคับการตำรวจนครบาล 7 (บก.น. 7) ได้ดําเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง พิจารณาแล้วเห็นว่าการที่ผู้ถูกกล่าวหาเข้าไปตรวจสอบข้อมูลทะเบียนราษฎรของผู้กล่าวหา เป็นกรณีมีเหตุสงสัยว่าผู้ใดเป็นผู้กระทําผิดและพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งเหตุไว้แล้ว จึงเป็นการกระทําที่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการและมิได้นําไปเปิดเผยหรือเผยแพร่ให้ผู้อื่นทราบแต่อย่างใด
จึงมีความเห็นควรยุติเรื่อง และในคดีอาญาที่ 48/2559 ของกองกํากับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระหว่าง ความผิดฐานนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และนําเข้าสู่ระบบ คอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่นและภาพนั้นเป็น ภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังหรือได้รับความอับอาย อันเป็นความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2) พนักงานสอบสวนได้สอบสวนเสร็จสิ้นแล้วมีความเห็นทางคดีสั่งฟ้องผู้ต้องหา และส่งสํานวนการสอบสวนไปยังอธิบดีอัยการสํานักงานคดีอาญา ตามหนังสือที่ ตช 0026.(12)3/1897 ลงวันที่ 23 กันยายน 2559 และศาลอาญา ได้มีคําพิพากษาลงวันที่ 30 มกราคม 2561 เป็นคดีหมายเลขดําที่ อ.3986/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อ.244/2561 พิพากษาว่า เมื่อผู้เสียหายสามารถตกลงกับจําเลยได้ สิทธิการนําคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไป ให้จําหน่ายออกจากสารบบความ
ขณะเกิดเหตุผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
ในการเข้าตรวจสอบข้อมูลทะเบียนราษฎรของผู้กล่าวหา ขณะที่ดํารงตําแหน่งหัวหน้างานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ตามคำร้องขอที่แจ้งว่าในช่วงเวลาดังกล่าวที่กองกำกับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีไม่สามารถใช้งานระบบ polis ได้ โดยเนื่องจากได้รับการปรึกษาให้สืบสวนคดีความผิดซึ่งเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี อันมีเหตุสงสัยได้ว่าผู้กล่าวหาเกี่ยวข้องกับการกระทําความผิด เพื่อพิสูจน์ตัวตนว่าผู้กล่าวหามีตัวตนอยู่จริง จึงได้ทำการสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด นั้น การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การใช้อำนาจในการตรวจสอบข้อมูลทะเบียนราษฎรของบุคคลดังกล่าวเป็นการใช้ในทางสืบสวนคดีอาญา รวบรวมข้อมูล แสวงหาข้อเท็จจริง พฤติการณ์ต่างๆ และหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด เพื่อทราบรายละเอียดของความผิดซึ่งพนักงานตำรวจได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อที่จะหาตัวผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคามอาญา มาตรา 17 ประกอบมาตรา 2 (10) , (11) และ (16)
ดังนั้น เมื่อมีเหตุสงสัยว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น พนักงานตำรวจก็มีอำนาจทำการสืบสวนในคดีอาญาได้โดยไม่ต้องมีการร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีก่อนแต่อย่างใด และเมื่อผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ แม้จะอยู่ต่างหน่วยกันก็เป็นตำรวจที่มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาได้ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ผู้ใช้สิทธิการเข้าใช้งานระบบในโครงการ POLIS ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามบันทึกข้อความ สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 0033.43/1079 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2553 เรื่องกําหนดหลักเกณฑ์การกําหนดรหัสผู้ใช้และสิทธิการใช้งาน โครงการ POLIS ที่กำหนดว่าระบบสอบถามทะเบียนราษฎร์ ผู้มีสิทธิเข้าใช้ระบบ ได้แก่ พนักงานสอบสวนทุกนาย เจ้าหน้าที่ตํารวจฝ่ายป้องกันปราบปราม ฝ่ายสืบสวน และเจ้าหน้าที่กําลังพล ที่มีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลข้าราชการตํารวจในฐานข้อมูลลังพลให้ข้อมูลถูกต้องตรงกับข้อมูลของทะเบียนราษฎร์ เพราะโครงการ POLIS ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อสนับสนุนภารกิจหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้านการ สืบสวนสอบสวน และการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และใช้ในการวางแผนป้องกันอาชญากรรม
เมื่อปรากฏต่อมาในภายหลังว่า ต่อมาผู้เสียหายได้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา ในความผิดฐานนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามคดีอาญาที่ 48/2559 ตามประจำวันเกี่ยวกับคดี ข้อ 7 เวลา 16.00 น. วันที่ 4 สิงหาคม 2559 ของกองกํากับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
จนกระทั่งพนักงานสอบสวนได้สอบสวนเสร็จสิ้นแล้วมีความเห็นทางคดีสั่งฟ้องผู้ต้องหา และส่งสํานวนการสอบสวนไปยังอธิบดีอัยการสํานักงานคดีอาญาเพื่อดำเนินคดี ตามหนังสือที่ ตช 0026.(12)3/1897 ลงวันที่ 23 กันยายน 2559 และต่อมาศาลอาญา ได้มีคําพิพากษาลงวันที่ 30 มกราคม 2561 เป็นคดีหมายเลขดําที่ อ.3986/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อ.244/2561 ที่เป็นผลมาจากการสืบสวนคดีอาญาดังกล่าว เป็นการกระทำที่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่เป็นความผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือระเบียบแต่อย่างใด
กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกกล่าวหาว่าได้นําข้อมูลทะเบียนราษฎรของผู้กล่าวหาอันปรากฏข้อมูลภาพใบหน้า ชื่อ - สกุล เลขประจำตัวประจำตัวประชาชน วันเดือนปี ที่อยู่ ชื่อบิดา - มารดา เลขประจำตัวประชาชนของบิดา - มารดา ของผู้กล่าวหา ไปเผยแพร่ในเครือข่ายทางสังคมออนไลน์เฟชบุ๊กชื่อ XXX โดยระบุข้อความว่า "เพื่อนผมบอกมาบุคคลนี้ต้องสงสัยกระทำความผิด ใครมีข้อมูลคนคนนี้ ช่วยแจ้งด้วย ครับ" นั้น
เห็นว่า เป็นข้อความที่สื่อสารในลักษณะของการแจ้งเตือนภัยบุคคล เกี่ยวกับการกระทำความผิด ที่ให้สาธารณชนรับรู้และระมัดระวังภัยจากข้อมูลดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ามีเจตนาอื่นใดในทางทุจริต หรือเจตนาก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคลใด และการกระทำดังกล่าว มิได้เป็นการปฏิบัติการในตำแหน่งหน้าที่ หรือในฐานะเป็นเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่แต่เป็นการกระทำต่อส่วนตัว ที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดต่อส่วนตัวไปตามแต่กรณี และหากผู้กล่าวหาได้รับความเสียหาย หรือบุคคลใดได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าว ผู้ที่เสียหายก็ย่อมที่จะสามารถดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาตามช่องทางอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไปได้ ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ความผิดเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ หรือความผิดในทางแพ่ง
การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่เป็นการกระทำในฐานะเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตแต่อย่างใด
การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา ไม่มีมูลความผิดทางอาญาและทางวินัย ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด กรณีใช้อำนาจหน้าที่เข้าตรวจสอบข้อมูลทะเบียนราษฎรของผู้กล่าวหา และนำข้อมูลทะเบียนราษฎรของผู้กล่าวหาอันปรากฏข้อมูลภาพใบหน้า ชื่อ - สกุล เลขประจำตัวประจำตัวประชาชน วันเดือนปี ที่อยู่ ชื่อบิดา - มารดา เลขประจำตัวประชาชนของบิดา - มารดา ของผู้กล่าวหาไปเผยแพร่ทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมิชอบ เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
@ ภาพตัวอย่างข้อมูลทะเบียนราษฎร์
@ มติเอกฉันท์พ้นข้อกล่าวหา
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 5 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่าจากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า พันตำรวจเอก วิรดล ทับทิมดี ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
***********
ปิดฉากคดีนี้เป็นทางการ และนับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ เจ้าหน้าที่รัฐ ในการเข้าดูข้อมูลทะเบียนราษฎร แล้วนำไปเผยแพร่ทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ ในลักษณะการแจ้งเตือนภัยบุคคล เกี่ยวกับการกระทำความผิด ที่ให้สาธารณชนรับรู้และระมัดระวังภัยจากข้อมูล ตามคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.