เผยมติ ป.ป.ช.เสียงเอกฉันท์ตีตกคดี 'สุวัช เซียศิริวัฒนา' อดีตผอ.องค์การเภสัชกรรม อนุมัติจัดซื้อยาวิธีพิเศษ ระบุชื่อทางการค้า/บริษัท ช่วงปี 2557-2558 โดยมิชอบ หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงพยานหลักฐานฟังได้ว่ากระทำความผิด ไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียงเอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา นายสุวัช เซียศิริวัฒนา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม อนุมัติให้องค์การเภสัชกรรมดำเนินการจัดซื้อยาวิธีพิเศษโดยระบุชื่อทางการค้าหรือชื่อบริษัทที่ประสงค์จะจัดซื้อในช่วงปี 2557-2558 โดยมิชอบ
หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่ากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุป ว่า ในปี 2557-2558 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ได้สั่งซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรม ระบุชื่อการค้าของยา (Trade name) หรือชื่อผู้จำหน่ายยากรณีที่ยาชื่อการค้าเดียวกันมีผู้จำหน่ายหลายราย ผอ.องค์การเภสัชกรรมได้อนุมัติให้จัดซื้อยาดังกล่าวโดยวิธีพิเศษ ระบุชื่อการค้าของยา (Trade name) และชื่อบริษัทยาที่จะจัดซื้อตามความต้องการของ สปสช. ซึ่งตามข้อบังคับองค์การเภสัชกรรมว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2524 กำหนดให้การจัดซื้อยาสามารถกำหนดได้เฉพาะชื่อสามัญของยา (Generic name) เท่านั้น จะกำหนดชื่อการค้าของยา (Trade name) หรือผู้จำหน่ายยาไม่ได้
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า จากการไต่สวนปรากฏว่า การจัดซื้อยาขององค์การเภสัชกรรม ในช่วงปี 2557-2558 นั้น เป็นการจัดซื้อตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการบริหารสินค้าคงคลังด้วยระบบ VMI ระหว่าง สปสช. กับ องค์การเภสัชกรรม เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ซึ่งเป็นระบบที่องค์การเภสัชกรรมเข้าไปช่วยดูแลบริหารสินค้าคงคลังให้แก่สปสช. เพื่อให้ สปสช. มีปริมาณสินค้าคงคลังที่เหมาะสมและมียาใช้อย่างต่อเนื่อง
กรณีจัดซื้อยาโดยระบุชื่อการค้าของยา และบริษัทผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายนั้น เป็นการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ตามข้อบังคับองค์การเภสัชกรรมว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2524 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 16 (6) เป็นกรณีที่ยามีผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายเพียงรายเดียวหรือมีผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายหลายรายแต่มีความพร้อมในการผลิตหรือส่งมอบยาตามกำหนดเวลาหรือตามปริมาณความต้องการขององค์การเภสัชกรรมในขณะนั้น รวมถึงเป็นการจัดซื้อตามความประสงค์ของ สปสช. ที่แจ้งให้องค์การเภสัชกรรมจัดหาจากแหล่งผลิตเดิม อันเนื่องมาจากความจำเป็นต้องใช้ยาตามแนวทางการรักษาของแพทย์ที่ต้องใช้ในการรักษา ผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตามข้อบังคับฯ ไม่ได้กำหนดให้จัดซื้อตามชื่อสามัญของยา (Generic name) หรือห้ามมิให้จัดซื้อโดยระบุชื่อการค้าหรือบริษัทผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายแต่อย่างใด การที่ผู้ถูกกล่าวหาอนุมัติให้จัดซื้อยาดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินการภายใต้ข้อบังคับองค์การเภสัชกรรมว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2524 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 16 (6) และข้อ 41 (7) และ (3)
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนน 6 เสียง เห็นขอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป