"...การที่มีหลักสูตรอบรมผู้บริหารระดับสูง โดยเน้นการผสมผสานผู้เข้าอบรมจากภาคราชการ ทั้งข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ภาคการเมือง และภาคธุรกิจ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการระหว่างบุคคลในรุ่นการศึกษาเดียวกัน และระหว่างรุ่น คำถามสำคัญคือ หลักสูตรการศึกษาเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการสร้างเครือข่ายขึ้นในลักษณะกลุ่มผู้มีอิทธิพลระดับสูงใช่หรือไม่ และเครือข่ายเหล่านี้จะก่อให้เกิดผลประการใดในสังคม เศรษฐกิจ การเมืองไทย..."
ยังเป็นประเด็นที่สาธารณชนให้ความสนใจต่อเนื่อง กรณี 2 ผู้พิพากษาในชั้นศาลฎีกา นายบุญเขตร์ พุ่มทิพย์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลางช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา กรรมการบริหารศาลยุติธรรม และ นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล ผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการตุลาการ ทำบันทึกข้อความ ถึงประธานศาลฏีกาในฐานะประธานกรรมการบริหารศาลยุติธรรม และประธานกรรมการตุลาการ เพื่อขอให้ยกเลิกหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) และกำหนดไม่ให้ผู้พิพากษาเข้าร่วมอบรมหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (ว.ป.อ.) หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิบไตยสำหรับนักบริหาระดับดับสูง (ป.ป.ร.) หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) หรือหลักสูตรอื่นในลักษณะเดียวกัน
โดยเห็นว่า หลักสูตรอบรมต่าง ๆ ไม่ก่อเกิดประโยชน์ใดแก่การปฏิบัติงานของข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ทั้งยังอาจนำไปสู่การผิดศีล ผิดวินัย ของผู้พิพากษา ส่งเสริมระบบอุปถัมภ์ ซึ่งนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม นอกจากนี้ การใช้งบประมาณเพื่อจัดให้มีหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) เป็นการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่าไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ แก่ประเทศชาติ ที่สำคัญที่สุดหลักสูตรนี้ทำให้ความเชื่อถือที่สาธารณชนมีต่อศาลยุติธรรมลดลง
- ขอ ปธ.ศาลฏีกา เลิกจัดอบรม บ.ย.ส.-ห้าม 'พ.'ร่วมหลักสูตรดัง ชี้ไม่เกิดปย.เสริมระบบอุปถัมภ์
- เปิดชื่อ ‘บิ๊กเนม’ ติดสัมภาษณ์หลักสูตร มินิ วปอ. ‘อุ๊งอิ๊ง’ ติดด้วย
กรณีนี้ นับเป็นอีกหนึ่งการตั้งคำถามครั้งสำคัญอีกครั้งในสังคมไทย ที่ถูกตราหน้าว่าเต็มไปด้วย ‘ระบบอุปถัมภ์-เอื้อพวกพ้อง’ โดยเฉพาะการคัดสรรบุคคล ‘ระดับสูง’ เข้าไปเรียนสารพัดหลักสูตรข้างต้น มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการสร้าง ‘เครือข่ายคอนเนกชั่นพิเศษ’ ในการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน มากกว่าที่จะเรียนรู้เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจ หรือประเทศชาติ
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันก่อนหน้านี้ แม้แต่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ยังถึงกับเปิดอบรมหลักสูตร ‘ตำรวจอาสา’ โดยมีการเก็บค่าอบรม 38,000 บาท พร้อมเชิญตำรวจมาเป็นวิทยากร ขณะที่ผู้ที่เข้าอบรมเป็นคนสัญชาติจีน พร้อมทั้งระบุว่า สมาคมกำลังสำรองรักษาดินแดน มีเครื่องแต่งกายคล้ายทหารเป็นผู้เปิดคอร์ส สะท้อนให้เห็นว่า การอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ในระยะหลังของไทย เอื้อประโยชน์ในการสร้างคอนเนกชั่นเป็นหลัก ทั้งที่มหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องเปิดอบรมหลักสูตรเหล่านี้ก็ได้
ย้อนกลับไปไม่นานนักเมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา ‘แพทองธาร ชินวัตร’ เมื่อครั้งเพิ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 หมาด ๆ ยังเข้ารับการอบรมหลักสูตร หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร สำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต (วปอ.บอ.) หรือ ‘มินิ วปอ.’ ร่วมกับบิ๊กเนมธุรกิจ-ข้าราชการระดับสูง-ตำรวจ-ทหาร หลายราย ทั้งที่ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ก็มีหลักสูตรสำคัญคือ วปอ.อยู่แล้ว
ที่น่าสนใจเรื่องนี้เมื่อปี 2566 เมื่อครั้งนายกฯชื่อ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ยังเคยกล่าวถึงนิยามการเรียนหลักสูตร วปอ.ด้วยซ้ำว่า ที่นี่เป็นแหล่งพบปะสมาคม สานสัมพันธ์อันดีของทุก ๆ ท่าน ความแข็งแกร่งของศิษย์เก่าเป็นที่ประจักษ์ สายสัมพันธ์-คอนเนคชั่นในประเทศ ทำให้พวกท่านเป็นบุคคลพิเศษ หรือเรียกว่า อภิสิทธิ์ชนก็ว่าได้ เป็นท็อป 1 % หรือน้อยกว่านั้นของประเทศนี้ และในสถาบันที่ทรงคุณค่าอย่างมากแห่งนี้ หลายคนอยากเข้ามา แต่ก็ไม่มีโอกาสได้รับการคัดเลือก
“ขอฝากและวิงวอนอ้อนวอนจากใจจริง ขอให้ใช้ความรู้ความสามารถ และสายสัมพันธ์จากที่นี่ให้เกิดประโยชน์ โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรของรัฐ ไม่ได้ใช้แต่สิทธิ์ แต่ให้ดูถึงหน้าที่ และความเหมาะสม เพราะทุกสายตาในประเทศจับจ้องกันอยู่ เพราะท่านเป็นบุคคลพิเศษ เป็นบุคคลที่จะเป็นผู้นำของประเทศนี้ การกระทำของท่านเป็นที่จับเจ้าของคนทุกชนชั้นโดยเฉพาะเยาวชน” เศรษฐา ระบุ
สำหรับสารพัดหลักสูตรต่าง ๆ ในไทยของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน มีหลักสิบหรืออาจถึงหลักร้อย แต่หากนับเฉพาะ ‘หลักสูตรขึ้นชื่อ’ มีอย่างน้อย 6 แห่งด้วยกัน ได้แก่ 1.หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร 2.หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) ของวิทยาลัยการยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม 3.หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (พตส.) ของสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง 4.หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) สถาบันพระปกเกล้า 5.หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) และ 6. หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (TEPCoT) ของหอการค้าไทย
ทั้ง 6 หลักสูตรข้างต้น ล้วนคัดสรร ‘บิ๊กเนม-คนเด่นคนดัง-นักธุรกิจมีชื่อ-นักเลือกตั้ง-ลูกหลานนักการเมือง-ข้าราชการระดับสูง’ เข้ามาร่วมเสียส่วนใหญ่ จนโดนวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเปิดช่องให้มีการเอื้อประโยชน์ระหว่างกัน เพราะ ‘นักการเมือง’ บางคนคือลูกหลาน ‘รัฐมนตรี’ ขณะที่ ‘นักธุรกิจ’ บางคนอาจทำธุรกิจจัดซื้อจัดจ้าง หรือสัมปทานจากภาครัฐ เป็นต้น
ข้อกังขาเหล่านี้ มิใช่เรื่องใหม่ หากย้อนไปเกือบ 13 ปีก่อนหน้านี้ เคยมีงานวิจัยตีพิมพ์ออกมาเพื่อสรุปปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยมาแล้ว โดยเมื่อปี 2555 ศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอผลงานวิจัย เรื่อง ‘เครือข่ายผู้บริหารระดับสูงผ่านเครือข่ายทางการศึกษา’ ของนวลน้อย ตรีรัตน์ และภาคภูมิ วาณิชกะ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นการศึกษาหลักสูตรชื่อดังของไทย (ขณะนั้น) อย่างน้อย 6 หลักสูตรด้วยกัน ได้แก่ วปอ. บ.ย.ส. พตส. ปปร. วตท. และ TEPCoT
ในงานเสวนาทางวิชาการเพื่อการเสนอผลงานวิจัย ‘สู่สังคมไทยเสมอหน้า’ ที่อาคารสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยข้างต้นนั้น ได้สรุปสาระสำคัญของผลงานวิจัยชิ้นนี้ว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เกิดหลักสูตรที่เน้นการฝึกอบรมผู้บริหารระดับสูงในวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อฝึกอบรมความเชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะเพิ่มขึ้นมาก โดยหลายหลักสูตรเน้นการผสมผสานผู้บริหารระดับสูงในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคราชการ ทั้งข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ภาคการเมือง และภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการระหว่างบุคคลในรุ่นเดียวกัน และระหว่างรุ่น ภายใต้คำถามว่า เครือข่ายเหล่านี้เกิดขึ้นในลักษณะกลุ่มผู้มีอิทธิพลระดับสูงหรือไม่ และเครือข่ายก่อให้เกิดผลกระการใดในเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทย
ขณะที่รายละเอียดผลงานวิจัยชิ้นดังกล่าว สรุปได้ว่า การที่มีหลักสูตรอบรมผู้บริหารระดับสูง โดยเน้นการผสมผสานผู้เข้าอบรมจากภาคราชการ ทั้งข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ภาคการเมือง และภาคธุรกิจ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการระหว่างบุคคลในรุ่นการศึกษาเดียวกัน และระหว่างรุ่น คำถามสำคัญคือ หลักสูตรการศึกษาเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการสร้างเครือข่ายขึ้นในลักษณะกลุ่มผู้มีอิทธิพลระดับสูงใช่หรือไม่ และเครือข่ายเหล่านี้จะก่อให้เกิดผลประการใดในสังคม เศรษฐกิจ การเมืองไทย
เบื้องต้นงานวิจัยชิ้นนี้สกัดสาระสำคัญของ ‘นิยาม’ ในการอบรม 6 หลักสูตรดังกล่าว ได้ว่า การหาพวก เพื่อจัดหลักสูตรการศึกษา เป็นข้ออ้างในการหาบุคคลมาเชื่อในเป้าหมายเดียวกัน
โดยจากการวิเคราะห์ความเป็นมา เนื้อหา กิจกรรมของหลักสูตรทีได้รับความนิยมมาก อีกทั้งการศึกษาบทบาททางเศรษฐกิจการเมืองของเครือข่ายที่เกิดขึ้นได้ค้นพบข้อสำคัญคือ หลายหลักสูตรแม้จะมีเป้าหมายในการให้ความรู้ด้วย แต่ลึก ๆ แล้วไม่ต่างอะไรกับการจัดตั้งกลุ่มผลประโยชน์หรือการหาพวก เพื่อเพิ่มช่องทาง และพลังในการผลักดันผลประโยชน์ขององค์กรที่จัดหลักสูตรการศึกษา เป็นข้ออ้างในการรวบรวมบุคคลภายนอกองค์กรที่มีหน้าทีกำกับดูแลการทำงาน หรือพิจารณาอนุมัติผลประโยชน์ขององค์กรเข้ามาสู่กระบวนการกล่อมเกลาเพื่อให้บุคคลเหล่านั้นเชื่อในเป้าหมายเดียวกัน
การเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ร่วมหลักสูตรได้รับการตอกย้ำมาก เกิดเป็นเครือข่ายผู้บริหารระดับสูง มีบทบาทเป็นเงื่อนไขของความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ การเมือง ทั้งในระดับของการแสวงหาผลประโยชน์เฉพาะบุคคล และในระดับของโครงสร้างอำนาจโดยตัวของมันเอง โดยรวมการดำเนินการของหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงในปัจจุบัน แม้จะมีผลดีบ้าง แต่อาจจะมีผลเสีย ต่อความเท่าเทียมทางสังคม เศรษฐกิจและระบบประชาธิปไตยของสังคมไทย ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความโปร่งใสในการดำเนินนโยบาย หรือการตัดสินใจในองค์กรภาครัฐเพิ่มมากขึ้น เป็นปัญหาต่อการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการภาครัฐ
การศึกษาครั้งนี้ จึงมีข้อเสนอเบื้องต้นให้พัฒนาระบบธรรมาภิบาล และพิจารณาถึงแนวทางในการหลีกเลี่ยง ป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นต่อองค์กรที่จัดตั้งหลักสูตร โดยกำหนดกรอบการดำเนินงานของหลักสูตรผู้บริหารที่ดำเนินการ โดยหน่วยงานภาครัฐต้องมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ หรือการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐอย่างแท้จริงเป็นหลัก
นอกจากนี้ควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการอนุญาตให้ผู้บริหารในหน่วยงานภาครัฐเข้าศึกษาในหลักสูตรผู้บริหารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรที่ดำเนินการโดยภาครัฐหรือภาคเอกชน โดยยึดหลักความจำเป็น ผลประโยชน์ของหน่วยงาน และผลกระทบต่องานที่รับผิดชอบเป็นสำคัญ เพื่อไม่ให้เสียเวลาในการทำงานเพราะบางหลักสูตรก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่แต่อย่างใด
โดยบทสรุปของงานวิจัยดังกล่าว ระบุว่า บทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองของเครือข่ายผู้บริหารระดับสูง แบ่งออกเป็น บทบาทระดับองค์กร หรือระดับทางการ เช่น กิจกรรมการกุศล และการพัฒนา รวมถึงความสัมพันธ์โดยเป็นที่พึ่งให้กันระดับส่วนตัว ซึ่งอาจก่อให้เกิดการเอื้อประโยชน์ในกรณีพิเศษด้วย
สุดท้ายงานวิจัย สะท้อนให้เห็นว่า การรวมตัวระหว่างชนชั้นนำภายใต้หลักสูตรเหล่านี้ อาจทำให้การแข่งขันระหว่างชนชั้นนำด้วยกันลดลง โดยไปเพิ่มส่วนของการแบ่งปันและหยิบยื่นผลประโยชน์ ภายใต้ความสัมพันธ์แบบพรรคพวกเพื่อนฝูงแทน ซึ่งจะขยายช่องว่างทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างชนชั้นนำ และมวลชนทั่วไปออกไปกว่าเดิม และขยายสภาพความไม่เท่าเทียมของสังคมให้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันการตรวจสอบ หรือการเข้าถึงจากประชาชนภายนอกจะไม่สามารถเข้าถึงได้เลย เพราะถูกความเป็นเพื่อนของชนชั้นนำเหล่านี้ปิดกั้นไว้
ทั้งหมดคือผลการศึกษาจากงานวิจัย แม้จะเกิดขึ้นเมื่อ 13 ปีก่อน แต่ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจสังคมไทย ยังคงเปลี่ยนไปไม่มากนัก แม้จะผ่านการรัฐประหารมาเพิ่มอีก 1 ครั้ง มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งถึง 3 ครั้ง เปลี่ยนตัวนายกฯมาแล้ว 3 คนก็ตาม แต่ก็ยังคงติดหล่ม ‘ความขัดแย้ง’ ทางการเมืองอย่างหนักเช่นเดิม
เพราะสารพัดหลักสูตรเหล่านี้ ก็ยังคงเติบโต และขยายฐานออกไปให้กว้างขึ้น เห็นจาก ‘หลักสูตร วปอ.’ ขยายเพิ่มเป็น ‘มินิ วปอ.’ ซึ่งสุดท้ายแล้วบรรดาบุคคลที่เข้าไปเรียนหลักสูตรเหล่านี้ อาจยังไม่มีผลงานอะไรเป็นรูปธรรม ในการแก้ไขปัญหาสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมืองในไทย
ดังนั้นการนำเสนอทางความคิดของ 2 ผู้พิพากษาในชั้นศาลฎีกาข้างต้น อาจเป็นก้าวแรกในการสร้างความเท่าเทียมทาง ‘เศรษฐกิจ-การเมือง’ ของไทยก็เป็นไปได้ แต่สุดท้ายขึ้นอยู่กับ ‘ประธานศาลฎีกา’ ว่าจะมีดุลพินิจอย่างไรต่อไป