คดีถึงที่สุดแล้ว! มติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกายืนยกฟ้อง 2 เจ้าคุณ 'สังคม-เทอด' คดีฟอกเงินทอนวัด ชี้คำสั่งอนุญาตให้เเก้ฟ้องมีการสอบสวนเพิ่มเติมหลังฟ้องไม่ชอบด้วยกม.-โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2567 ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีหมายเลขดำที่ อท 205/2561 ระหว่าง พนักงานอัยการ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พระเมธีสุทธิกร หรือ พระราชอุปเสณาภรณ์ หรือพระมหาสังคม หรือ สังคม ญาณวฑฒโน หรือ นายสังคม สังฆะพันธ์ จำเลยที่ 1 พระวิจิตรธรรมาภรณ์ หรือ พระมหาเทอด หรือ เทอด ญาณวชิโร หรือ นายเทอด วงศ์ชะอุ่ม จำเลยที่ 2 นายทวิช สังข์อยู่ จำเลยที่ 3 เรื่อง ความผิดต่อ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
โดยมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีความเห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการฟังคำพิพากษาศาลฎีกาวันนี้ ผู้รับมอบฉันทะโจทก์ จำเลยที่1 จำเลยที่ 2 และทนายจำเลยทั้งสอง เข้าฟังการพิจารณา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นศาลที่ใช้ระบบไต่สวน ศาลมีอำนาจสั่งให้รวบรวมพยานหลักฐานหรือไต่สวนเพิ่มเติมและสั่งให้แก้ไขฟ้องให้ถูกต้องได้ การที่โจทก์สั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมภายหลังจากที่ยื่นคำฟ้องต่อศาลแล้วถือเป็นการค้นหาความจริงเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนขึ้น และถือว่ามีการสอบสวนในความผิดของจำเลยทั้งสาม ตามที่ได้มีการกล่าวหาเพิ่มเติมแล้ว ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการสอบสวนเพิ่มเติมเป็นการที่ศาลใช้อำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์แห่งคดีและอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 15 วรรคสาม นั้น
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าแม้การพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบจะใช้ระบบไต่สวนซึ่งศาลมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงได้เองแต่กรณียังคงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120 ที่นำมาใช้บังคับแก่คดีนี้ด้วยตามมาตรา 6 แห่งพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้อัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน" ดังนี้ ถ้าพนักงานอัยการ ฟ้องคดีโดยไม่ได้มีการสอบสวนก่อน หรือมีการสอบสวนแล้ว แต่การสอบสวนไม่ชอบ ซึ่งต้องถือว่าไม่มีการสอบสวนเช่นกัน การฟ้องย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง และตาม พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา15 วรรคสาม บัญญัติว่า "กรณีที่ศาลเห็นว่าฟ้องไม่ถูกต้องให้ศาลมีอำนาจสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง" ดังนี้ การที่ศาลจะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องตามบทบัญญัติดังกล่าวได้นั้น ฟ้องเดิมจะต้องเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นกรณีที่ฟ้องเดิมไม่สมบูรณ์โดยไม่บรรยายคำฟ้องให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น
คดีนี้เดิมโจทก์บรรยายฟ้องกล่าวหาว่า ในปีงบประมาณ 2557 นาย น. ผู้อำนวยการสำนักงาน พระพุทธศาสนา กับเจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชารวม 5 คน ได้ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการทำเรื่องอนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณสนับสนุนการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จำนวน 72,000,000 บาท ให้แก่วัดต่าง ๆ รวมทั้งวัดสระเกศฯ ซึ่งเป็นวัดที่ได้รับจัดสรรเงินงบประมาณ 10,000,000 บาท อันไม่ชอบ ด้วยหน้าที่โดยทุจริต เพื่อเกิดความเสียหายแก่สำนักงานพระพุทธศาสนา โดยวัดที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับจัดสรรเงินงบประมาณดังกล่าวจะต้องเป็นวัดที่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา แต่วัดสระเกศฯไม่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จึงไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินงบประมาณดังกล่าว การที่สำนักงานพระพุทธศาสนาอนุมัติจ่ายเงินงบประมาณสนับสนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ให้แก่วัดสระเกศฯจึงเป็นการอนุมัติจัดสรรเงินงบประมาณโดยไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย เป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความติดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่นซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3(5) หลังจากนั้นจำเลยทั้ง 3 ร่วมกันกระทำการฟอกเงิน
โดยจำเลยที่1-2 ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 เบิกถอนเงินงบประมาณดังกล่าวออกจากบัญชีเงินฝาก รวม 6 ครั้ง ซึ่งเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานไปใช้จ่ายเป็นประโยชน์ส่วนตน โดยจำเลยทั้งสามทราบดีอยู่แล้ว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่อนุมัติเพื่อนำไปใช้สนับสนุนการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาและเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่ได้มาจากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอันเป็นการร่วมกันโอน รับโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริง การได้มาการโอน การได้สิทธิใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธต่อสู้คดีมีใจความสรุปได้ว่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 วัดสระเกศฯ ไม่ได้ยื่นขอรับเงินสนับสนุนการ จัดการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา และไม่เคยได้รับเงินงบประมาณดังกล่าวตามที่โจทก์ฟ้อง รวมทั้งไม่มีการนำเช็คธนาคาร จำนวน 10,000,000 บาท ของสำนักงานพระพุทธศาสนา เข้าบัญชีเงินฝากของวัดสระเกศฯ แต่วัดสระเกศฯยื่นขอรับเงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและการเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนาที่รวมถึง การบูรณปฏิสังขรณ์สถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เงินงบประมาณ 10,000,000 บาท ที่มีการโอนเข้าบัญชีเงินฝากของวัดสระเกศฯสืบเนื่องมาจากวัดสระเกศฯได้ทำหนังสือขอรับเงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริม คุณธรรม จริยธรรม และการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตามหนังสือขอรับเงินอุดหนุนฉบับลงวันที่ 24 มี.ค.58 ไม่ใช่เงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2557 ตามที่โจทก์ฟ้อง การที่จำเลยที่1-2 เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของวัดเป็นการนำไปใช้เพื่อ พัฒนากิจการพระพุทธศาสนาในด้านต่าง ๆ ไม่ใช่เป็นการฟอกเงินตามที่จะฟ้อง
เมื่อถึงวันนัดตรวจพยานหลักฐานครั้งที่ 2 ปรากฏข้อเท็จจริงตามเอกสาร ขอเลื่อนคดี ของโจทก์ ฉบับลงวันที่ 16 พ.ย. 2561 ว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ย 2561 โจทก์มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้บังคับการกองปราบปรามแจ้งว่า รายละเอียดข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวนคดีมีความบกพร่อง ขอให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นว่า เหตุใดจึงเกิดความผิดพลาดในการนำเช็คผิดฉบับ ผิดโครงการ ผิดปีงบประมาณมาเป็นมูลเหตุในการดำเนินคดีนี้ ให้ทำการสอบสวนผู้กล่าวหาและพยานบุคคล ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ของการของบประมาณ การจัดสรรงบประมาณ การสั่งจ่ายงบประมาณตามโครงการเงินอุดหนุน โครงการศูนย์กลางการเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา เมื่อทำการสอบสวนได้ข้อเท็จจริงใหม่เป็นยุติแล้วให้แจ้งข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาทั้งสาม และสอบคำให้การของผู้ต้องหาทั้งสามให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 62 โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขฟ้องว่า โจทก์ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีข้อผิดหลงอันเป็นรายละเอียดเพียงบางส่วนซึ่งต้องแถลงในคำฟ้อง จำเป็นต้องขอแก้ไขฟ้องให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง ซึ่งไม่ทำให้จำเลยทั้งสามเสียเปรียบและหลงต่อสู้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้ โดยเห็นว่า เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดซึ่งไม่ได้กล่าวไว้ในฟ้อง ถือว่ามีเหตุอันควร โดยให้โจทก์ทำคำฟ้องฉบับใหม่มายื่นแทนฉบับเดิม
โจทก์ยื่นคำฟ้องฉบับใหม่ลงวันที่ 24 ม.ค.62 โดยมีการแก้ไขฟ้องหลายแห่งรวมทั้งแก้ฟ้องในส่วนของ ผู้กระทำความผิดมูลฐานจากนาย น. กับพวกรวม 5 คน เป็นนาย พ. กับพวกรวม 4คน แก้ฟ้องเกี่ยวกับพฤติการณ์อันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการจากเดิมฟ้องว่า นาย น. กับพวกปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตในการทำเรื่องอนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณสนับสนุนการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2557 เป็นว่า นาย พ. กับพวกได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการในการอนุมัติเงินงบประมาณโครงการเงินอุดหนุนโครงการศูนย์กลางการเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนาประจำปีงบประมาณ 2558 และแก้ฟ้องเกี่ยวกับหมายเลขเช็คซึ่งในสำนวนการสอบสวนเดิมระบุว่า สำนักงานพระพุทธศาสนา สั่งจ่ายเงินงบประมาณสนับสนุนการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ให้แก่ วัดสระเกศฯเป็นเช็คธนาคาร ก. เลขที่ 0407193 เป็นว่า สำนักงาน พระพุทธศาสนา สั่งจ่ายเงินงบประมาณโครงการเงินอุดหนุนโครงการ ศูนย์กลางการเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนาให้แก่ วัดสระเกศฯ ประจำปีงบประมาณ 2558 เป็นเช็คธนาคาร ก.เลขที่ 10029545
หลังจากจำเป็นทั้งสามได้รับสำเนาคำฟ้องฉบับใหม่แล้วได้ยื่นคำให้การฉบับใหม่คัดค้านการขอแก้ฟ้องของโจทก์ว่า การขอแก้ฟ้องของโจทก์และคำสั่งศาลที่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา161 เป็นการแก้ฟ้องที่ทำให้จำเลยทั้งสามเสียเปรียบ
โดยข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานการสอบสวนว่า เดิมร้อยเอก ว. ซึ่งได้รับมอบหมายจากเลขาฯปปง. ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามให้ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสาม ในความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา5 (1) และ (2) โดยอ้างถึงการกระทำอันเป็นความผิดมูลฐานว่านาย น. กับพวกรวม 5 คน ได้แต่ทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการโดยร่วมกันอนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณสนับสนุนการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2557 ให้แก่วัดสระเกศฯ จำนวน 10,000,000บาท โดยไม่ปรากฏว่ามีการอ้างถึงการกระทำที่เป็นความผิดมูลฐานของนาย พ. กับพวกที่ได้ร่วมกันอนุมัติเงินงบประมาณโครงการเงินอุดหนุนโครงการศูนย์กลางการเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา ประจำปีงบประมาณ 2558 แต่อย่างใด กรณีเพิ่งจะมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ แจ้งข้อหา และสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการอนุมัติเงินงบประมาณโครงการเงินอุดหนุนโครงการศูนย์กลางการเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนาในภายหลัง
หลังจากโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้และจำเลยทั้งสาม ยื่นคำให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์แล้ว ข้อที่โจทก์ขอแก้ฟ้องส่วนความผิดมูลฐานโดยเปลี่ยนตัวผู้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และในส่วนพฤติการณ์การกระทำความผิด ว่า มีการทุจริตอนุมัติเงินงบประมาณโครงการเงินอุดหนุนโครงการศูนย์กลางการเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา มีใช่การอนุมัติเงินงบประมาณสนับสนุนการจัดการการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ซึ่งเป็นเงินงบประมาณคนละโครงการกัน และคนละปีงบประมาณ ทั้งเช็คที่สั่งจ่ายโอนเข้าบัญชีเป็นฝากของวัดสระเกศฯก็เป็นคนละฉบับกัน ความผิดมูลฐานตามฟ้องเดิมและที่ขอแก้ไขจึงต่างกรรมต่างวาระกัน กรณีจึงเป็นการแก้ไข ข้อเท็จจริงอันเป็นพฤติการณ์แห่งคดีในส่วนความผิดมูลฐานที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งเป็นสาระสำคัญแก่คดี หาใช่เป็นเพียงการขอแก้ไขรายละเอียดเพียงบางส่วน ซึ่งต้องแถลงในฟ้องให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงดังที่โจทก์อ้างมาในคำร้องขอแก้ฟ้องไม่ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องจึงไม่ถูกต้อง
แม้โจทก์จะมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม จึงขอแก้ฟ้องเข้ามาภายหลัง แต่เป็นการสอบสวนเพิ่มเติมหลังจากฟ้อง และโดยเฉพาะเมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของนาย พ. กับพวก มิใช่เรื่องที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับการกระทำความผิดของ นาย น. กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดฐานฟอกเงินที่ได้มีการสอบสวนมาแต่แรก โดยมีพฤติการณ์การกระทำความผิดที่แตกต่างกันดังกล่าวมาข้างต้น การสอบสวนเพิ่มเติมจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 วรรคสอง (ก) ประกอบ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง
กรณีไม่อาจถือได้ว่าการกระทำความผิดที่โจทก์ขอแก้ฟ้องได้ผ่านกระบวนการสอบสวนตามขั้นตอนของกฎหมายมาโดยชอบก่อนฟ้องคดีแล้ว เมื่อมิได้มีการสอบสวนในความผิด ที่แก้ฟ้องมาโดยชอบโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และกรณีหาใช่เรื่องที่ศาลมีอำนาจอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้ดังทีโจทก์ฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว
ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน