สำนักงาน ป.ป.ช. มหาสารคาม แถลงผลงานประจำปีงบประมาณ 67 สอบ 7 คดี 'รัชพล ณะไธสง' อดีตนายก อบต. หนองกุง อำเภอนาเชือก โดนชี้มูลอาญากรณีไม่ส่งใช้เงินยืมทดรองราชการรายเดียว ตีตกข้อกล่าวหา ผู้บริหาร อปท. -หัวหน้าส่วนราชการหลายคน หลัง คกก.ชุดใหญ่พิจารณาสำนวนไต่สวนไม่ปรากฎข้อเท็จจริงพยานหลักฐานเพียงพอฟังได้ว่ากระทำความผิด ไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป ระดับผู้ปฏิบัติงานผิดวินัยเพียบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดมหาสารคาม แถลงผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เรื่องกล่าวหาที่ได้ดำเนินการไต่สวนเบื้องต้นแล้วเสร็จ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด และตกไป จำนวน 7 เรื่อง โดยนายรัชพล ณะไธสง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกุง อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม เป็นผู้บริหารองค์กรบริหารส่วนตำบลรายเดียวที่ถูกชี้มูลความผิดทางอาญา กรณีไม่ส่งใช้เงินยืมทดรองราชการตามสัญญายืมเลขที่ 10/2557 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2557 ภายในกำหนดระยะเวลา
ส่วนข้อกล่าวหา ผู้บริหาร อปท. และหัวหน้าส่วนราชการรายอื่น ๆ จากการไต่สวนไม่ปรากฎข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่ากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่ผู้ถูกกล่าวหาระดับผู้ปฏิบัติงานถูกชี้มูลความผิดทางวินัยจำนวนมาก
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
เรื่องที่ 1 เรื่องกล่าวหา นายเจนเจตน์ เจนนาวิน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายอำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม กับพวก รวม 10 คน ทุจริตโครงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (อุทกภัย) ปี พ.ศ. 2552 มูลค่าความเสียหาย 330,199 บาท
จากการไต่สวนข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โครงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (อุทกภัย) ปี 2552 โดยการซ่อมแซมถนนภายในเขตอำเภอยางสีสุราช ตามใบสั่งจ้าง เลขที่ 1/2552 ลงวันที่ 28 กันยายน 2552 กำหนดให้นางบัวบาน บุญเพิ่มหรือปัดตาชารี เจ้าของร้านธีรศักดิ์ก่อสร้าง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ซึ่งเป็นผู้รับจ้าง ทำการถมดินและลงหินคลุกซ่อมแซมถนน จำนวน 4 โครงการ และใน ตามใบสั่งจ้าง เลขที่ 4/2552 ลงวันที่ 28 กันยายน 2552 กำหนดให้นายจีระพันธ์ โคตรไกรสร เจ้าของร้านอภิรักษ์วิศวกรรม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 ซึ่งเป็นผู้รับจ้าง ทำการถมดินและลงหินคลุกซ่อมแซมถนน จำนวน 3 โครงการ จากการตรวจสังเกตการณ์โดยเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 7 (จังหวัดขอนแก่น) พบว่า ผู้รับจ้างทำการซ่อมแซมถนนได้ปริมาณกินและหินคลุกไม่เป็นไปตามสัญญา
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ครั้งที่ 47/2567 เมื่อวันที่ 01/05/2567)
ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ (50) ชี้มูลความผิดทางอาญา และชี้มูลความผิดทางวินัย กับคณะกรรมการตรวจการจ้าง หรือให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
เรื่องที่ 2 เรื่องกล่าวหา นายณัฐพัชร วงศ์พัฒนาธนเดช ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองหว้าโนนทอง กับพวกรวม 5 คน ทุจริตซื้อวัสดุที่ทำไปใช้ในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ มีส่วนได้เสียในการจัดจ้างรถรับส่งนักเรียน บังคับข่มขู่เพื่อระดมเงินออกจากเด็กนักเรียน มูลค่าความเสียหายรวม 1,160,000 บาท
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ครั้งที่ 11/2567 เมื่อวันที่ 24/01/2567)
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 5 เสียง ดังนี้
- ข้อกล่าวหาที่ 1 จัดซื้อรถยนต์รับส่งนักเรียนไม่เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย และเบียดบังเงินค่าขายสิทธิเช่าซื้อ ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว
จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่านายณัฐพัชร์หรือสมยศ วงศ์พัฒนาธนเดช หรือโคตรหล่อน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้กระทำการอันมีมูลความผิดในทางอาญาตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
แต่การกระทำของนายณัฐพัชร์หรือสมยศ วงศ์พัฒนาธนเดช หรือโคตรหล่อน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีมูลความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เสมอภาค และเที่ยงธรรม มีความวิริยะ อุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร ดูแลเอาใจใส่รักษาประโยชน์ของทางราชการ และต้องปฏิบัติตนตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพอย่าง และฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการและหน่วยงานการศึกษา มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาล โดยถือประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 84 วรรคหนึ่ง และมาตรา 85 วรรคหนึ่ง
- ข้อกล่าวหาที่ 2 นำเงินโครงการเงินออมทรัพย์ของนักเรียนไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว
จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่านายณัฐพัชร์หรือสมยศ วงศ์พัฒนาธนเดช หรือโคตรหล่อน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้กระทำการอันมีมูลความผิดในทางอาญาตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ส่วนกรณีที่มีการนำเงินที่ได้จากการยืมเงินออมทรัพย์นักเรียนไปดำเนินการจัดซื้อหรือจัดจ้างโดยไม่ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นั้น ตามข้อ 6 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่า นายณัฐพัชร์หรือสมยศฯ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้กระทำไปเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยมีเจตนาทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจากการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว แต่มีมูลความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เสมอภาคและเที่ยงธรรม มีความวิริยะ อุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร ดูแลเอาใจใส่รักษาประโยชน์ของทางราชการ และต้องปฏิบัติตนตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพอย่าง และฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการและหน่วยงานการศึกษา มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาล โดยถือประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 84 วรรคหนึ่ง และมาตรา 85 วรรคหนึ่ง
- ข้อกล่าวหาที่ 3 นำเงินจากบัญชีอุดหนุนรายหัวของโรงเรียนไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว
จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า นายณัฐพัชร์ หรือสมยศ วงศ์พัฒนาธนเดช หรือโคตรหล่อน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายกริช อุทาภักดี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และนางคะนึงนิจ อุทาภักดี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
- ข้อกล่าวหาที่ 4 รายงานจำนวนนักเรียนเท็จเพื่อให้ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มขึ้น
จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า นายณัฐพัชร์หรือสมยศ วงศ์พัฒนาธนเดช หรือ โคตรหล่อน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
- ข้อกล่าวหาที่ 5 เรียกเก็บเงินค่าปรับเรื่องการทำผิดระเบียบวินัยและค่าใช้จ่ายในการแก้ไขผลการศึกษาโดยมิชอบ
จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า นายณัฐพัชร์หรือสมยศ วงศ์พัฒนาธนเดช หรือโคตรหล่อน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการทางวินัยกับ นายณัฐพัชร์หรือสมยศ วงศ์พัฒนาธนเดชหรือโคตรหล่อน ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (2) และมาตรา 98 ต่อไป
เรื่องที่ 3 เรื่องกล่าวหา กรณีกล่าวหา นายรัชพล ณะไธสง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกุง อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม กับพวกรวม 2 คน กรณีไม่ส่งใช้เงินยืมทดรองราชการตามสัญญายืมเลขที่ 10/2557 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2557 ภายในกำหนดระยะเวลา
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ครั้งที่ 120/2566 เมื่อวันที่ 15/11/2566)
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 5 เสียง เห็นว่า แม้ นายรณกร บุญศรีทุม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 จะเป็นผู้จัดทำเอกสารขออนุมัติงบประมาณ และเป็นผู้ทำสัญญายืมเงิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น กับองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกุง อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม : กระบวนการ มีส่วนร่วมของชุมชนกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กสู่โรงเรียนต้นแบบ ก็ตาม แต่ในโครงการดังกล่าวมีนายรัชพล ณะไธสง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกุง เป็นผู้เสนอขอโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณในหมวดเงินเดือนพนักงานส่วนตำบล จำนวน 100,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการดังกล่าว ต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกุง และเป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกุง กับมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และยังเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ลำดับที่ 2 นายรัชพล ณะไธสง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จึงเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น โดยเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และในโครงการวิจัยยังมีนางสาวปุริมปรัชญ์ เที่ยงโยธา ซึ่งมีฐานะเป็นหลานของนายรัชพล ณะไธสง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ร่วมเป็นคณะทำงานอีกด้วย จึงเห็นว่า นายรัชพล ณะไธสง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จึงเป็นผู้ใช้เงินตามสัญญายืมที่แท้จริงย่อมรู้หรือควรรู้ว่าเมื่อครบระยะเวลาตามสัญญายืม จะต้องดำเนินการส่งใช้คืนเงินยืมต่อกองคลัง องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกุง แต่นายรัชพล ณะไธสง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกุง กลับมิได้ดำเนินการให้มีการส่งคืนเงินยืมภายในระยะเวลาที่กำหนด
การกระทำของนายรัชพล ณะไธสง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จึงมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิด ฐานกระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 92
การกระทำของนายรณกร บุญศรีทุม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 จากการไต่สวนเบื้องต้นข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ยังไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่า ได้กระทำความผิดทางอาญาตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่มีมูลเป็นความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ คณะรัฐมนตรี และนโยบายของรัฐบาลตามประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล จังหวัดมหาสารคาม เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2544 ข้อ 6 วรรคหนึ่ง
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับ นายรัชพล ณะไธสง ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยกับนายรณกร บุญศรีทุม และส่งสำนวนการไต่สวนและเอกสารหลักฐานพร้อมความเห็นไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจกับ นายรัชพล ณะไธสง ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98
ทั้งนี้ ให้แจ้งผู้บังคับบัญชา ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทราบด้วย
เรื่องที่ 4 เรื่องกล่าวหา นายพิชัย บุญดาราช ตำแหน่ง ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแสน กับพวกรวม 5 คน ทุจริตโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก จากหมู่บ้านหนองแสน หมู่ที่ 9 ไปหมู่บ้านกุดนาดี งบประมาณ 1,425,000 บาท เริ่มสัญญาก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย. 2552 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 26 ก.ค. 2552 ที่มีร้านธนากรวัสดุ เป็นผู้รับจ้าง โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการ ประกวดราคาที่เอื้อประโยชน์ให้ร้านดังกล่าว เป็นผู้ได้งาน จนถึงการตรวจรับงาน และเบิกจ่ายเงินให้กับผู้รับจ้าง ทั้ง ๆ ที่ งานไม่ถูกต้องตามแบบที่กำหนด และเปิดใช้งานยังไม่ถึง 3 เดือน ก็เกิดการชำรุดเสียหาย
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ครั้งที่ 61/2567 เมื่อวันที่ 12/06/2567)
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 7 เสียง ดังนี้
การกระทำของนายพิชัย บุญดาราช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายพินกร ไปบน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และนางสาวภคพร บริตตัน หรือมงคล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 จากการไต่สวนเบื้องต้น ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ยังไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่า ได้กระทำความผิดทางอาญาตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
แต่มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานจงใจ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นการเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง ตามประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดมหาสารคาม เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2544 ข้อ 6 วรรคสอง
การกระทำของนายจตุพล บุตรมาตร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ ที่มีควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยจงใจ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นการเสียหายแก่ทางราชการ อย่างร้ายแรง ตามประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดมหาสารคาม เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2544 ข้อ 3 วรรคสาม และข้อ 6 วรรคสอง
การกระทำของนางสาวปัทมาพร ปติวัน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ในฐานะตัวแทนร้าน ธนากรวัสดุ ผู้รับจ้างโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก สายบ้านหนองแสน หมู่ที่ 9 ถึงบ้านกุดนาดี หมู่ที่ 5 ตำบลหนองแสน อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ได้จัดทำหนังสือส่งมอบงานโดยระบุว่าโครงการเสร็จสิ้นถูกต้องครบถ้วนตามแบบรูปรายการและรายละเอียดตามสัญญาจ้าง ทั้งที่งานก่อสร้างยังไม่ครบถ้วนถูกต้องตามสัญญาจ้าง และนายจตุพล บุตรมาตร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ในฐานะ ผู้ควบคุมงาน ได้รับรองผลการควบคุมงานก่อสร้าง ว่าผู้รับจ้างได้ดำเนินการแล้วเสร็จครบถ้วนตามสัญญา เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแสน เบิกจ่ายเงินให้กับผู้รับจ้าง ทั้งที่งานก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ การกระทำของนางสาวปัทมาพร ปติวัน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 จึงมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือล่ะเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 แต่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ได้ขาดอายุความแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) จึงให้ยุติการดำเนินคดี
สำหรับนายบุญถม โทรัตน์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และนายสุวิชัย สาวิกัน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 จากการไต่สวนเบื้องตัน ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่า ได้กระทำความผิด ตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
เรื่องที่ 5 เรื่องกล่าวหา กรณีกล่าวหานายมงคล อันปัญญา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกิ้ง อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ปลอมแปลงเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ไม่เป็นไปตามมติที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเกิ้ง ในการประชุมสมัยสามัญ สมัยที่ 4 เมื่อวันที่ 1 – 15 และ 21 – 26 สิงหาคม 2557
จากการไต่สวนข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ขององค์การบริหารส่วนตำบลเกิ้ง มีรายการละเอียดโครงการไม่ตรงตามรายการที่ผ่านการพิจารณาของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเกิ้ง จำนวน 7 หมู่บ้าน จำนวน 12 โครงการ กล่าวคือเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ดำเนินโครงการ หรือขนาดปริมาณงานที่จะดำเนินการก่อสร้าง เช่น หมู่ที่ 3 บ้านท่าประทาย ในการประชุมพิจารณารางข้อบัญญัติ มีการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดความกว้างของถนน จากเดิม ถนน คสล. กว้าง 3 เมตร ขอเปลี่ยนแปลงเป็นกว้าง 4 เมตร แต่ในการจัดพิมพ์ข้อบัญญัติ กลับไม่มีการแก้ไขรายละเอียดดังกล่าว จึงทำให้ ถนน คสล. หมู่ที่ 3 ช่วงบ้านช่วงบ้านนางหนูหลอด ทองสุขา ถึง บ้านในนิยม ยังคง มีรายละเอียดถนนกว้าง 3 เมตร ดังเดิม หรือ ในหมู่ที่ 5 ในการประชุม มีการเสนอให้ ตัด รายการที่ 2 ออก คือ (รายการค่าก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก หมู่ที่ 5 ตั้งไว้ จำนวน 100,000 บาท เพื่อจ่ายเป็นค่าก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 3.5 เมตร ยาว 55.00 เมตร หนา 0.15 เมตร หรือพื้นที่ คสล. ไม่น้อยกว่า 192.50 ตารางเมตร ตามแบบที่องค์การบริการส่วนตำบลเกิ้งกำหนด สถานที่ดำเนินการช่วงบริเวณโรงเรียนเกิ้งวิทยานุกูล ถึงบ้านนายสุทัศน์) โดยให้นำงบประมาณไปเพิ่ม ในรายการที่ 1 จากเดิมที่ตั้งไว้ 100,000 บาท เป็น 200,000 บาท (รายการค่าก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก หมู่ที่ 5 สถานที่ดำเนินการช่วงบริเวณบ้านนายสมชาย วงศ์จันทร์ถึงบ้านนายบุญมาก)
แต่ในข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 หน้า 6/11 ยังปรากฏรายการค่าก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก หมู่ที่ 5 ตั้งไว้ จำนวน 100,000 บาท เพื่อจ่ายเป็นค่าก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 3.5 เมตร ยาว 55.00 เมตร หนา 0.15 เมตร หรือพื้นที่ คสล. ไม่น้อยกว่า 192.50 ตารางเมตรตามแบบที่องค์การบริหารส่วนตำบลเกิ้งกำหนด สถานที่ดำเนินการช่วงบริเวณโรงเรียน เกิ้งวิทยานุกูล ถึงบ้านนายสุทัศน์ (โดยไม่มีการแก้ไข)
ทั้งนี้ ในโครงการจำนวน 12 โครงการที่มีปัญหาเกี่ยวกับรายละเอียดและสถานที่ดำเนินโครงการนั้น ปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2558 ได้มีการจัดทำโครงการเพียง 1 โครงการ คือ โครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลเกิ้ง (ส่วนการศึกษา) ซึ่งสร้างขึ้นในบริเวณดอนปู่ตาบ้านดินดำ ตรงข้ามหอพักของ นายจรินทร์ ชิณวงศ์ ตรงตามมติที่ประชุมสภาองค์การบริหาร ส่วนตำบลเกิ้ง ส่วนอีก 11 โครงการมิได้มีจัดทำเนื่องจากมีงบประมาณไม่เพียงพอและเพื่อมิให้เกิดความเสียหาย จึงไม่มีการจัดทำโครงการ แต่ได้นำกลับเข้ามาพิจารณาและตราเป็นข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 และปี พ.ศ. 2560
โดยสาเหตุที่ทำให้รายละเอียดในข้อบัญญัติมีความผิดพลาดคลายเคลื่อนจากมติที่ประชุมสภาฯนั้น ปรากฎว่านางศมน วิชาโท หัวหน้าสำนักปลัด ได้ยอมรับว่า ตนเองเป็นผู้มีหน้าที่ในการจัดทำเอกสารข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2558 ซึ่งมีขั้นตอนในการจัดทำหลายขั้นตอน ทั้งการจัดพิมพ์ในโปรแกรมเวิร์ด และจัดทำในระบบ e-LAAS โดยต้องมีการพิมพ์ใหม่ทั้งหมด จึงเกิดความผิดพลาดในการแก้ไขข้อความไม่ครบถ้วนตรงตามมติที่ประชุมของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเกิ้ง โดยข้อความที่ไม่ถูกต้องตรงกัน เช่น สถานที่ดำเนินการ ขนาดถนนและปริมาณงานที่จะก่อสร้าง หรือมีการตกหล่นของข้อความ แต่ไม่มีผลกระทบกับจำนวนเงินงบประมาณแต่อย่างใด ดังนั้น ข้อมูลร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2558 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลเกิ้งนำเสนอต่อนายอำเภอเมืองมหาสารคามและได้รับความเห็นชอบจากนายอำเภอเมืองมหาสารคามและนายมงคล อันปัญญา นายกองค์การบริการส่วนตำบลเกิ้ง ได้ประกาศใช้เป็นข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 นั้น จึงมีความคลายเคลื่อนรายละเอียด จำนวน 12 โครงการ
ดังนั้น จึงยังฟังไม่ได้ว่านายมงคล อันปัญญา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกิ้ง มีส่วนเกี่ยวข้องในความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในการจัดพิมพ์หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขข้อความเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลเกิ้ง หรือมีเจตนาจะแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นในความบกพร่องผิดพลาดดังกล่าว และยังฟังไม่ได้ว่าเป็นความผิดทางปกครองฐานกระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. (45/2567 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567)
ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนน 5 เสียง ว่าจากการไต่สวนไม่ปรากฎข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่านายมงคล อันปัญญา ผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป
เรื่องที่ 6 เรื่องกล่าวหา นายอุดม กึกก้อง ตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังไชย ประกาศราคากลาง ในการจัดจ้างโดยวิธีตกลงราคา จำนวน 3 โครงการ คือ
1. จ้างก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กจากร้านค้าชุมชนไปถึงหน้าวัดบ้านโนนสำราญหมู่ที่ 7 2. จ้างก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กจาก นา นายสวัสดิ์ สันโดษ ถึงสามแยกบ้าน นายทูลทอง ศรีปนบ้านโคกก่อง หมู่ที่ 4
3. จ้างก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กจากบ้านหนองกุงสว่าง หมู่ที่ 8 ไปองค์การบริหารส่วนตำบลหนองสิม ในเว็ปไซต์กรมบัญชีกลาง เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 และได้ทำสัญญาจ้างพร้อมกับส่งมอบงานจ้างในวันเดียวกัน คือ ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2560
มูลค่าความเสียหาย 858,000 บาท
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ครั้งที่ 77/2567 เมื่อวันที่ 31/07/2567)
ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนน 5 เสียง ว่าจากการไต่สวนไม่ปรากฎข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่านายอุดม กึกก้อง ผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
เรื่องที่ 7 เรื่องกล่าวหา นายประวัติ กองเมืองปัก ตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกุดรังทุจริตจ้างก่อสร้างโครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มูลค่าความเสียหาย 30,000,000 บาท
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ครั้งที่ 58/2567 เมื่อวันที่ 05/06/2567)
ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ เป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง ดังนี้
- ข้อกล่าวหาที่ 1 กรณีกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) โดยกำหนดแหล่งผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เครื่องสูบน้ำ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคาบางราย
จากการไต่สวนเบื้อต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะรับฟังได้ว่า นายประวัติ กองเมืองปัก ผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวตกไป
-ข้อกล่าวหาที่ 2 กรณีละเว้นไม่ดำเนินการเรียกเก็บค่าปรับผู้รับจ้าง ซึ่งส่งมอบงานล่าช้ากว่าที่กำหนดในสัญญาจ้าง เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับจ้าง
จากการไต่สวนเบื้อต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะรับฟังได้ว่า นายประวัติ กองเมืองปัก ผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวตกไป
อย่างไรก็ดี เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงจากการไต่สวนว่า นางสาวรภีพร นามโคตร นายอำนาจ โพธิ์อุดม และ นายสมถวัลย์ นิโรจน์ ในฐานะคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ได้ดำเนินการตรวจรับโดยไม่เรียกค่าปรับผู้รับจ้าง ทั้งที่ผู้รับจ้างได้ส่งมอบงานล่าช้ากว่าที่กำหนดในสัญญาจ้าง นายอภิชาต สีหา ผู้อำนวยการกองช่าง และนายอภิชาต คันทะพรม ในฐานะช่างผู้ควบคุมงาน มิได้ตรวจสอบวันเวลาในการควบคุมงานให้ถูกต้องและรายงานบันทึกประจำวันให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุทราบก่อนการพิจารณาตรวจรับงาน และนางวิจิตรตา ดาวเรือง ผู้อำนวยการกองคลัง และในฐานะหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ ไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการส่งมอบงานของผู้รับจ้างล่าช้ากว่าที่กำหนดในสัญญาจ้างและรายงานให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุทราบ การกระทำดังกล่าวเป็นการไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายของทางราชการ จึงมีมติให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอน ดำเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอำนาจของบุคคลดังกล่าว ตามมาตรา 64
อย่างไรก็ดี การชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังไม่สิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหายังมีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้