"...ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินจากบริษัท ดิอาจิโอฯ เพื่อไปวิ่งเต้นคดีช่วยเหลือบริษัท ดิอาจิโอฯ กรณีถูกดำเนินคดีฐานสำแดงราคานำเข้าสุราอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ให้มีการระงับคดีโดยเสียค่าปรับในอัตราต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด..."
นายประพล มิลินทจินดา อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพันธ์เลิศ ใบหยก อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พ้นข้อกล่าวหากรณีรับทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในการหลีกเลี่ยงภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากร เป็นทางการ
หลังที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ ว่า นายประพล มิลินทจินดา นายพันธ์เลิศ ใบหยก และพวก 2 ราย คือ นายชัยยันต์ โปษยานนท์ นายวัฒนา ยูถะสุนทร ไม่ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2567 เสียงเอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา กรณีกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา กรณีรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในการหลีกเลี่ยงภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากร
คดีนี้ปรากฏชื่อผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 4 ราย คือ
1. นายประพล มิลินทจินดา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
2. นายพันธ์เลิศ ใบหยก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
3. นายชัยยันต์ โปษยานนท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพสามิต
4. นายวัฒนา ยูถะสุนทร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร และผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรมศุลกากร
ประพล มิลินทจินดา-พันธ์เลิศ ใบหยก
พฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุประบุว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา กรณีรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในการหลีกเลี่ยงภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากร ใน 3 ข้อกล่าวหา ดังนี้
ข้อกล่าวหาที่ 1 เพื่อช่วยเหลือบริษัท ดิอาจิโอฯ กรณีถูกดำเนินคดีฐานสำแดงราคานำเข้าสุราอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ให้มีการระงับคดีโดยเสียค่าปรับในอัตราต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด
ข้อกล่าวหาที่ 2 เพื่อให้มีการแก้ไขสูตรการคำนวณภาษีสรรพสามิตสุรา เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ดิอาจิโอฯ
ข้อกล่าวหาที่ 3 เพื่อไม่ให้มีการออกกฎหมายเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตสุรา เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ดิอาจิโอฯ
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ระบุว่า ในทางไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 ราย มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเปรียบเทียบปรับงดการฟ้องร้องคดีของกรมศุลกากร การแก้ไขสูตรการคำนวณภาษีสุรา และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในชั้นพิจารณาของรัฐสภา แต่อย่างใด และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินจากบริษัท ดิอาจิโอฯ เพื่อไปวิ่งเต้นคดีช่วยเหลือบริษัท ดิอาจิโอฯ กรณีถูกดำเนินคดีฐานสำแดงราคานำเข้าสุราอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ให้มีการระงับคดีโดยเสียค่าปรับในอัตราต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ทางการไต่สวนปรากฎข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า กรณีการเปรียบเทียบปรับงดการฟ้องร้องในคดีของบริษัท ดิอาจิโอฯ เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่า การเปรียบเทียบปรับงดการฟ้องร้องคดีในกรณีดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ชอบในขั้นตอนใด ทั้งในการพิจารณาค่าปรับก็เป็นไปตามระเบียบกฎหมายโดยไม่ได้พิจารณาลดค่าปรับนอกเหนือจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามที่มีการกล่าวหา
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 5 เสียง ว่า จากการไต่สวน พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่า นายประพล มิลินทจินดา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายพันธ์เลิศ ใบหยก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และนายวัฒนา ยูถะสุนทร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำหรับนายชัยยันต์ โปษยานนท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้ถึงแก่ความตายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 39 (1) และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจดำเนินการไต่สวนเพื่อดำเนินคดีอาญาหรือดำเนินการทางวินัยต่อไปได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 57 จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า กรณีการหลีกเลี่ยงภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากร ของ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด นั้น ก่อนหน้านี้ ในช่วงต้นปี 2560 เคยปรากฏเป็นข่าวใหญ่ว่า “ดิอาจิโอ พีแอลซี” บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของโลก อย่างสก็อตช์วิสกี้ “จอห์นนี่ วอล์คเกอร์” และ “วินเซอร์” ตกลงจ่ายเงิน 492 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าข้อตกลงระงับคดี หลังถูกตั้งข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดีย เกาหลีใต้ และไทย มานาน 6 ปี
โดยมีการระบุข้อมูลในส่วนของประเทศไทยว่า ดิอาจิโอฯ จ่ายเงินประมาณ 600,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 18,000,000 บาท) ให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยระดับสูงคนหนึ่ง ในช่วงปี 2547-2551 เพื่อให้ช่วยวิ่งเต้นในการสู้คดีด้านภาษีและศุลกากรหลายคดี แต่ไม่มีการเปิดเผยชื่อเจ้าหน้าที่ผู้รับสินบนเหล่านี้ ว่าเป็นใครบ้าง
ขณะที่ มีข้อมูลปรากฏว่า คดีนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในยุคที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เคยทำหนังสือแจ้งไปยังกรมศุลกากรในช่วงปลายเดือนธ.ค. 2553 กรณีบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) หรือชื่อเดิมว่า ริชมอนเด้ (บางกอก) บริษัทลูกของดิอาจิโอ พีแอลซี ในประเทศไทย ผู้ต้องหาในคดีพิเศษที่ 72/2550 ได้มีหนังสือขอทำความตกลงระงับคดีเลี่ยงภาษี ในจำนวนเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท
หลังจากที่ในช่วงปี 2546 กองปราบปรามได้เข้าตรวจค้นและอายัดเหล้านอกยี่ห้อแบล็ค เลเบิล และเรด เลเบิล ขนาด 1 ลิตรของบริษัทริชมอนเด้ ประมาณ 45,000 ลัง การสอบสวนขณะนั้นพบว่า อาจมีการทำความผิดในช่วงปี 2545-2548 และเดือนต.ค. 2550 คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) จึงมีมติให้ดีเอสไอรับทำเป็นคดีพิเศษ และตั้งข้อกล่าวหาบริษัทริชมอนเด้ หรือชื่อใหม่ว่า ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) แสดงรายการเท็จเพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้าสุราจากต่างประเทศ.
ต่อมาในช่วงเดือนมิ.ย. 2554 กรมศุลกากรมีหนังสือแจ้งกลับมาว่า คณะกรรมการพิจารณาเปรียบเทียบปรับ กรมศุลกากร มีมติให้บริษัทดิอาจิโอฯ ต้องจ่ายค่าปรับให้กรมศุลกากร 2 เท่าของภาษีที่จ่ายไม่ครบ คาดว่าจะเป็นวงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโทษสูงสุด ซึ่งดีเอสไอต้องทำหนังสือไปแจ้งให้ดิอาจิโอฯ เข้ามาเสียค่าปรับ เพื่อขอระงับคดี ถือว่าเป็นสิทธิตามกฎหมาย
โดย กรมศุลกากร ได้ส่งเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงคดีภาษี บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด มาให้สำนักข่าวอิศรารับทราบ มีรายละเอียดดังนี้
กรมศุลกากร ได้เข้าตรวจสอบ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท ริชมอนเด้ จำกัด) ในช่วงปี 2547 พบเอกสารที่แสดงว่า บริษัทฯ ได้กระทำความผิด
1. กรณีไม่ได้นำค่าธรรมเนียมการได้สิทธิจัดจำหน่ายแต่ผู้เดียวของสุรา ให้แก่บริษัทผู้ขายในต่างประเทศมารวมเป็นราคาสินค้าตามใบสินค้าจำนวน 464 ฉบับ เป็นเหตุให้อากรขาเข้าขาด 205,849,438 บาท ภาษีสุราขาด 727,721,701 บาท ภาษีเพื่อมหาดไทยขาด 72,772,025 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มขาด 103,019,586 บาท เงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพขาด 14,554,434.02 บาท
2. กรณีร่วมกันนำสินค้าอื่นเข้ามาตามใบขนสินค้าจำนวน 5 ฉบับ แต่สำแดงว่าราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เป็นเหตุให้ราคาขาด 655,965.65 บาท อากรขาเข้าขาด 133,461 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มขาด 55,254 บาท
3. กรณีร่วมกันนำสินค้าอื่นเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านศุลกากรให้ถูกต้อง เมื่อประเมินราคาแล้วมีราคารวม 1,629,862.09 บาท อากรขาเข้า 798,453 บาท ภาษมูลค่าเพิ่ม 169,970 บาท
โดยตั้งข้อกล่าวหาในความผิดสำแดงรายการอันเป็นเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงอากรตามมาตรา 27 ประกอบมาตรา 99 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469
ต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีมติรับคดีรายบริษัทนี้เป็นคดีพิเศษ และให้กรมศุลกากรส่งเรื่องให้ดีเอสไอดำเนินการ ซึ่งต่อมาในปี 2553 ดีเอสไอแจ้งว่า บริษัทประสงค์จะขอทำความตกลงระงับคดี โดยขอให้ปรับ 1 เท่าของอากรที่ขาด และชำระค่าภาษีอากรส่วนที่ขาดให้ครบ จำนวนเงินประมาณ 1.5 พันล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ระงับคดีปกติ ซึ่งไม่สามารถกระทำได้
ต่อมา บริษัท จึงได้แจ้งความประสงค์ที่จะระงับคดีตามเกณฑ์การระงับคดีของกรมศุลกากร ดังนี้
1. กรณีไม่ได้นำค่าธรรมเนียมการได้สิทธิจัดจำหน่ายแต่ผู้เดียวของสุรา ให้แก่บริษัทผู้ขายในต่างประเทศมารวมเป็นราคาสินค้าตามใบขนสินค้าจำนวน 464 ฉบับ เป็นเหตุให้ค่าภาษีอากรขาด เป็นความผิดฐานสำแดงเท็จหลีกเลี่ยงอากร ตามมาตรา 99,27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร 2496 ระงับคดีโดยปรับสองเท่าของอากรขาเข้าที่ขาดเป็นเงิน 411,698,876 บาท และให้ชำระค่าภาษีอากรให้ครบถ้วน พร้อมเบี้ยปรับ 1 เท่าของภาษีมูลค่าเพิ่ม
2. กรณีไม่ได้นำค่าขนส่งมารวมเป็นราคาสินค้าและสำแดงราคาสินค้าต่ำกว่าความเป็นจริงตามใบขนส่งสินค้า 5 ฉบับ เป็นเหตุให้ค่าภาษีอากรขาด เป็นความผิดฐานสำแดงเท็จหลีกเลี่ยงอากร ตามมาตรา 99,27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร 2469 ระงับคดีโดยปรับสองเท่าของอากรขาเข้าที่ขาดเป็นเงิน 266,922 บาท และให้ชำระค่าภาษีอากรที่ขาด พร้อมเบี้ยปรับ 1 เท่าของภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขาด
3. กรณีร่วมกันนำสินค้าอื่นเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านศุลกากรและชำระค่าอากรให้ถูกต้อง เป็นความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร 2469 ระงับคดีโดยปรับ 2 เท่าของราคารวมอากรขาเข้า เท่ากับ 5,026,601 บาท และยกของกลางให้เป็นของแผ่นดิน หากไม่มีของกลางให้ชดใช้เงินตามมูลค่าของกลางรวมค่าภาษีมูลค่าอากรทุกประเภท จำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 2,598,285.09 บาท
บริษัทฯ ได้ชำระค่าปรับเป็นเงินรวม 416,992,399 บาท ค่าชดใช้มูลค่าของกลางรวมภาษีอากรและค่าภาษีอากรแทนการยกของกลางให้เป็นของแผ่นดิน 2,598,285.09 บาท และค่าภาษีอากรที่ขาดพร้อมดอกเบี้ยปรับเป็นเงินรวม 1,344,644,251.04 บาท (ตาม พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 2544 มาตรา 15 กำหนดให้ผู้ที่มีหน้าที่ส่งเงินบำรุงกองทุนไม่ส่งเงินบำรุงกองทุนให้เสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ไม่ส่ง แต่มิให้เกินจำนวนเงินบำรุงกองทุน และประมวลรัษฎากร มาตรา 89/1 กำหนดให้บุคคลใดไม่ชำระภาษีให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ แต่มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระ)
รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,764,234,935.13 บาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คดีเป็นอันระงับ
จากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป
จนกระทั่ง สำนักงาน ป.ป.ช. เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหา นายประพล มิลินทจินดา นายพันธ์เลิศ ใบหยก และพวก กรณีรับทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในการหลีกเลี่ยงภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากร ดังกล่าว
ยุติการสอบสวนที่ใช้เวลาดำเนินการมายาวนานตั้งแต่ปี 2555 หรือประมาณ 12 ปี
อ่านเรื่องประกอบ
- เปิดสำนวนคดีสินบน บ.เหล้าข้ามชาติ ระบุชัดรองเลขาธิการนายกฯ-คน ทรท. เอี่ยว?
- ชื่อ"พันธ์เลิศ-ประพล"บิ๊ก ขรก.โชว์หรา!ป.ป.ช.สอบคดีสินบนเลี่ยงภาษีนำเข้าสุรา
- พลิกงบการเงิน'ดิอาจิโอ'พบตัวเลขปริศนา"ค่าเผื่อหนี้สิน"1,750ล.ช่วงดคีสินบนข้ามชาติ
- เจาะงบดุล 'ดิอาจิโอ' ระบุชัดจ่ายค่าปรับกรมศุลฯแค่1.7 พันล. ไม่ถึง 3 พันล้าน
- กรมศุลฯ แจงอิศรา ภาษีบ.ดิอาจิโอฯจ่ายค่าปรับ1.7พันล.แล้ว'คดีเป็นอันระงับ'