"...พยานทั้งยี่สิบหกคนกลัวจะได้รับความเดือดร้อนตามที่จำเลยข่มขู่ จึงได้มอบเงินให้จำเลยในจำนวนแตกต่างกันและต่างวาระกัน ตามจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของวงเงินงบประมาณที่พยานแต่ละคนรับผิดชอบ โดยจำเลยไม่มีสิทธิเรียกรับเงินดังกล่าวและใช้วิธีการโดยมีชอบด้วยกฎหมาย ฟังประกอบคำรับสารภาพของจำเลย จึงฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตแสวงหา ประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ..."
กรณี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ภรรยานายสมศักดิ์ เทพสุทิน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี) กับ พวก ทุจริตในการก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสานและการเพาะชำ /ปลูกหญ้าแฝก ตามโครงการ อนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อลดผลกระทบภาวะวิกฤติโลกร้อน ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 157 ประกอบมาตรา 90 และ 91 และ ตาม พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 103 และมาตรา 122 พ.ร.ป. ป.ป.ช.พ.ศ.2561 มาตรา 192
โดยปรากฏชื่อ นายจักริน ยศมา เป็นจำเลยเพียงรายเดียวในคดีนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ส.ค.2566 ว่า นายจักริน ยศมา จำเลยมีความผิดมาตรา 148(เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามมาตรา 91 รวม 26 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 130 ปี
จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 78 เมื่อลดโทษให้รายกระทงความผิดแล้ว คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวม 26 กระทง เป็นจำคุก 52 ปี 156 เดือน แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดแล้วคงลงโทษจำคุก 50 ปี ตามมาตรา 91 (3)
พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบรายงานสืบเสาะและพินิจแล้ว ไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย
อย่างไรก็ดี คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลย มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
ส่วนนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน ปรากฏข่าวในช่วงเดือนพ.ค. 2564 ว่าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 6 ต่อ 3 ให้ยกคำร้องข้อกล่าวหาในคดีนี้ ว่ากำกับดูแลการดำเนินโครงการไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่มีคุณภาพ มีการแบ่งปันสัดส่วนงบประมาณให้แต่ละฝ่ายไม่เท่ากัน รวมถึงมีการหักหัวคิว เนื่องจากพยานหลักฐานน้อย ไม่สามารถเอาผิดได้
- คุก 130 ปี ติดจริง50 จนท.ป่าไม้คดีทุจริตฝายแม้ว-หลัง'อนงค์วรรณ' เมียสมศักดิ์ พ้นข้อกล่าวหา
- เปิดตัว 'จักริน ยศมา' จำเลย (คนเดียว) คดีเรียกหัวคิวฝายแม้ว โดนคุก 130 ปี ติดจริง 50
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สรุปและเรียบเรียงคำพิพากษาคดีนี้ มานำเสนอเป็นทางการต่อสาธารณชน ณ ที่นี้
คดีนี้ อัยการสูงสุด โดยพนักงานอัยการ และสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 5 โจทก์
นายจักริน ยศมา จำเลย
เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
@ สรุปคำฟ้องโจทก์ : จำเลยใช้อำนาจโดยมิชอบ
โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 8 สังกัดกรม อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ตาก) ตามคำสั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ 284/2551 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 มีอำนาจหน้าที่ควบคุม กำกับ ดูแลในส่วนอุทยานแห่งชาติ ปฏิบัติงานด้านป้องกันปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับ การป่าไม้ การบริการนักท่องเที่ยว งานด้านวิชาการ และงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาและปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายอย่างเคร่งครัด
โดยเมื่อระหว่างเดือนพฤษภาคม 2551 เวลากลางวัน ถึงเดือนตุลาคม 2551 เวลากลางวัน วันใด ไม่ปรากฏชัดต่อเนื่องกัน จำเลยซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดังกล่าวได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จำเลยได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการก่อสร้างฝายและเพาะชำ/ปลูกหญ้าแฝก ตามโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อลดผลกระทบภาวะวิกฤตโลกร้อน โดยการข่มขู่ให้เจ้าหน้าที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับโครงการข้างต้น (พยานทั้ง 25 ปาก) คืนหรือมอบเงินให้เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของวงเงินงบประมาณที่เจ้าหน้าที่แต่ละคนได้รับจัดสรรในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการดังกล่าว โดยการโทรศัพท์แจ้งและหรือบอกกับเจ้าหน้าที่ให้นำเงินจำนวน ครึ่งหนึ่งของงบประมาณที่ได้รับไปมอบให้ โดยอ้างว่าผู้ใหญ่ระดับสูงขอความร่วมมือมา ข่มขู่ว่าหากไม่ยินยอมจะต้องถูกโยกย้าย ทำให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวเกิดความกลัวและเกรงว่าหากไม่ให้ความร่วมมือจะถูกกลั่นแกล้ง หรือถูกโยกย้าย ทำให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน
@ ป.ป.ช.มีมติจำเลยทำผิดตามฟ้อง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 125-50/2552 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2552 พิจารณาเรื่องกล่าวหานางอนงค์วรรณ เทพสุทิน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับพวก ทุจริตเงินงบประมาณโครงการอนุรักษ์ ทรัพยากรดินและป่าไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อลดผลกระทบภาวะวิกฤติโลกร้อน แล้วเห็นว่า กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า นางอนงค์วรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม ประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ในการดำเนินการ ตามโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อลดผลกระทบภาวะวิกฤติโลกร้อน
ตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 จึงมีมติรับพิจารณา ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้แต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ตามคำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ 410/2552 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2552 โดยได้แจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนพร้อมส่งสำเนาคำสั่งให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยไม่คัดค้าน และได้แจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว
ชั้นไต่สวนจำเลยได้ชี้แจงข้อกล่าวหาแล้ว ให้การปฏิเสธ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของจำเลยมีมูลความผิดทางอาญาตามข้อกล่าวหา และได้ส่งรายงาน เอกสารและความเห็นมายังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาโดยอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ดำเนินคดีอาญากับจำเลยตามฟ้อง พร้อมมอบหมายให้พนักงานอัยการ สำนักงาน อัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบรามการทุจริต 1 ภาค 6 เป็นผู้รับผิดชอบฟ้องและดำเนินคดีแทนอัยการสูงสุด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 148, 157
จำเลยให้การรับสารภาพ
@ ศาลพิเคราะห์และรับฟังข้อเท็จจริง
พิเคราะห์คำฟ้อง รายงานและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. คำให้การจำเลยและพยานโจทก์แล้ว
ข้อเท็จจริงฟังได้เบื้องต้นว่า เมื่อ พ.ศ. 2551 หลังจากคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินประจำปีงบประมาณ 2551 เพื่อไปดำเนินโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ เพื่อลดผลกระทบภาวะวิกฤติโลกร้อน งบประมาณ 770 ล้านบาทแล้ว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ส่งแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินประจำปีงบประมาณ 2551 ให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 และที่ 13-16 ดำเนินการก่อสร้างฝายแบบผสมผสาน จำนวน 119,600 แห่ง แห่งละ 5,000 บาท เป็นเงิน 598 ล้านบาท และกรณีเพาะชำ/ปลูกหญ้าแฝก จำนวน 100 ล้านกล้า กล้าละ 1.65 บาท เป็นเงิน 165 ล้านบาท โดยกำหนดระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน 2551 มีรายละเอียด ดังนี้
สำนักบริหาร พื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) สร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน 24,500 แห่ง และเพาะชำหญ้าแฝก 15,000,000 กล้า งบประมาณ 148,750,000 บาท
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) สร้าง ฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน 38,000 แห่ง และเพาะชำหญ้าแฝก 30,000,000 กล้า งบประมาณ 241,500,000 บาท
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ตาก) สร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน 15,300 แห่ง และเพาะชำหญ้าแฝก 15,000,000 กล้า งบประมาณ 102,750,000 บาท
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) สร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน 16,300 แห่ง และเพาะชำหญ้าแฝก 30,000,000 กล้า งบประมาณ 132,000,000 บาท
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) สร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน 25,500 แห่ง และเพาะชำหญ้าแฝก 10,000,000 กล้า งบประมาณ 145,000,000 บาท
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ทส 0908.1/7062 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 ส่งแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2551 โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อลดผลกระทบภาวะวิกฤติโลกร้อน ให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ตาก) เพื่อดำเนินการจัดทำ แผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินให้หน่วยงานสนามในพื้นที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์เป็นผู้ดำเนินการ
ทั้งนี้ จะสามารถก่อหนี้ผูกพันได้เมื่อได้รับการอนุมัติงบประมาณแล้ว สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างให้ถือปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด และให้รายงานผลการปฏิบัติงานและการใช้ จ่ายเงินให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทราบ โดยกำหนดให้ก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบ ผสมผสาน จำนวน 15,300 แห่ง และเพาะชำหญ้าแฝก จำนวน 15,000,000 กล้า งบประมาณ 102,750,000 บาท สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ตาก) ได้มีคำสั่งที่ 151/2551 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 แต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมในการก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสานและพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกหญ้าแฝก
ต่อมาได้มีคำสั่งสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ตาก) ที่ 162/2551 ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2551 ให้ข้าราชการจำนวน 48 ราย ปฏิบัติงานโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อลดผลกระทบภาวะวิกฤติโลกร้อน ประจำปีงบประมาณ 2551 จำเลยดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 8 สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ตาก) ตามคำสั่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ 284/2551 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 มีอำนาจหน้าที่ควบคุม กำกับ ดูแลในส่วนอุทยานแห่งชาติ ปฏิบัติงานด้านป้องกันปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ การบริการนักท่องเที่ยว งานด้านวิชาการ และงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา และปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และหนังสือสั่งการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เป็นประธานคณะกรรมการสำรวจสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมในการก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสานและพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกหญ้าแฝก ตามคำสั่งสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 ที่ 151/2551 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2551
และเป็นคณะกรรมการอำนวยการโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ใน พื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อลดผลกระทบภาวะวิกฤติโลกร้อน ประจำปีงบประมาณ 2551 ตามคำสั่งสำนัก บริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 ที่ 179/2551 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2551 มีอำนาจหน้าที่ กำกับ ดูแล การบริหารจัดการให้คำแนะนำเสนอแนะ และร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แก่คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานในโครงการดังกล่าว การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยจึงมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
@ ปัญหาต้องวินิจว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่
คดีมีปัญหาต้องวินิจว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ พยานทางไต่สวนประกอบคำรับสารภาพของจำเลย มีนายพิชัย จันทรทรัพย์ ขณะเกิดเหตุ ดำรงตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ 7 ว ส่วนจัดการต้นน้ำ เบิกความเป็นพยานยืนยันสอดคล้องกับถ้อยคำที่ให้ไว้ต่อคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ใน สาระสำคัญว่า พยานได้รับมอบหมายตามคำสั่งสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 ที่ 162/2551 ลง วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เรื่อง ให้ข้าราชการปฏิบัติงานโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่า ไม้ในพื้นที่อนุรักษ์เพื่อลดผลกระทบภาวะโลกร้อน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2551 ให้ดำเนินโครงการ ก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน จำนวน 500 แห่ง งบประมาณ 2,500,000 บาท และโครงการเพาะชำ/ปลูกหญ้าแฝก จำนวน 300,000 กล้า งบประมาณ 495,000 บาท รวมงบประมาณที่ได้รับ จัดสรร 2,995,000 บาท ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติลานสาง
ก่อนที่จะทำโครงการ จำเลยได้เรียกประชุมโดยแจ้งให้ผู้ทำโครงการมอบให้หรือหามาให้ซึ่งเงินจำนวนครึ่งหนึ่งของวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรเพื่อให้ดำเนินการตามโครงการสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน โดยจำเลยอ้างว่า นาย ศ. (ชื่อย่อ) หรือผู้ใหญ่ระดับสูงขอความร่วมมือมา หรือข่มขู่ว่าหากไม่ยินยอมจะต้องถูก โยกย้ายออกนอกพื้นที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 ทำให้พยานเกิดความกลัวและเกรงว่าหากไม่ให้ความร่วมมือจะถูกกลั่นแกล้ง หรือถูกโยกย้าย ทำให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน จนเมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2551 ถึงเดือนตุลาคม 2551 ต่อเนื่องกัน พยานได้นำเงินไปมอบให้กับจำเลยจำนวน 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,497,500 บาท ส่วนจำเลยจะนำเงินดังกล่าวไปมอบให้กับผู้ใหญ่ระดับสูง หรือไม่ พยานไม่ทราบ แต่ได้สอบถามคนอื่นก็นำเงินไปมอบให้จำเลยเช่นกัน
@ พยาน 25 ปากให้การเป็นไปในทางเดียวกัน
เห็นว่า พยานรู้จักกับจำเลย ไม่มีเหตุที่จะปรักปรำจำเลยให้ได้รับโทษ พยานนำเงินไปมอบให้จำเลยรวม 4 ครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับถ้อยคำของพยานจำนวน 25 ปาก
- นายพีระ ช่วยบำรุง ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารป่าไม้ 7 ส่วนฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์
- นายพิชญ์ เกียรติไพบูลย์ ตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ 7 ว ส่วนฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์
- นายสุนทร สุทธนะ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 5 ส่วนฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์
- นายชโลธร บุญยงค์ ตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ส่วนฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์
- นายจิรวัฒน์ เย็นกาย ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 7 ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่เมย
- นายฐิติพงศ์ ศรีเที่ยงตรง ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 7 ส่วนอุทยานแห่งชาติ
- นายเสกสรร ชัยบัง ตำแหน่งเจ้าพนักงาน ป่าไม้ 5 ส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานที่ อพ.3 (ห้วยยะอุ)
- นายสัมฤทธิ์ ม่วงไหมทอง ตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ส่วนฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์
- นายนรินทร์ สุนันต๊ะ ตำแหน่ง เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร
- นายสุชาติ รัตนเจียมรังสี ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ บริหารงานป่าไม้ 6 ส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร
- นายเลิศ เอื้อทวีพล ตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ 7 ว หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์อุ้มผาง ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า
- นายสมพงษ์ จันทวายศ ตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ 3 ส่วนจัดการต้นน้ำ
- นายนิติกรณ์ ไชยสิทธิ์ ตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ 6 ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า
- นายบัลลังก์ บินลอย ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 6 ส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร
- นายวิชัย ท้าวใจวงศ์ ตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ 6 ส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร
- นายนิยม สะอาดจิตต์ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 6 ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า
- นายกฤษฎา เล็กมณี ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ บริหารงานป่าไม้ 7 ส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า
- นายนิรันดร์ มุกดาลอย ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ บริหารงานป่าไม้ 7 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติลานสาง ส่วนอุทยานแห่งชาติ
- นายศักดา แก้วมรกต ตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร
- นายสงัด โรจนติรนันท์ ตำแหน่ง เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า
- นายจงพิพัฒน์ อุทรักษ์ ตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ 3 ส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร
- นายสมพร งาเนียม ตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร
- นายสมบัติ กลายเจริญ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 6 ส่วนจัดการต้นน้ำ
- นายพงษกฤต รัตนภาค ตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ส่วนจัดการต้นน้ำ
- นายสุทิน วุฒิบุตร ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ บริหารงานป่าไม้ 5 ส่วนจัดการต้นน้ำ
พยานทั้งยี่สิบห้าปากได้รับมอบหมายตามคำสั่งสำนักบริหารพื้นที่ อนุรักษ์ที่ 14 ที่ 162/2551 ให้ปฏิบัติโครงการดังกล่าวข้างต้น พยานทุกปากให้ถ้อยคำสอดคล้องกันว่า ได้นำเงินเป็นจำนวนเงินตั้งแต่ระหว่าง 100,000 บาท ถึง 1,800,000 บาท ไปมอบให้จำเลย ในจำนวนที่ต่างวาระกัน ตามที่พยานแต่ละคนรับผิดชอบ คิดเป็นจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของวงเงินงบประมาณตามที่หน่วยงานได้รับจัดสรรเพื่อดำเนินการตามโครงการสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน รวมเป็นเงินที่จำเลยรับไปทั้งสิ้น 20,761,500 บาท โดยจำเลยอ้างว่าจะนำไปมอบให้กับผู้ใหญ่ระดับสูงขอความร่วมมือมา หรือข่มขู่ว่าหากไม่ยินยอมจะต้องถูกโยกย้ายออกนอกพื้นที่ ทำให้พยานเกิดความเกรงกลัวว่าหากไม่ให้ความร่วมมือจะถูกกลั่นแกล้งหรือถูกโยกย้าย ทำให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อนตามที่จำเลยอ้าง พยานให้การเป็นไปในทางเดียวกัน เชื่อว่าให้ข้อเท็จจริงไปตามความเป็นจริง
แฟ้มภาพข่าวจาก https://www.naewna.com/
@ จำเลยมีความผิดฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ
ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า พยานทั้งยี่สิบหกคนกลัวจะได้รับความเดือดร้อนตามที่จำเลยข่มขู่ จึงได้มอบเงินให้จำเลยในจำนวนแตกต่างกันและต่างวาระกัน ตามจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของวงเงินงบประมาณที่พยานแต่ละคนรับผิดชอบ โดยจำเลยไม่มีสิทธิเรียกรับเงินดังกล่าวและใช้วิธีการโดยมีชอบด้วยกฎหมาย ฟังประกอบคำรับสารภาพของจำเลย จึงฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตแสวงหา ประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น และฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และมาตรา 157 โดยมีเจตนากระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน รวม 26 กรรม
อนึ่ง ภายหลังจำเลยกระทำความผิด มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย อาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 148 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำ ความผิดไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่ จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 และเมื่อจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 148 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
@ พิพากษาคุก 130 ปี แต่จำเลยรับสารภาพลดเหลือ 50 ปี
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 (เดิม) การกระทำ ของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 26 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 130 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 78 เมื่อลดโทษให้รายกระทงความผิดแล้ว คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวม 26 กระทง เป็นจำคุก 52 ปี 156 เดือน แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดแล้วคงลงโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบรายงานสืบเสาะ และพินิจแล้ว ไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย
*********
ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า เกี่ยวกับคดีทุจริตก่อสร้างฝายแม้ว ที่ผ่านมา ทางกระทรวงฯ มีคำสั่งลงโทษทางวินัยข้าราชการที่เกี่ยวข้องไปแล้วหลายราย ส่วนผู้ถูกกล่าวหาจะมีแค่ นายจักริน ยศมา รายเดียว หรือมีคดีอื่นๆ อีกหรือไม่ ต้องดูรายละเอียดอีกครั้ง
"ส่วนเงินจำนวน 20 ล้านบาท ที่นายจักริน ยศมา อ้างว่าจะนำไปมอบให้กับผู้ใหญ่ระดับสูง ว่าปัจจุบันเงินจำนวนนี้ไปอยู่ที่ไหน ยังไม่ทราบรายละเอียดเหมือนกัน" แหล่งข่าวระบุ