"...ข่มขู่ให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวคืนหรือมอบเงินให้เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของวงเงินงบประมาณที่เจ้าหน้าที่แต่ละคนได้รับจัดสรร ในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการดังกล่าว ทั้งการโทรศัพท์แจ้งและหรือบอกกับเจ้าหน้าที่ให้นำเงินจำนวนครึ่งหนึ่งของงบประมาณที่ได้รับไปมอบให้อ้างว่าผู้ใหญ่ระดับสูงขอความร่วมมือมา ข่มขู่ว่าหากไม่ยินยอมจะต้องถูกโยกย้าย ทำให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวเกิดความกลัวและเกรงว่าหากไม่ให้ความร่วมมือจะถูกกลั่นแกล้ง หรือถูกโยกย้าย ทำให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน..."
นายจักริน ยศมา จำเลย มีความผิดมาตรา 148 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามมาตรา 91 รวม 26 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 130 ปี
จำเลย ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 78
เมื่อลดโทษให้รายกระทงความผิดแล้ว คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวม 26 กระทง เป็นจำคุก 52 ปี 156 เดือน แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดแล้วคงลงโทษจำคุก 50 ปี ตามมาตรา 91 (3)
พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบรายงานสืบเสาะและพินิจแล้ว ไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย
คือ บทสรุปคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2566 ที่ ตัดสินในคดีกล่าวหา นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ภรรยานายสมศักดิ์ เทพสุทิน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี) กับ พวก ทุจริตในการก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสานและการเพาะชำ /ปลูกหญ้าแฝก ตามโครงการ อนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อลดผลกระทบภาวะวิกฤติโลกร้อน ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 , 157 ประกอบมาตรา 90 และ 91 และตาม พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 103 และมาตรา 122 พ.ร.ป. ป.ป.ช.พ.ศ.2561 มาตรา 192 ซึ่งปรากฏชื่อ นายจักริน ยศมา เป็นจำเลยเพียงรายเดียวในคดีนี้
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
ข้อมูลที่ยังไม่ถูกเปิดเผยเป็นทางการ คือ นายจักริน ยศมา เป็นใครมาจากไหน?
สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลพบว่า ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ นายจักริน ยศมา มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 8 สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ตาก) ตามคำสั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ 284/2551 ลงวันที่ 20 ก.พ.2551
นายจักริน มีอำนาจควบคุมกำกับดูแลในส่วนอุทยานแห่งชาติ ปฏิบัติงานด้านป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ การบริการนักท้องเที่ยว งานด้านวิชาการ และงานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา และปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และหนังสือสั่งการต่างๆ
นายจักริน ยศมา ยังเป็นประธานคณะกรรมการสำรวจสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมในการก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสานและพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกหญ้าแฝก ตามคำสั่งสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 ที่ 151/2551 ลงวันที่ 12 พ.ค.2551
นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการอำนวยการโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อลดผลกระทบภาวะวิกฤติโลกร้อน ประจำปีงบประมาณ 2551 ตามคำสั่งสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 ที่ 179/2551 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2551 มีอำนาจหน้าที่ กำกับดูแลการบริหารจัดการให้คำแนะนำเสนอแนะ และร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แก่คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานในโครงการดังกล่าว
นายจักริน จึงมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมและในการปฏิบัติหน้าที่มีสถานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
สำหรับพฤติการณ์การกระทำความผิดในคดีนี้ ของ นายจักริน ถูกระบุว่า ได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการก่อสร้างฝายและเพาะชำ/ปลูกหญ้าแฝก ตามโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อลดผลกระทบภาวะวิกฤตโลกร้อน
โดยการข่มขู่ให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวคืนหรือมอบเงินให้เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของวงเงินงบประมาณที่เจ้าหน้าที่แต่ละคนได้รับจัดสรร ในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการดังกล่าว ทั้งการโทรศัพท์แจ้งและหรือบอกกับเจ้าหน้าที่ให้นำเงินจำนวนครึ่งหนึ่งของงบประมาณที่ได้รับไปมอบให้อ้างว่าผู้ใหญ่ระดับสูงขอความร่วมมือมา ข่มขู่ว่าหากไม่ยินยอมจะต้องถูกโยกย้าย ทำให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวเกิดความกลัวและเกรงว่าหากไม่ให้ความร่วมมือจะถูกกลั่นแกล้ง หรือถูกโยกย้าย ทำให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน
รวมจำนวนเงินที่นายจักริน ได้รับไปทั้งสิ้น 20,761,500 บาท
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวในชั้นไต่สวนคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายจักริน ได้เข้ามาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พร้อมให้การปฏิเสธ
แต่ในการต่อสู้คดีชั้นศาล นายจักริน ให้การรับสารภาพ
ส่วนนายจักริน จะนำเงินดังกล่าว ไปมอบให้กับผู้ใหญ่ระดับสูงหรือไม่ สำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ในคำพิพากษาคดีนี้ ไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องนี้ไว้
เกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา เคยนำเสนอไปแล้วว่าเป็นเรื่องร้องเรียน กรณีการโครงการอนุรักษ์ ทรัพยากรดินและป่าไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อลดผลกระทบ ภาวะวิกฤติโลกร้อน วงเงินงบประมาณปี 2551 จำนวน 770 บ้านบาท กรณีการก่อสร้างฝายต้นน้ำ แบบผสมผสานและการเพาะชำ/ปลูกหญ้าแฝก โดยมิชอบ ซึ่งมีการหักเงินโครงการดังกล่าวเข้ามาที่ส่วนกลาง เกิดขึ้นในสมัยนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน (ภรรยานายสมศักดิ์ เทพสุทิน) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)
สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปผลการตรวจสอบพบว่า ฝายแม้วที่จัดสร้างขึ้นมีคุณภาพไม่เหมาะสม ไม่คงทนแข็งแรง ไม่คุ้มค่ากับเงินงบประมาณแผ่นดิน ขณะที่การปลูกเพาะชำหญ้าแฝกตามโครงการก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน
สตง.ระบุว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้นำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับฝายต้นน้ำมาบรรจุเป็นกิจกรรมหนึ่งในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและมีสภาพวิกฤตให้ฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ด้ายการก่อสร้างฝายต้นน้ำและการปลูกหญ้าแฝกตามแผนปฏิบัติงานปกติประจำปีมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2538-2551 โดยมีการลงทุนก่อสร้างฝายแบบผสมผสานจำนวน 186,485 แห่ง ฝายกึ่งถาวรจำนวน 4,770 แห่ง และฝายถาวรจำนวน 2,220 แห่ง รวมเป็นวงเงินประมาณทั้งสิ้น 1,162.68 ล้านบาท และในปี 2551 กรมอุทยานแห่งชาติฯได้จัดทำโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2551 ใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น 770 ล้านบาท โดยดำเนินการก่อสร้างฝายแบบผสมผสานจำนวน 119,600 แห่ง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 64.13 ของจำนวนฝายแบบผสมผสานทั้งหมดที่ก่อสร้างมานานถึง 14 ปี และปลูกหญ้าแฝกจำนวน 100 ล้านกล้า ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 13 จังหวัด ในเขตความรับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (สบอ.) 5 แห่ง ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน-กันยายน 2551
แฟ้มภาพข่าวจาก https://www.naewna.com/
สตง.ยังระบุด้วยว่า การดำเนินงานสร้างฝายต้นน้ำตามโครงการไม่ได้มุ่งเน้นดำเนินการตามสภาพและความรุนแรงของปัญหาในพื้นที่เป็นสำคัญ การก่อสร้างเป็นไปอย่างเร่งด่วน มีระยะเวลาจำกัด ในขณะที่ปริมาณงานมีเป็นจำนวนมาก ทำให้ สบอ.ที่รับผิดชอบต้องใช้บุคลากรจากส่วนงานอื่นที่ไม่ได้มีภารกิจโดยตรงต่อการดำเนินกิจกรรมก่อสร้างฝาย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ในการก่อสร้างฝายมาก่อน เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบดำเนินงานก่อสร้างโดยเฉลี่ย 160-400 แห่งต่อคน และบางรายมากถึง 600-900 แห่ง
นอกจากนี้การคัดเลือกพื้นที่ก่อสร้างยังไม่มีความเหมาะสม ไม่ได้พิจารณาตามสภาพและลำดับความรุนแรงของปัญหาในพื้นที่เป็นสำคัญ ส่วนการปลูกและเพาะชำหญ้าแฝกตามโครงการก็มีแนวโน้มไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้เกิดความไม่คุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินงบประมาณ 165 ล้านบาท โดยพบว่าการคัดเลือกพื้นที่ดำเนินการปลูกหญ้าแฝกบางแปลงไม่เหมาะสม เป็นต้น
ขณะที่ในการไต่สวนของ ป.ป.ช.พบว่า ในขั้นตอนการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานงานก่อสร้างฝายแม้วในระดับพื้นที่ พบว่า งบประมาณที่ใช้ในการจัดทำฝายแม้ว ถูกกำหนดไว้แห่งละ 5,000 บาท แต่ในข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่ได้รับเงินมาดำเนินการเพียงแค่ 2,500 บาท ต่อหนึ่งแห่งเท่านั้น และมีการยืนยันข้อมูลตรงกันว่า เงินที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง หรือ 2,500 บาท ถูกหักไว้และส่งคืนกลับไปให้ส่วนกลาง โดยบุคคลที่ทำหน้าที่รับเงินเป็นเจ้าหน้าที่ระดับ 9 ส่วนเงินจะถูกส่งต่อไปถึงฝ่ายการเมืองหรือไม่ ยังไม่สามารถระบุได้ ขณะที่เม็ดเงินโครงการนี้มีจำนวนเกือบหนึ่งพันล้านบาท เนื่องจากฝายแม้วมีการก่อสร้างหลายพื้นที่กระจายไปหลายจังหวัด
จากการสอบสวนยังพบว่า มีเจ้าหน้าที่หลายรายที่ได้รับเงินจำนวน 2,500 บาทมาแล้ว แต่ไม่ได้นำไปจัดทำฝายแม้ว เพราะเห็นว่ามีวงเงินน้อยอยู่แล้ว บางรายก็ทำงานเท่ากับเงินที่ได้รับมา บางรายกลัวว่าจะมีความผิดภายหลัง หากงานออกมาไม่ดี จึงนำเงินส่วนตัวมาสมทบเพิ่มอีก 2,500 บาท ให้เพียงพอต่อการจัดทำฝายแม้วตามงบประมาณเดิมที่วางไว้ คือ 5,000 บาท
โดยการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และอุทยานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จำนวน 500 ราย พบว่า มีเจ้าหน้าที่จำนวน กว่า 400 ปาก แจ้งความประสงค์ที่จะให้การกับ ป.ป.ช. ในฐานะพยานด้วย
ส่วนนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน ปรากฏข่าวในช่วงเดือนพ.ค. 2564 ว่าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 6 ต่อ 3 ให้ยกคำร้องข้อกล่าวหาในคดีนี้ ว่ากำกับดูแลการดำเนินโครงการไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่มีคุณภาพ มีการแบ่งปันสัดส่วนงบประมาณให้แต่ละฝ่ายไม่เท่ากัน รวมถึงมีการหักหัวคิว เนื่องจากพยานหลักฐานน้อย ไม่สามารถเอาผิดได้
คดีนี้ นายจักริน ยศมา จึงปรากฏชื่อเป็นจำเลยคนเดียว ถูกลงโทษจำคุก 50 ปี โดยไม่สมควรรอการลงโทษให้