“...ทั้งหมดคือข้อมูลทางธุรกิจของ ‘พ่อเลี้ยงโต๊ะ’ บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ เทียบกับ ‘ส.ว.ก๊อง’ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร 2 ผู้สมัครชิงเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ ท่ามกลางข้อครหา ‘สงครามตัวแทน’ ระหว่างตระกูล ‘บูรณุปกรณ์’ ในฐานะ ‘คนเคยรัก’ ปะทะกับตระกูล ‘ชินวัตร’ อยู่ในขณะนี้?...”
.....................................
“ไม่ต้องถาม เพราะตอบไม่ได้อยู่แล้ว ใครจะพูดก็พูดไป กกต.จะเป็นผู้พิจารณาเอง ผิดหรือถูกไม่รู้ เรื่องนี้ไม่ได้ขู่ใคร แต่มอบหมายให้หน่วยงานเกี่ยวข้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดแล้วกัน มีคนทำงานเยอะแยะ มีเงินเดือนทุกคน”
เป็นบางห้วงบางตอนในการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตอบคำถามสื่อมวลชนกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกตัวเป็นผู้สนับสนุน และช่วยหาเสียงแก่นายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นนายพิชัย) หรือ ‘ส.ว.ก๊อง’ ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ ในโควตาของ ‘พรรคสีแดง’ (อ่านประกอบ : ไม่ได้ขู่ใคร-กกต.จะดูเอง! ‘บิ๊กตู่’ปัดตอบ‘ทักษิณ’ช่วยหาเสียงเลือกนายก อบจ.เชียงใหม่)
คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมการเลือกตั้ง อบจ. ทั่วประเทศที่มีกำหนดตัดสินชะตา 20 ธ.ค. 2563 ‘พรรคสีแดง’ ส่งผู้สมัครชิงนายก อบจ. อย่างน้อย 20 แห่ง งัดข้อเครือข่าย ‘ประชารัฐ’ โดยมีพลพรรค ‘คณะสีส้ม’ เข้าร่วมด้วย
ถึงมีดราม่าที่ใหญ่ระดับที่ ‘นายกฯ’ และ ‘อดีตนายกฯ’ ต้องออกมาพูดถึงการเลือกตั้ง อบจ.เชียงใหม่ที่เดียว?
อาจเป็นไปได้ว่าเชียงใหม่คือฐานที่มั่นสุดท้ายของ ‘พรรคสีแดง’ ที่ไม่ใช่แค่เปรียบเป็น ‘เมืองหลวง’ เท่านั้น แต่เรียกได้ว่าเป็น ‘บ้าน’ ของตระกูล ‘ชินวัตร’ หากบุคคลที่ให้การสนับสนุนพ่ายแพ้ บารมี-อิทธิพลทางการเมืองคงถูกสั่นคลอนอย่างหนักแน่นอน?
ในขณะที่ ‘ชินวัตร’ เปิดหน้าให้การสนับสนุน ‘ส.ว.ก๊อง’ อย่างเป็นทางการ กับ ‘พ่อเลี้ยงโต๊ะ’ หรือนายบุญเลิศ แห่ง ‘บูรณุปกรณ์’ ตระกูลการเมืองท้องถิ่นที่ได้รับชัยชนะมายาวนาน อดีต ‘คนคุ้นเคย’ มีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ไปช่วยเหลือเต็มที่ มีการปราศรัยหลายครั้งในลักษณะ ‘ขอรบ’ กับ ‘นายเก่า’ ?
ศึกนี้จึงไม่ใช่แค่ ‘บุญเลิศ บูรณุปกรณ์’ ปะทะกับ ‘พิชัย เลิศพงศ์อดิศร’ แต่เป็นการงัดข้อกันระหว่าง ‘อดีตคนเคยรัก’ vs ‘ชินวัตร’ หากใครชนะ การแผ่อิทธิพลในพื้นที่คงทำได้ไม่ยากอีกต่อไป
ข้อเท็จจริงข้างต้นแม้ตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ ห้ามมิให้ ส.ส. ส.ว. ข้าราชการทางการเมือง และข้าราชการทั้งหมด เป็นผู้สนับสนุน หรือผู้ช่วยหาเสียงก็ตาม แต่มิได้ห้ามให้ ‘อดีตนักการเมือง’ ที่ไม่มีพรรค และสังกัด เป็นผู้สนับสนุน ดังนั้นคงต้องรอดูท่าทีของ กกต. กันต่อไป
มาดูมุมธุรกิจ ‘บุญเลิศ บูรณุปกรณ์’ vs ‘ส.ว.ก๊อง’ กันบ้าง?
(นายพิชัย หรือชูชัย เลิศพงศ์อดิศร 'ส.ว.ก๊อง', ขอบคุณภาพจาก : https://www.chiangmai365days.com/)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยรายงานแล้วว่า นายชูชัย หรือนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร เป็นเจ้าของร้านอาหาร ‘ผาลาดตะวันรอน’ โดยได้รับประกาศนียบุตรรับรองมาตรฐานร้านอาหารในโครงการเสริมสร้างมาตรฐานอาหารถิ่นจาก พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดีข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2563 ไม่พบชื่อนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร เป็นกรรมการบริษัทใด แต่พบคนในครอบครัว ‘เลิศพงศ์อดิศร’ เป็นกรรมการบริษัท และหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) อย่างน้อย 3 แห่ง ได้แก่
1.หจก.ไฟน์ อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็กซ์ปอร์ตเตอร์ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2554 ทุนปัจจุบัน 5 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจส่งออกวัสดุก่อสร้าง ปรากฏชื่อ น.ส.กาญจนา เลิศพงศ์อดิศร และนายอิทธินันต์ ณ เชียงใหม่ เป็นหุ้นส่วน มี น.ส.กาญจนา เลิศพงศ์อดิศร เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2562 มีรายได้รวม 132,869,187 บาท รายจ่ายรวม 127,457,287 บาท เสียภาษีเงินได้ 1,297,316 บาท กำไรสุทธิ 2,243,283 บาท
2.หจก.ไฟน์ ซอร์สซิ่ง เอ็กซ์เพรส จดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2551 ทุนปัจจุบัน 1 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจส่งออกวัสดุก่อสร้าง (ไม่ประกอบกิจการ) ปรากฏชื่อ น.ส.กาญจนา เลิศพงศ์อดิศร และนายอิทธินันต์ ณ เชียงใหม่ เป็นหุ้นส่วน มี น.ส.กาญจนา เลิศพงศ์อดิศร เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2562 มีรายได้รวม 16 บาท รายจ่ายรวม 163,317 บาท เสียภาษีเงินได้ 27,623 บาท ขาดทุนสุทธิ 190,923 บาท
3.บริษัท วีระภัณฑ์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2541 ทุนปัจจุบัน 2 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจส่งออกวัสดุก่อสร้าง ปรากฏชื่อนายประทีป เล้าตระกูล นายประพันธ์ เล้าตระกูล นายวีระยุทธ เล้าตระกูล และนางยุพิน เลิศพงศ์อดิศร เป็นกรรมการ มีนายประทีป เล้าตระกูล และนายวีระยุทธ เล้าตระกูล เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2561 รายได้รวม 203,747,534 บาท รายจ่ายรวม 196,611,676 บาท เสียภาษีเงินได้ 1,437,339 บาท กำไรสุทธิ 5,698,518 บาท
นอกจากนี้เมื่อปี 2560 นายพิชัยยังจับมือร่วมกับคนสกุล ‘ติยะไพรัช’ เทคโอเวอร์สโมสร ‘พยัคฆ์ล้านนา’ เชียงใหม่ยูไนเต็ด ในนามบริษัท ช้างเผือกเชียงใหม่ ยูไนเต็ด มีนายพิชัย นั่งเป็นประธานสโมสรอีกด้วย
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท ช้างเผือกเชียงใหม่ ยูไนเต็ด จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2558 ทุนปัจจุบัน 5 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสโมสรกีฬาและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ปรากฏชื่อนายอิสระพงศ์ เจริญวรายุทธ เป็นกรรมการ เพียงรายเดียว
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2559 มีรายได้รวม 24,500 บาท รายจ่ายรวม 4,000 บาท กำไรสุทธิ 20,500 บาท (อ่านประกอบ : ก่อนเล่าหลังฉากพยานคดี‘บอส’!โพรไฟล์ ‘ชูชัย เลิศพงศ์อดิศร’อ้างรู้จัก‘เฉลิม อยู่วิทยา’?)
(นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ 'พ่อเลี้ยงโต๊ะ', ขอบคุณภาพจาก : https://resource.nationtv.tv/)
ในส่วนนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ หรือ ‘พ่อเลี้ยงโต๊ะ’ อดีตนักการเมืองท้องถิ่นชื่อดังในเชียงใหม่ตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2563 พบว่าเป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 2 แห่ง ระบุสถานะว่าร้างแล้วทั้งคู่ ได้แก่
1.บริษัท บี ซี เอ ดีเวลลอปเม้นท์ (1994) จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2537 ทุน 5 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ มีนายพิเชฐ พิศุทธกุล นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายอานุภาพ จิตนุยานนท์ และนายไชยกิจ ตันติกาญจน์ เป็นกรรมการ
2.บริษัท พี.เอ.เอส.การโยธา จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2539 ทุน 3 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจงานสถาปัตยกรรมและการให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้อง มีนายพันศักดิ์ เรืองพีระกุล นายอานุภาพ จิตนุยานนท์ นายพัฒนา สุวรรณสายะ นายสมศักดิ์ เอื้อหยิ่งศักดิ์ และนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ เป็นกรรมการ
ขณะที่สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า ขุมข่ายธุรกิจตระกูล ‘บูรณุปกรณ์’ มีอย่างน้อย 49 แห่ง (เท่าที่ตรวจสอบพบ) โดยมีการควบรวม-ดำเนินกิจการอยู่อย่างน้อย 30 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และรับเหมาก่อสร้าง มีการแจ้งเลิกกิจการ-ร้างอย่างน้อย 14 แห่ง
โดยบริษัทที่ดำเนินการควบรวมและยังดำเนินกิจการอยู่มีอย่างน้อย 30 แห่ง ได้แก่
1.บริษัท เชียงใหม่ ทัศนาภรณ์2535 จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจ การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่ เพื่อเป็นที่พักอาศัย 2.บริษัท จิตอารีย์ 2533 จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจ การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่ เพื่อเป็นที่พักอาศัย 3.บริษัท บี ซี เอ พี ดีเวลลอปเม้นท์ (1994) จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจ การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่ เพื่อเป็นที่พักอาศัย 4.หจก.พรบูรณะ แจ้งประกอบธุรกิจ การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่ เพื่อเป็นที่พักอาศัย 5.หจก.ไทพรอนันต์ แจ้งประกอบธุรกิจ การก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย
6.บริษัท คันธาราษฏร์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจ การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่ เพื่อเป็นที่พักอาศัย 7.บริษัท สันทราย เวย์ จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจ การเช่าและการดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของ ตนเองหรือเช่าจากผู้อื่นที่ไม่ใช่เพื่อเป็นที่พักอาศัย 8.บริษัท แพล็ททินัม คอมเมอร์เชี่ยล จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจ การขายจักรยานยนต์ 9.บริษัท ปกรณ์สิริน จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจ การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่ เพื่อเป็นที่พักอาศัย 10.บริษัท เลิศปรีดี จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจ การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่ เพื่อเป็นที่พักอาศัย
11.หจก.สิรินกร แจ้งประกอบธุรกิจ การบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร 12.บริษัท บี.พี.เวย์ (2000) จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจ การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่ เพื่อเป็นที่พักอาศัย 13.บริษัท วิบุญปกรณ์ จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจ กิจกรรมของตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์โดยได้รับ ค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้าง 14.หจก.รักษ์ล้านนา แจ้งประกอบธุรกิจ ร้านขายปลีกเฟอร์นิเจอร์ชนิดใช้ในครัวเรือน 15.หจก.อรปรีดี แจ้งประกอบธุรกิจ การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่ เพื่อเป็นที่พักอาศัย
16.บริษัท จิตอารีย์ 2494 จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจ การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเอง เพื่อการพักอาศัย 17.บริษัท จิตอารีย์ 2535 จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจ การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่ เพื่อเป็นที่พักอาศัย 18.หจก.ฟ้าฮ่าม โฮม แจ้งประกอบธุรกิจ การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่ เพื่อเป็นที่พักอาศัย 19.บริษัท เชียงใหม่ ซันนี่ ฟิลด์ จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจ การผลิตผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากเมล็ดธัญพืชซึ่งมิได้จัด ประเภทไว้ในที่อื่น 20.บริษัท โกลบอล เวลท์ พลัส จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจ การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเอง เพื่อการพักอาศัย
21.หจก.ปรีดิอร แจ้งประกอบธุรกิจ การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่ เพื่อเป็นที่พักอาศัย 22.บริษัท กรณ์ภารี จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจ การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่ เพื่อเป็นที่พักอาศัย 23.หจก.พี แอนด์ บี แลนด์ แจ้งประกอบธุรกิจ การเช่าและการดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของ ตนเองหรือเช่าจากผู้อื่นที่ไม่ใช่เพื่อเป็นที่พักอาศัย 24.บริษัท เพชรแอนด์เพิร์ล2017 จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจ การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่ เพื่อเป็นที่พักอาศัย 25.หจก.ไทณุศา แจ้งประกอบธุรกิจ การเช่าและการดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็น ของตนเองหรือเช่าจากผู้อื่นเพื่อเป็นที่พักอาศัย
26.บริษัท เยาวปกรณ์ จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจ การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่ เพื่อเป็นที่พักอาศัย 27.บริษัท พี. คอลเลคชั่น จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจ การเช่าและการดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของ ตนเองหรือเช่าจากผู้อื่นที่ไม่ใช่เพื่อเป็นที่พักอาศัย 28.บริษัท สิรินอร จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจ การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่ เพื่อเป็นที่พักอาศัย 29.หจก.สาทิสทัศน์ แจ้งประกอบธุรกิจ การก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย 30.หจก.ชัยอนุสรณ์ แจ้งประกอบธุรกิจ การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่ เพื่อเป็นที่พักอาศัย
รายได้ทั้ง 30 บริษัท/หจก.ข้างต้น เฉพาะงบการเงินปี 2562 รวมกันอย่างน้อย 12 ล้านบาทเศษ อย่างไรก็ดีมีหลายบริษัทที่แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อช่วงปี 2559-2560 มีรายได้รวมกันเกือบ 100 ล้านบาท
ทั้งหมดคือข้อมูลทางธุรกิจของ ‘พ่อเลี้ยงโต๊ะ’ บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ เทียบกับ ‘ส.ว.ก๊อง’ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร 2 ผู้สมัครชิงเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ ท่ามกลางข้อครหา ‘สงครามตัวแทน’ ระหว่างตระกูล ‘บูรณุปกรณ์’ ในฐานะ ‘คนเคยรัก’ ปะทะกับตระกูล ‘ชินวัตร’ อยู่ในขณะนี้?
ท้ายที่สุดใครจะเข้าวิน ต้องติดตามกัน 20 ธ.ค.นี้!
หมายเหตุ : ขอบคุณภาพประกอบจาก https://www.thaipost.net/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/