"..มาตรการของรัฐบาล+กทม. ที่ออกคำสั่งปิดสถานที่ต่าง ๆ รวมไปถึงตลาดทุกประเภท (ยกเว้นตลาดสด-แผงค้าอาหาร) แต่ยกเว้นร้านค้าสะดวกซื้อเช่น เซเว่น-อีเลฟเว่น (7-11) ลอว์สัน (Lawson) และแฟมิลี่มาร์ท (Family Mart) ท่ามกลางสถานการณ์หน่วยงานรัฐ-เอกชน ไฟเขียวให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work from home) ได้ ขณะที่พนักงานจากสถานที่ที่ถูกปิดต่างต้องกักตัวเองอยู่บ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้โควิด-19 ระบาดนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าร้านค้าสะดวกซื้อเหล่านี้ย่อมมีผลต่อการดำรงชีพประจำวันเป็นอย่างยิ่ง?..."
สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 กำลังระส่ำระส่ายอย่างหนักทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ออกมาตรการป้องกันสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (17-23 มี.ค. 2563) ออกคำสั่งปิดสถานศึกษา สถานบันเทิง รวมถึงสถานที่ชุมนุมเกิน 50 คนอย่างน้อย 14 วัน ส่วนกรุงเทพมหานคร ออกมาตรการปิดห้างสรรพสินค้า ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดทุกประเภทยกเว้นตลาดสด และแผงค้าอาหารตามความจำเป็น ตามมา (อ่านประกอบ : ครม.คลอด 6 มาตรการรับมือโควิดฯ ปิดสถานศึกษา-สถานบันเทิงทุกแห่ง 14 วัน, กทม.สั่งปิด 'ห้าง-ตลาด' 22 มี.ค. -12 เม.ย. ยกเว้นซุปเปอร์ฯ-ร้านสะดวกซื้อ-แผงของสด)
ประเด็นที่น่าสนใจคือ มาตรการของรัฐบาล+กทม. ที่ออกคำสั่งปิดสถานที่ต่าง ๆ รวมไปถึงตลาดทุกประเภท (ยกเว้นตลาดสด-แผงค้าอาหาร) แต่ยกเว้นร้านค้าสะดวกซื้อเช่น เซเว่น-อีเลฟเว่น (7-11) ลอว์สัน (Lawson) และแฟมิลี่มาร์ท (Family Mart)
ท่ามกลางสถานการณ์หน่วยงานรัฐ-เอกชน ไฟเขียวให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work from home) ได้ ขณะที่พนักงานจากสถานที่ที่ถูกปิดต่างต้องกักตัวเองอยู่บ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้โควิด-19 ระบาดนั้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าร้านค้าสะดวกซื้อเหล่านี้ย่อมมีผลต่อการดำรงชีพประจำวันเป็นอย่างยิ่ง?
เพื่อให้สาธารณชนเห็นภาพชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำผลประกอบการของธุรกิจร้านสะดวกซื้อเหล่านี้มาฉายให้ทราบกัน ดังนี้
(ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น, ภาพจาก https://news.thaipbs.or.th/)
หนึ่ง เซเว่น-อีเลฟเว่น
เจ้าของคือบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ของกลุ่มตระกูล ‘เจียรวนนท์’ โดยมีบริษัท ซี.พี.เมอร์แซนไดซิ่ง จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด 31.08% โดยบริษัท ซีพี ออล์ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 8,986,296,048 บาท
มีนายสุภกิต เจียรวนนท์ เป็นประธานกรรมการ นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ เป็นประธานกรรมการบริหาร และรองประธานกรรมการบริษัท นายธานินทร์ บูรณมานิต เป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ และกรรมการ นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายอดิเรก ศรีประทักษ์ นายอำรุง สรรพสิทธิ์วงศ์ นายณรงค์ เจียรวนนท์ นายพิทยา เจียรวิสิฐกุล นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล เป็นกรรมการ นายผดุง เตชะศรินทร์ เป็นประธานกรรมการตรวจสอบ และกรรมการอิสระ นายปรีดี บุญยัง เป็นกรรมการอิสระ และตรวจสอบ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ (อดีต ผบ.ตร. น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) นายประสพสุข บุญเดช (อดีตประธานวุฒิสภา) เป็นกรรมการอิสระ นางน้ำผึ้ง วงศ์สมิทธิ์ เป็นกรรมการอิสระ และตรวจสอบ
แจ้งงบการเงินล่าสุดสิ้นปี 2562 (31 ธ.ค. 2562) มีรายได้รวม 571,110.06 ล้านบาท กำไรสุทธิ 22,343.08 ล้านบาท
บริษัท ซี.พี.เมอร์แซนไดซิ่ง จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่สุดใน CPALL จดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2532 ทุนปัจจุบัน 9 พันล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 313 อาคารซี.พี.ทาวเวอร์ ถ.สีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. แจ้งประกอบธุรกิจส่งออกสินค้าไก่แปรรูป เป็ดแปรรูป และอาหารสำเร็จรูปไปจำหน่ายต่างประเทศ
มีนายอดิเรก ศรีประทักษ์ (กรรมการ CPALL) นายอรุณี วัชรานานันท์ นายพิสิฐ โอมพรนุวัฒน์ นายอาณัติ จุลินทร นายไพศาล จิระกิจเจริญ และนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2561 มีรายได้รวม 34,330,782,611 บาท รายจ่ายรวม 23,415,960,509 บาท เสียภาษีเงินได้ 357,344,500 บาท กำไรสุทธิ 7,085,942,072 บาท ปี 2560 กำไรสุทธิ 11,780,002,717 บาท ปี 2559 กำไรสุทธิ 6,932,745,589 บาท
อย่างไรก็ดีร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น นอกจากเป็นร้านค้าแล้ว ยังขายอาหารแช่แข็ง รับชำระค่าสินค้าและบริการ การขนส่งและกระจายสินค้า ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ล้วนเป็นบริษัทย่อยของ CPALL ทั้งสิ้น เช่น บริษัท เคาน์เตอร์ เซอร์วิส จำกัด บริษัท ซี.พี.ค้าปลีกและการตลาด จำกัด บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด บริษัท ไดนามิค แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นต้น
(ร้านลอว์สัน, ภาพจาก https://assets.brandinside.asia/)
สอง ลอว์สัน
ร้านสะดวกซื้อลอว์สัน เป็นการร่วมทุนกันระหว่างเครือสหพัฒนพิบูล กับเครือลอว์สันของประเทศญี่ปุ่น โดยจัดตั้งบริษัท สห ลอว์สัน จำกัด โดยเครือสหพัฒนพิบูล ถือหุ้น 51% และบริษัทลอว์สันญี่ปุ่นถือหุ้น 49%
สำหรับเครือสหพัฒนพิบูล เป็นของคนตระกูล ‘โชควัฒนา’ ภายใต้บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) มีบริษัทย่อยในเครือสหพัฒนฯถือหุ้นใหญ่ เช่น บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ 24.98% บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 10.19% โดยบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ไอ.ซี.ซี.ฯ) มีบริษัท โชควัฒนา จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 16.8% โดยมีคนสกุล ‘โชควัฒนา’ เป็นกรรมการ
มีนายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา เป็นประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ นายบุญชัย โชควัฒนา เป็นประธานกรรมการ ประธานกรรมการบริหาร นายบุญปกรณ์ โชควัฒนา เป็นรองประธานกรรมการ นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ และกรรมการ นายบุญฤทธิ์ มหามนตรี นายผาสุข รักษาวงศ์ นายเพชร พะเนียงเวทย์ น.ส.ศิริลักษณ์ ธนสารศิลป์ นางชัยลดา ตันติเวชกุล นายธรรมรัตน์ โชควัฒนา เป็นกรรมการ นายขจรศักดิ์ วันรัตน์เศรษฐ เป็นประธานกรรมการตรวจสอบ และกรรมการอิสระ นายวศิน เตยะธิติ กรรมการอิสระ และตรวจสอบ พล.ต.ต.ภาณุรัตน์ มีเพียร กรรมการอิสระ และตรวจสอบ นายวิชัย เจริญวงศ์ และนายวิชิต ตันติอนุนานนท์ เป็นกรรมการอิสระ
แจ้งงบการเงินล่าสุดสิ้นปี 2562 (31 ธ.ค. 2562) มีรายได้รวม 33,412.62 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,709.78 ล้านบาท
ส่วน บริษัท สห ลอว์สัน จำกัด ที่เป็นเจ้าของร้านสะดวกซื้อลอว์สัน จดทะเบียนเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2555 ทุนปัจจุบัน 1,367,000,000 บาท สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ 2170 ชั้น 3 อาคารกรุงเทพ ทาวเวอร์ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม. แจ้งประกอบธุรกิจค้าปลีก
มีนายบุญชัย โชควัฒนา นายเวทิต โชควัฒนา นางศิริวรรณ วงศ์อริยะกวี นายโคะอิจิ ฮิโรเซะ นายคินูฮิโกะ โยะชิฮาระ นายคิโยฟูสะ ฟูจิอิ และนายโยะชิโนริ มาโตโนะ เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2561 มีรายได้รวม 2,903,943,864 บาท รายจ่ายรวม 2,297,452,762 บาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ 684,381,668 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 1,404,385 บาท ขาดทุนสุทธิ 79,986,281 บาท ในปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 230,107,660 บาท ปี 2559 ขาดทุนสุทธิ 108,802,895 บาท
(ร้านแฟมิลี่มาร์ท, ภาพจากแฟ้มภาพสำนักข่าวอิศรา)
สาม แฟมิลี่มาร์ท
ก่อนหน้านี้เป็นการร่วมทุนกันระหว่างบริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด บริษัท ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำกัด (มหาชน) และกลุ่มทุนญี่ปุ่น ต่อมาเมื่อปี 2555 บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) ในเครือเซนทรัลของคนสกุล ‘จิราธิวัฒน์’ ได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด 50.29% ทำให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เซนทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด พร้อมกับนำอาหารในเครือเซนทรัลเรสเทอรองค์กรุ๊ปเข้ามาขายด้วย
บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) มีบริษัท ห้างเซ็นทรัล ดีพาทเมนท์สโตร์ จำกัดของตระกูล ‘จิราธิวัฒน์’ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 32.25%
มีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล (อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย) เป็นประธานกรรมการ นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการ นายสุทธิชัย จิราธิวัฒน์ รองประธานกรรมการ นายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ รองประธานกรรมการ นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ นายสุทธิศักดิ์ จิราธิวัฒน์ นายสุทธิลักษณ์ จิราธิวัฒน์ นางยุวดี จิราธิวัฒน์ นายปริญญ์ จิราธิวัฒน์ เป็นกรรมการ นางปรารถนา มงคลกุล ประธานกรรมการตรวจสอบ และกรรมการอิสระ นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการอิสระ และตรวจสอบ นางอรรชกา สีบุญเรือง (อดีต รมว.อุตสาหกรรม รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 1) นายสมพงษ์ ตัณฑพาทย์ กรรมการอิสระ และตรวจสอบ และนายครรชิต บุนจินดา กรรมการอิสระ
ส่วนบริษัท เซนทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2535 (เดิมชื่อบริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด) ทุนปัจจุบัน 1,175,000,000 บาท สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ 99/9 อาคารเซ็นทรัลพัฒนา แจ้งวัฒนะ ออฟฟิศทาวเวอร์ ชั้นที่ 21 ม.2 ถ.แจ้งวัฒนะ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี แจ้งประกอบธุรกิจร้านสะดวกซื้อ/มินิมาร์ท
มีนายสุทธิลักษณ์ จิราธิวัฒน์ นายปริญญ์ จิราธิวัฒน์ นายญนท์ โภคทรัพย์ นายอลิสเตอร์ ชาร์ลส เทย์เลอร์ นายฟุมิโนบุ โอดะ นายโยชิฟุมิ คิริยามะ นายสเตฟาน โคอัม นายจุนอิชิ ยามาชิตะ นายโคะสะกิ ทาโร่
แจ้งงบล่าสุดเมื่อปี 2561 มีรายได้รวม 17,884,654,805 บาท รายจ่ายรวม 13,210,331,648 บาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ 4,957,088,078 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 57,775,658 บาท เสียภาษีเงินได้ 19,674,222 บาท ขาดทุนสุทธิ 360,214,801 บาท ปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 276,347,244 บาท ปี 2559 ขาดทุนสุทธิ 633,688,622 บาท
ทั้งหมดคือภาพรวมอุตสาหกรรมร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ของไทย ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการสั่งปิดสถานที่ของภาครัฐ ส่วนผลประกอบการในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นมากหรือน้อยเพียงใด ต้องรอติดตามดูกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/