"...ในประเด็นเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญ ผมเป็นคนหนึ่งที่พูดเสมอว่าผมไม่เห็นด้วยต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ว่าการแก้รัฐธรรมนูญนั้นมันก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่าไปหักด้ามพร้าด้วยเข่า ล้มให้หมดพังให้หมด มันไม่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2562 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดงาน 5 พฤศจิกายน วันธรรมศาสตร์สามัคคี โดยมีการเชิญนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร มาบรรยายในหัวข้อ ‘ความหวังสภาผู้แทนฯภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560’ มีเนื้อหารายละเอียดดังต่อไปนี้
-----------------
นายชวน กล่าวว่า "ถ้าทบทวนดูรัฐธรรมนูญปี 2560 นั้นเป็นฉบับที่ 20 แล้ว ในสมัยที่ผมเกิดมานั้นยังใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 กันอยู่ โดยเป็นรัฐธรรมนูญปี 2489 ตั้งแต่วันที่เราใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ถึงฉบับที่ 20 ผมได้เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองตั้งแต่รัฐธรรมนูญในฉบับที่ 11 เป็นต้นมา จนถึงรัฐธรรมนูญปัจจุบันคือฉบับที่ 20"
"รัฐธรรมนูญนั้นถือว่ามีบทบาทสำคัญในการกำหนดโครงสร้างบ้านเมืองเสมอมา สภาฯถือเป็นองค์กรที่อาจมีการพัฒนาตัวเองน้อยที่สุดในอดีต"
"เราจะสังเกตเห็นได้ชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญใดก็ตามที่มาหลังจากการยึดอำนาจนั้นนั้นจะมีบทเฉพาะกาลที่เอาไว้ให้ผู้นำรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อในสมัยที่มีการเลือกตั้งตามมา แต่บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญสมัยก่อนนั้นไม่ได้มีระยะเวลายาวนาน พอเลยจากนั้นสภาพการบริหารบ้านเมืองก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้นเราจะเห็นได้ชัดเจนว่าจะมีรัฐธรรมนูญบางฉบับทีแม้จะมีจุดเริ่มต้นที่ไม่สวยนัก แต่ใช้มาได้เป็นระยะเวลานาน อาทิรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ที่ใช้มาจนถึงปี 2534 ที่มีการยึดอำนาจในเวลาต่อมา และก็มีรัฐธรรมนูญหลังจากนั้นที่ใช้มาถึงปี 2540 จนมีรัฐธรรมนูญที่มีประชาธิปไตยมากที่สุด แต่สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2560 จะมีอายุนานเท่าไหรผมก็ไม่มีทางรู้"
นายชวน กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับจะต้องมีก็คือมาตรา 3 ที่ระบุชัดเจนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยเอาไว้เสมอ แต่จะมีรัฐธรรมนูญปี 2550 เท่านั้นที่มีการเพิ่มว่าองค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญต้องยึดหลักนิติธรรมในการดำเนินการ ซึ่งสาเหตุที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ต้องมีการระบุไว้แบบนั้นก็เป็นเพราะว่า จากรัฐธรรมนูญในปี 2540 นั้นได้เกิดองค์กรอิสระต่างๆตามมามากมาย แต่ก็มีเหตุการณ์ในการละเมิดหลักนิติธรรมกันมากมายตามมาด้วยเช่นกัน ก็เลยต้องมาเขียนคำว่านิติธรรมในรัฐธรรมนูญปี 2550
นายชวน กล่าวอีกว่า "ในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 นั้น ผมได้ไปพบกับท่านสุพจน์ ไข่มุก รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นการส่วนตัว ผมก็ได้ชี้แจงว่าปัญหานั้นมันไม่เคยมาจากตัวรัฐธรรมนูญเลย แต่มาจากการละเมิดหลักนิติธรรมโดยตัวบุคคล อาทิ ปัญหาในเรื่องภาคใต้ ที่มีเหตุการณ์การอุ้มฆ่า ปัญหาเรื่องคืนวันที่ 8 เม.ย. 2549 ที่รัฐบาลในเวลานั้นก็อ้างว่าจะแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ให้เสร็จภายใน 3 เดือน เพราะรัฐบาลนั้นรู้รายละเอียดหมดแล้ว แต่ในตอนนั้นก็มีแค่คนเดียวที่กล้าค้านการแถลงในวันที่ 8 เม.ย.ดังกล่าวก็คือรองแม่ทัพภาค 4 แต่ก็ถูกทางด้านของผู้บัญชาการทหารบกออกมาตำหนิ และต่อมาปัญหาภาคใต้ก็ตามมาเป็นปัญหาเรื่องตากใบ และปัญหาเรื่องกรือเซะ ซึ่งที่ไปที่มาของปัญหาเหล่านั้นมาจากอะไร มาจากเรื่องการออกนโยบายต่างๆของทางฝ่ายรัฐบาลที่ไม่เคารพหลักนิติธรรม จนส่งผลมาจนถึงปัจจุบันว่ามีคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ หกพันกว่าคน"
"ปัญหาทั้งการรัฐประหารปี 2549 ปี 2557 นั้นผมบอกกับคุณสุพจน์มาเสมอว่าก็มันมาจากการที่ผู้ที่อยู่ในอำนาจนั้นไม่ยึดหลักนิติธรรม และการไม่ยึดหลักกฎหมาย การไม่เคร่งครัดกฎหมายอย่างเท่าเทียมนั้น สิ่งที่ตามมาก็จะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นวันที่ผมมารับตำแหน่งเป็นประธานรัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ผมก็เลยตั้งใจว่าจะยึดหลักในการเคารพกฎหมาย เราต้องอยู่ในกติกา เป็นแบบอย่าง แต่อย่างไรก็ตามมันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะคุมเพื่อให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ง่ายนักในรัฐสภา"
"ที่ผ่านมาผมบอกนายกรัฐมนตรีอยู่เสมอว่าท่านต้องมาตอบกระทู้ กรรมาธิการเรียกก็ขอความร่วมมือให้ไป และผมก็ขอทางกรรมาธิการด้วยว่าอย่าไปทำเหมือนคนเรียกว่าเขาเป็นคนผิดหรือเป็นนักโทษ ถ้าหากเราทำให้รัฐสภานั้นแสดงตัวอย่างของวินัย การเคารพกฎหมายบ้านเมืองได้ ก็จะเป็นแบบอย่างให้กับการเคารพหลักนิติธรรมในสภาที่รองลงมา อาทิ สภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ได้"
"จริงๆประเทศไทยนั้นมีสิ่งที่ดีอยู่และไม่ด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอยู่หลายอย่าง อาทิ ถนน เราก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศอื่นๆแต่อย่างใด แต่ก็ปรากฏว่าประเทศไทยกลับมีสถิติอุบัติเหตุสูงกว่าประเทศอื่นๆเขา ซึ่งสาเหตุนั้นเป็นเพราะอะไร ก็มาจากการคนที่ไม่มีวินัยบนท้องถนน ทำให้คนอื่นที่เขาไม่มีความผิดอะไรต้องมาตายตามไปด้วย อันที่จริงในช่วง 5 ปี ผมได้เคยพูดกับทั้งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานสมาชิกวุฒิสภา ให้ส่งเสริมเรื่องความมีวินัยกันตั้งแต่ยังเป็นเยาวชน แต่ก็ปรากฏว่าไม่เห็นว่าจะมีการดำเนินการในเรื่องนี้กันแต่อย่างใด"
"ที่ผ่านมานั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยนายมีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาคอร์รัปชันในรัฐธรรมนูญนั้นบอกจะแก้ให้ได้ แต่จริงๆมันไม่ใช่ แม้รัฐธรรมนูญกำหนดโครงสร้างและเงื่อนไข แต่หากผู้ปฏิบัติละเมิดและไม่ปฏิบัติ ผลที่อยากให้เกิดขึ้นมันก็จะไม่เกิด"
"รัฐธรรมนูญของไทยรับมาจากต่างประเทศมาก แต่เจ้าของเมื่อมาเห็นก็บอกว่าปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว เช่น ทูตเยอรมันมาพบและบอกว่าเคยมีประสบการณ์ในประเด็นเรื่องรัฐบาลผสมมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นมากมาย มีเสียงไม่กี่เสียงก็ได้เป็นส.ส. แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว ส่วนของเราที่มีพรรครัฐบาล 15-16 พรรค และฝ่ายค้าน 7 พรรค ไม่ได้เป็นปรากฎการณ์ที่ได้เห็นมากนัก แต่ผมก็เชื่อว่าแม้รัฐบาลจะมีหลายพรรคจนอาจทำให้เกิดข้อติดขัดบางอย่าง แต่ถ้าหากเราเคารพหลักนิติธรรมแล้ว การทำหน้าที่ก็จะผ่านไปได้ไม่มีปัญหาอะไร"
"สำหรับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงเล็กน้อย ซึ่งโดยปกติแล้วเขาไม่ให้ตำแหน่งประธานสภาฯ เพราะประธานจะอยู่ที่พรรคใหญ่ที่สุด แต่เที่ยวนี้สำหรับผมเขายกเว้นให้ และไม่คิดโควต้า ถ้าคิดโควต้า แล้วไปแย่งเพื่อนสมาชิกในพรรค ส่วนตัวก็คงจะไม่เป็นประธานสภาฯ เพราะเป็นการเอาเปรียบเพื่อน และในที่สุดคนที่จะเป็นประธานจริงๆเขายอมรับว่าถ้าเป็นผมเขายอมรับ ฉะนั้นเลยตัดสินใจบอกว่าให้ทำงานร่วมกัน ทำให้สภาให้เป็นมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ"
นายชวน ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า "สุดท้ายนี้ในประเด็นเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญ ผมเป็นคนหนึ่งที่พูดเสมอว่าผมไม่เห็นด้วยต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ว่าการแก้รัฐธรรมนูญนั้นมันก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่าไปหักด้ามพร้าด้วยเข่า ล้มให้หมดพังให้หมด มันไม่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง"
"เราต้องมาคุยกันว่าประชาธิปไตยในความปรารถนาของเราคืออะไร เราควรจะมีสภากี่สภา มีวุฒิสภาไหม วุฒิสภาควรมีบทบาทอะไร ควรมาจากระบบแต่งตั้งหรือเลือกตั้งอย่างไร เพราะหน้าที่แต่ละคนไม่เหมือนกัน"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/