"... สรุปก็คือ ผมต้องดูแลสนามบิน 29 สนามบินที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของทางราชการที่เก็บค่าบริการน้อย เพื่อให้การเดินทางการขนส่งทางด้านอากาศครอบคลุมไปทุกพื้นที่ ส่วนวิทยุการบินนั้นก็เป็นหน่วยงานที่กำหนดเที่ยวบินให้ขึ้นลงได้สะดวกในแต่ละแห่ง..."
กระทรวงคมนาคม เป็นหนึ่งในกระทรวงเกรดเอ ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศในเรื่องระบการขนส่งบริการคมนาคม มาทุกยุคทุกสมัย ได้รับงบประมาณในการบริหารงานวงเงินนับแสนล้านบาทต่อปี โดยในช่วงปี 2562 ได้รับงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2562 จำนวน 183,732.5 ล้านบาท และยังมีรัฐวิสาหกิจที่ทำรายได้ อาทิ บริษัทการท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นต้น
หลังสิ้นสุดยุคสมัยการบริหารราชการแผ่นดิน ของ รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านการเลือกตั้งครั้งใหม่เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา
ปัจจุบันกระทรวงคมนาคม มีผู้บริหารฝ่ายการเมือง 3 ราย คือ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากพรรคภูมิใจไทย นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จากพรรคพลังประชารัฐ และ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จากพรรคประชาธิปัตย์
ในการแบ่งงานกำกับดูแลของ 3 รัฐมนตรี ที่มาจาก 3 พรรคการเมืองใหญ่ ปรากฎว่า นายศักดิ์สยาม รมว.คมนาคม ดูแลหน่วยงานทั้งหมด 13 แห่ง เน้นทางบกและทางรางเป็นหลัก ได้แก่ กรมทางหลวง (ทล.), กรมทางหลวงชนบท (ทช.), องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.), กรมการขนส่งทางบก (ขบ.), การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.), กรมการขนส่งทางราง นอกจากนี้ได้ดูแลหน่วยงานทางอากาศอีก 2 แห่ง ได้แก่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.
นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ดูแลหน่วยงานทางน้ำรวม 2 หน่วยงาน ได้แก่ กรมเจ้าท่า (จท.) และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)
นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ดูแลหน่วยงานทางอากาศเป็นหลักรวม 7 แห่ง ได้แก่ กรมท่าอากาศยาน (ทย.), บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย(บวท.), บริษัท ไทย-อะมาดิอุส เซาท์อีสต์ เอเซีย จำกัด, สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.), บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ และบริษัท โรงแรม ท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ จำกัด
ท่ามกลางคาดหมายของใครหลายคนว่า งานของกระทรวงคมนาคม ภายใต้การบริหารงานทั้ง 3 พรรคการเมืองใหญ่ ที่มารวมตัวอยู่ในกระทรวงแห่งเดียวกัน จะออกมาเป็นอย่างไร
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงบทบาท ภารกิจ และเป้าหมายในการเข้ามาบริหารงานตำแหน่งนี้ ในปัจจุบัน
@สิ่งแรกที่ตั้งใจว่าจะทำหลังจากเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว
- เรื่องที่ผมได้รับผิดชอบนั้นคือเรื่องการคมนาคมทางอากาศ ซึ่งหน่วยงานที่ผมเข้าไปรับผิดชอบ คือ กรมท่าอากาศยาน สถาบันการบินพลเรือน บริษัทการบินไทย บริษัทไทยสไมล์ วิทยุการบิน และบริษัท ไทย-อะมาดิอุส เซาท์อีสต์ เอเซีย จำกัด ที่ต้องรับผิดชอบการขายตั๋วสายการบินทั่วโลก
หน่วยงานทั้งหมด การขนส่งทางอากาศนั้นผมจะต้องมีส่วนดูแลทั้งหมด ยกเว้นในส่วนที่ผมเข้าไปดูแลไม่ได้ ก็คือ ในส่วนของการท่าอากาศยาน ที่มีความเป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องดูแลสนามบินใหญ่ๆ อาทิ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินภูเก็ต สนามบินเชียงราย และสนามบินขอนแก่น
สรุปก็คือ ผมต้องดูแลสนามบิน 29 สนามบินที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของทางราชการที่เก็บค่าบริการน้อย เพื่อให้การเดินทางการขนส่งทางด้านอากาศครอบคลุมไปทุกพื้นที่ ส่วนวิทยุการบินนั้นก็เป็นหน่วยงานที่กำหนดเที่ยวบินให้ขึ้นลงได้สะดวกในแต่ละแห่ง
อีกภาระสำคัญ คือ ต้องไปดูแลการบินไทยที่เป็นบริษัทใหญ่มาก กลุ่มภาครัฐ ต้องเข้าไปถือหุ้นการบินไทยในปัจจุบัน 70 เปอร์เซ็นต์ โดยแบ่งออกเป็นกระทรวงการคลังประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ กองทุนวายุภักษ์ถือหุ้นประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ธนาคารออมสินถือหุ้นอีก 2-3 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณ ส่วนที่เหลือนั้น ประชาชนถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ แต่ปรากฏว่าการบินไทยนั้นขาดทุนมา 20 ปีกว่าต่อเนื่อง และบริษัทลูกอย่างบริษัทไทย สไมล์ ขาดทุนสะสมอยู่ 8 พันล้าน เช่นเดียวกับสนามบินนกแอร์ก็มีปัญหาขาดทุนเช่นกัน
@ เรื่องการบินไทย ที่ขาดทุนมาตลอดจะเข้าไปดูแลจัดการอย่างไร
- ผมต้องชี้แจงในกระบวนการบริหารของทางการบินไทยก่อน ที่ผมพูดไปแล้วว่า ผู้ถือหุ้นของการบินไทยนั้นมี 100 เปอร์เซ็นต์ เขาก็มีการส่งคณะกรรมการของตัวแทนผู้ถือหุ้นเข้ามา ทางด้านรัฐมนตรีนั้นไม่ได้แต่งตั้งเข้าไปแม้แต่ท่านเดียว แล้วบอร์ดบริหาร (ดีดี การบินไทย)ก็จะไปออกนโยบายอีกทีหนึ่ง ซึ่งคนในกำกับบอร์ดการบินไทยต่างๆเขาก็มีประมาณสองหมื่นกว่าคนที่เป็นลูกจ้างของการบินไทย
แต่พูดกันตอนนี้ ในเรื่องของอำนาจการสั่งการ คนที่เป็นรัฐมนตรี พอมีประเด็นเรื่องรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่ว่ารัฐมนตรีจะลงไปล้วงลูก ไปแทรกแซง ไปทำอะไรก็ได้หมดเลย อันนี้มันไม่ใช่ ซึ่งผมก็ต้องขอเรียนอีกรอบว่าโปรดเข้าใจตรงนี้ด้วย
@ เรื่องปัญหาการขาดทุนของการบินไทย ตรงนี้ในฐานะรัฐมนตรีช่วยคมนาคม จะมีอำนาจอะไรไปแก้ไขปัญหาได้บ้าง
- ผมก็เชิญ ดีดี การบินไทยมาในฐานะที่เขาเป็นผู้กำกับการบินไทย แต่คงจะเชิญบอร์ดมาไม่ได้
เมื่อเชิญมาก็คงจะมีการพบปะพูดคุยอย่างไรที่จะทำให้องค์กรขาดทุนน้อยลงและมีกำไรมากขึ้น หรือผมจะนั่งดูและประเมินผล ให้คำแนะนำกำกับเรื่องต่างๆ แต่ต้องเรียนว่ากำกับนั้นไม่ได้หมายความว่าสั่งการได้นะ จะอนุมัติ อนุญาตในเรื่องๆต่างๆ ก็คงจะไม่ได้ตรงนี้
@ อำนาจของรัฐมนตรีช่วยนั้นจะลงไปถึงการตรวจสอบได้ไหมว่าการบินไทยขาดทุนเพราะอะไร
- คงจะเป็นการเรียก ดีดี การบินไทยมาหารือกันมากกว่า ว่าเมื่อสรรหาในช่วงเวลาที่รู้ว่าขาดทุน ก็จะต้องมีการพูดคุยกันว่าคุณจะมีแผนการทำธุรกิจอย่างไร จะฟื้นฟูธุรกิจ ลดค่าใช้จ่าย ปรับปรุงการบริการกันอย่างไรเพื่อให้มีลูกค้ามากขึ้น ตรงไหนที่ทำแล้ว และตรงไหนที่ยังไม่ได้ทำ ซึ่งตรงนี้เราก็สามารถแจ้งไปที่บอร์ดการบินไทยกับผู้รับผิดชอบในการบริหารให้มีการสั่งการได้ ซึ่งแม้อำนาจผมจะสั่งอะไรต่างๆเขาไม่ได้ มันอยู่ที่บอร์ด แต่เราก็คงจะต้องมานั่งพูดคุยเพื่อประเมินให้รับทราบและแจ้งให้บอร์ดกันต่อไป
@ ตอนนี้มีประเด็นเรื่องการก่อสร้างสนามบินนครปฐม ได้เข้าไปดูในส่วนที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้บ้างหรือไม่
-ตรงนี้ถือว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของผมแน่นอนที่ต้องเข้าไปดูแล ตอนนี้ผมได้สำรวจแล้วพบว่าสนามบินสุวรรณภูมิก็ล้น สนามบินดอนเมืองก็ล้น ก็มีการสำรวจความต้องการของผู้โดยสารและความต้องการของของเครื่องบินโดยสารขนาดเล็กที่ลักษณะเหมือนเครื่องบินส่วนตัว นอกจากนี้ยังมีสำรวจความต้องการของประชาชนที่จะลงเครื่องตรงนั้นและเข้ามาในกรุงเทพได้สะดวกเพราะโซนนั้นมีมอเตอร์เวย์ประกอบกันด้วย
โดยผลจากการสำรวจนั้น ทางเครื่องบินขนาดเล็กเขาก็มีความต้องการที่จะนำเครื่องมาลงไม่ต่ำกว่า 700 ลำต่อเดือน ในพื้นที่ซึ่งใกล้เคียงกับที่กรุงเทพ
นอกจากนี้การเปิดสนามบินในนครปฐม จากการสำรวจต่างๆแล้วก็พบว่ามีความเหมาะสมในการเป็นสนามบิน แต่ตรงนี้ผมต้องย้ำว่าคงต้องไปดูเอกสาร ผลสำรวจที่เกี่ยวข้องด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆให้ชัดเจนอีกทีหนึ่งด้วย
@ เรื่องการบินในภาพรวมปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วนคืออะไร
- ปัญหาคือว่ารัฐบาลที่แล้วมาจนถึงรัฐบาลนี้ เขามีนโยบายชัดเจนว่าจะสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง เศรษฐกิจของไทยนั้นไม่สามารถจะหวังได้แต่ราคาพืชผลอย่างเดียว เพราะจะอยู่ในภาวะที่ไม่เจริญเติบโตได้ แต่อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวแม้จะไม่เติบโตสูงเท่ากับราคาพืชผล แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะมีการเติบโตขึ้นไปทุกปีๆ ไปเรื่อยๆ ตอนนี้ก็มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าการท่องเที่ยวในประเทศทั้งของคนไทยนั้นอยู่ที่ 2.3 ล้านล้านบาทแล้ว
ดังนั้นแนวทางของผมก็คือจะต้องยึดว่า นำโลกสู่การท่องเที่ยวเมืองรอง ด้วยกรมท่าอากาศยาน ส่งเสริมนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองรอง ของกรมท่าอากาศยาน
เพราะตรงนี้มันกระจายอยู่ 29 สนามบิน ตั้งแต่สนามบินเบตง ตรัง กระบี่ สุราษฎ์ธานี ยะลา นราธิวาส ส่วนสนามบินเมืองรองที่ใหญ่สุดก็น่าจะเป็นสนามบินแม่ฮ่องสอน
ดังนั้นการจะทำให้คนมาเที่ยวเมืองรองเหล่านี้ได้จะทำอย่างไร ก็ต้องมีการปรับปรุงสนามบินทั้งทางกายภาพ การบริการให้มีลักษณะแบบคนไทย ก็คือบริการด้วยใจ
ที่ผ่านมา สนามบินเมืองรอง ก็มีในส่วนที่น่าภาคภูมิใจมาก เช่น สนามบินที่ตรังที่มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นปีละแสนกว่าคน ก็กำลังขยายทั้งรันเวย์ ตัวอาคาร หรือสนามบินกระบี่ ที่มีนักท่องเที่ยวปีละสี่ล้านคน อีกแปดปี ก็จะเพิ่มไปอีกแปดล้านคน เราก็ต้องขยายจุดจอดเครื่องบินให้เหมาะสม ซึ่งนี่ก็คือตัวอย่างที่ผมยกมาว่าตอนนี้มันมีอีกหลายสนามบินที่เราจัดเงินงบประมาณไปปรับปรุงพัฒนา เพื่อจะรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มมากขึ้นด้วยขึ้น
@ สรุปก็คืออยากให้เป็นแบบประเทศญี่ปุ่นที่มีสนามบินเมืองรองอย่างฟูกุโอกะ หรือนาโกย่า ที่สามารถบินตรงไปได้เลยไม่ต้องผ่านสนามบินนาริตะใช่ไหม
- ใช่ ถูกต้องเลย แบบนั้นแหละ และในสนามบินแบบบางที่ที่มีคนใช้เยอะบางฤดูกาล อย่างสนามบินในภาคใต้ที่ตรง ที่นราธิวาส ก็มีนักท่องเที่ยวที่ไปใช้บริการ บินไปทำพิธีฮัจญ์ที่ประเทศเมกกะ ตรงนี้ก็ต้องมีการปรับปรุงให้ทำศาสนพิธีให้เหมาะสม หรือในอาคารรองรับผู้โดยสาร เรามีแผนการว่าจะรองรับสินค้าโอทอปของชาวบ้าน ตอนนี้ผมว่าจะให้สายการบินที่รับผิดชอบ 3 สายการบินนั้นไปดูวิเคราะห์ว่าสินค้าโอทอปที่ผลิตโดยชาวบ้าน จะมีสินค้ากี่อย่างที่นักท่องเที่ยวนิยม เราก็ให้ผลิตให้ตรงตามความต้องการนั้นๆ
สนามบินที่มีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติมากๆ เพิ่มมากขึ้น เราก็จะเพิ่มในเรื่องการตรวจคนเข้าเมืองและระบบศุลกากร เพื่อจะผลักดันให้เป็นสนามบินนานาชาติต่อไป ซึ่งผมตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 3 ปี สนามบินนครศรีธรรมราช น่าจะเป็นสนามบินที่เป็นสนามบินนานาชาติได้ทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพ ซึ่งการมีคุณภาพ อาทิ การที่ระบบงวงช้างรองรับเครื่องบิน การมีจุดจอดเครื่องบินที่มากขึ้นถึง 15 จุด เป็นต้น
@ การประสานงานกับหน่วยงาน บุคคลต่างๆนั้นมีความยุ่งยากอย่างไรหรือไม่
- สิ่งแรก คือ การประสานงานกับคนในองค์กร จะมีส่วนราชการอยู่แค่ส่วนเดียว คือ กรมท่าอากาศยาน ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสนามบินทุกภูมิภาค แต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่หวังกำไรไม่ได้ เพราะหวังกำไรแล้วจะส่งผลทำให้คิดค่าบริการมาก ยกตัวอย่างเช่น ค่าธรรมเนียมในการใช้สนามบินของประชาชน ในกรมท่าอากาศยานนั้นจะเก็บค่าบริการ 50 บาท แต่พอมาเป็นการท่าอากาศยานนั้นเก็บ 100 บาท ค่าลงจอดเครื่องบินของกรมท่าอากาศยานเก็บแค่ 400 บาท แต่ของการท่าอากาศยานนั้นเก็บขั้นต่ำ 700 บาทขึ้นไป เป็นต้น ซึ่งเราต้องยึดตรงนี้เพราะเพื่อให้ประชาชนมาใช้บริการสนามบินในราคาที่ไม่แพงเกินไป ตามระบบราชการ
@ การทำงานในฐานะรัฐมนตรีช่วยคมนาคมนั้น จะมีการวางแนวทางป้องกันการทุจริต โดยเฉพาะในสนามบินที่กำกับดูแลอย่างไรบ้าง
- แน่นอนว่า ประเด็นการทุจริตนั้นมันเป็นสิ่งที่พอเกิดขึ้นหน้าที่รัฐมนตรีก็ต้องป้องกัน และเมื่อรู้ข้อเท็จจริงก็ต้องมีการเอาผิด ซึ่งเมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา ผมไปสำรวจการก่อสร้างสนามบินที่ จ.นครศรีธรมราช ก็พบว่ามีประเด็นความล่าช้าก็ต้องไปสั่งการว่ามันเกิดจากอะไร และต้องแก้ไขกันต่อไป หรือ อย่างการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารที่ล่าช้ามันเกิดจากอะไร ถ้าเราไปตรวจพบว่าการต่ออายุสัญญาก่อสร้างไม่ชอบมาพากล เราก็ต้องตรวจสอบในเชิงลึกเหล่านี้เป็นต้น
หรือ อย่างเช่นการบินไทย ผมก็มีการสั่งการให้ดูงบการเงินย้อนหลัง และในวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ผมก็ได้เชิญรองผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาร่วมตรวจสอบในกรณีนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งตรงนี้ต้องขอเน้นย้ำว่าแม้การบินไทย ผมจะไม่ได้ลงไปกำกับดูแลกิจการต่างๆ แต่เรื่องการตรวจสอบนั้น เราจะต้องทำเพื่อจะทำให้เกิดความโปร่งใสในองค์กรขึ้น ซึ่งต้องขอเรียนว่าประเด็นเรื่องการป้องกันทุจริตนั้นก็เป็นสิ่งที่ผมก็ต้องการทำให้มันเกิดขึ้นเช่นกันไม่แพ้กับการปรับปรุงโครงสร้างสนามบินต่างๆเพื่อให้มีคุณภาพต่อไป
@ ที่ผ่านมาประเด็นการประมูลร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างมาก ซึ่งประเด็นนี้ทางพรรคประชาธิปัตย์ได้เคยแถลงข่าวมาตลอดด้วยเช่นกัน
- กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวเรื่องดิวตี้ฟรีนั้น ผมขอย้ำว่า เหตุมันเกิดในสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินภูเก็ต สนามบินเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต้องขอย้ำที่ผมได้พูดไปด้วยด้วยว่าผมรับผิดชอบในส่วนของสนามบินที่อยู่ในส่วนของกรมท่าอากาศยาน ไม่ใช่การท่าอากาศยาน ซึ่งมีความแตกต่างกันมาก
@ แต่สังคมภายนอกอาจจะมีส่วนหนึ่งเข้าใจว่าที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เคยไปแถลงข่าวเกี่ยวกับปัญหาต่างๆในสนามบิน ร่วมไปถึงปัญหาเรื่องการผูกทำสัญญาเช่าเครื่องตรวจวัตถุตามร่างกายผู้โดยสาร (Body Scanner) จากเอกชนรายเดียววงเงินนับพันล้านบาท เมื่อคุณถาวรได้มาดูแลเรื่องสนามบินน่าจะมีส่วนแก้ปัญหาต่างๆเหล่านี้ได้
- ผมต้องบอกว่ามันไม่ใช่ เราคงเข้าไปแทรกแซงการบริหารงานของรัฐมนตรีท่านอื่นไม่ได้ ดังนั้นคำถามนี้คงจะตอบไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ต้องขอชี้แจงให้ทราบ ผมเข้าใจดีในประเด็นที่สังคมได้มีความสงสัยต่างๆ ก็ขอให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเขาช่วยชี้แจงในประเด็นที่มันมีความสงสัยนี้ด้วย ก็ขอขอบคุณที่เปิดโอกาสให้ชี้แจงตรงนี้ด้วย
------------------
ทั้งหมดนี่ คือ เนื้อหาบทสัมภาษณ์พิเศษ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อ สำนักข่าวอิศรา เกี่ยวกับบทบาท ภารกิจ และเป้าหมายในการเข้ามาบริหารงานตำแหน่งนี้ในปัจจุบัน
ส่วนผลงานของนายถาวร นับจากนี้จะเป็นอย่างไร คงต้องคอยจับตาดูกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/