"...วิธีการแก้ง่ายๆ ก็คือ ทำให้ถูกกฎหมาย การที่คุณแพทองธาร ชินวัตร มานั่งตรงนี้ แน่นอนว่าเป็นสัญลักษณ์ลูกนายกฯทักษิณ แต่ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษาฯ จะนำองค์ความรู้จากไหนมาขับเคลื่อนก็ได้ จะนำมาจากคนรุ่นใหม่หรือนำประสบการณ์จากพ่อมาก็ได้ คนที่นำไปขับเคลื่อนต่อก็คือสมาชิกพรรค กรรมการบริหารพรรค แล้วจะเข้าข่ายชี้นำครอบงำได้อย่างไร ส่วนตัวผมเห็นว่าอาจจะเป็นการปิดประตูเรื่องนี้กันเลย..."
หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ ‘นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว’ ส.ส.น่าน ปรากฏตัว-เดินบนถนนการเมืองมายาวนานกว่า 20 ปี
เคยเป็นแพทย์ประจำ – อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาล 3 แห่ง ตั้งแต่ รพ.นาหมื่น ขนาด 10 เตียง , รพ.นาน้อย ขนาด 30 เตียง และ รพ.สมเด็จพยุพราชปัว ขนาด 60 เตียง
เคยเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์ ถูกทาบทามลงสมัคร ส.ส. 3 ครั้ง แต่ด้วยความไม่พร้อม – ไม่แน่ใจระบบเลือกตั้ง จึงไม่เคยปรากฎตัวเป็นผู้สมัคร
ปี 2543 ย้ายสังกัดร่วมชายคาตั้งแต่ไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย ลงเลือกตั้ง 7 ครั้ง (โมฆะ 2 ครั้ง) ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเป็น ส.ส.น่าน 5 สมัย
เคยเป็น ‘ดาวสภา’ จากการตั้งฉายานักการเมืองของสื่อมวลชนประจำรัฐสภาปี 2552 ด้วยบทบาทอภิปรายเน้นข้อมูลมากกว่าการใช้วาทกรรมทางการเมือง
เคยเป็นรัฐมนตรีเกือบ 1 ปี ในตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข ยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
บรรทัดต่อจากนี้เป็นอีกตำแหน่ง ในฐานะ ‘หัวหน้าพรรคเพื่อไทย’ สำนักข่าวอิศรา สนทนากับ นพ.ชลน่าน ส่องทิศทาง แผนปรับโครงสร้าง และยุทธศาสตร์เลือกตั้งภายใต้การนำของเขา
คิดว่าอะไรทำให้ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในเวลานี้
เรื่องนี้มีอยู่ 3 องค์ประกอบ คือ หนึ่ง เป็นการตัดสินใจของผู้ใหญ่ในพรรคที่ต้องการปรับเปลี่ยนแบบรื้อระบบของพรรคเพื่อไทย เอาคนรุ่นเดิมที่เป็นผู้อาวุโสเป็นผู้มีประสบการณ์ขยับออกมาอยู่ชุดคลังสมอง หรือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางทางการเมือง คนอีกรุ่นก็ขึ้นมาทดแทนเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อเชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่ และมีคนรุ่นใหม่ในคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม
พรรคเพื่อไทย ต้องการเอาอดีต ปัจจุบัน และอนาคต มาเชื่อมกัน เพื่อขับเคลื่อนไปโดยไม่ทิ้งอดีต ไม่ละเลยอนาคต ดังนั้นถ้าไม่ปรับโครงสร้าง การ ขับเคลื่อนก็จะมีปัญหา มีอุปสรรคได้
สอง การเลือกหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ต้องเลือกจาก ส.ส. ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า พรรคการเมืองฝ่ายค้านที่มีเสียง มีคะแนนมากที่สุดในสภา หัวหน้าพรรคต้องได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งระบุเป็นตำแหน่ง ส.ส.
"ความจริงมีคนอื่นมีความเหมาะสมมากกว่าผมเยอะ แต่เขาไม่ได้เป็น ส.ส. เมื่อเลือกจาก ส.ส. เทียบความอาวุโสทางการเมือง ผมอยู่มาตั้งแต่ปี 2544 คาบเกี่ยวระหว่างคนรุ่นเดิมกับคนรุ่นใหม่ ก็เป็นช่วงจังหวะวัยของเรา"
สาม เข้าใจว่าเป็นกิจกรรมหรือหน้าที่ในฐานะ ส.ส. เป็นตัวบ่งชี้ว่าเราสามารถเข้ามาทำหน้าที่ตำแหน่งนี้ได้ คณะผู้บริหารจึงตัดสินใจเลือก
ภายใต้การนำของ นพ.ชลน่าน เราจะเห็นพรรคเพื่อไทยแบบไหน
สิ่งที่อยากเห็น คือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง รีแบรนด์ใหม่ ทำเพื่อไทยเป็นองค์กรทางการเมือง เป็นสถาบันทางการเมือง แน่นอนว่าคำนี้มีตัวชี้วัดกันเยอะ แต่สำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกมิติอย่างมีอิสระ เรามุ่งหวังว่าจะเป็นพรรคการเมืองของประชาชน เปิดโอกาสให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม นำไปสู่การมีชีวิตใหม่ของประชาชน และต้องตอกย้ำเรื่อง ‘ประชาธิปไตยกินได้’ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเคยทำสำเร็จมาตั้งแต่สมัยไทยรักไทย
เราต้องทำให้ประชาชนเห็นว่า องค์กรนี้จะขับเคลื่อนสิ่งที่เขามุ่งหวัง จากที่ปัจจุบันลำบากกันมาก ขาดโอกาสในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม รวมถึงเทคโนโลยีนวัตกรรม การแสดงความเห็นถูกปิดกั้น ดังนั้นเราจะนำสิ่งเหล่านี้มาเป็นคำตอบให้กับประชาชน เพื่อชีวิตที่ดีกว่าในทุกมิติ
สำหรับคนรุ่นใหม่จะไม่ใช่แค่การเปิดรับสมัครสมาชิก แต่เราจะนำคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังเกี่ยวกับนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนชีวิตเขา ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา เทคโนโลยี เศรษฐกิจสร้างสรรรค์ เมื่อเขาเข้ามามีส่วนร่วม พรรคมีคำตอบให้เขาชัดเจนว่าจะไปทางไหน แน่นอนว่าสุดท้ายเขาจะสมัครเป็นสมาชิกพรรค และเป็นหุ้นส่วนของพรรคเราที่จะช่วยขยายฐานออกไปได้อีกเรื่อยๆ
ทุกพรรคมุ่งเน้นคนรุ่นใหม่เช่นกัน เพื่อไทยแตกต่างอย่างไร
แตกต่างชัดมาก วิธีการที่หลายพรรคใช้เป็นการสื่อให้สนใจและตัดสินใจ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของเขายังจับต้องไม่ได้ เพื่อไทยมาเน้นจุดนี้ ถือเป็นนวัตกรรมการเมืองแบบใหม่
และจะไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่แต่รวมถึงคนกลุ่มอื่นๆ เราจะทำกิจกรรมที่เป็นคำตอบให้เขา เช่น เกษตรกร เราจะทำให้เขามีส่วนร่วมและสร้างงานสร้างอาชีพทำให้จับต้องได้ เป็นลักษณะการบริหารประเด็นในแต่ละพื้นที่ ซึ่งทุกคนจะมีความเป็นหุ้นส่วนทางการเมืองของเรามากขึ้น
ทำไมเวลานี้ทุกพรรคถึงสนใจคนรุ่นใหม่
เรื่องนี้มีความจำเป็น ทุกพรรคการเมืองเห็นว่าในอนาคตอันใกล้หรือปัจจุบัน เราอยู่ท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี วิธีคิด วิธีเชิงสังคม การรับรู้ การสื่อสาร และปัจจัยสำคัญที่จะได้รับการมอบอำนาจจากประชาชน สิ่งเหล่านี้มีผลมาก
ถ้าเพื่อไทยไม่เปลี่ยน ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปจาก ส.ส. 100 คน อาจจะเหลือแค่ 50 คน เพราะกลไกการสื่อสารไม่เข้าถึงผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เข้าไม่ถึง ฉาบฉวย จับต้องไม่ได้
"การแข่งขันครั้งหน้าสถานการณ์การเมืองที่ผิดปกติ ไม่ตรงไปตรงมา อีกฝ่ายพร้อมที่จะใช้ปัจจัยอย่างอื่นที่ไม่ใช่นโยบาย ผู้สมัคร หรือ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่ใช้อย่างอื่น เช่น อิทธิพลของเงิน อิทธิพลของการจัดการ มันมีผลมาก ดังนั้นถ้าเรายังงมโข่งใช้วิธีการแบบเดิม อาจจะเป็นคนตกยุค พรรคเราเองอาจจะเหลือ ส.ส.แค่ 50 คน"
คนรุ่นใหม่คืออนาคต และเป็นคนกำหนดเกม การสื่อสารในปัจจุบันต้องยอมรับว่า เขาเข้าถึงและได้มากกว่า เมื่อเขารับรู้รับทราบข้อมูลจากพรรคการเมือง เขาจะมีอิทธิพลต่อคนรอบตัวเขาเยอะมาก คนรุ่นใหม่ 1 คนน่าจะมีอิทธิพลต่อคนรอบตัวอีก 10 คน
นิยามคนรุ่นใหม่คือช่วงอายุเท่าไร
เราแบ่งตามเจนเนอเรชั่น Gen Z ช่วงอายุ 18-25 ปี เป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งประมาณ 7% แต่คนกลุ่มนี้จะไปเชื่อมกับ Gen Y ช่วงอายุ 26-45 ปี มีประมาณ 19% คนกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มทำมาหากิน ชนชั้นกลาง จบการศึกษาใหม่ ซึ่งคน 2 กลุ่มแรกนี้คือคนรุ่นใหม่ และยังมีคน Gen X อีก 14% ส่วนกลุ่ม 60 ขึ้นไปมีประมาณ 8-9%
ถ้าเอากลุ่ม Gen Z + Gen Y จะพบว่ามีมากกว่า 20% เมือรวมกับฐานคิด 1 คนมีอิทธิพลต่อคนรอบตัว 10 คน คนรุ่นใหม่จึงเป็นฐานการเมืองที่ใหญ่มาก และความเป็นผู้มีอิทธิพล (influencer) จึงมีสูง
"โดยเฉพาะวิกฤตทางการเมืองแบบนี้ ยิ่งเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น เพราะหลายสิ่งมีผลต่อชีวิตเขามาก มีผลต่ออนาคต ต่อลูกหลานของเขา"
ก้าวไกลมีฐานเสียงคนรุ่นใหม่เหมือนกัน เพื่อไทยออกตัวช้ากว่าเสียเปรียบหรือไม่
หากคิดในเชิงคณิตศาสตร์อาจเป็นแบบนั้น แต่การตัดสินใจทางการเมืองไม่ได้เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ จะช้าหรือเร็วไม่มีผล เพราะสิทธิ์อยู่ที่เขาว่าเขาจะเลือกใคร
ไม่ได้หมายความว่าคนรุ่นใหม่ 100 คนจะไปอยู่ตรงนั้นทั้งหมด แต่จะมี 20 คนที่ตัดสินใจด้วยความเชื่อความศรัทธาไปแล้ว และมีอีก 20 คนที่ไม่เอาอะไรเลย หลักทางสถิติเป็นแบบนี้ ดังนั้นตลาดใหญ่คือคนที่อยู่ตรงกลางประมาณ 60 คน เขาพร้อมที่จะไปทางไหนก็ได้ที่เขาเห็นว่ามันเป็นโอกาส เปรียบเหมือนการเลือกซื้อสินค้า ถ้ามีสินค้าตัวใหม่ที่ดีกว่าเขาพร้อมที่จะตัดสินใจ นี่คือสิ่งที่จับต้องได้
"เราเลยตอบได้ชัดๆว่า เราไม่ได้แย่งตลาดนะ 20% เราแย่งเขาไม่ได้อยู่แล้ว เช่นเดียวกับฐานเพื่อไทย 20% ก็ไม่มีใครแย่งได้ ทุกพรรคเขามีแฟนประจำอยู่แล้ว ยากมากที่จะแย่งตรงนั้น แต่เราต้องเปิดโอกาสให้ฐานใหญ่ที่เขายังไม่ได้ตัดสินใจ หรือยังไม่ได้เป็นแฟนพันธุ์แท้ ให้เขาได้มีโอกาสเลือก"
การเปิดตัว น.ส.แพทองธาร ชินวัตร มีผลมากน้อยแค่ไหน
ผมเชื่อว่ามีผล การที่เราวางอดีต ปัจจุบัน อนาคตเชื่อมกัน เพราะคนรุ่นอดีตมีประสบการณ์ คนรุ่นกลางมีนโยบาย คนรุ่นใหม่เป็นอนาคต ตรงนี้จะกลายเป็นจุดแข็งของพรรคเพื่อไทย
ส่วนชื่อคุณอุ๊งอิ๊ง (น.ส.แพทองธาร ชินวัตร) จะมีผลมากน้อยแค่ไหน คงต้องประเมินอีกที เพราะเราเพิ่งเปิดตัว แต่จากกระแสเปิดตัววันแรก มีแนวโน้มว่าจะมีผลสูงมาก ประกอบกับพรรคเราเอง จากวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา เราเปิดรับคนรุ่นใหม่เข้ามาเยอะมากพอสมควร ส.ส.มีคนรุ่นใหม่เยอะ เราก็แปลงจุดแข็งของเราไปเชื่อมโยงกับฐานของคุณอุ๊งอิ๊ง
"เราไม่ได้ขายอุดมการณ์ ไม่ขายความเชื่อ เราขายสิ่งที่จับต้องได้คือนวัตกรรม ดังนั้นเราไม่ห่วงเรื่องสมาชิก เพราะเขาเหล่านั้นจะเป็นหุ้นทางการเมืองส่วนเรา"
ชื่อของนายทักษิณ ชินวัตร มีผลกับคนรุ่นใหม่หรือไม่
จากกระแสโทนี่ ฟีเวอร์ การเปิดตัวคุณทักษิณอายุ 72 ปี แต่เป็นพี่โทนี่อายุ 27 ปี มีผลทำให้คนรุ่นใหม่ติดตามสนใจมิติทางการเมืองมากขึ้น ในคลับเฮาส์มีคนเข้าไปฟังและพูดคุยกันเยอะมาก เขาได้เห็นภาพ วิธีคิด ภาพการทำงาน จากสิ่งที่เขาไม่เคยได้ยิน ไม่เคยได้เข้าใจ กลับทำให้ให้เข้าเห็นและมีความหวัง
"หากลองสังเกตให้ดี จะเห็นว่าผู้นำประเทศเราไม่มีภาพแบบนั้น พอคุณโทนี่ออกมา จึงกลายเป็นภาพแห่งอนาคต เป็นภาพที่ทำให้เขาเห็นว่าจะเกิดขึ้นจริงได้ ตอบโจทย์วิถีชีวิตเขาในอนาคต ไม่ได้แค่บอกว่า อยากเป็นทหารหรือไม่ ผู้นำจะจบแค่เรื่องนั้นไม่ได้"
เพื่อไทยเจอคำถามเรื่องพรรคทักษิณมาโดยตลอดจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร
ผมมั่นใจว่าไม่ต้องจัดการอะไรเลย เพราะโครงสร้างที่เราวางไว้ กลไกการทำงานที่วางไว้ มันจัดการด้วยตัวมันเอง
เรื่องพรรคคุณทักษิณ พรรคครอบครัว โครงสร้างกรรมการบริหารพรรคที่เปิดโอกาสให้สมาชิกอย่างผมเข้ามาทำหน้าที่บริหารได้ ก็ตอบโจทย์ไปแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นคนในตระกูลชินวัตรที่จะมาเป็นผู้นำพรรค ไม่ต้องยึดติดกับตระกูล ใครก็ได้ที่มีความสามารถก็ขึ้นมาอยู่ตรงนี้ ตรงนี้ตอบคำถามเรื่องพรรคครอบครัวได้
เรื่องครอบงำ ชี้นำพรรค เราโดนประจำ เป็นกฎหมายที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อพรรคเพื่อไทยโดยเฉพาะ เรามุ่งชัดว่าทุกคนช่วยกันคิด มีอิสระในการทำการเมือง เพียงแต่คุณทักษิณพูดอะไรก็จะเป็นประเด็น แต่ถ้าสังเกตจะเห็นว่าในการแสดงความเห็นเชิงสาธารณะท่านพยายามไม่ยุ่งกับพรรค แต่ก็มีคนหาเรื่องอยู่ประจำ
"วิธีการแก้ง่ายๆ ก็คือ ทำให้ถูกกฎหมาย การที่คุณแพทองธาร ชินวัตร มานั่งตรงนี้ แน่นอนว่าเป็นสัญลักษณ์ลูกนายกฯทักษิณ แต่ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษาฯ จะนำองค์ความรู้จากไหนมาขับเคลื่อนก็ได้ จะนำมาจากคนรุ่นใหม่หรือนำประสบการณ์จากพ่อมาก็ได้ คนที่นำไปขับเคลื่อนต่อก็คือสมาชิกพรรค กรรมการบริหารพรรค แล้วจะเข้าข่ายชี้นำครอบงำได้อย่างไร ส่วนตัวผมเห็นว่าอาจจะเป็นการปิดประตูเรื่องนี้กันเลย"
อย่างไรก็ตาม ยกเว้นแต่เราถูกจับผิด เพราะแม้แต่นั่งกินข้าวอวยพรวันเกิดก็ถูกจับผิด กินข้าววันเกิดไม่ใช่กิจกรรมพรรค ไม่ใช่กิจกรรมทางการเมือง ก็ถูกจับผิด
ในฐานะ ส.ส. 5 สมัยมองเห็นอะไรในการเมืองไทย
ผมเห็นบ้านเมืองเหมือนเป็นลูกคลื่นจากที่เป็นการเมืองแบบเดิมๆ จนไทยรักไทยเข้ามา มีการเปลี่ยนแปลงมาก ประชาชนได้รับนโยบายที่จับต้องได้กินได้ มีพูดกันว่า 'ประชาธิปไตยกินได้'
นอกจากนั้นคนที่มีโอกาสเข้าสภาแบบที่เรียกว่า 'ส.ส.นกแล' คือพวกหน้าใหม่ คนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้มีเส้นสายหรือเป็นตระกูลการ มีโอกาสได้เข้ามาทำงานค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตามหลังปี 2549 ทุกอย่างดิ่งเหว และดิ่งมาจนถึงปัจจุบันที่ยังไม่ฟื้น ยิ่งเจอรัฐประหารปี 2557 เจอกลไกการใช้อำนาจสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ยิ่งทำให้ประชาธิปไตยเป็นแค่เปลือก
ปัจจุบันการดำรงตำแหน่ง ส.ส.เกือบ 3 ปี เราเป็นแค่เปลือก สิทธิ์เสียงประชาขนไม่ได้ถูกนำมาใช้บริหารประเทศ เพื่อไทยได้ 134 เสียง ควรเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลรวมเสียงข้างมาก แต่ทำไม่ได้ เพราะกลไกของรัฐธรรมนูญ และยังเห็นว่าอำนาจเผด็จการยังคงครอบงำอยู่
การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้เพื่อไทยมีความหวังมากขึ้น
เป็นแค่ระบบเลือกตั้ง แต่ก็ถือเป็นหัวใจของการมอบอำนาจในระบอบประชาธิปไตย เพราะไม่มีกลไกใดๆ ดีกว่าการเลือกตั้ง ก็จะทำให้ประชาชนใช้สิทธิ์เลือกตั้งอย่างตรงไปตรงมามากกว่า
ระบบการเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคเพื่อไทยจะได้เปรียบมากขึ้น
จะบอกว่าได้เปรียบหรือไม่ มันอยู่ที่ระบบ จุดประสงค์หลักที่เราต้องการ คือ ระบบเลือกตั้งต้องสะท้อนการมอบอำนาจที่แท้จริงของประชาชน นอกจากนั้นต้องสะท้อนเสียงข้างมากได้ด้วย ระบอบประชาธิปไตยเราปกครองด้วยระบอบเสียงข้างมาก เป็นหลักการพื้นฐาน อำนาจเป็นของปวงชนชาวไทย
"มันบอกไม่ได้ว่าออกแบบมาให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบ ต้องไปถามประชาชนว่าได้อะไรจากระบบเลือกตั้งนี้หรือไม่ แน่นอนว่าพรรคการเมืองที่ส่งครบทุกเขตก็ย่อมมีสิทธิ์ได้รับการเลือกตั้งมากกว่า เป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมา ไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองใหญ่หรือน้อย แต่ถ้าส่งครบทุกเขตก็มีโอกาสมากกว่า"
การตัดสินใจมอบอำนาจหรือการเลือกตั้ง เขาไม่ได้ดูว่าผู้สมัครเป็นอย่างไร เขาต้องดูว่าสิ่งที่เคยทำมาแล้วเป็นอย่างไร นโยบายเป็นอย่างไร การบริหารจัดการเป็นอย่างไร แก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างไร จริงใจหรือไม่ แสวงหาประโยชน์หรือมีกลโกงหรือไม่ พรรคที่อยู่มายาวนาน มีผลงานที่ดี ตอบสนองการแก้ปัญหาของประชาชนได้ และที่สำคัญมองไปอนาคตว่ามีนโยบายอะไรมากบอกเขาหรือไม่
ที่สำคัญ คือเรื่องของคน หรือ ตัวผู้บริหาร เป็นสิ่งที่ประชาชนเขามองเห็น ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ใครจะเป็นว่าที่รัฐมนตรี เขาก็เห็นอยู่ในบัญชีรายชื่อ การนำเสนอสิ่งเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญด้วย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage