"...เมื่อบอร์ดบริหารแบงก์กรุงไทยต้องรับผิดแบบเต็มร้อย ทำให้สังคมย้อนกลับไปสงสัยว่าทำไมบอร์ดสองคนจากห้าคนคือ นายอุตตม สาวนายน และนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ จึงไม่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษจากธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อคราวที่ทำหนังสือถึงพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของคดีนี้ ทั้งที่บอร์ดบริหารที่มีอยู่ห้าคนเข้าประชุมครบทุกคนและร่วมกันมีมติอนุมัติสินเชื่อรายนี้ ซึ่งต้องเป็นมติเอกฉันท์เท่านั้นจึงจะอนุมัติสินเชื่อได้..."
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาแล้วว่า นายทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 ในคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร ไม่มีความผิดและให้ยกฟ้อง ซึ่งหมายความว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะทำให้ศาลเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่า นายทักษิณเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลังการปล่อยกู้ครั้งนี้ ทำให้บอร์ดบริหารแบงก์กรุงไทยที่เป็นผู้อนุมัติสินเชื่อรวม 9,900 ล้านบาท ให้กับเอกชนกลุ่มดังกล่าว ต้องรับผิดเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์โดยไม่อาจอ้างได้ว่าผู้มีอำนาจสั่งมา
เมื่อบอร์ดบริหารแบงก์กรุงไทยต้องรับผิดแบบเต็มร้อย ทำให้สังคมย้อนกลับไปสงสัยว่าทำไมบอร์ดสองคนจากห้าคนคือ นายอุตตม สาวนายน และนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ จึงไม่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษจากธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อคราวที่ทำหนังสือถึงพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของคดีนี้ ทั้งที่บอร์ดบริหารที่มีอยู่ห้าคนเข้าประชุมครบทุกคนและร่วมกันมีมติอนุมัติสินเชื่อรายนี้ ซึ่งต้องเป็นมติเอกฉันท์เท่านั้นจึงจะอนุมัติสินเชื่อได้
แต่เมื่อสินเชื่อรายนี้เป็นหนี้เสียและมีการสอบสวนความผิดกันขึ้นมา เพียงแค่บอร์ดสองคนนี้รีบขอเข้าพบผู้มีอำนาจของแบงก์ชาติแล้วบอกว่าตนไม่เห็นด้วยกับการอนุมัติสินเชื่อมาตั้งแต่แรก โดยเห็นว่าความเป็นไปได้ของโครงการยังมีข้อสงสัย ราคาประเมินหลักประกันมีปัญหา ยอดหนี้ที่จะ Refinance ไม่ชัดเจน และตนเป็นเพียงกรรมการอิสระไม่รู้รายละเอียดของลูกหนี้ดีพอ โดยโยนความผิดให้กับนายวิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการที่เป็นหนึ่งในบอร์ดบริหาร ว่าเป็นผู้ที่รู้จักลูกหนี้ดี อีกทั้งอ้างว่ามีบุคคลภายนอกขอมา ซึ่งเหตุผลที่บอร์ดสองคนนี้ยกขึ้นอ้างกับแบงก์ชาติสวนทางกับข้อมูลที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในมติอนุมัติสินเชื่อที่เป็นเอกฉันท์ โดยไม่มีความเห็นแย้งใด ๆ จากบอร์ดทั้งสอง อันเป็นการให้ถ้อยคำด้วยวาจาหักล้างพยานเอกสารที่เป็นมติการประชุม แต่สามารถทำให้แบงก์ชาติเชื่อได้ และบอร์ดทั้งสองก็ไม่มีรายชื่อเป็นผู้ที่แบงก์ชาติร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน
โดยหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษของแบงก์ชาติที่ไม่มีชื่อบอร์ดบริหารทั้งสองคน เหตุผลหนึ่งคือ ข้ออ้างของบอร์ดทั้งสองว่ามีบุคคลภายนอก หรือ “บิ๊กบอส” ขอมา โดยมีนัยว่าหมายถึงนายทักษิณ ชินวัตร ทำให้รอดจากการร้องทุกข์กล่าวโทษโดยแบงก์ชาติ
แต่เมื่อศาลฎีกาชี้แล้วว่าพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่านายทักษิณ เป็นผู้สั่งการอยู่เบื้องหลัง น้ำหนักความรับผิดชอบในการอนุมัติสินเชื่อจึงถูกเทกลับมาที่บอร์ดบริหารทั้งห้าคน ทำให้ประเด็นที่ยังเป็นที่คลางแคลงใจของคนในสังคมว่าบอร์ดบริหารที่ต้องรับผิดมีเพียงสามคน แต่อีกสองคนรอด กลับปะทุขึ้นมาอีก
ย้อนกลับไปดูหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษของธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงพนักงานสอบสวน ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 ลงนามโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการ ระบุในข้อ 7 ว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาแล้วเชื่อว่า คณะกรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการ คณะกรรมการสินเชื่อ พนักงานสายงานสินเชื่อภาคเหนือและนครหลวงตะวันตก....กระทำการเข้าข่ายเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้น และประชาชน.....” ขณะที่ข้อความถัดมาระบุว่า “แต่อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาเห็นว่า พนักงานธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการสินเชื่อ และกรรมการบริหารบางคนอาจไม่มีส่วนร่วมกันกระทำความผิดหรือให้ความช่วยเหลือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดดังกล่าวข้างต้น.....”
โดยหนังสือดังกล่าวแบงก์ชาติได้กล่าวโทษร้องทุกข์บอร์ดบริหารเพียงสามคน โดยไม่มีนายอุตตม สาวนายน (ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) และนายชัยณรงค์ ทั้งที่ลงชื่อเข้าร่วมประชุมและร่วมมีมติอนุมัติสินเชื่อรายนี้โดยไม่มีความเห็นแย้งใด ๆ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า แบงก์ชาติยอมรับคำให้การด้วยวาจามาหักล้างข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในพยานเอกสารหรือไม่ เป็นการผิดหลักการในการรับฟังพยานหรือไม่?
ถ้าบอร์ดอีกสองคนที่ไม่ใช่กรรมการผู้จัดการ ไม่ว่าจะเป็นนายสุชาย เชาว์วิศิษฐ์ หรือนายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา รีบมาให้การกับแบงก์ชาติด้วยวาจาในทำนองเดียวกับนายอุตตม และนายชัยณรงค์ เพื่อหักล้างพยานเอกสารที่เป็นมติอนุมัติสินเชื่อ ว่า แท้ที่จริงตนก็ไม่เห็นด้วยแล้วโยนความผิดไปให้นายวิโรจน์เช่นกันก็คงจะรอดคุก โดยบอร์ดทั้งสี่คนก็ไม่ต้องรับผิดในมติที่ได้ร่วมกันอนุมัติสินเชื่อรายนี้หรือไม่ ปล่อยให้นายวิโรจน์ ที่เป็นฝ่ายบริหารในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการรับผิดชอบเพียงคนเดียว ซึ่งเท่ากับว่าการมีมติอนุมัติสินเชื่อของคณะกรรมการในสถาบันการเงิน หากต่อมาสินเชื่อที่อนุมัติไม่เป็นหนี้เสีย ก็บอกว่า ตนเองตั้งใจอนุมัติ แต่ถ้าเป็นหนี้เสียและมีการสอบสวนกันขึ้นมาก็รีบมาบอกกรรมการสอบสวนว่า ถึงตนจะร่วมมีมติอนุมัติ แต่จริง ๆ แล้วไม่เห็นด้วย ก็ทำให้พ้นผิดได้? ถ้าหากแบงก์ชาติยังคงใช้มาตรฐานในการตรวจสอบสถาบันการเงินตามที่มีข้อสงสัยโดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐเช่นนี้อีกต่อไป ก็น่าจะเป็นเรื่องที่อันตราย และจะทำให้บอร์ดของสถาบันการเงินขาดความรับผิดชอบในการพิจารณาและอนุมัติเรื่องต่าง ๆ
ปัจจุบันใคร ๆ ก็รู้ว่านายอุตตม เป็นลูกน้องก้นกุฏิของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และใกล้ชิดกันมาเป็นเวลานาน
โดยนายอุตตม ได้รับแต่งตั้งให้เป็นบอร์ดบริหารแบงก์กรุงไทย ในขณะที่นายสมคิดดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มือขวาด้านเศรษฐกิจของนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น โดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ลงนามในหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษบอร์ดแบงก์กรุงไทยสามคน แต่ไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษนายอุตตม และนายชัยณรงค์ ได้แก่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีที่ชื่อทักษิณ แทน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ที่ถูกปลดออก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการสอบสวนเรื่องนี้โดยแบงก์ชาติด้วย
แบงก์ชาติ ซึ่งทำหน้าที่ธนาคารกลางของประเทศ มีความเป็นอิสระและต้องปฏิบัติงานด้วยความละเอียดรอบคอบรัดกุม ต้องมีมาตรฐานการปฏิบัติงานที่สูงกว่าหน่วยงานอื่น โดยหน้าที่สำคัญประการหนึ่งคือกำกับดูแลและตรวจสอบสถาบันการเงิน
จึงควรจะได้ออกมาชี้แจงประเด็นนี้ให้สังคมมีความกระจ่างว่า ไม่ได้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมกับบอร์ดแบงก์กรุงไทยที่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับบอร์ดอีกสองคน
สังคมจะได้สิ้นข้อสงสัย และไม่นำเอาธนาคารกลางของประเทศไปติฉินนินทา
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/