น้ำมันที่มักพูดถึงกันมี 2 ประเภท ได้แก่ (1) น้ำมันดิบ ที่ได้จากการขุดซึ่งยังไม่ใช่น้ำมันที่ผู้บริโภคนำมาเติมใช้ในรถยนต์ ต้องนำมากลั่นก่อน และ (2) น้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งคือน้ำมันดิบที่กลั่นแล้ว ออกมาเป็นดีเซลและเบนซินที่ใช้เติมในรถยนต์
น้ำมันที่มักพูดถึงกันมี 2 ประเภท ได้แก่
- น้ำมันดิบ ที่ได้จากการขุดซึ่งยังไม่ใช่น้ำมันที่ผู้บริโภคนำมาเติมใช้ในรถยนต์ ต้องนำมากลั่นก่อน
- น้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งคือน้ำมันดิบที่กลั่นแล้ว ออกมาเป็นดีเซลและเบนซินที่ใช้เติมในรถยนต์
สิ่งที่ประเทศไทยนำเข้าเป็นหลักคือ น้ำมันดิบ เนื่องจากประเทศไทยผลิตน้ำมันดิบเอง ประมาณ 70,000 บาร์เรลต่อวัน จากปริมาณที่ต้องการใช้ประมาณ 1,032,000 บาร์เรลต่อวัน (ข้อมูลปี 2566 อ้างอิง สนพ.) ซึ่งไม่ถึง 10% ของปริมาณที่ต้องใช้ จึงต้องนำเข้าน้ำมันดิบ นอกจากนี้ ประเทศไทยก็มีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (เบนซินและดีเซล) ด้วยบางส่วนเนื่องจากบางช่วงเวลาปริมาณการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปไม่เพียงกับปริมาณที่ต้องใช้
สำหรับการส่งออก ประเทศไทยส่งออกทั้งน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป โดยน้ำมันดิบที่ประเทศไทยส่งออกคือ น้ำมันดิบบางส่วนที่ขุดมาแล้วมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมกับโรงกลั่นในประเทศไทย และน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นมาแล้วเกินจากปริมาณที่ต้องใช้ภายในประเทศ ไทยจึงเป็นทั้งผู้นำเข้าและส่งออกในเวลาเดียวกัน
สาเหตุที่มีการกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปเกินจากปริมาณที่ต้องใช้ เนื่องจากการกลั่นน้ำมันจะได้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมออกมาหลายชนิด เช่น เบนซิน ดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ แต่ประเทศไทยใช้น้ำมันดีเซลเป็นหลัก โดยปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลในประเทศอยู่ที่ประมาณ 69 ล้านลิตรต่อวัน ในขณะที่ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินอยู่ที่ประมาณ 31 ล้านลิตรต่อวัน (ข้อมูลปี 2566 อ้างอิง สนพ.) ในการกลั่นน้ำมันแต่ละครั้งจะไม่สามารถควบคุมให้ได้ปริมาณสัดส่วนน้ำมันเบนซิน-ดีเซล ตรงกับปริมาณที่เราต้องการใช้ได้ จึงเกิดการผลิตที่เป็นส่วนเกินขึ้นมา จึงมีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปส่วนที่เกิน