ชาวชุมชนหลังหมอชิตเก่ารวมตัวยื่นหนังสือถึง ผู้ว่าฯ กทม.คัดค้านเวนคืนที่ดิน อ้างสร้างถนนลอยฟ้าใช้เป็นทางเข้าออกให้สถานีรถบขส.ในโครงการคอมเพล็กซ์ ส่อเอื้อประโยชน์เอกชนมากกว่า ขัดต่อเจตนารมณ์กม.ต้องเพื่อประโยชน์สาธารณะ ห่วงใช้เงินภาษีประชาชนเสียหายไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้าน
..........
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับแจ้งว่า เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ตัวแทนประชาชนที่อาศัยอยู่ชุมชนหลังหมอชิตเก่า ได้เดินทางไปที่ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และนางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม. เพื่อคัดค้านการเวนคืนที่ดินของประชาชนหลังหมอชิตเก่ายาวไปจนทะลุถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อนำไปสร้างทางยกระดับหรือถนนลอยฟ้า เพื่อใช้เป็นทางออกให้กับโครงการคอมเพล็กช์ของเอกชน ที่ได้รับสัมปทานจากกรมธนารักษ์บนพื้นที่หมอชิตเก่าใน “โครงการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนเพื่อใช้ในการสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายทางยกระดับเชื่อมระหว่างอาคารอู่จอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้ากับถนนวิภาวดีรังสิต”
นางสาววินินท์อร ปรีชาพินิจกุล ในนามผู้แทนชุมชนหลังหมอชิตเก่า เปิดเผยว่า พวกเราไม่เห็นด้วยกับการเวนคืนที่ดินของประชาชนหลังหมอชิตเก่าทะลุยาวไปถึงถนนวิภาวดีรังสิตเพื่อนำไปสร้างทางถนนลอยฟ้า เพื่อใช้เป็นทางออกจากโครงการคอมเพล็กช์ของเอกชน โดยอ้างว่าเพื่อเป็นทางเข้า-ออก ของสถานีรับส่งผู้โดยสาร โดย บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) ที่จะย้ายกลับมาอยู่ในโครงการนี้ เพราะนอกจาก จะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนต้องถูกเวนคืนที่ดินที่อยู่อาศัยแล้ว ยังเห็นว่าขัดต่อหลักการพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการให้รัฐได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2562 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องเป็นการเวนคืนเพื่อการเป็นสาธารณูปโภค การป้องกันประเทศ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ถนนลอยฟ้าที่จะสร้างขึ้นมานี้ น่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับโครงการ คอมเพล็กซ์ของเอกชนมากกว่า เพราะสัดส่วนการใช้ประโยชน์ของบริษัท ขนส่ง จำกัด ซึ่งเป็นของรัฐ ที่เข้าไปใช้พื้นที่ในโครงการนี้ เพื่อประโยชน์สาธารณะ มีสัดส่วนเพียง 13-15% เท่านั้น ส่วนอีก 85% เป็นพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์เพื่อการพาณิชย์ของเอกชน ที่จะทำเป็นศูนย์การค้า โรงแรม ศูนย์ประชุม เซอร์วิสอพาร์ทเม้นต์ อาคารเช่าจอดรถ เป็นต้น
การย้ายสถานีรถ บขส.กลับมาอยู่ในโครงการสัมปทานดังกล่าว ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างหรือเหตุผล ที่จำเป็นต้องมีการสร้างถนนลอยฟ้า เพื่อใช้เป็นทางเข้า-ออกจากโครงการคอมเพล็กซ์สู่ถนนวิภาวดีรังสิต และเชื่อมต่อกับทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ สำหรับการสัญจรของรถ บขส.ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ในแนวเขตถนนลอยฟ้า ต้องถูกเวนคืนที่ดิน ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2563 ประกาศไว้ ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2563 จำนวน 35 แปลง รวมระยะทางกว่า 530 เมตร ซึ่งการเวนคืนที่ดินไม่มีเพียงแต่มีผลทำให้ประชาชนที่อยู่อาศัยตามแนวกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ได้รับความเดือดร้อนเท่านั้น แต่ยังต้องใช้งบประมาณจากเงินภาษีของประชาชน มาเป็นค่าเวนคืนที่ดินและก่อสร้างถนนลอยฟ้า เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับโครงการเชิงพาณิชย์ของเอกชนเสียมากกว่า ซึ่งอาจทำให้ต้องเสียเงินงบประมาณจากภาษีประชาชน รวมทั้งค่าเวนคืนที่ดินและค่าก่อสร้างไม่น่า จะต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท
“ประชาชนชุมชนหลังหมอชิต ขอย้ำว่า เราไม่ได้คัดค้านโครงการคอมเพล็กช์ที่จะเกิดขึ้นบนพื้นที่ หมอชิตเก่า ที่กรมธนารักษ์ให้สัมปทานเอกชนเป็นเวลา 30 ปี และต่อสัญญาได้อีกคราวละ 10 ปี แต่เราคัดค้านการย้ายสถานีรับส่งผู้โดยสาร บขส.กลับมาที่หมอชิตเก่า และคัดค้านการใช้งบประมาณจากเงินภาษีของประชาชนมาเวนคืนที่ดินและสร้างถนนลอยฟ้า เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกที่โครงการเพื่อการพาณิชย์ของเอกชนได้รับประโยชน์มากกว่าประโยชน์สาธารณะ จึงอาจนำไปสู่การตั้งข้อสงสัยของสังคมได้ว่า การเวนคืนที่ดินครั้งนี้ อาจมีความไม่ชอบธรรมในขั้นตอนการดำเนินการ หรืออาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายหรือไม่”
นางสาววินินท์อร กล่าวต่อว่า การย้ายสถานีรับส่งผู้โดยสาร ของ บขส.กลับเข้ามากระจุกตัวบนพื้นที่หมอชิตเก่า ยังจะสร้างความแออัดและสร้างปัญหาการจราจรให้กับพื้นที่โดยรอบบริเวณดังกล่าวที่ปัจจุบันประสบปัญหาการจราจรติดขัดอย่างแสนสาหัส ทั้งในยามปกติและยามชั่วโมงเร่งด่วนหนักหนาอยู่แล้ว ให้ย่ำแย่ลงไปอีก ยังไม่นับในช่วงเวลาที่เป็นเทศกาลที่มีวันหยุดยาว ที่จะมีประชาชนต้องเดินทางเข้าเมือง มาจากทุกสารทิศมากระจุกตัว เพื่อมาใช้บริการรถโดยสาร บขส.เดินทางออกไปต่างจังหวัด นอกจากนี้ยังจะสร้างมลพิษและเพิ่มปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับพื้นที่โดยรอบและบริเวณใกล้เคียง ทั้งในระหว่างการก่อสร้าง และหลังก่อสร้างที่จะมีประชาชนแออัดเข้ามาใช้บริการ
สำหรับสถานีรับส่งผู้โดยสาร ของ บขส.หรือ สถานีขนส่งหมอชิต 2 ที่ปัจจุบันตั้งอยู่บนถนนกำแพงเพชร 2 ยังถือเป็นทำเลและพื้นที่ ที่มีความเหมาะสมกับการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างรถโดยสาร และระบบราง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ"สถานีกลางบางซื่อ" ซึ่งเป็นศูนย์กลางคมนาคมแห่งใหม่ ที่รวมระบบขนส่งมวลชนระบบราง ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ไว้ในที่เดียวกัน รวมทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงที่จะเปิดบริการช่วงปี 2564-2565 ซึ่งอยู่ใกล้เคียงและเชื่อมต่อกับสถานี บขส.ที่หมอชิต 2 มากกว่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวก ลดปัญหาการจราจรที่ติดขัด และประหยัดเวลาในการเดินทาง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการขนส่งและการเดินทางของประชาชนมากกว่า โดยไม่มีเหตุผลความจำเป็นที่จะย้ายสถานี รับส่งผู้โดยสาร บขส.กลับมา ที่หมอชิตเก่า เพื่อสร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้นเพิ่มอีก
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage