“…กรมป่าไม้จึงอนุญาตให้บริษัท กันกุล วินด์ พาวเวอร์ 1 จำกัด เข้าไปศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเพนียด เพื่อสำรวจและจัดเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ท้องที่ตำบลเพนียด อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เนื้อที่ 11,293 ไร่ 1 งาน 64 ตารางวา มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2564 - 29 สิงหาคม 2566…”
เป็นประเด็นที่จะต้องติดตาม
สืบเนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเสนอกรณี โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม ขนาด 90-180 เมกกะวัตต์ และระบบส่งไฟฟ้าในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเพนียด (เขาตะเภา) อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี เนื้อที่ 1,000 ไร่ ดำเนินโครงการโดย บริษัท กันกุล วินด์ พาวเวอร์ 1 จำกัด (บริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม) โดยมีชาวบ้านออกมาคัดค้าน เนื่องจากกังวลเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อาทิ ก่อปัญหาเสียงดัง) และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ จึงไม่ต้องการให้เกิดการก่อสร้างโครงการดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรา รายงานแล้วว่า ชาวบ้านพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 (สระบุรี) ได้ลงพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเพนียด (เขาตะเภา) เพื่อตรวจสอบ หลังจากได้รับแจ้งว่าอาจมีการตัดไม้และวางโครงเหล็ก มีรายงานว่าผลการเดินสำรวจ พบว่า มีการตัดไม้ในพื้นที่ขนาดประมาณ 1-2 งาน และมีการวางโครงเหล็ก
นายจีระ ทรงพุฒิ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 (สระบุรี) เปิดเผยว่า เอกชนได้มีการว่าจ้างกลุ่มคณะเข้ามาสำรวจพื้นที่ โดยได้ยืนขออนุญาตจากทางกรมป่าไม้ เพื่อศึกษาวิจัยและวัดทิศทางลม ก่อนการสร้างโรงไฟฟ้ากังหันลม โดยได้มีการวางโครงสร้างแบบถอดประกอบได้ ซึ่งเป็นไปตามกรอบที่อนุญาต และเมื่อเสร็จภารกิจก็จะต้องรื้อถอนออก ไม่ใช่การสร้างถาวร
“เอกชนได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ในการศึกษาวิจัยเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อดำเนินการก่อสร้างอะไร ส่วนการการตัดไม้นั้น พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็น เขาหินทราย จะไม่ค่อยมีไม้ยืนต้น ส่วนใหญ่เป็นพืชล้มลุกจำพวกหนาม และพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่โล่ง ไม่ได้มีการแผ่วถางป่าแต่อย่างใด” นายจีระ ระบุ
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา นำหนังสือกรมป่าไม้ โดยอธิบดีกรมป่าไม้ อนุญาตให้เอกชน คือ บริษัท กันกุลฯ เข้าพื้นที่ เพื่อสำรวจและจัดเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีรายละเอียด ดังนี้
นายอดิศร นุชดำรงค์ อธิบดีกรมป่าไม้ ได้ลงนามในบันทึกข้อความ ที่ ทส 1602.43/14221 เรียน ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 (สระบุรี) ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2564 เรื่อง บริษัท กันกุล วินด์ พาวเวอร์ 1 จำกัด ขออนุญาตเข้าไปศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเพนียด เพื่อสำรวจและจัดเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ท้องที่จังหวัดลพบุรี ระบุว่า
ตามหนังสือสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 (สระบุรี) ที่ ทส 1618.4/2145 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ได้ส่งเรื่องราวคำขอของ บริษัท กันกุล วินด์ พาวเวอร์ 1 จำกัด ขออนุญาตเข้าไปศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเพนียด เพื่อสำรวจและจัดเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ท้องที่ตำบลเพนียด อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เนื้อที่ 11,776 ไร่ 3 งาน 12 ตารางวา เพื่อให้กรมป่าไม้พิจารณา นั้น
กรมป่าไม้ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องนี้อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาอนุญาตได้ตามระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าไปศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2559 ประกอบกับคณะกรรมการกลั่นกรองการอนุญาตให้เข้าไปศึกษาหรือวิจัยวิชาการในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ได้มีความเห็นให้นำเสนออธิบดีกรมป่าไม้ แต่เนื่องจากพื้นที่โครงกรมีพื้นที่อยู่ในเขตป่าตามพระราชบัญญัติป่ไม้พุทธศักราช 2484 เนื้อที่ 483 ไร่ 1 งาน 48 ตารางวา คงเหลือพื้นที่ที่ศึกษาหรือวิจัยทางวิซาการในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเพนียด เนื้อที่ 11,293 ไร่ 1 งาน 64 ตารางวา
ดังนั้น กรมป่าไม้จึงอนุญาตให้บริษัท กันกุล วินด์ พาวเวอร์ 1 จำกัด เข้าไปศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเพนียด เพื่อสำรวจและจัดเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ท้องที่ตำบลเพนียด อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เนื้อที่ 11,293 ไร่ 1 งาน 64 ตารางวา มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2564 - 29 สิงหาคม 2566
ตามเรื่องราวที่ขอได้ โดยให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข 8 ข้อ รายละเอียดปรากฎตามหนังสืออนุญาตให้เข้าไปศึกษาหรือวิจัยวิชาการภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เล่มที่ 012 ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ที่แนบมาพร้อมนี้
จึงขอให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 (สระบุรี) พิจารณาสั่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ดังนี้
-
แจ้งให้ผู้รับอนุญาตทราบและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1221 (พ.ศ. 2531) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ในอัตราไร่ละ 10 บาทให้เป็นการเสร็จสิ้นในคราวเดียวกันพร้อมกับให้ผู้รับอนุญาตทำบันทีกรับรองไว้เป็นหลักฐานด้วยว่า ยินดีที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขแนบท้ายหนังสืออนุญาตทุกประการโดยเคร่งครัด ก่อนมอบหนังสืออนุญาตที่แนบมาพร้อมนี้ให้ผู้รับอนุญาต ทั้งนี้ ให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดต่อไป
-
ให้หมั่นตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขแนบท้ายหนังสืออนุญาตดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ
-
แจ้งให้ผู้รับอนุญาตดำเนินการตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่า พ.ศ.2558 กรณีพื้นที่ขออนุญาตอยู่ในเขตป่าตามมาตรา 4(1) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484
จึงเรียนมาเพื่อทราบและพิจารณาดำเนินการตามนัยดังกล่าวข้างต้นต่อไป เมื่อดำเนินการแล้วประการใด รายงานให้กรมป่าไม้ทราบพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องด้วย
ทั้งนี้ ได้มีการแนบเงื่อนไขท้ายหนังสืออนุญาต โดยมีการลงนามผู้อนุญาต คือ นายอดิศร นุชดำรงค์ อธิบดีกรมป่าไม้ และผู้รับอนุญาต คือ นางสาวศุภรดา จรัสแสนประเสริฐ มีรายละเอียดว่า
ให้ ผู้รับอนุญาต เข้าไปศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามหนังสืออนุญาตเล่มที่ 012 ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ปฏิบัติติดังต่อไปนี้
-
ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้อธิบดีกรมป่าไม้ทราบก่อนเข้าไปดำเนินการในพื้นที่อย่างน้อย 15 วัน
-
ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ แผนงาน และวิธีการ ที่ระบุไว้ในโครงการ หรือกิจกรรมที่ศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการที่ขออนุญาตไว้เท่านั้น
-
ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการตามคำแนะนำของพนักงานเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ โดยเคร่งครัด
-
ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ตลอดจนต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหนังสืออนุญาต และต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ ซึ่งสั่งการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย
-
เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ให้ส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ หรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพหรือรายงานผลการศึกษาหรือวิจัยฉบับสมบูรณ์ พร้อมผลการพิจารณาจากผู้มีอำนาจให้กรมป่าไม้
-
ผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าไปศึกษาหรือวิจัยทางวิซาการ หรือเก็บตัวอย่างทรัพยากรธรรมชาติ แล้วนำผลการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการ หรือตัวอย่างไปจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) เช่น ลิขสิทธิ์ (Copyright) สิทธิบัตร (Patent) เครื่องหมายการค้า (Trademark) การให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (Protection of New Varieties of Plant) เป็นต้น หรือทะเบียนอื่นใดตามกฎหมาย เพื่อผลิตเป็นอุตสาหกรรมหรือทางการค้าหรือพิมพ์ผลงานเพื่อจำหน่าย หรือนำไปใช้ในการดำเนินการด้านการลดก๊าซเรือนกระจก หรือดำเนินการต้านอื่นใด ต้องได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ก่อน และให้ถือว่าทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงสิทธิประโยชน์จากการดำเนินการด้านการลดก๊าซเรือนกระจก หรือดำเนินการด้านอื่นใด เป็นสมบัติร่วมกันกับกรมบำไม้และต้องทำความตกลงการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นให้กับกรมป่าไม้
-
ให้ผู้รับอนุญาตนัดหมายพนักงานเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ตรวจสอบการดำเนินการอย่างน้อย 1 ครั้ง
-
เมื่อผู้ได้รับอนุญาตฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือทำให้เกิดความเสียหายหรือเป็นอันตรายต่อพื้นที่ป่าไม้และสภาพแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ อธิบดีกรมป่าไม้อาจระงับการอนุญาตและดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งหมดนี้ คือรายละเอียดหนังสือการขออนุญาตเพื่อเข้าศึกษาก่อการดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมเขาเพนียด จังหวัดลพบุรี เพียงเท่านั้น ไม่ใช่การอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าแต่อย่างใด
ถ้ามีความคืบหน้า สำนักข่าวอิศราจะนำมารายงานต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- บ.ใหญ่ขอใช้พื้นที่ป่าเขาเพนียด จ.ลพบุรี 1,000 ไร่ ผุดโรงไฟฟ้ากังหันลม เจอชาวบ้านต้าน
- เปิดที่ตั้งโรงไฟฟ้ากังหันลมป่าเขาเพนียด 1,000 ไร่บนยอดเขา อ้าง ‘พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 2‘
- เตรียมยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ! ชาวบ้านคัดค้านสร้างโรงไฟฟ้ากังหันลมป่าเขาเพนียด ลพบุรี
- ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ-กรมป่าไม้ จี้ยุติสร้างโรงไฟฟ้ากังหันลม ป่าเขาเพนียด ลพบุรี