ลูกบ้าน 'ลัดดารมย์ ปิ่นเกล้า' ร้อง 'อิศรา' ระบบสาธารณูปโภค-บ่อบำบัดน้ำพัง ปล่อยน้ำเสียลงคลอง เผยร้องเรียนหลายหน่วยงานยังไม่มีความคืบหน้า ขณะที่สำนักงานที่ดิน นนทบุรี เผยผลสอบน้ำเสียไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้รับการร้องเรียนจากลูกบ้านและผู้ซื้อที่ดินหมู่บ้านลัดดารมย์ ปิ่นเกล้า จัดสรรโดย บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) กรณีผู้จัดสรรที่ดินโครงการฯ จัดทำสาธารณูปโภคไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน ทำให้ต้องประสบปัญหาที่มีการปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ
โดยก่อนหน้านี้ผู้ร้องได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรม และสำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี นอกจากนั้นยังยื่นฟ้องร้อง จนมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ให้คณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดนนทบุรี สั่งให้ ผู้จัดสรร (บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์) แก้ไขให้ตรงตามแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาต ภายใน 60 วันนับแต่มีคำพิพากษาเมื่อ เดือน พ.ค. 2561 แต่จนถึงปัจจุบันนี้ ผู้ร้องเรียนอ้างว่า บริษัทก็ยังไม่ดำเนินการแก้ไข ล่าสุดยังได้มีการยื่นถวายฎีกาเรื่องดังกล่าวแล้ว
ผู้ร้อง เปิดเผยว่า สภาพระบบบำบัดน้ำเสียของหมู่บ้านลัดดารมย์ ทั้ง 5 บ่อ ปิดตัวไม่ได้ใช้งานมาตั้งแต่ต้นปี 2562 จนปัจจุบัน ส่งผลให้น้ำเสีย ถูกปล่อยลงคลองมานาน อีกทั้งเมื่อเวลาฝนตกหนักน้ำเสียที่ไหลออกนอกหมู่บ้านฯ จะมีสีดำและมีกระแสน้ำที่แรงจนพัดพาสิ่งปฏิกูลต่างๆ ในคลองไปยังชายฝั่งตรงข้าม สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านและชุมนุมในบริเวณดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยังสำนักงานจังหวัดที่ดินนนทบุรีได้รับการเปิดเผยจากเจ้าหน้าที่ว่า หน่วยงานได้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไปแล้ว โดยกรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการร่วมกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 6 นนทบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีข้างต้นตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2564 ได้ข้อสรุป ดังนี้
หมู่บ้านจัดสรรพฤกษ์ภิรมย์ ปิ่นเกล้า ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ (โครงการเฟส 1 2 และ 3) และตำบลปลายบาง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี (โครงการเฟส 4 มีบริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันหมู่บ้านจัดสรรพฤกษ์ภิรมย์ ปิ่นเกล้า ยังไม่ได้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ มีระบบบำบัดน้ำเสียแบบถังสำเร็จรูปชนิดเกรอะกรองไร้อากาศ ขนาด 1.2 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 1 ถัง ต่อแปลงย่อย และมีระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางชนิดเติมอากาศแบบมีตัวกลาง จำนวน 4 ชุด ประจำแต่ละเฟส น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดเบื้องต้นจากบ้านแต่ละหลังจะรวบรวมเข้าสู่ท่อระบายน้ำแบบท่อรวม (Combined System) ที่ใช้ท่อระบายน้ำเสียและน้ำฝนร่วมกัน เพื่อรวบรวมน้ำเสียให้ไหลตามท่อไปยังบ่อผันน้ำ (ทำหน้าที่ระบายน้ำฝนออกสู่ภายนอกเมื่อมีฝนตกหนัก ในส่วนของน้ำเสียจะไหลไปยังบ่อดักน้ำเสียและถูกสูบเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางทั้ง 4 ชุด และเมื่อมีฝนตกหนักน้ำฝนส่วนเกินจะไหลไปยังบ่อตรวจคุณภาพน้ำ
ซึ่งในโครงการเฟส 3 และเฟส 4 มีการติดตั้งปั๊มสูบน้ำเพื่อสูบน้ำฝนบายพาสไปยังบ่อตรวจคุณภาพน้ำ มีจุดระบายน้ำทิ้งออกสู่ภายนอกลงสูคลองบางค้อ (บางคูลัด) จำนวน 4 จุด
ขณะตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสีย ส่วนกลางทั้ง 4 ชุด เปิดใช้งานตามปกติ ไม่มีเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ชำรุด ไม่พบปัญหากลิ่นเหม็นจากระบบบำบัดน้ำเสีย ไม่สามารถเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งจากปลายท่อระบายน้ำทิ้งออกสู่ภายนอกได้ เนื่องจากอยู่นอกรั้ว และจุดถัดเข้ามาบริเวณบ่อตรวจคุณภาพน้ำมีน้ำจากคลองไหลย้อนเข้ามา จึงเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งจากปลายท่อระบายน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสีย จำนวน 4 จุด และบ่อสูบน้ำฝนบายพาสที่จะระบายออกสู่ภายนอก จำนวน 2 จุด ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษพิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถเก็บตัวอย่างแทนน้ำทิ้งมาตรวจสอบ ปรากฎว่า น้ำทิ้งจากปลายท่อระบายน้ำทิ้งจวกระบบบำบัดน้ำเสียทั้ง 4 จุด มีค่าเป็นไปตามมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้ จากการเก็บตัวอย่างน้ำผิวดินในคลองบางค้อ (บางคูลัด) ที่ไหลผ่านหมู่บ้านจัดสรรพฤกษ์ภิรมย์ ปิ่นเกล้า จำนวน 3 จุด บริเวณต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มาตรวจสอบพบว่า คุณภาพน้ำผิวดิน ทั้ง 3 จุด จัดอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม อาจมีสาเหตุจากคลองดังกล่าวได้รับอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลงจากคลองอ้อมนนท์ที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาชื่งรองรับน้ำทิ้งจากชุมชนและกิจกรรมบางประเภท
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยการนั่งเรือสำรวจตลอดแนวกำแพงรั้วของหมู่บ้านฯ ขณะตรวจสอบไม่พบการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงคลอง แต่จากการสอบถามประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลอง ทราบว่า ในช่วงที่มีฝนตกหนักจะมีน้ำรั่วซึมจากกำแพงรั่วของโครงการเฟส 3 และ 4 ลงคลอง สันนิษฐานได้ว่าระบบท่อรวบรวมน้ำเสีย น้ำฝน เช่น ท่อเชื่อมต่อน้ำทิ้งจากบ้านเรือนสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ ท่อระบายน้ำสาธารณะ และบ่อผันน้ำของโครงการอาจชำรุดเสียหายทำให้น้ำรั่วซึม โดยส่วนหนึ่งอาจไหลซึมผ่านกำแพงลงสู่คลอง
นอกจากนี้จากการตรวจสอบพบว่าเมื่อปี 2551 บริษัทควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ได้มีการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2551 ถึงกรณีที่ลูกบ้านร้องเรียนเกี่ยวกับบ่อบำบัดน้ำเสียไม่ได้มาตรฐาน และมีการปล่อยน้ำเสียลงคลองสาธารณะจนสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านในบริเวณ ว่า ทางบริษัทฯได้มีการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียรวมถึงระบบการบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐาน และได้จ้าง บริษัท พรีเมียร์โพรดักส์ จำกัด เข้าทำการตรวจระบบน้ำบำบัดน้ำเสียและทำการเก็บน้ำตัวอย่างที่ผ่านการบำบัดและวิเคราะห์คุณภาพของน้ำ ซึ่งผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำผ่านเกณฑ์มาตรฐาน น้ำยังมีลักษณะใสไม่มีกลิ่น