เผยหนังสือ 'ป.ป.ช.' จี้นายกสภาฯ มสธ. สอบอาจารย์นิติศาสตร์ ปมคัดลอกงานเขียนวิชาการ 11 หน้า - เจ้าตัวแจงโดนตั้งคกก.สอบวินัยเรื่องจบไปแล้ว เจอโทษแค่ตักเตือนลงทัณฑ์บน เหตุไม่มีเจตนา แต่บกพร่องเรื่องตรวจสอบอ้างอิง เนื่องจากมีเวลาเขียนงานน้อยแค่ 1 เดือน เคลียร์ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าใจดีแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีผู้มาร้องเรียนกับสำนักข่าวอิศรา โดยแจ้งข้อมูลเป็นหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ทำถึงนายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และอำนาจ กรณีกล่าวหา นายอิงครัต ดลเจิมอาจารย์ประจําคณะ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต กรณีกระทําการคัดลอกงานเขียนของอาจารย์ปราณี เสฐจินตนิน และอาจารย์วิวิช วงศ์ทิพย์ เอกสารในชุด วิชากฎหมายอาญา 1 หน่วยที่ 14 โทษและวิธีการเพื่อความปลอดภัย เป็นจํานวน 11 หน้า โดยมีเนื้อหา ตรงกันทุกเรื่อง อันเป็นการกระทําละเมิดลิขสิทธิ์ และรับค่าตอบแทนเป็นของตนเอง
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการประชุมครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 มีมติ ส่งเรื่องกล่าวหาดังกล่าวให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งหรือถอดถอนดําเนินการทางวินัย ตามหน้าที่และอํานาจ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 64 รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย และเมื่อดําเนินการตามอํานาจหน้าที่แล้ว ให้รายงานผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ ตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ดังกล่าว (ดูเอกสารประกอบ)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้ติดต่อไปยังนายอิงครัต ดลเจิมอาจารย์ประจําคณะ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้
นายอิงครัต ชี้แจงว่า เรื่องนี้มีการดำเนินการสอบกันเรียบร้อยแล้ว และก็มีการรายงานสภามหาวิทยาลัยแล้วเช่นกัน ที่มาที่ไปของเรื่องนี้เกิดจากมีบัตรสนเท่ห์ไปร้องเรียนนายกสภาฯและอธิการบดีมหาวิทยาลัย เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน ซึ่งคณะนิติศาสตร์ได้ดำเนินการสอบแล้วพบว่าไม่มีเจตนาแต่อย่างใด เป็นการตกหล่นการอ้างอิงข้อมูลในการยื่นผลิตเอกสารของมหาวิทยาลัย
“ทีนี้ก็มีคนไปร้องต่อ ป.ป.ช. แล้ว ป.ป.ช.ก็ส่งเรื่องไปให้กับทางมหาวิทยาลัยให้มหาวิทยาลัยดำเนินการในฐานะเป็นผู้มีอำนาจในการบังคับบัญชา และบรรจุแต่งตั้ง มหาวิทยาลัยจึงตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ก็ทราบว่ามีมูลมีการคัดลอกจริง ทางมหาวิทยาลัยก็เลยมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง มีการตั้งเชิญคณะกรรมการซึ่งเป็นคนนอกมาจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) มาเป็นประธานสอบ ซึ่งผลการสอบกรรมการก็เห็นว่ากรณีนี้ผมไม่ได้มีเจตนาไปคัดลอกงานใคร แต่ว่ามันเป็นการบกพร่องในเรื่องการตรวจสอบ ไม่มีการอ้างอิงให้ถูกต้อง” นายอังครัตกล่าว
เมื่อถามว่าที่ผ่านมาได้ถูกลงโทษทางวินัยไปแล้วใช่หรือไม่ นายอิงครัตกล่าวว่า "ไม่โดน เพราะว่ามันเป็นวินัยไม่ร้ายแรง มีการลงทัณฑ์บนไปแล้ว เพราะมองว่าเราเป็นนักวิชาการจะต้องมีความรอบคอบมากกว่านี้ "
“ผมไม่เคยมีประวัติในการถูกลงโทษ ความประพฤติของผมก็เรียบร้อยมาตลอด ก็ได้ถูกให้ตักเตือนตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย และก็ให้หยุดเรื่องไป ซึ่งเรื่องนี้ผมต้องให้ข้อมูลว่าผมถูกบัตรสนเท่ห์ ไม่ได้มีการสอบถามบรรณาธิการ ซึ่งเรื่องนี้จากการสอบเขาก็เห็นว่าผมได้ไปอ้างอิงทุกจุด แต่จุดที่ผมไม่ได้ไปอ้างอิงนั้นมันเป็นกรณีที่คณะกรรมการให้ไปเพิ่มเติม ซึ่งมันก็เกิดกระบวนการเร่งผลิต เพราะนักศึกษาก็จะต้องเร่งใช้แล้ว โดยเรื่องนี้ทางคณะกรรมการเขาสอบสวนไปแล้วก็พบว่าผมนั้นไม่ได้มีเจตนา”นายอิงครัตกล่าว
เมื่อถามว่าช่วงเวลาที่เร่งรีบดังกล่าวนั้น มีเวลาเขียนเอกสารนานเท่าไร นายอิงครัตกล่าวว่า "ประมาณ 1 เดือนเท่านั้นซึ่งถือว่าน้อยมาก"
เมื่อถามว่า ได้คุยกับอาจารย์ปราณี เสฐจินตนิน และอาจารย์วิวิช วงศ์ทิพย์ ผู้เขียนต้นฉบับหรือไม่ นายอิงครัตกล่าวว่า "อาจารย์ปราณีนั้นเป็นผู้พิพากษาไปเมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่แล้ว ส่วนอาจาร์วิวิชก็คุยแล้ว เพื่อให้ท่านได้รับทราบความสบายใจในเรื่องนี้ โดยอาจารย์วิวิชบอกว่าถ้ามีการพิมพ์แก้ไขอะไรก็แก้ไขให้มันถูกต้อง"
“เรื่องนี้นั้นเป็นเรื่องภายใน มสธ.ที่มีการเอาคนนอกมาสอบ ผมก็อ้างอิงไปทุกจุดแล้ว แต่ว่าเนื่องจากระเวลาที่กระชั้นชิดก็ทำให้มีการตกหล่นบ้าง ซึ่งเรื่องของผมนั้นจริง ๆ สอบจบไปแล้วตั้งแต่เดือน ก.ค.ปีนี้ และตามกระบวนการของกฎหมายก็มีการรายงานสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ซึ่งสภามหาวิทยาลัยก็ต้องสอบพบว่ามีการสอบมาทั้งหมดแล้วตามกระบวนการ และก็มีการตักเตือนไปแล้ว”นายอิงครัตกล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage