กลุ่มกิจการร่วมค้าพีเอ็มที ร้องสำนักนายกฯ จี้สอบ กรมอุตุนิยมวิทยา หวั่นทำ TOR ล็อกเอกชนประกวดโครงการเครื่องมือตรวจวัดลมสนามบิน อุดรธานี-เชียงราย-กระบี่ รายละเอียดเงื่อนไขบอกผู้เสนอราคาต้องเคยติดตั้งหรือซ่อมอุปกรณ์เครื่องวัดลงมูลค่าไม่น้อยกว่า 75 ล. ส่อเอื้อเอกชนขาประจำ
................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้รับแจ้งข้อมูลกรณีการร้องเรียนของกิจการร่วมค้าพีเอ็มที อันประกอบไปด้วยบริษัท Microstep-MIS spot, S.r.o จากประเทศสโลวาเกียเป็นผู้ถือหุ้นหลักในกิจการร่วมการค้าฯจำนวน 41 %., บริษัท แพทริออท ไอที จํากัด และ บริษัท ฟอร์เต้ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จํากัด ถึงสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของ 1.คณะกรรมการร่างเอกสารเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้าง (TOR) รายการเครื่องวัดลมเดือนแนวขึ้น-ลงของเครื่องบินและเครื่องมือตรวจวัดลมชั้นบน ระดับต่างๆ ที่ท่าอากาศยานอุดรธานี 1 ระบบ, เชียงราย 1 ระบบ และกระบี่ 1 ระบบ กรมอุตุนิยมวิทยา และ 2. คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ของกรมอุตุนิยมวิทยา
เนื่องจากการทำหน้าที่ของคณะกรรมการทั้ง 2 คณะ อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายกับบริษัท และอาจจะมีประเด็นเรื่องล็อกสเปกในการจัดซื้อจัดจ้างได้
แหล่งข่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมสำนักข่าวอิศรา ว่า จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2563 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศร่างข้อกําหนด TOR ของงาน เครื่องวัดลมเดือนแนวขึ้น-ลงของเครื่องบิน และ เครื่องมือตรวจวัดลมชั้นบนระดับต่างๆ ที่ท่าอากาศยานอุดรธานี 1 ระบบ, เชียงราย 1 ระบบ และกระบี่ 1 ระบบ และได้เปิดให้วิจารณ์ร่าง TOR ดังกล่าว
ขณะที่ ทางกิจการร่วมค้าพีเอ็มที ได้ศึกษาพบว่า มี TOR บางข้อที่เอื้อผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มของตนเอง โดยเฉพาะ ข้อ 2.1 "ผู้เสนอราคาต้องมีผลงานการติดตั้ง หรือ ซ่อมบํารุงระบบเครื่องวัดลมแนวเฉือนแนวขึ้น-ลง ของ เครื่องบิน (Lldar) และเครื่องมือตรวจวัดลมชั้นบนระดับต่าง ๆ (Wind Profter) หรือระบบที่เกี่ยวกับตรวจอากาศ อุตุนิยมวิทยาการบินมูลค่า ไม่น้อยกว่า 75,000,000. บาท ต่อ 1สัญญา
โดยเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาตรงกับหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่เชื่อถือ และมีหนังสือรับรองผลงานจากผู้มีอํานาจลงนามของคู่สัญญา หน่วยงานข้างต้นที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งผลงานดังกล่าวจะต้องแล้วเสร็จตามสัญญาภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี นับถึงวันยื่นเอกสาร
ซึ่งบริษัทในประเทศไทย มีเพียงแค่บริษัทหรือกลุ่มบริษัทฯ เดียว ที่มีความเกี่ยวข้องกัน และเป็นคู่ค้า ประจํากับกรมอุตุฯ เข้าเกณฑ์ตรงตามข้อนี้ ทําให้บริษัทหรือกลุ่มบริษัทอื่น ๆ ที่เป็นตัวแทนหรือทํางานร่วมกับผู้ผลิตที่มีประสบการณ์ระดับโลกหรือเคยขายอุปกรณ์ดังกล่าวในราคาปกติตามราคาตลาดสากลไม่สามารถเข้าร่วมประกวดราคาได้
ต่อมาในวันที่ 3 ธ.ค. 2563 กิจการร่วมค้าฯ จึงได้มีการยื่นวิจารณ์ร่างข้อกําหนด TOR ดังกล่าว และเสนอแนะการปรับแก้ TOR เพื่อให้มีความเป็นธรรมต่อผู้เข้าร่วมประกวดราคา
จากนั้นวันที่ 22 ธ.ค. 2563 คณะกรรมการร่าง TOR ได้ส่งหนังสือชี้แจงกลับมายังกิจการร่วมค้าพีเอ็มที โดยมีเนื้อหาดังนี้
กรมอุตุนิยมวิทยา ขอเรียนชี้แจงว่า เนื่องจากการจัดซื้อ ครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์ รายการเตรีองวัดลมเนียนแนวขึ้น-ลงของ เครื่องบินฯ ในครั้งนี้เป็นโครงการต่อเนื่องและเป็นเครื่องมือแบบ เดียวกันตามมาตรฐานของ ICAO, Areek 3 Clause 7.4 ในครั้งนี้ จึงได้ใช้ข้อรายละเอียดดังเดิม และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ความ ต้องการขั้นต่ำ ผู้เสนอราคารายใดมีคุณสมบัติที่เท่ากับหรือดีกว่า ย่อมมีสิทธิเสนอราคาใต้ตามหลักความเสมอภาคในการแข่งขัน
ที่ผ่านมาพบว่าการยื่นเสนอราคาโดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Blding: e-Bidding) ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 รายละเอียดดังกล่าวถูกต้องและผ่านการพิจารณาหลายรายและหลายยี่ห้อนั้นชี้ให้เห็นว่าข้อกําหนดดังข้างต้นมีการเปิดให้มีการแข่งขันได้เสรีและเป็นธรรม และมิได้เจาะจงยี่ห้อหนึ่งยี่ห้อใดตามที่กล่าวอ้าง
อีกทั้ง กรมอุตุนิยมวิทยาได้ดําเนินการเป็นไปตามหนังสือ กรมบัญชีกลาง ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 214 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2543 โดยกําหนดผลงานผู้เสนอราคาได้ไม่เกินร้อยละ 50 เนื่องด้วยระบบดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่มีความสําคัญสูงต่อความปลอดภัยในด้านการบินตามมาตรฐานของ ICAO เพื่อให้ได้ เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและมีการติดตั้ง ทดสอบ ทดลอง และการรับประกันสัญญาระยะเวลา 2 ปี ผลงานของผู้เสนอราคาที่เป็น ที่ประจักษ์ที่ไม่ใช่เพียงแต่เป็นผู้แทนจําหน่าย จึงเป็นสิ่งจําเป็นเพื่อให้ภาครัฐมั่นใจและเชื่อมั่นได้ว่าจะไม่เกิดปัญหาจนมีผลกระทบต่อโครงการได้ ซึ่งกรมอุตุฯ ไม่อาจรับความเสี่ยงจากผู้ประกอบการที่ไม่มีประสบการณ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ รวมทั้งปัญหาการทิ้งงานและการบริการหลังการขาย อีกทั้งได้เปิดให้ใช้ผลงานการติดตั้งด้านเครื่องมือด้านอุตุนิยมวิทยาการบิน ประเภทอื่น ๆ งาน
คณะกรรมการกําหนดรายละเอียดขอยืนยันและคงไว้ดังเดิม เพื่อประโยชน์ต่อทางราชการ” หนังสือกรมอุตุฯ ระบุ
อย่างไรก็ดี กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ เห็นว่า การตอบวิจารณ์ของคณะกรรมการร่าง TOR เป็นการตอบที่ไม่ตรงเนื้อหาคําวิจารณ์ และหยิบยกมาตรฐาน ICAO มากล่าวอ้าง
โดยมาตรฐาน ICAO Annex 3clause 7. 4(Wind shear warnings and alerts) เป็น ข้อกําหนดในการออกการเตือนลมเฉือน ไม่เกี่ยวข้องกับข้อกําหนดผลงานผู้ยื่นประมูลเลย การกล่าวอ้างนั้น จึงเป็นการหยิบยกข้อกําหนด ICAO มาใส่ในคําตอบเพื่อทําให้คําตอบดูน่าเชื่อถือ แต่แท้จริงแล้วเนื้อหาไม่มีความเกี่ยวข้องเลย
ICAO ไม่เคยกําหนดให้ผู้ยื่นประมูลต้องมีผลงานสัญญาเป็นมูลค่า และการนํามาตรฐาน ICAO มาเป็นข้ออ้าง ในการไม่เปลี่ยน TOR ข้อดังกล่าว จึงเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น และมีเหตุทําให้เชื่อได้ว่ามีการสมคบคิดกับกลุ่มบริษัทฯ ที่ค้าขายกับกรมอุตุฯ เป็นประจํา
ดังนี้แล้ว กิจการร่วมค้าพีเอ็มที จึงต้องการให้มีการตรวจสอบความบกพร่องในหน้าที่ในการปรับเปลี่ยน TOR ครั้งนี้ ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่จงใจ ซึ่งการบกพร่องในครั้งนี้ นํามาซึ่งความเสียหาย
โดยในวันที่ 22 ม.ค. 2564 ทางกรมอุตุฯ ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง TOR ตามที่ทางกิจการร่วมค้าพีเอ็มที ได้วิจารณ์และดําเนินการประกาศเชิญชวนให้ประมูลโครงการดังกล่าว ซึ่งทางกิจการร่วมค้าพีเอ็มที ได้เข้าร่วมด้วย โดยเป็นผู้เสนอราคาต่ำที่สุด
และในวันที่ 17 ก.พ. 2564 กรมอุตุฯ ส่งเอกสารแจ้งผลการประกวดราคาดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อหาอันไม่เป็นธรรมประกอบด้วย
1. คณะกรรมการพิจารณาผลฯ ให้เหตุผลว่า บริษัท แพทริออท ไอที จํากัด หนึ่งในบริษัทฯ ของกิจการร่วมค้าพีเอ็มที ไม่ดําเนินการดาวน์โหลดเอกสารประกาศการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (E-bidding) ฯลฯ ซึ่งความเป็นจริงแล้ว บริษัท แพทริออทฯ นั้นดาวน์โหลดสมบูรณ์ครบถ้วน
จึงถือเป็นเหตุผลให้เชื่อว่าไม่เป็นความจริงที่นํามากล่าวอ้างในการพิจารณาไม่ผ่านเกณฑ์ และสร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชน
2.คณะกรรมการพิจารณาผลฯ ให้เหตุผลว่า ไม่ยอมรับเอกสารอ้างอิงผลงานของ MicroStep-MIS spots.ro. จากประเทศสโลวาเกีย บริษัทผู้ร่วมค้าหลักของกิจการร่วมค้าพีเอ็มที มิใช่ผลงานของ กิจการร่วมค้าฯ
ทั้ง ๆ ที่ คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ได้ระบุในแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นกิจการร่วมค้าเอาไว้ว่า “แนวทางปฏิบัติในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นกิจการร่วมค้าที่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ว่า จะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่ กําหนดไว้ในเอกสารประกวดราคาหรือสอบราคา พร้อมทั้งให้เสนอราคาในนาม “กิจการร่วมค้า และ สามารถนําผลงานก่อสร้างของผู้เข้าร่วมค้ามาเป็นผลงานก่อสร้างของกิจการร่วมค้าที่เข้าประกวดราคาหรือ สอบราคาได้”
หมายความว่า สามารถนําผลงานก่อสร้างของผู้เข้าร่วมค้ารายใดรายหนึ่งมาใช้แสดงเป็นผลงานก่อสร้าง ของกิจการร่วมค้าที่เข้าประกวดหรือสอบราคาได้ เพราะฉะนั้นการที่คณะกรรมการพิจารณาผลฯ ได้หยิบยกเหตุผลที่ขัดต่อหลักปฏิบัติมาเป็นข้ออ้างเหตุผล ในการให้เหตุผลในการพิจารณาไม่ผ่านเกณฑ์ในครั้งนี้
จึงเป็นเหตุที่ประจักษ์ ให้เชื่อได้ว่า คณะกรรมการพิจารณาผลฯ อาจจะมีการกระทําที่บกพร่องในหน้าที่ หรือมีความประพฤติไม่เหมาะสมต่อหน้าที่ ที่ควรให้ความเป็นธรรมกับผู้เข้าร่วมประกวดราคา
3.ในส่วนของการพิจารณาอุปกรณ์หลักของโครงการซึ่งประกอบด้วย Lidar, Wind Profler, Microwave Profiling Radiometer นั้น ทางกิจการร่วมค้าพีเอ็มที ได้ส่งเอกสารและข้อมูลต่าง ๆ ครบถ้วน หากแต่มี ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ซึ่งมิใช่สาระสําคัญ จนทําให้ไม่ผ่านการพิจารณาดังกล่าว
รวมถึงอุปกรณ์ในส่วนอื่นๆ เช่น UPS เป็นต้น ที่มีการตีความไม่ผ่านเกณฑ์ แท้จริงแล้วนั้น มีอยู่ในเอกสารอ้างอิงแนบท้ายทั้งหมด โดยหากกิจการร่วมค้าที่เอ็มที ชนะการประมูลและเป็น คู่สัญญากับกรมอุตุนิยมวิทยา คณะกรรมการตรวจรับฯ ของกรมอุตุนิยมวิทยาสามารถอ้างอิงกับเอกสาร TOR และมีสิทธิ์ในการบังคับให้คู่สัญญาส่งมอบอุปกรณ์ให้ตรงตามข้อกําหนด TOR ได้
4. คณะกรรมการพิจารณาผลฯ ยังได้สร้างเกณฑ์การพิจารณาขึ้นใหม่นอกเหนือจาก TOR เช่น ระบุว่า “ต้อง มีการติดตั้งระบบไฟฟ้า พร้อมอุปกรณ์ควบคุม ระบบป้องกันฟ้าผ่า และระบบ Ground ให้เหมาะสมกับ ระบบที่เสนอ” และกิจการร่วมค้าพีเอ็มที ได้เสนอ “ยินดีทําตามข้อกําหนด" ไปแล้วแต่คณะกรรมการ พิจารณาผลฯ ระบุให้เสนอแผนผังการทํางานของสวิตซ์ควบคุมระบบไฟฟ้า ระบบป้องกันฟ้าผ่า และระบบ Ground ซึ่ง TOR ไม่ได้ระบุให้ต้องส่งเอกสารดังกล่าว
ดังนั้น กิจการร่วมค้าพีเอ็มที จึงขอให้ สํานักนายกรัฐมนตรี ตรวจสอบคณะกรรมการร่าง TOR ซึ่งมีพฤติกรรมที่สงสัยได้ว่าออกร่าง TOR เอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มผู้ประกวดราคารายหนึ่งรายใดเป็นพิเศษ ทําให้เกิด การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ไม่เปิดกว้างสําหรับผู้ผลิตหรือเจ้าของเทคโนโลยีรายใหม่ ๆ เข้าประกวดราคา ทําให้ประเทศชาติเสียประโยชน์และผู้ชนะการประมูลตกอยู่กับผู้ประมูลรายเดิม ๆ
พร้อมขอให้สํานักนายกรัฐมนตรี ตรวจสอบคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ซึ่งมีพฤติกรรมที่สงสัยได้ว่าใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาไม่เป็นธรรม ในสิ่งที่ไม่เป็นสาระสําคัญ มีความบกพร่องในการใช้อํานาจ ตีความโดยไม่ได้ซักถามรายละเอียดหรือขอเอกสารเพิ่มเติมจากกิจการร่วมค้าพีเอ็มที่ จนทําให้กิจการร่วมค้าฯ ไม่ผ่านการพิจารณา ทําให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์
โดยสังเกตได้ว่าผู้ชนะการเสนอราคาทั้ง 3 โครงการเสนอราคา ต่ำกว่าราคากลางเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (1-29%) ทั้ง ๆ ที่กิจการร่วมค้าพีเอ็มที่เสนอราคาต่ำสุด โดยถูกกว่าราคา กลางประมาณ 20% ซึ่งกิจการร่วมค้าฯ ยืนยันว่าเป็นราคาที่เสนอสามารถทํางานได้จริง
แต่กลับไม่ได้งาน
ทั้งนี้ กิจการร่วมค้าพีเอ็มที ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ประกอบการรายเดิม ๆ ที่ชนะการประกวดราคาของกรมอุตุนิยมวิทยามาเป็นเวลาหลายปี มีความมั่นใจในการเสนอราคา โดยมักเสนอราคาตต่ำกว่าราคากลางประมาณแค่ 1-2% แล้วมักจะชนะการประกวดราคา
ซึ่งผิดปกติมากในการเสนอราคาแบบอิเล็กทรอนิกส์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/