'เศรษฐา ทวีสิน' แคนดิเดตนายกพรรคเพื่อไทย เผยเสนอชื่อนายกครั้งต่อไปต้องไม่มีเรื่องการแก้ไข-ยกเลิกมาตรา 112 ชี้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากสส.-สว.
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 20 ก.ค. 2566 ที่พรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน ที่ปรึกษาครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนการประชุมพรรคเพื่อไทยช่วงบ่ายวันที่ 20 ก.ค. 2566
นายเศรษฐา กล่าวว่า วันนี้จะมาคุยกันเรื่องทิศทางการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 ก.ค.นี้ ยังไม่ทราบว่าจะมีการเสนอชื่อตนเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ต้องเข้าประชุมก่อน ส่วนรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยจะมีพรรคก้าวไกลอยู่หรือไม่นั้นต้องให้ตัวแทนคณะเจรจาไปคุย แต่จะเป็นไปในทิศทางไหนคงต้องพูดคุยกัน ปัจจุบันยังมีข้อตกลงระหว่าง 8 พรรคร่วม ต้องให้เกียรติ 8 พรรคที่ร่วมเจตนารมณ์ด้วยกัน ขอเวลาอีกนิดหนึ่ง ส่วนรายชื่อที่ถูกเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย มี 3 ชื่อ มีชื่อตน นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร และนายชัยเกษม นิติศิริ ต้องรอให้คณะกรรมการบริหารพรรคมีมติก่อนว่าจะเป็นใคร
เมื่อถามว่าการผลักดันนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีถึงที่สุดแล้วหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า ตามที่ฟังดูในทางกฎหมายน่าจะเป็นอย่างนั้น
เมื่อถามต่อว่าการโหวตนายกฯ เมื่อวานกลายเป็นบรรทัดฐานว่าหนึ่งแคนดิเดตสามารถถูกเสนอชื่อได้แค่ครั้งเดียว แล้วการที่จะมีชื่อนายเศรษฐาเป็นผู้ถูกเสนอและยังมีพรรคก้าวไกลเป็นพรรคร่วมอยู่จะส่งผลดีหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า การโหวตครั้งเดียวถือเป็นบรรทัดฐานอย่างหนึ่ง การเสนอชื่อครั้งต่อไปต้องคิดให้ดี ต้องมีการเจรจาให้เหมาะสม
เมื่อถามถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะทำอย่างไรให้กฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่เป็นปัญหา นายเศรษฐา ตอบว่า ชัดเจนว่าหากพรรคจะเสนอนายกรัฐมนตรี ครั้งต่อไป มาตรา 112 ต้องไม่อยู่ในการแก้ไขหรือยกเลิก ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้การสนับสนุนจากพรรคการเมืองและ สว. เป็นเรื่องพื้นฐานทางคณิตศาสตร์นับดูก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรให้มาตรา 112 ไม่อยู่ในเงื่อนไขการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และเข้าใจพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยมากที่สุด นายเศรษฐากล่าวว่า คงตอบแทนพรรคก้าวไกลไม่ได้ แต่ทางพรรคเพื่อไทยจะต้องมีการพูดคุยกัน หากเราเป็นแกนนำเรื่องนี้น่าจะต้องหยุด ส่วนตัวคิดว่าถ้ายังมีเรื่องมาตรา 112 อยู่ก็คงจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากหลาย ๆ พรรค
เมื่อถามว่าถ้าพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลมีโอกาสจะได้เสียงสนับสนุนเพิ่มจากพรรคการเมืองอื่นโดยเข้ามาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วย นายเศรษฐา ระบุว่า ตนมองว่า เป็นเรื่องที่ล้ำหน้า เพราะ 8 พรรคปัจจุบันมีเสียงเยอะอยู่แล้ว ต้องพูดคุยอีกครั้งว่าจะตกลงกันอย่างไร หากคณะกรรมการบริหารมีมติอย่างไรตนเองก็จะเห็นไปในทิศทางเดียวกัน
เมื่อถามต่อว่าทางที่ง่ายที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาลคือหาเสียงของสว.และสส. เพิ่มขึ้น นายเศรษฐา ตอบว่า คณิตศาสตร์พื้นฐานเบื้องต้น สว. 250 เสียงเป็นภาคส่วนสำคัญในการโหวตเลือกนายก ไม่รู้จักสว. แต่ส่วนตัวรู้จัก สว.เพียง 1 - 2 คน เชื่อว่าสามารถตกลงในหลักการได้ พูดคุยกันรู้เรื่องก็จะได้รับเสียงสนับสนุนที่ดีจาก สว. ตอนนี้อย่าเพิ่งข้ามขั้นเพราะยังผูกมัดกับ MOU อยู่ และอยู่ระหว่างพูดคุยกับคณะเจรจา
เมื่อถามว่ามีความเห็นอย่างไรกับการบีบให้พรรคเพื่อไทยต้องข้ามขั้ว นายเศรษฐา ตอบว่า ถ้าตนต้องตอบคำถามนี้ก็ต้องคิดอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นโจทย์ที่ซับซ้อน ต้องให้คณะกรรมการบริหารพรรคและคณะเจรจาเป็นผู้พิจารณา ตนเองที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ต้องเตรียมพร้อมเรื่องเศรษฐกิจ มองว่าต้องใจเย็น ๆ 8 พรรคยังคงอยู่ด้วยกัน การเปลี่ยนแปลง ข้ามขั้วหรือเอาพรรคอื่นมาเสริมต้องให้เกียรติผู้ที่ได้รับมอบหมายไปเจรจา ยังมีเวลาอีกหลายวันจนกว่าจะถึงวันที่ 27 ก.ค. 2566 ส่วนผลการโหวตเมื่อวานน่าผิดหวังแต่ต้องยอมรับและเดินหน้าต่อไป
เมื่อถามถึงสูตรที่จะดันพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยจะมีพรรคก้าวไกลไปจนสุดทางหรือไม่นายเศรษฐา ระบุว่า อยู่ที่ว่าสุดทางคืออะไร การที่พรรคก้าวไกลไม่สามารถส่งชื่อนายกรัฐมนตรีได้แล้วคือสุดทางหรือยัง ต้องฝากที่ไปที่คณะเจรจา หากสุดทางแล้วต้องพิจารณาว่าพรรคอันดับสองจะได้รับการมอบหมายหรือไม่ อยากให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี เรายังร่วมอุดมการณ์กัน ทั้งเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นเรื่องสำคัญมากกว่า
เมื่อถามย้ำอีกว่าถ้าโหวตใหม่แล้วยังไม่ได้จำเป็นต้องผลักพรรคก้าวไกลออกหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เป็นคณิตศาสตร์เบื้องต้นลองนับดูแล้วกัน อย่าให้ตนเองต้องตอบคำถามนี้เลย
ทั้งนี้เว็บไซต์พรรคก้าวไกลระบุ จุดยืนพรรคก้าวไกลต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดังนี้
ม.112 มีปัญหาในทุกมิติ ทั้งตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้ พรรคก้าวไกลจะพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อแก้ไข ม.112
โดยข้อเสนอแก้ไข ม.112 ของเราเป็นข้อเสนอที่พอจะพูดคุยกันกับทุกฝ่ายด้วยเหตุและผลได้
ทั้งนี้ เราต้องยอมรับความจริงว่าหากสภาผู้แทนราษฎรไม่ร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อช่วยกันแก้ไขให้กฎหมายนี้เป็นธรรมขึ้นได้ สังคมก็จะเหลือเพียงตัวเลือกสุดท้าย คือ การยกเลิก ม.112 ไปอย่างถาวรตามข้อเรียกร้องของประชาชนนอกสภา
หลังจากที่ร่างแก้ไข ม.112 ของพรรคก้าวไกลถูกสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรดองไว้เป็นเวลากว่า 9 เดือน (ยื่นเข้าสู่สภาฯ มาตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564) มาวันนี้ สถานการณ์มีความหนักหนาสาหัส เร่งด่วนขึ้นจนถึงจุดวิกฤต ประชาชนถูกจับกุมคุมขัง เยาวชนถูกจับเข้าคุก ไม่ได้สิทธิประกันตัวนับร้อยคนด้วยข้อหา 112 พรรคก้าวไกลจึงจำเป็นต้องขอให้ประธานสภาบรรจุวาระพิจารณาร่างแก้ไข ม.112 ของพรรคก้าวไกลเข้าสู่สภาเพื่อเริ่มการพิจารณาโดยทันที
ย้ำอีกครั้ง! ม.112 ต้องถูกแก้ ก่อนสายเกินการณ์
สาระสำคัญการแก้ไข ม.112 ของพรรคก้าวไกล เป็นการย้ายความผิดฐาน 112 ออกจากหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ
[1] ลดอัตราโทษลงอย่างมาก ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำ รวมทั้งสามารถพิจารณาลงโทษปรับแทนการจำคุก เพื่อให้ได้สัดส่วนกับความผิด
- ลดโทษ จากเดิมจำคุก 3-15 ปี : แก้ไขโทษจำคุกเหลือไม่เกิน 1 ปี หรือมีเพียงโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ (สำหรับการกระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์)
- ลดโทษ จากเดิมจำคุก 3-15 ปี : แก้ไขโทษจำคุกเหลือไม่เกิน 6 เดือน หรือมีเพียงโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ (สำหรับการกระทำความผิดต่อ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)
[2] เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลทั่วไปนำฐานความผิดนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กลั่นแกล้งผู้อื่น หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต
- จากเดิมประชาชนทั่วไปสามารถฟ้องร้องคดีนี้ได้ : แก้ไข้ให้เฉพาะสำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ รวมถึงกำหนดให้ความผิดในลักษณะนี้เป็นความผิดอันยอมความได้
[3] บทยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ
- ยกเว้นความผิด หากเป็นการติชม แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ
- ยกเว้นโทษ หากพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นความจริง แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์เรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์ “และ” การพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน