ส.ส.พรรคก้าวไกลยื่นร่างกฎหมายแก้มาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี 'ชัยธวัช ตุลาธน' ชี้เป็นการทำตามความประสงค์ของ ส.ว. คืนอำนาจการเลือกนายกให้ประชาชน
สำนักข่าวอิศรา (www.isara.news.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566 พรรคก้าวไกล ยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไข มาตรา 272 ยกเลิกอำนาจสมาชิกวุฒิสภา ( ส.ว.)เลือกนายกรัฐมนตรี
นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในวันนี้ ส.ส.พรรคก้าวไกลลงชื่อตามรัฐธรรมนูญ เพื่อยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่เสนอให้ยกเลิกมาตรา 272 ที่ให้ ส.ว.โหวตนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวเพื่อคืนอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีให้กับประชาชน สืบเนื่องจากการประชุม 13 ก.ค. 2566 ปรากฏว่า ส.ว. งดออกเสียง 159 คน ไม่มาประชุม 43 คน หลายคนแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ประสงค์ใช้สิทธิ์ ใช้อำนาจในการเลือกนายกฯ ดังนั้นเมื่อ ส.ว. ประสงค์เช่นนั้นพรรคก้าวไกลจึงเสนอทางออกให้ ส.ว. เนื่องจากส.ว.ไม่ประสงค์ใช้อำนาจนี้ด้วยความกระอักกระอ่วนหรือเหตุผลอื่นใด เชื่อว่านี่เป็นทางออกที่ตอบโจทย์ ส.ว.และระบบรัฐสภาของไทย เพื่อให้การเมืองไทยเดินหน้าต่อไปได้และมีรัฐบาลชุดใหม่โดยเร็วที่สุด
ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในฐานะประธานรัฐสภาได้รับหนังสือจากพรรคก้าวไกล มายื่นเพื่อขอยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ดังที่เลขาธิการพรรคก้าวไกลชี้แจง จะให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร และดำเนินต่อไปตามความประสงค์ของพรรคก้าวไกล จะดำเนินการให้เร็วที่สุด ส่วน 19 ก.ค. 2566 นั้น ก็ออกหนังสือเชิญให้สมาชิกรัฐสภามาประชุมแล้ว
นายชัยธวัช กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นคนละส่วนกับการเลือกนายกฯ สามารถดำเนินการคู่ขนานได้ ไม่ทราบว่าการเลือกนายกฯจะมีต่อไปอีกกี่ครั้ง จึงหาวิธีที่ดีที่สุด ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของประธานรัฐสภาที่จะเรียกประชุมอีกครั้งหนึ่ง พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยก็จะเดินหน้าหาเสียงจาก ส.ว.ต่อไป ไม่หยุดหาเสียงแต่อย่างใด ซึ่งพรรคก้าวไกลก็หารือเรื่องนี้มาสักพักใหญ่ จนกระทั่งเมื่อคืน 13 ก.ค. 2566 ได้ข้อสรุปจึงยื่นวันนี้ ก็แจ้งกับพรรคเพื่อไทยในเบื้องต้นแล้ว และไม่ขัดข้องแต่อย่างใด
ส่วนเรื่องการโหวตนายกจะหารือกับพรรคเพื่อไทยในวันนี้ นายชัยธวัชกล่าวว่า เชื่อว่าการแก้มาตรา 272 ไม่กระทบกับสิ่งใด อีกทั้งการยกเลิกมาตรา 272 ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เคยนำเสนอและลงคะแนนในสภาสมัยที่แล้วมาก่อน เช่น พรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ก็เคยสนับสนุน ก็คาดหวังว่าพรรคเหล่านี้จะมีจุดยืนเช่นเดิม นี่คือทางออกที่ดีที่สุดของระบบการเมืองและทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่าย เป็นทางออกที่บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น
นายชัยธวัชกล่าวว่า หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระที่ 1 จะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ก็สามารถทำให้ผ่านวาระที่ 3 ได้ทันที ไม่มีการถกเถียงในกรรมธิการใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าสามารถเอาวาระเข้าภายในปลายสัปดาห์นี้แล้วผ่านวาระที่ 1 ใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ ก็ดำเนินการได้ ที่เหลือก็เป็นช่วงระยะเวลาในการโปรดเกล้าฯ แน่นอนว่าอาจจะดูนาน แต่อาจจะไม่นานเกินไปในสถานการณ์ปัจจุบันเพราะยังบอกไม่ได้ว่าการโหวตนายกรัฐมนตรีที่มีมาตรา 272 จะใช้เวลาอีกกี่ครั้ง ถือว่าพยายามที่สุดที่จะหาทางเลือกใหม่ให้กับการเมืองไทย
ส่วนกรณีที่มีข่าวลือว่าจะมีการเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็คาดหวังว่าพรรคการเมืองที่เคยแสดงจุดยืนว่าจะไม่ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยจะไม่โหวตให้ พล.อ.ประวิตร
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นการพยายามแก้เกมใช่หรือไม่ นายชัยธวัชตอบว่า เป็นการพยายามหาทางออกตามความประสงค์ของ ส.ว. หลายท่าน
ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 272 ระบุว่า ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้
นอกจากนี้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีบทบัญญัติ เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไว้ในหมวด 15 มาตรา 255 และมาตรา 256
โดยมาตรา 255 บัญญัติว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทํามิได้
ขณะที่มาตรา 256 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 255 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้กระทําได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
(1) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
(2) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ
(3) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
(4) การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลําดับมาตรา โดยการออกเสียงในวาระที่สองนี้ ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ แต่ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย
(5) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกําหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป
(6) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
(7) เมื่อมีการลงมติเห็นชอบตาม (6) แล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน แล้วจึงนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นําความในมาตรา 81 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
(8) ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ ก่อนดําเนินการตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดําเนินการตาม (7) ต่อไป
(9) ก่อนนายกรัฐมนตรีนําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตาม (7) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี ว่าร่างรัฐธรรมนูญตาม (7) ขัดต่อมาตรา 255 หรือมีลักษณะตาม (8) และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าวส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้