'ชลน่าน ศรีแก้ว' เผย 'ชัยธวัช ตุลาธน' ไม่ตอบจำนวน ส.ว. หนุน 'พิธา' เป็นนายก บอกแค่พยายามประสานให้ได้มากที่สุด ชี้มวลมาชุมนุมในที่จัดไว้ไม่ผิดกฎหมาย เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2566 ที่อาคารรัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังประชุมคณะเจรจา 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล
นพ.ชลน่าน ระบุว่า เรื่องแรกเป็นเรื่องการประชุมรัฐสภาในวันที่ 12-13 ก.ค. 2566 โดยในวันที่ 12 เป็นการกำหนดสมัยการประชุมที่ต้องมี 2 สมัยการประชุม สมัยละไม่น้อยกว่า 120 วัน โดยสมัยแรกเริ่มวันที่ 3 ก.ค. สิ้นสุด 30 ต.ค. ทาง 8 พรรคร่วมเห็นว่าน่าจะกำหนดวันที่ 12 ธ.ค. 2566 เริ่มสมัยที่ 2 ส่วนทางสภาจะมีความเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ก็ให้พิจารณาต่อไป เรื่องต่อมาเป็นเรื่องการเสนอเพิ่มวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่จะเพิ่มวันอังคาร จากเดิมที่นัดประชุมทุกวันพุธและวันพฤหัสบดีของทุกสัปดาห์ แต่ในวันอังคารอาจจะเริ่มเวลาประมาณ 13.30 น. โดยจะเน้นไปที่การเสนอกฎหมายจากภาคประชาชน ส่วนวันพุธเป็นกฎหมายของ ครม. และวันพฤหัสบดี เป็นกระทู้ ญัตติ และเรื่องรับทราบ
นพ.ชลน่าน ระบุอีกว่า ในการประชุมมีการพูดถึง มติการเสนอชื่อนายกฯ ในวันที่ 13 ก.ค. 2566 และมติ 8 พรรคสนับสนุน และเห็นชอบเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล โดยที่ประชุมได้ให้พรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอ ซึ่งตนจะเป็นผู้เสนอชื่อผู้สมควรได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นจะเปิดให้สมาชิกได้ซักถามเกี่ยวกับผู้ที่สมควรได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าในที่ประชุมมีการพูดคุยเรื่องการรวบรวมเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. หรือไม่ นพ.ชลน่าน ตอบว่า มีการสอบถามกัน ทางนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ตอบว่าอยู่บนความพยายามที่จะประสานและหาเสียงให้มากที่สุด แต่ไม่ได้ระบุว่ามีจำนวนเท่าใด
เมื่อถามว่าในวันที่ 13 ก.ค. นี้จะมีประชาชนมาติดตามการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย แล้วหากนายพิธา ได้คะแนนเสียงไม่ถึง จะมีความกังวลในส่วนนี้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในที่ประชุมยังไม่ได้หยิบยกมาพูดคุย แต่ในวันนั้นรัฐสภาจะเปิดโอกาสให้ประชาชนมาร่วมฟัง โดยจัดสถานที่ให้ใช้วัดแก้วฟ้าเป็นหลัก และหากมีความจำเป็นอาจขออนุญาตปิดถนน ไม่อยากให้เข้ามาบริเวณรัฐสภาเพราะมีหลายกลุ่ม ซึ่งมวลชนที่มาก็เป็นสิทธิเสรีภาพอยู่แล้ว ซึ่งอยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่ถือเป็นการกดดันแต่อย่างใด
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากครั้งแรกพรรคก้าวไกลไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอกับการเป็นนายกรัฐมนตรีได้ จะมีการปรับแผนกันอย่างไร นพ.ชลน่าน ระบุว่า ไม่ได้หารือกันในเรื่องนี้ เอาข้อเท็จจริงในวันที่ 13 ก.ค. ให้ปรากฏก่อน
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า เสียงการโหวตนายกจะปริ่มน้ำหรือผ่านตลอด นพ.ชลน่าน ตอบว่า ไม่ได้คิดแต่ตั้งใจให้ผ่าน เพราะมติ 8 พรรคร่วม 312 เสียงยกเว้นประธานสภาจะต้องลงเสียงให้ทั้งหมด