คณะทำงานประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเผยผลประชุมครั้งแรก ตั้งคณะทำงานเพิ่มเติมอีก 5 คณะ ด้าน 'อนุดิษฐ์ นาครทรรพ' ชี้ 8 พรรคเห็นตรงกันแก้รัฐธรรมนูญ-ค่าไฟ เป็นวาระเร่งด่วน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 6 มิ.ย. 2566 พรรคร่วมรัฐบาลแถลงการประชุมคณะทำงานชุดเล็ก 7 คณะที่ตั้งขึ้นตามมติ 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาล ที่พรรคเพื่อไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมผู้แทนจากคณะทำงานประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ร่วมแถลงผลการประชุมคณะทำงานฯ โดยกล่าวว่า ประเด็นหลักในการประชุมในวันนี้เป็นการติดตามงานของคณะทำงาน 7 คณะ ได้แก่คณะทำงานค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันดีเซล และพลังงาน,คณะทำงานภัยแล้ง และเอลนินโญ,คณะทำงานแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้,คณะทำงานแก้ไขรัฐธรรมนูญ,คณะทำงานแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและ PM 2.5, คณะทำงานเศรษฐกิจ ปากท้อง และเอสเอ็มอี และคณะทำงานแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยในวันนี้มี 3 วาระได้แก่
วาระที่ 1 คณะทำงานค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันดีเซล และพลังงาน ได้รายงานผลการประชุมคณะทำงาน วานนี้ เกี่ยวกับผลดีและผลเสียของการเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลและน้ำมัน ที่จะหมดอายุลงในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566
วาระที่ 2 การกำหนดกรอบการทำงาน เพื่อให้อีก 6 คณะที่เหลือ ที่ได้ประชุมบ้างแล้วในบางคณะ ให้สามารถทำงานต่อเนื่องและมีเอกภาพ โดยมีความมุ่งหวังที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตประชาชนได้อย่างแท้จริง
วาระที่ 3 ที่ประชุมมีมติตั้งคณะทำงานเพิ่มเติมอีก 5 คณะ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อประเด็นผลกระทบต่อประชาชน และสังคมให้ความสนใจ กรณีประเด็นบุคลากรทางแพทย์ที่ไม่เพียงพอ ที่เกิดขึ้น เป็นต้น โดยคณะทำงานที่เพิ่มขึ้น เช่น คณะทำงานเศรษฐกิจและรัฐบาลดิจิทัล, คณะทำงานต่อต้านคอร์รัปชั่นต่อต้านส่วย เป็นต้น ซึ่งคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาทั้งหมด เป็นการทำงานล่วงหน้าของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เช่น การต่อยอดในกรณีที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ที่ตั้งคำถามจนนำมาซึ่งการเปิดโปง ส่วยทางด่วน เป็นต้น
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะตัวแทนคณะทำงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8 พรรค ใช้ทุกวินาทีอย่างคุ้มค่า เพราะทุกวินาทีคือมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไป และทุกวินาที คือความเดือดร้อนของประชาชน
ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ได้เสนอแนะ 5 ข้อซึ่งเป็นกรอบทำงานใหญ่ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน ต่อประเทศ และต่อประชาชน ได้แก่
1.ความมั่นคงทางการคลัง ทุกนโยบายที่ใช้งบประมาณต้องคิดคำนวนทุกบาททุกสตางค์ ต้องมีผลลัพธ์ที่คุ้มค่าต่อเม็ดเงินภาษีของประชาชน เราตั้งใจที่จะลดเม็ดขาดดุลการคลังลงเรื่อยๆ หากสามารถสร้างสมดุลทางการคลังในอีก 7 ปีข้างหน้า จะเป็นนิมิตรหมายที่ดีต่อประเทศไทย
2.ระบบภาษีที่มีประสิทธิภาพ หมายถึงมีฐานภาษีที่สูงขึ้น มีคนเข้าถึงระบบภาษีที่มากขึ้นจะทำให้รายได้รัฐมากขึ้น การคิดระบบภาษีจึงต้องคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วน ทั้งแง่บวกแง่ลบ ต้องไม่กระภาคเอกชนและการระดมทุน
3.การออกแบบนโยบาย ต้องคิดคำนวนถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้องควบคู่กับความเท่าเทียมของการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจ
4.คณะอนุทำงานแต่ละคณะ ต้องวางแผนระยะสั้น ระยะกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาประชาชน และระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง
5.เปิดประเทศหารายได้จากการต่างประเทศที่สร้างรายได้ ประเทศไทยต้องเปิดขึ้น เพื่อเชื่อมกับโลก ดึงดูดการค้าการลงทุน คือรายได้มหาศาลที่จะเกิดขึ้น
พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า การหารือคณะทำงาน เป็นปัญหาของชาติ จึงต้องทำโรดแมปในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และปัญหาที่เป็นรากเหง้า คือ ปัญหาที่ดินทำกิน ต้องกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ 8 พรรคเห็นตรงกันว่า เป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด รวมถึงค่าพลังงานและค่าไฟฟ้า ซึ่งทั้ง 8 พรรคจะพิจารณาเรื่องนี้ อย่างรอบคอบ ให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้จ่ายค่าไฟในระดับที่เป็นธรรม ซึ่งคณะทำงานเพื่อความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม เห็นว่า คงไม่สามารถให้ความสำคัญกับรัฐสวัสดิการเท่านั้น แต่เศรษฐกิจและสังคมต้องเติบโตควบคู่อย่างเท่าเทียม
นายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง กล่าวว่า ต้องการเพิ่มราคาสินค้าเกษตร เช่น อ้อย ต่อยอดจากที่พรรคก้าวไกลส่งเสริมสุราเสรี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากนั้นจะติดตามงานต่างๆ ต่อไปทั้งเกษตรและเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีการประชุมเรื่อยๆ
ผู้แทนพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า สนับสนุนนโยบายปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ เพราะเห็นว่าการประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในปี 2507 ขณะนั้นมีประชากรไทยเพียง 30 ล้านคน แต่ขณะนี้มีประชากร 67 ล้านคน เมื่อประชากรเพิ่มขึ้น การประกาศที่ดินควรเปลี่ยนไป พร้อมยืนยันจะปฏิรูปที่ดินให้ประชาชนมีที่ดินทำกินของตัวเอง
ผู้แทนพรรคเป็นธรรม ยืนยันว่า ทุกคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่าน ตั้งใจทำงานเพื่อให้ทันกับความต้องการของพี่น้องประชาชน ตามประเด็นความเดือดร้อน ดังนั้นคณะทำงานอาจจะมากขึ้น เพราะมีหลายประเด็น จึงต้องการเอาเรื่องที่มีผลกระทบจริงๆ โดยมีพี่น้องประชาชนเป็นตัวตั้ง
ผู้แทนพรรคพลังสังคมใหม่ กล่าวว่า เรามีโอกาสเข้ามาร่วมรัฐบาล นโยบายต่างๆ ที่ประชุม เราเห็นด้วย โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดที่ต้องเร่งแก้ไขโดยเร่งด่วน
ทั้งนี้ นายพิธา กล่าวว่า ในวันที่ 7 มิ.ย. 2566 จะมีการประชุมคณะกรรมการช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล โดยจะนำเอาข้อสรุปคณะทำงานในวันนี้ นำเสนอต่อคณะกรรมการฯ
ส่วนคณะทำงานประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล จะประชุมอีกครั้งในวันที่ 20 มิถุนายน 2566 และอาจมีการประชุมคณะทำงานสัญจรลงพื้นที่ไปในจุดต่างๆ ที่เป็นปัญหา เช่น ลงพื้นที่ไปดูการผลิตสุราเสรี ที่ จ.อุบลราชธานี หรือการดูปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ภาคเหนือ เป็นต้น