พรรคเพื่อไทยเปิด 5 นโยบายแก้โลกร้อน ปรับปรุงกฎหมาย-บริษัทก่อมลพิษต้องรับผิดชอบความเสียหาย-ผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมได้ประโยชน์จากหน้าที่-สนับสนุนแนวคิด BCG-ปฏิรูปความรับผิดชอบราชการ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2566 ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนในด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม โดยมีความตั้งใจที่จะพิทักษ์รักษาโลกให้พ้นจากวิกฤตสิ่งแวดล้อม 9 ประการ หรือ Planetary Limits ตามแนวทางของ UNEP เพื่อคงความสามารถในการรักษาสิ่งที่มีชีวิต (Life System Support) โดยประเทศไทยกำลังเผชิญมหันตภัย 3 ด้าน ได้แก่ โลกร้อน มลพิษ และความหลากหลายทางชีวภาพ จึงต้องพยายามรักษาดุลยภาพระหว่างมนุษย์ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อความสมบูรณ์พูลสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืน จุดยืนดังกล่าวนำไปสู่การออกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 5 ข้อ ได้แก่
1. แก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประมวลกฎหมายระดับ 4 (Tier 4) โดยเพิ่มความเข้มงวด ครอบคลุมจุดกำเนิด หรือ Non Point Sources เช่น PM2.5 มลพิษที่เกิดจากการเผาป่า ขยะที่มีสารพิษเจือปน ควบคุมไปถึงแหล่งกำเนิดมลพิษ ที่ไหลลงทะเล โดยจะเป็นกฎหมายที่มีหลักวิชาการรองรับ และทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม
2. ผู้ก่อให้เกิดมลภาวะจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายหรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น บริษัทที่มีคอนแทรค ฟาร์มมิ่ง ให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดบนยอดเขา ถ้าพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ
3. ผู้พิทักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจะได้ประโยชน์จากภาระหน้าที่ ความเจริญของข้างล่างต้องสมกับความพยายามของคนบนเขา ทำให้เขายินดีที่จะรักษาต้นน้ำ เพราะมีคนที่เห็นถึงคุณค่าการทำหน้าที่ของเขา
4. สนับสนุนหลักคิด BCG (Biological Circular Economy: Green)
5. ปฎิรูปโครงสร้างและความรับผิดชอบทางราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการให้กรมควบคุมมลพิษสามารถทำหน้าที่ Regulator ได้อย่างสมบูรณ์ เหนือกรมอื่นในการควบคุม
นายปลอดประสพ กล่าวว่า จากนโยบายสามารถแปลงเป็นโครงการได้ดังนี้
1. แก้ปัญหาโลกร้อน ในปีนี้ประเทศไทยอาจเผชิญปัญหาภัยแล้งที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 100 ปี และอยู่กับหน้าร้อนยาวนานถึง 8 เดือน จึงเสนอวิธีการแก้ไขด้วยการออกโฉนด 50 ล้านไร่ เพื่อปลูกไม้ยืนต้น เพื่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) พร้อมปรับเปลี่ยนระบบการผลิตของภาคอุตสาหกรรม เป้าหมายเพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Zero GHG emissions) รวมไปถึงการปรับกระบวนการผลิตภาคเกษตรให้สอดคล้องกับฤดูกาลที่จะเปลี่ยนไป
2. แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสีย ได้แก่
2.1) น้ำท่วม ก่อสร้างสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ท้ายน้ำในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ชี และมูล เพิ่มพื้นที่ชุ่มน้ำ และคลองระบายน้ำ (Flood ways)
2.2) น้ำแล้ง เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 40 ล้านไร่
2.3) น้ำเสีย สนับสนุนให้มีโรงบำบัดน้ำเสียในทุกระดับ โดยเฉพาะในระดับชุมชน ซึ่งจะจัดแบบ Cluster และพิจารณากำหนดให้มีค่าน้ำเสีย
3. แก้ปัญหาขยะล้นเมือง ได้แก่ ขยะบ้านและขยะอาหาร จะได้รับการสนับสนุนการคัดแยก การขนส่งจัดเก็บและการทำลาย ขยะอุตสาหกรรม รัฐจะสนับสนุนระบบ Circular System เพื่อลดปริมาณขยะและเป็นการสร้าง Value chains และริเริ่มสนับสนุน Urban mining หรือการทำเหมืองในเมือง
4. รักษาอากาศให้สะอาดและลด PM 2.5 โดยการหยุดยั้งการเผาป่าในที่สูง สนับสนุนการไถกลบซากและตอซังพืชไร่ชนิดต่างๆในพื้นที่เกษตรกรรม พร้อมเจรจาประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดการเผาไร่ข้าวโพด และนำระบบ GAP และระบบการติดตามแหล่งกำเนิดมาใช้กับผู้นำเข้าข้าวโพดอย่างเคร่งครัด
5. ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และน้ำทะเลท่วมพื้นที่ต่ำด้วยการฟื้นฟูทะเลไทย ควบคุมการประมง ลดน้ำเสีย ลดการทิ้งขยะ (Blue Evolution) ปลูกป่าชายเลนและควบคุมการก่อสร้างริมฝั่งทะเลอย่างเคร่งครัด พร้อมสร้างแนวเกาะสร้อยไข่มุก เพื่อปิดอ่าวไทยตอนใน กรณีน้ำทะเลขึ้นสูงและท่วมภาคกลางของประเทศ ผลพลอยได้จะได้พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่มีราคาและมูลค่าสูงมากอีกประมาณ 5,400 ตารางกิโลเมตร