"...ในเมื่อชาวเลราไวย์ ต้องการข้าว จึงมีเเนวคิดนำข้าวไปเเลกกับปลา เเต่หากเป็นปลาสด คงขนส่งลำบาก เพราะต้องใช้ตู้เเช่ จึงขอให้มีการเเปรสภาพเป็นปลาเเห้งหรือปลาหวาน อัตราเเลกเปลี่ยน ข้าวหอมมะลิ 4 กิโลกรัม : ปลา 1 กิโลกรัม"
โครงการ "ขนข้าวชาวนา เเลกปลาชาวเล" เป็นโครงการที่นำหลักของการเเลกเปลี่ยนสินค้ากันในสมัยโบราณมาใช้ โดยเป็นการดำเนินงานของสมาคมชาวยโสธรที่มุ่งหวังช่วยเหลือชาวเลในพื้นที่จ.ภาคใต้ หลังได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง เมื่อเกิดสถานการณ์เเพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถขายปลาเเละสัตว์ทะล สร้างรายได้มาจุนเจือครอบครัว ซื้อข้าวสารเเละวัตถุดิบอื่น ๆ
อ่านประกอบ:โครงการ 'ข้าวเเลกปลา' ช่วยปากท้อง 'ชาวเลราไวย์' ฝ่าวิกฤตโควิดฯ
นายภัทรพงศ์พล ไชยวิเศษ เลขาธิการสมาคมชาวยโสธร บอกเล่ากับสำนักข่าวอิศราถึงที่มาของโครงการ "ขนข้าวชาวนา เเลกปลาชาวเล" ว่าตั้งเเต่เกิดการเเพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ 'ชาวเลราไวย์' ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองใน จ.ภูเก็ต มากกว่า 1,300 คน ได้รับความเดือดร้อน ออกหาปลาเเละสัตว์ทะเลมาขาย เเต่ไม่สามารถนำไปขายได้ นั่นจึงทำให้สมาคมชาวยโสธร เกิดเเนวคิดเข้าไปช่วยเหลือ โดยทำอย่างไรให้ปลาที่หามาได้ไม่ได้รับความเสียหาย
"เราได้พูดคุยกันว่า จะหาทางออกกันอย่างไร ในฐานะที่จ.ยโสธร เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์เเละปลูกข้าว ดังนั้น ในเมื่อชาวเลราไวย์ ต้องการข้าว จึงมีเเนวคิดนำข้าวไปเเลกกับปลา เเต่หากเป็นปลาสด คงขนส่งลำบาก เพราะต้องใช้ตู้เเช่ จึงขอให้มีการเเปรสภาพเป็นปลาเเห้งหรือปลาหวาน อัตราเเลกเปลี่ยน ข้าวหอมมะลิ 4 กิโลกรัม : ปลา 1 กิโลกรัม"
สมาคมชาวยโสธร ได้ร่วมมือกับผู้ใหญ่ในจังหวัดหลายคน มีเกษตรจังหวัด รวมถึงศิลปินดาราคา ไม่ว่าจะเป็น หม่ำ จ๊กม๊ก ไผ่ พงศธร อั้ม นันทิยา ซึ่งเป็นศิลปินชาว จ.ยโสธร อยากจะมีส่วนร่วมในโครงการด้วย ทั้งนี้ ได้มีพิธีส่งมอบข้าวทัังหมด 9,000 กิโลกกรัม หรือ 9 ตัน เเละกองบิน 21 จ.อุบลราชธานี เป็นผู้ขนส่งข้าว โดยภายใต้ความร่วมมือของกองทัพอากาศ เเละขนส่งปลาจากราไวย์กลับมา
เลขาธิการสมาคมชาวยโสธร กล่าวต่อว่า เช้าวันนี้ (20 เม.ย.) ได้มีการขนส่งไปยังพื้นที่ราไวย์เเละทำพิธีรับมอบเมื่อช่วยบ่ายเรียบร้อย ส่วนปลาจะถึงจ.ยโสธรในช่วงค่ำของวันนี้เช่นกัน เเต่จะมีพิธีรับมอบที่ศาลากลางจังหวัดยโสธรในวันที่ 21 เม.ย. โดยมีนายประเสริฐ ลือชาธนานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นผู้รับมอบ
ส่วนโครงการจะเดินหน้าต่อไปอีกนานเเค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับว่า ชาวเลราไวย์มีความต้องการข้าวอีกหรือไม่ เพราะการจัดส่งรอบนี้ 9 ตัน ถือเป็นจำนวนที่มากพอสมควร หากยังมีความต้องการ เราพร้อมที่จะนำไปเเลกอีก เพราะมีสต๊อกข้าวจำนวนมาก ทั้งนี้ ยังได้ประชาสัมพันธ์ไปยังหลายองค์กร ภาครัฐ ภาคเอกชน ซึ่งล้วนต้องการเข้าร่วมโครงการนำข้าวมาเเลกปลา เเละระบุต่อว่า เราไม่ได้จำกัดเฉพาะต้องนำไปเเลกปลาอย่างเดียว เเต่ยังนำไปเเลกผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออกได้ด้วย หากชาวสวนได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 เเละมีความต้องการ ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างการดำเนินโครงการรูปเเบบหนึ่งในการนำของดีเเต่ละจังหวัดมาเเลกเปลี่ยนกัน
"ข้าวเเลกปลา ไม่ได้จำกัดเฉพาะชาวเลราไวย์ จ.ภูเก็ต เท่านั้น เเต่ยังมีชาวเลในเกาะสุรินทร์ จ.พังงา ขาดเเคลนข้าวเช่นกัน เเละทำปลาส่งให้ชาวยโสธรเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เราไม่มีปัญหาเรื่องข้าวเเละปลา เพราะมีปลาน้ำจืดกินอยู่เเล้ว เเต่มองว่า ชาวเลได้รับความเดือดร้อน จึงเข้าไปช่วยเหลือ" นายภัทรพงศ์พล กล่าวในที่สุด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/